นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กขนาดใหญ่ล้วนมีความเคลื่อนไหวกันคึกคัก รายใหญ่ก็ต้องยกให้กลุ่มเซ็นทรัล ที่ซื้อกิจการห้างหรู “อิลลุม” (ILLUM) ที่ประเทศเดนมาร์ก ต่อยอดการซื้อห้างหรูลา รีนาเซนเต ในอิตาลี เป็นการเดินเกมส์เชิงรุกในการซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions - M&A) ขณะที่กลุ่มเดอะมอลล์กรุ๊ป ก็ลุย ดิ เอ็มโพเรียม 3 บนพื้นที่ 10 ไร่ใจกลางสุขุมวิท ติดสวนเบญจสิริ สยายอาณาเขตห้างหรูกินรวบกำลังซื้อผู้บริโภคไอโซ
ที่ฮือฮา!อีกครั้ง เห็นจะเป็นการตั้งที่ปรึกษาเพื่อขายกิจการห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) สัญชาติฮอลแลนด์อย่าง “แม็คโคร” ที่สร้างรายได้ในประเทศไทยกว่า 1.14 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา กระแสการซื้อขายกิจการของแม็คโครในประเทศไทย โชยกลิ่นตั้งแต่ปลายปี 2555 ที่ขณะนั้นแว่วว่า “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” จอมเทคโอเวอร์เล็งฮุบกิจการดังกล่าว แม้ว่าจนถึงขณะนี้ผู้บริหารสยามแม็คโคร ยังคงปฏิเสธข่าว ก็ตาม
สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกที่เกิดขึ้น เรียกว่า แต่ละก้าวของ Big Player ในตลาด ห้าม!!กะพริบตา
ปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจไม่แพ้ห้างค้าปลีกบิ๊กไซส์ ต้องยกให้เซ็กเมนท์ “ร้านสะดวกซื้อ”หรือ Convenience store : cvs ซึ่งปีนี้ถือเป็นการชักธงรบรอบใหม่ของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ ทั้งบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่มองข้ามช็อตด้วยการสยายปีก“เซเว่น อีเลฟเว่น” บุกแดนมังกร ,บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ใต้ปีกกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือซีอาร์ซี ลุยโฉมใหม่ “ร้านแฟมิลี่มาร์ท” ฟากเครือสหพัฒน์ ก็จับมือกับลอว์สัน เจแปน อิงค์ ทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 ในญี่ปุ่น เพื่อส่ง “LAWSON 108” แบ่งเค้กค้าปลีกไซส์เล็กอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา
"3 บิ๊กเนม" มีจุดแข็งเหมือนกันคือมี“เงินทุนมหาศาล” แต่ใครจะมีชั้นเชิงเหนือกว่ากัน คงต้องวัดกันที่ Speed ในการเข้าชิงพื้นที่ การแต่งองค์ทรงของเครื่องร้านสะดวกซื้อ และปรับกระบวนยุทธการตลาด ประลองสรรพกำลังกันเพื่อก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้
ค่ายใหญ่ที่เบิกฤกษ์เดิมเกมรุกร้านสะดวกซื้อเจ้าแรก ต้องยกให้กลุ่มซีอาร์ซี ที่มี "ทศ จิราธิวัฒน์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ กุมบังเหียน หลังสร้างความสะเทือนให้วงการค้าปลีกไซส์มินิ ด้วยการกินรวบหุ้นบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด สัดส่วน 51% เป็นเสียงข้างมากและคุมอำนาจบริหาร พร้อมปรับโครงสร้างบริหาร ดันลูกหม้อ "ณัฐ วงศ์พานิช"นั่งเก้าประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำงานคู่ขนานกับทีมผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ที่ดูแลด้านการเงินและด้านสินค้า หรือเมอร์เชนไดซ์ เป็นหลัก
ปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา "ณัฐ" พร้อมทีมผู้บริหารไทย-ญี่ปุ่น ตั้งโต๊ะแถลงถึงทิศทางธุรกิจของแฟมิลี่มาร์ทในไทย แจงกลยุทธ์เด็ดที่จะงัดมาสู้เบอร์ 1 อย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น รวมถึงแผนการตลาดที่จะรับมือคู่แข่งสำคัญอย่างเครือสหพัฒน์ ผู้เล่นหน้าเก่าที่สวมแบรนด์ใหม่ "ลอว์สัน 108" นั่นจะทำให้การแข่งขันของคอนวีเนียนสโตร์ดุเดือดมากขึ้น!!
