วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

พนักงานขาย"แฟชั่นหรู"ขาดตลาด ดีมานด์ทะลักเปิดศึกแย่งตัวงัดผลตอบแทนยั่วใจ


updated: 11 เม.ย 2556 เวลา 13:45:30 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ที่มาhttp://www.prachachat.net/news_detail
พนักงานร้านแฟชั่นหรูเนื้อหอม ตลาดมีความต้องการสูง หลังธุรกิจแฟชั่นทั้งฟาสต์แฟชั่นและลักเซอรี่หมื่นล้านโตก้าวกระโดด ชาแนล-คลับ 21-เอช & เอ็ม ใช้บริการบริษัทจัดหางานเร่งรีครูต รองรับการขยายสาขา-เพิ่มแบรนด์ ผลพวงจากยักษ์ค้าปลีก เซ็นทรัล-เดอะมอลล์ ชูจุดเด่นศูนย์กลางแฟชั่น

ด้วยอัตราการเติบโตของสินค้าหรูหรา ในเมืองไทยที่พุ่งทะยานสู่จุดสูงสุดตลอดช่วงที่ผ่านมา จากมูลค่าตลาดรวมหมื่นล้านบาท หลังจากอินเตอร์ฯแบรนด์พากันดาหน้าเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยอย่างคึกคัก ผ่านการนำเข้าของผู้นำเข้ารายใหญ่ในเมืองไทย ที่เร่งขยายสาขา และขยายขนาดช็อปให้ใหญ่ขึ้น ควบคู่กับการขยายพื้นที่ของห้างสรรพสินค้าหรูใจกลางเมืองและกำลังกระจายไปยังต่างจังหวัด เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในกลุ่มแฟชั่นที่เติบโตขึ้น

ปัจจัยบวกเหล่านี้ผลักดันให้ธุรกิจเติบโต ขณะเดียวกัน แบรนด์หรูต่าง ๆ ก็มีความต้องการ "พนักงาน" ประจำร้านไปรองรับ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการปิดการขาย และทำให้กลยุทธ์ซีอาร์เอ็มแข็งแกร่ง กระทั่งมีการเปิดรับสมัครพนักงานรองรับการขยายตัวของธุรกิจกันอย่างคึกคัก

เร่งรับพนักงานเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่ผ่านธุรกิจแฟชั่นมีความต้องการพนักงานประจำสาขาเป็นจำนวนมาก ตามการขยายสาขาและเข้ามาเปิดกิจการ



ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเอชแอนด์เอ็ม, ยูนิโคล่, คลับ 21, ชาแนล ฯลฯ ที่ประกาศรับสมัครพนักงานผ่านหนังสือพิมพ์ โซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการขยายสาขาหลังการเติบโตของตลาดแฟชั่นและลักเซอรี่ในเมืองไทยสูงขึ้น โดยผ่านบริษัทที่ปรึกษาด้านงานทรัพยากรมนุษย์ต่าง ๆ

ทั้งชาแนล แบรนด์หรูจากฝรั่งเศส ที่ประกาศรับสมัครพนักงานเพิ่มผ่านหนังสือพิมพ์รายวัน ในตำแหน่ง Fashion Training Manager, Fashion Boutique Manager, Fashion Retail Manager, Fashion Product Analyst, Fragrance & Beauty Product Visual Merchandising/Product Manager ทั้งนี้แหล่งข่าวจากชาแนล ประเทศไทยยอมรับว่า เป็นเรื่องปกติที่จะมีการขยับขยายธุรกิจตามการเติบโต ซึ่งจะมีการจัดทำอีเวนต์เพิ่มและต้องการหาคนมารองรับ

สอดคล้องกับนายกีโยมซอแซง กรรมการผู้จัดการ บริษัทชาแนลประเทศไทย ที่เคยกล่าวไว้ว่าจะมีการขยายบูติคช็อปของชาแนลเพิ่มอีก 1 แห่ง จากที่มี 3 แห่ง

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านงานทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีแฟชั่นหลายแบรนด์เลือกใช้บริการ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้รับความไว้วางใจจากธุรกิจแฟชั่นจากต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย ให้รีครูตคนเพื่อทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งมีลักเซอรี่แบรนด์เข้ามาใช้บริการด้วยอาทิ ชาแนล

