วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ชัยวัฒน์ผู้นำ"บริษัท(จำกัด)อบายมุข"

ที่มาhttp://www.komchadluek.net/detail
วันนี้ธุรกิจอย่าง "กลุ่มนิ่มซี่เส็งลิสซิ่ง" เชียงใหม่ ไม่เพียงแต่สำเร็จด้านธุรกิจเท่านั้น แต่ยังใช้วัฒนธรรมองค์กรออกกฎระเบียบเข้ามาบริหารจัดการในรูปแบบของวิถีพุทธ ทำให้พนักงานกว่า 1,200 ชีวิต ลดละเลิกอบายมุขเหล่านี้ด้วยความเต็มใจ

 "วิธีการจัดการกับอบายมุข ผมเริ่มที่ตัวเองก่อน ตั้งแต่เล็กจนโตผมไม่ดื่มเหล้า แต่มีกิเลสเหมือนคนทั่วไป ช่วงชีวิตวัยหนุ่มผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย แต่เมื่อจังหวะชีวิตมีเหตุการณ์ให้บวช เพราะปล่อยวางไม่ได้ พอได้เข้าไปบวชสัมผัสรสพระธรรมเพียงแค่ 22 วัน มีความคิดว่า หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าชนะใจผม แล้วทำไมจะชนะใจคนอื่นไม่ได้"  ชัยวัฒน์ สุวิทย์ศักดานนท์  ผู้บริหารนิ่มซี่เส็งลิสซิ่ง วัย 40 ปี กล่าวอย่างเชื่อมั่น

 เขาบอกว่า จุดเริ่มต้นของการทำงานไม่ใช่แค่หลักลอยทางความคิด แต่มีทฤษฎีการถ่วงดุลในการจัดการองค์กรมาใช้งาน มีการประกวดสาขาเป็นตัววัดประเมินผลที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการเงินไม่โลภในการแสวงหากำไร, ด้านการตลาด และลูกค้าเมตตา เป็นนักเลงคุณธรรม, ด้านการปฏิบัติงาน มีความสมัครสมานสามัคคี, ด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ มีการพัฒนาคน และด้านวัฒนธรรมองค์กร มีกัลยาณมิตร เข้ามาช่วยในการทำงานขององค์กรให้เป็นไปอย่างมีระบบแบบแผน

 จากนั้นจึงเริ่มสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้วยการไหว้และยิ้มซึ่งเป็นพื้นฐานในการเริ่มสร้างองค์กรให้มีความยั่งยืน  และเอาจริงเอาจังเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ด้วยการคลุกคลีกับพนักงานระดับบริหารก่อนชวนนั่งสมาธิ การเข้าวัดฟังเทศน์ก่อนมีการประชุมเดือนละ 1 ครั้ง

 ถัดมาจึงค่อยชักชวนให้ออกกำลังกายตอนเย็น มีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์การกีฬา เพื่อลดระยะเวลาในการสังสรรค์ลง ไม่ได้จู่ๆ ก็ให้เลิกเหล้าหรือเลิกบุหรี่ซึ่งเหมือนหักดิบจนเกินไป
 "แรกๆ พนักงานระดับบริหารที่มีอยู่ 20 คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งดื่มเหล้า พอถูกชวนเข้าวัด และเลิกอบายมุข หลายคนมองว่า มองว่าผมบ้า แต่ไม่ท้อ ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจนานกว่า 2-3 ปี" ชัยวัฒน์ กล่าว

 ส่วนพนักงานใหม่ที่จะเข้ามาต้องถูกคัดกรองจากการสัมภาษณ์ ก่อนจะส่งไปเป็นจิตอาสาในวัด แล้วมีการประเมินจากระดับผู้บริหารอีกครั้งว่าสามารถร่วมงานกันได้หรือไม่

 เขาบอกว่า หลังจากเริ่มยกระดับความเข้าใจของดับผู้บริหารได้ จึงต่อยอดออกผลไปยังพนักงานในระดับกลาง และล่าง จากวงแคบๆ ในการทำสมาธิเฉพาะกลุ่ม ก็ขยายไปยังพนักงานทุกคนที่มีทั้งหมด 300 สาขาใน 8 จังหวัดภาคเหนือ กิจกรรมหลักคือช่วงเช้าแต่ละคนจะต้องนั่งสมาธิก่อนทำงาน, มีการนั่งวิปัสสนาปีละ 2 ครั้ง รวมถึงเป็นจิตอาสาร่วมกับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ของสาขาทำโครงการประโยชน์ต่อสังคม

 "ผมลงทุนสร้างสถานีวิทยุชุมชน "NIM Radio ออกอากาศรูปแบบธรรมะสอนชีวิต, การอนุรักษ์เพลงพื้นเมือง และให้ความบันเทิง ควบคู่ไปกับการผลิตนิตยสาร NIM Magazine เดือนละ 1 เล่ม เนื้อหาเป็นกิจกรรมขององค์กรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม, ข้อคิด และหลักธรรมะในการทำงานตลอดจนการดำรงชีวิต โดยให้พนักงานแต่ละสาขารวบรวมข้อมูล ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้แต่ละคนซึมซับวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างทั่วถึง" ชัยวัฒน์ กล่าว

 ส่วนแรงจูงใจ สำหรับพนักงานที่ลด ละ เลิกอบายมุขได้ อย่างเช่น ใครเลิกบุหรี่ได้เพิ่มเงินเดือนให้ 100 บาทต่อเดือน หากใครเลิกได้ทั้งเหล้าและบุหรี่เพิ่มเงินเดือนให้ 500 บาทต่อเดือน และเมื่อคุณสมบัติผ่านการกลั่นกรองแล้ว และมีครอบครัวรับรอง จะมีสิทธิก้าวเข้าสู่โครงการเบี้ยคุณธรรมที่เพิ่งเริ่มเมื่อปี 2553 สามารถรับทุนการศึกษาบุตรปีละ 3,000 บาท, การเช่าที่พักอาศัยในเครือของบริษัทรับส่วนลดในสัดส่วนที่เหมาะสม, มีเงินกองทุนให้กู้ฉุกเฉินไม่มีดอกเบี้ย และมีสิทธิในการซื้อหุ้นของบริษัทได้

 เขาบอกว่า ตอนนี้พนักงานมีทั้งหมดกว่า 1,800 คน ในจำนวนนี้บางคนอาจจะเลิกได้แค่เหล้า แต่ยังสูบบุหรี่ เพราะผมไม่สามารถไปหักด้ามพร้าได้ในเวลาทันใด

 "ทุกวันนี้ ผมไม่ได้มองแค่การธุรกิจ เพื่อหวังผลกำไรอย่างเดียว แต่มองลึกลงไปว่าทำอย่างไรให้องค์กรยั่งยืน ภายใต้การมีส่วนช่วยกันขัดเกลาจิตใจคนในสังคมปัจจุบันด้วย" ชัยวัฒน์ กล่าว
สกาวรัตน์ ศิริมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น