–มันจบแล้วครับนาย–
วลีนี้อาจจะเป็นคำที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ต้องการสื่อถึงประธานฯ บริษัทไทยเบฟ จำกัด (มหาชน) นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็เป็นได้
หลังจากดีลซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นได้ทำการเสนอซื้อหุ้นมาได้เกินกว่า 40% แล้ว และใกล้ถึง 50% เข้าทุกขณะ หมายความว่าการครองหุ้นที่เหลือทั้งหมดของเครือไทยเบฟต่อกลุ่ม F&N จะเป็นการปิดดีลที่มีมูลค่าสุงที่สุดของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจไทย และในภูมิภาคนี้ในการเข้าซื้อกิจการ
ที่มา http://www.siamintelligence.com/thaibev-strategy-on-historical-deal/
ที่มา http://www.siamintelligence.com/thaibev-strategy-on-historical-deal/
ดีลประวัติศาสตร์ของไทยเบฟ
ก้าวต่อไปของไทยเบฟ
ต้องขอย้อนรอยกลับไปที่การเข้าซื้อกิจการที่สำคัญอีกกิจการหนึ่งคือกิจการ Asia Pacific Breweries (APB) ซึ่งมีเจ้าของร่วมกันหลายรายแต่ที่สำคัญมากคือกลุ่ม F&N หรือ Fraser and Neave Ltd. และ Heineken จากเนเธอร์แลนด์ ที่จับมือร่วมทุนทำธุรกิจผลิตเบียร์ Tiger มาตั้งแต่ปี 2474 หรือ 82 ปีมาแล้ว ซึ่งเบียร์ไทเกอร์ถือว่าเป็นเบียร์ที่ดังในระดับภูมิภาคและพยายามตีตลาดเบียร์เมืองไทยหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ
ในปี 2555 ที่ผ่านมาไทยเบฟได้เข้าซื้อหุ้นในกิจการ APB ผ่านบริษัทในเครือของไทยเบฟ ที่มีนายโชติพัฒน์ พีชานนท์ บุตรเขยนายเจริญฯ บริหารคือ Kindest Place Groups เข้ามาถือหุ้นใน APB 8.6% โดยในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้เข้าไปถือหุ้นกิจการ F&N จากเดิมที่มีอยู่ 22% (ราว 70,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นเป็น 23.9%
ช่วงเวลานั้น ทางกลุ่มไฮเนเก้นเองก็ได้เข้ามาแข่งขันในการซื้อหุ้นกลุ่ม APB เช่นเดียวกัน ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการเข้าซื้อกิจการ APB เนื่องจากภูมิภาคนี้ APB เป็นฐานที่มั่นสำคัญของไฮเนเก้นเป็นอย่างมาก เพราะตลาดในภูมิภาคนี้ครองส่วนแบ่งรายได้หลักที่สำคัญของไฮเนเก้น จากการที่ตลาดเบียร์ในยุโรปชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ต่อมา การแข่งขันการสู้ราคากลายเป็นสงครามบนกระดานหุ้น เพราะทั้งสองฝั่งก็มีเงินทุนไม่อั้นในการสู้ราคาหุ้นทุกระดับราคา แต่สุดท้ายเกมส์การเงินครั้งนี้ต้องนำไปสู่การเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อสงบศึก โดยมีข้อตกลงว่าทางไทยเบฟจะขายหุ้นเบียร์ไทเกอร์ที่ F&N ถือไว้ ราว 40% ให้กับทางไฮเนเก้นทั้งหมด พร้อมกับของบริษัท Kindest Place Groupsที่เป็นบริษัทในเครือไทยเบฟถืออยู่ราว 8.6% ให้ทางไฮเนเก้นทั้งหมด
โดยทางไฮเนเก้นต้องไม่ซื้อหุ้นของ F&N แข่งกับทางไทยเบฟเพื่อเปิดโอกาสให้เข้าซื้อกิจการของ F&N ได้สะดวกขึ้น
ยุทธศาสตร์การบุกตลาดอาเซียนในการเข้าซื้อกิจการ APB เป็นยุทธศาสตร์ที่จะช่วยขยายขนาดตลาด ช่องทางจำหน่ายสินค้า และขนาดของกิจการให้เป็นกลุ่มผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดเจ้าหนึ่งของภูมิภาค โดยยังมีคู่แข่งอีกรายคือกลุ่ม San Migel จากฟิลิปปินส์ ที่อาจเป็นเป้าหมายใหญ่ในอนาคตก็เป็นได้ นั่นหมายถึงว่าต้องซื้อกิจการ APB ไว้ได้ในมือแล้ว
แต่เนื่องจากเกมส์การซื้อกิจการดังกล่าวเป็นเกมส์การเงินในระดับภูมิภาคเพราะการถือหุ้น APB ในเวลานั้น พร้อมกับการสู้ราคาของทางกลุ่มไฮเนเก้นที่เกรงว่ากลุ่มไทยเบฟจะเข้ามาซื้อกิจการได้ทำให้ราคาหุ้นของ APB ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเป็นอันมาก
