วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

เจาะกลยุทธ์ "ยามาฮ่า" ชู "3S" ลุยตลาดมอเตอร์ไซค์เมืองไทย


updated: 19 ก.พ. 2556 เวลา 11:15:16 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ตลาดหนึ่งในภูมิภาคนี้ เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเอื้ออำนวย โดยเฉพาะทางด้านภูมิศาสตร์ ประเทศไทยมีประชากรกว่า 65 ล้านคน มีพื้นที่เป็นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ แต่เส้นทางคมนาคมยังพัฒนาไม่ทั่วถึง รถจักรยานยนต์จึงกลายเป็นพาหนะที่สะดวกที่สุด นอกจากนี้ในเขตเมือง เช่น กรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ ปัญหาการจราจรติดขัด ประชาชนจำนวนมากนิยมใช้รถจักรยานยนต์เพื่อความรวดเร็วในการเดินทาง
ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือปี 2545 มียอดจำหน่าย 1,332,744 มาถึงปี 2555 มียอดจำหน่าย 2 ล้านกว่าคัน หรือเติบโตเกือบ 100%

สำหรับตลาดประเทศไทย รถจักรยานยนต์ถูกผูกขาดโดยบริษัทญี่ปุ่น 4 ยี่ห้อ คือ ฮอนด้า, ยามาฮ่า, คาวาซากิ และซูซูกิ โดยเริ่มเข้ามาวางตลาดในประเทศไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ก่อนหน้านี้รถจักรยานยนต์ที่รู้จักกันส่วนใหญ่มาจาก ยุโรป ไม่ว่าจะเป็นไทรอัมพ์ หรือ บีเอ็มดับเบิลยู แต่ด้วยความที่ญี่ปุ่นมีราคาถูก พัฒนาสินค้าในรูปแบบใหม่หลากหลาย และมีขนาดเหมาะสมกับสรีระชาวไทย ทำให้ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

กว่า 24 ปีแล้ว ค่ายฮอนด้าครองตำแหน่งผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์ในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมียามาฮ่าเป็นอันดับ 2 แต่นับวันยอดขายก็เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีหลังๆ ยามาฮ่ามีสินค้าตัวใหม่มานำเสนอ โดยเฉพาะ ยามาฮ่า ฟีโน่ ช่วยกระตุ้นตลาดจักรยานยนต์ในประเทศไทยได้อย่างมาก

สำหรับปีนี้ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ชูกลยุทธ์หลัก ดู อินโนเวทีฟ (Do>>Innovative) รุกตลาดต่อเนื่อง วางเป้าหมายเติบโตเพิ่มขึ้น 12% ผ่านกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์การตลาด และกลยุทธ์เครือข่าย 3S ได้แก่ ด้านการขาย (Sales) การบริการ (Service) และอะไหล่ (Spare Part) ประกาศสร้างยอดขายเพิ่มจากเดิม 4.9 แสนคัน เป็น 5.5 แสนคัน และตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็นอย่างน้อย 25%

นายประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด บอกว่า ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2012 น่าจะมีอัตราการเติบโต 6% คิดเป็นยอดจดทะเบียนรวมประมาณ 2.13 ล้านคัน แบ่งเป็นสัดส่วนรถจักรยานยนต์ออโตเมติก 50% และรถจักรยานยนต์เกียร์ธรรมดา 50%

สำหรับปี 2012 บริษัทฯ มียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ภายใต้แบรนด์ยามาฮ่าอยู่ที่ 4.9 แสนคัน ถือเป็นสถิติสูงสุดของบริษัทฯ ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2011 

ในขณะที่ปี 2013 นี้ ยามาฮ่าคาดการณ์ว่าความต้องการของตลาดรวมรถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 2.2 ล้านคัน เติบโตขึ้น 3% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และยามาฮ่าได้ตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 5.5 แสนคัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 12% เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในทุกพื้นที่ โดยกำหนดนโยบายที่จะทำการตลาดเชิงรุกภายใต้กลยุทธ์ "Do>> Innovative"