"การหาพนักงานป้อนธุรกิจในกลุ่มลักเซอรี่แบรนด์นั้นเป็นนิชมาร์เก็ตและไฮเอนด์ ซึ่งนอกจากจะใช้วิธีรีครูตเมนต์ผ่านบริษัทแล้ว ยังใช้วิธีในการสรรหาเองจากผู้มีประสบการณ์ด้วย ยิ่งถ้าเป็นตำแหน่งระดับแบรนด์แมเนเจอร์ ส่วนใหญ่จะใช้เฮดฮันเตอร์"

แฟชั่นหมื่นล้านดีมานด์ทะลัก

สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่ ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ฉายภาพการเติบโตของตลาดแฟชั่นในเมืองไทยว่า มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มฟาสต์แฟชั่น และบริดจ์ไลน์ แฟชั่นระดับพรีเมี่ยมแมสที่มีการเติบโต 50% ต่อเนื่องทุกปี และยอดการใช้จ่ายต่อบิลของกลุ่มฟาสต์แฟชั่นอยู่ที่ระดับ 2,500-3,000 บาท บริดจ์ไลน์หรือแฟชั่นระดับพรีเมี่ยมแมส 3,500-4,000 บาท ลักเซอรี่ 15,000 บาท

ขณะที่ค่ายผู้นำเข้าแบรนด์ดังมีแผนขยายสาขาและนำเข้าแบรนด์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดในกลุ่มนี้ที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นคลับ 21 ที่มีแผน

เปิดช็อปใหม่อย่างต่อเนื่อง ตามพื้นที่ค้าปลีกขยายตัวทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ อาทิ ช็อปแอ็กเซสซอรี่ของ ดีเคเอ็นวายและคาลวินไคลน์ ที่เซ็นทรัลชิดลม, ช็อปของอเล็กซานเดอร์ แมคควีน ที่เอราวัณ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแผนจะนำอีกหลายแบรนด์ในเครือไปเปิดช็อปที่เอ็มโพเรียม 2 และพื้นที่อื่น ๆ อีกไม่น้อยในปีนี้

ด้านนางประนัปดา พรประภา กรรมการผู้จัดการ แห่งร้านมัลติแบรนด์คลาวไนน์ ได้เพิ่มแบรนด์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งร็อคซานดา อิลลินชิคและพรีน พร้อมวางแผนสู่การต่อยอดเป็นดิสทริบิวเตอร์อีก 2-3 แบรนด์ รวมถึงจะเปิดช็อปรองเท้าหรูคริสเตียน เลอบูตอง เอ็มบาสซี่

พนักงานขาด-ดึงตัวกันจ้าละหวั่น

นายดนัย สรไกรกิติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ-ลิส คอร์ปอเรท จำกัด ผู้นำเข้าแบรนด์ดัง จิมมี่ชูส์, ดันฮิลล์, วาเลนติโน่ และผลิตแบรนด์บูดัวร์, ซัมติงบูดัวร์ กล่าวว่า ธุรกิจแฟชั่นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเมืองไทยยังมีบุคลากรไม่เพียงพอ เอ-ลิสฯจึงพยายามเสริมพนักงานตลอดทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการรักษาบุคลากรให้อยู่กับองค์กร เพราะธุรกิจนี้มีการดึงตัวพนักงานอยู่ตลอด บริษัทจึงให้เรตเงินเดือนตามความสามารถของพนักงาน หากมีความสามารถแบบก้าวกระโดดบริษัทก็ยินดีที่จะให้เงินเดือนแบบก้าวกระโดดเช่นกัน

ด้านนางสาวพัฒลิกา อาธารมาศ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้าต่างประเทศ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญของการทำตลาดลักเซอรี่ก็คือ การให้ความสำคัญกับการทำซีอาร์เอ็ม ซึ่งเซ็นทรัลคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้ามาหาเรา จึงต้องเน้นบริการ พนักงานทุกคนต้องได้รับการอบรมมาอย่างดี

ไม่ใช่ขายอย่างเดียว แต่ต้องรู้ประวัติแบรนด์ รู้จุดแข็ง รายละเอียดสินค้าทุกซีซั่น เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกดีเช่นเดียวกับคลับ 21 (ประเทศไทย) ที่โหมกลยุทธ์ซีอาร์เอ็มมาตลอด โดยพนักงานในเครือบริษัทนี้จะได้รับการอบรมในเรื่องแบรนด์สินค้า และการดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น