สุดท้ายดีลนี้ก็ล้มไป โดยทางไฮเนเก้นก็สามารถซื้อกิจการ APB ไปได้ในที่สุด แต่ทว่าบริษัทลูกของไทยเบฟที่ถือหุ้นไว้ใน APB ก็สามารถโกยกำไรทางเกมส์การเงินนี้กลับบ้านไปหลายพันล้านบาท แน่นอนเกมส์นี้เรียกได้ว่าเล่นด้วยต้นทุนต่ำมาก เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้
จากเหตุการณ์การเข้าซื้อกิจการ APB ของไทยเบฟนั้น นับว่าเป็นเพียงส่วนย่อยของภาพใหญ่ทั้งหมดของยุทธศาสตร์ไทยเบฟที่จะออกไปยังภูมิภาคอาเซียนโดยเล็งเป้าหมายไปที่ F&N ซึ่งเป็นบริษัทอายุมากกว่า 100 ปี
ที่มีสินค้าทั้งเครื่องดื่ม อาหาร ตลอดจนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเครือข่ายการจัดจำหน่ายทั่วภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ นั่นเป็นเหตุผลเบื้องต้นว่า ทำไมไทยเบฟจึงต้องคว้ากิจการของ F&N เข้ามาไว้ในครอบครองให้ได้
การเข้าซื้อกิจการ F&N ของเครือไทยเบฟในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การออกไปนอกประเทศเพื่อตอบโจทย์ทางยุทธศาสตร์ของธุรกิจ ในการเป็นบริษัทขนาดภูมิภาคของไทยเบฟภายหลังจากเข้าไปซื้อกิจการทั้งในเวียดนาม มาเลเซีย ขยายการตั้งโรงงานไปยังประเทศรอบบ้านทั้งพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนามมาแล้ว
การเข้าซื้อกิจการ F&N นี้เริ่มมาได้ระยะหนึ่งแล้วจากการซื้อหุ้นราว 22% จากกลุ่ม OCBC ของสิงคโปร์ เมื่อเดือนกรกฎาคมในราคาหุ้นละ 8.88 ดอลลาร์สิงคโปร์ และซื้อเพิ่มจนถือหุ้นในสัดส่วน 29%
โดยใช้เงินลงทุนราว 71,008 ล้านบาท หรือราว 2,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยเป็นเงินทุนของบริษัทและกู้เงินจากสถาบันการเงินหลัก 3 รายคือ ธนาคาร HSBC ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และธนาคารซูมิโตโม
ต่อมา ไทยเบฟได้พยายามเสนอเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อให้ได้ครอบครองหุ้นมากกว่า 50% โดยมีทางกลุ่ม OUE หรือ Oversea Union Enterprise ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์สิงคโปร์ของนายสตีเฟน ไรดี้ นักธุรกิจเชื้อสายอินโดนีเซีย ได้เข้ามาเสนอเส้นตายในการกำหนดคำเสนอซื้อหุ้น F&N
ทางกลุ่ม OUE ได้กำหนดมูลค่าหุ้นที่เสนอซื้อไว้ราว 3.24 แสนล้านบาทกับทางนายเจริญ ทำให้เครือไทยเบฟและนายเจริญได้ขอยืดอายุต่อเวลาไปถึง 6 ครั้ง จนล่าสุดทางไทยเบฟเพิ่มราคาเสนอซื้อไปที่ 9.55 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น สูงกว่าข้อเสนอเดิมที่ 8.88 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้นและสูงกว่าของทาง OUE ที่เสนอไว้ 9.08 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น
โดยผลล่าสุด ทางไทยเบฟได้เป็นผู้เสนอเพียงรายเดียวด้วยราคา 9.55 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อหุ้น ทำให้มุลค่าการลงทุนของดีลนี้อยุ่ที่ราว 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 336,000 ล้านบาท กลายเป็นการเข้าซื้อกิจการที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี 2556 เลยทีเดียว
ดีลนี้ที่ปรึกษาทางการเงินของเครือไทยเบฟคือ Morgan Stanley, DBS Bank และ UOB ของกลุ่ม F&N คือทาง JP Morgan และทาง OUE คือ Credit Suisse, Bank of America Merrill Lynch และ CIMB
เครื่องดื่มระดับอาเซียน เบียร์อาเซียน ช้างบุกอาเซียน
นี่อาจจะเป็นคำที่มีการพูดถึงมากขึ้นหลังจากดีล F&N จบอย่างสมบูรณ์และเริ่มมีการขยับเชิงกลยุทธ์ต่อตลาดอาเซียนที่จะชัดเจนมากขึ้น เพราะการเข้าถือครองกิจการF&N ที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทจะเป็นการเพิ่มขนาดของกิจการไทยเบฟให้ก้าวกระโดมากที่สุดตั้งแต่การสร้างไทยเบฟขึ้นของนายเจริญจนถึงเวลานี้แน่นอนว่ามุลค่าของกิจการของนายเจริญอาจจะเพิ่มขึ้นทันทีหลังควบรวมกิจการสมบุรณ์เป็น 1 ล้านล้านบาทภายในปีนี้