นายประพันธ์ยังบอกอีกว่า กลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของยามาฮ่าประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.การเพิ่มสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงเข้าสู่ตลาด ด้วยเทคโนโลยีหัวฉีด ประหยัดน้ำมันและดีไซน์ที่แตกต่างทั้งรถจักรยานยนต์เกียร์ออโตเมติกและรถจักรยานยนต์เกียร์ธรรมดา ตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 40% สำหรับรถจักรยานยนต์เกียร์ออโตเมติก และมากกว่า 12% สำหรับรถจักรยานยนต์เกียร์ธรรมดา ภายในสิ้นปี 2013

2.สร้างสรรค์กิจกรรมภายใต้แคมเปญ "Do>>Innovative" เพื่อเสริมภาพลักษณ์ตราสินค้ายามาฮ่าอย่างต่อเนื่อง เน้นกิจกรรมการตลาดเชิงไลฟ์สไตล์ มาร์เก็ตติ้ง สร้างสรรค์และเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า 

3.ขยายโชว์รูมยามาฮ่าสแควร์ และปรับปรุงศูนย์บริการรูปแบบใหม่ รวมถึงสร้างประสิทธิภาพเครือข่ายด้านการขาย การบริการและอะไหล่ของผู้จำหน่ายแบบครบวงจร

"ในปีนี้บริษัทฯ มีกลยุทธ์การเพิ่มศักยภาพของสินค้าให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ทุกเซกเมนต์ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่มีความทันสมัย โดยเฉพาะจุดเด่นในเรื่องการประหยัดน้ำมัน ถือเป็นจุดแข็งของยามาฮ่า รวมถึงการพัฒนารูปแบบการดีไซน์ที่ให้ความแตกต่างเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคตามเทรนด์ของปี" นายประพันธ์กล่าวเสริม

นอกจากนี้ ยามาฮ่าพร้อมเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั่วประเทศโดยการสร้างสรรค์กิจกรรมการตลาดผ่านกลยุทธ์ที่ดำเนินมาต่อเนื่อง อาทิ กลยุทธ์สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง และกลยุทธ์มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง และการจัดกิจกรรมยามาฮ่าคลับ กิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ รวมถึงการส่งเสริมการขายร่วมกับผู้จำหน่ายมากกว่า 4,500 ครั้งต่อปี 

สำหรับการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านเครือข่ายบริการ และอะไหล่ (3S) นั้นถือเป็นหัวใจในการสร้างความพึงพอใจของลูกค้า ในส่วนของการขายจะเพิ่มเครือข่ายยามาฮ่าสแควร์ (YSQ) เป็นจำนวน 666 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น (Application) รูปแบบใหม่สำหรับใช้กับไอแพด เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงของกลุ่มลูกค้า นอกจากนั้นยังมุ่งขยายตลาดผ่านช่องทางการขายแบบใหม่และการพัฒนาธุรกิจรถจักรยานยนต์มือสองอย่างต่อเนื่อง

ส่วนด้านการบริการหลังการขาย จะปรับปรุงศูนย์บริการรูปแบบใหม่ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น และขยายจำนวนศูนย์ซ่อมบำรุงหัวฉีด (YiS : Yamaha Innovative Service) ถือว่าเป็นศูนย์บริการที่มีอุปกรณ์การตรวจเช็กระบบหัวฉีดที่ทันสมัยที่สุด นอกจากนั้นจะเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าผ่านโครงการบริการส่งอะไหล่เร่งด่วนภายใน 48 ชม. การรับประกันคุณภาพอะไหล่แท้และอะไหล่ตกแต่ง รวมถึงการเพิ่มการบริการ คอลเซ็นเตอร์ สำหรับอะไหล่

ด้วยกลยุทธ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ บริษัทฯ มีความมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้า สร้างความแข็งแกร่งให้ตราสินค้า และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น