การมีกิจการขนาดใหญ่โตมหาศาลภายในข้ามคืน และเป็นกิจการขนาดภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเป็นภูมิภาคที่โตเร็วที่สุดภุมิภาคหนึ่งของโลกอาจส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อยุทธศาสตร์ของกิจการไทยเบฟ เป็นอย่างมาก แน่นอนว่าโอกาสทางธุรกิจจากโครงข่ายของช่องทางจำหน่าย ความหลากหลายของสินค้าและบริการที่มีมากขึ้น ฐานลูกค้าขนาดมหาศาลที่F&N ครองตลาดทั่วภูมิภาค ชัดเจนมากว่ากว้างขวางกว่าไทยเบฟหลายเท่าตัว แน่นอนกลยุทธ์ที่จะเดินหน้าต่อไปคือการผนวกรวมพลังที่มีอยู๋ของไทยเบฟ และ F&N เข้าไว้ด้วยกันว่าจะสามารถขับเคลื่อนไปได้มากน้อยแค่ไหนอาจต้องติดตามกันดู
แต่เมื่อพิจารณาการซื้อกิจการ F&N ของไทยเบครั้งนี้และผลประโยชน์ต้องยอมรับว่าตกเป็นของนายเจริญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการดีลในระดับโลกอย่างแท้จริง เพราะคู่แข่งตั้งแต่ การซื้อกิจการAPB มีคู่แข่งคือ ไฮเนเก้น รวมทั้ง F&N ที่ควบรวมกิจการบนกระดานตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่มีภาพลักษณ์ของตัวแทนกระดานหลักทรัพย์ของภูมิภาคในระดับโลก นั่นหมายถึงว่าก้าวต่อไปของนายเจริญคงไม่ได้หยุดอยู่แค่ภูมิภาคอย่างแน่นอน
ต้องยอมรับว่าการซื้อกิจการ F&N เป้นข้อพิสูจน์ชัดเจนถึงหน้าตักในเรื่องเงินทุนของกลุ่มไทยเบฟเอง และที่ปรึกษาทางการเงินที่พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงินในการเข้าซื้อกิจการมากขึ้น ถ้ามองย้อนหลังไปในช่วง5 ปีย้อนหลังการไล่ซื้อกิจการของเครือไทยเบฟมีมาโดยตลอด โดยเป็นการขยายทั้งแนวตั้งและแนวนอนของธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศและที่ผ่านมาก็ค่อนข้างได้ผลชัดเจนถึงกำลังการเข้าซื้อกิจการของไทยเบฟเป็นอันมาก
ภาพในอดีตอย่างการซื้อกิจการโรงผลิตสุราในสก๊อตแลนด์ การเข้าซื้อกิจการโรงแรมในนิวยอร์ค ภาพการซื้อกิจการข้ามทวีปอาจมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น โดยขนาดการซื้อกิจการในครั้งนี้อาจต่างกันหลายสิบเท่าจากในอดีต การมองออกไปเป็นภาพระดับโลกของไทยเบฟอาจมีภาพยืนยันชัดเจนจากการเข้าไปซื้อโฆษณาของสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกอย่าง เอฟเวอร์ตัน และรวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนระดับรองลงมาในสโมสรฟุตบอลอย่างรีลมาดริกและบาร์เซโลนา
ภาพการเป็นบริษัทระดับโลก อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสลัดภาพของผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เจ้าสัวผู้ร่ำรวยจากการขายน้ำเมา หรือราชันย์น้ำเมาผู้ร่ำรวย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพลักษณ์ด้านลบเป็นอย่างมากในการผลักดันให้ไทยเบฟออกไประดับโลก ฉะนั้นการเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่องและผลิกภาพลักษณ์จากผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นภาพของนักลงทุนข้ามชาติ นักซื้อกิจการระดับภูมิภาคอาจเป็นช่วยเสริมภาพลักษณ์ใหม่นี้ให้กับทางนายเจริญและกลุ่มไทยเบฟได้เป็นอย่างดี
ก้าวใหม่ของนายเจริญและไทยเบฟชัดเจนมากขึ้นว่าไม่ใช่บริษัทระดับภูมิภาคอย่างเป็นแน่ แต่จะก้าวขึ้นไปเล่นในระดับโลก การที่มองว่าไทยเบฟออกมาเล่นในระดับภูมิภาคเพื่อป้องกันตัวเองจากการเปิดประชาคมอาเซียนอาจเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามองระยะยาวแล้ว การเปิดประชาคมอาเซียนจะเป็นตัวช่วยดึงให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ของโลกเข้ามาเล่นในตลาดภูมิภาคอาเซียนได้ง่ายมากขึ้น
การเป็นผู้เล่นแค่ในระดับภูมิภาคย่อมไม่พอต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร การเตรียมพร้อมโดยซื้อกิจการในระดับภูมิภาคที่มีศักยภาพจะเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ที่ไทยเบฟกำลังก้าวไปก็เป็นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น