สอดคล้องกับการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดของ "ณัฐ" ที่บอกว่า "ปีนี้สนุก การแข่งขันของธุรกิจร้านสะดวกซื้อสูงมากพอสมควร ทุกค่ายเข้ามาทำตลาด และล้วนมีพาร์ทเนอร์รายใหญ่ที่มีศักยภาพมาเป็นแบ็กอัพ"
สอดคล้องกับการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดของ "ณัฐ" ที่บอกว่า "ปีนี้สนุก การแข่งขันของธุรกิจร้านสะดวกซื้อสูงมากพอสมควร ทุกค่ายเข้ามาทำตลาด และล้วนมีพาร์ทเนอร์รายใหญ่ที่มีศักยภาพมาเป็นแบ็กอัพ"
ณัฐยังบอกด้วยว่า กลยุทธ์การบริหารจัดการร้านที่ดี สินค้ามีคุณภาพ และความสะอาด จะช่วยจูงให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้มากกว่า กลยุทธ์ “ราคา” ที่อาจจะล่อใจผู้บริโภคได้บางส่วนเท่านั้น เพราะเชื่อว่าราคาสินค้าที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่ชี้ขาดชัยชนะ
จุดแข็งของแฟมิลี่มาร์ท ที่“ซีอีโอณัฐ”ย้ำนั่นคือการอยู่ใต้อาณาจักรของเซ็นทรัล ที่มีธุรกิจหลายหน่วยธุรกิจ (BU) ไม่ว่าจะเป็นโรบินสัน มีบัตรเดอะวันการ์ด มีเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ฯลฯ ที่สามารถนำมาผสานพลัง (Synergy)ร่วมกันได้ ขณะที่แฟมิลี่มาร์ทก็มีจุดแข็งการแบรนด์ร้านสะดวกซื้อเบอร์ 2 ของญี่ปุ่น
ชื่อชั้นนั้น "ติดลมบน" เป็นที่รับรู้กันทั่วโลกไปแล้ว
เมื่อทั้ง 2 ผนึกความแข็งแกร่งร่วมกัน การทุ่มเงินปัดฝุ่นแบรนด์ ยกเครื่องภายในร้าน ก็จะช่วย "พลิกโฉม" แฟมิลี่มาร์ท ในประเทศไทย ปูทางสร้างยอดขาย ขยายสาขา และกำไรขึ้นแท่นเบอร์ 2 ในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ นั่นคือ เป้าหมายที่เขาวาดหวัง
บันไดขั้นแรกภายในปี 2560 บริษัทต้องการขยายสาขาให้ครบ 3,000 แห่ง จาก 800 แห่ง และยังเป็นการผลักดันยอดขายให้ทะยานขึ้น 4-5 เท่าตัว หรือแตะ 6-7 หมื่นล้านบาท จากปี 2556 ที่คาดว่าจะปิดยอดขายที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการลุยธุรกิจที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม ตอกย้ำคำพูดของ “ณัฐ” ที่ว่า...
"แม้ไม่มีคู่แข่งรายใหม่เข้ามา บริษัทก็จะทำธุรกิจในเชิงรุกอยู่แล้ว"
แต่การที่ เซเว่นอีเลฟเว่น ยึดครองพื้นที่ร้านสะดวกซื้อเป็นแบรนด์เบอร์ 1 อยู่ในขณะนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมากับแฟมิลี่มาร์ทว่า ยังมีพื้นที่ว่างเหลือให้แบรนด์รองครองทำเลเปิดสาขาหรือไม่ เขาแจกแจงว่า แม้พื้นที่จะ "เต็ม" ถึงขั้นบางหัวมุมถนนมีร้านสะดวกซื้อ 4 สาขา แต่ใช่ว่าโอกาสและช่องว่างทางการตลาดจะ"ตีบตัน"
โดยแฟมิลี่มาร์ทจึงดึงโมเดลร้านจากประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน มาสร้าง "ฟอร์แมทใหม่" ให้กับแฟมิลี่มาร์ทในไทย ด้วยการแบ่งกลุ่มเป้าหมายและชุมชนออกเป็นคลัสเตอร์ เช่น แหล่งทำงานย่านออฟฟิศ และโรงเรียน เพื่อจัดวางสินค้าให้ "ตอบโจทย์" ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ New Family Mart
"ปัจจุบันรูปแบบร้านของแฟมิลี่มาร์ทจะเป็น Standard และ Premium ขนาดตั้งแต่ 60-150 ตร.ม. ในอนาคตบริษัทจะพัฒนาร้านรูปแบบใหม่ๆ เป็นสโตร์คลัสเตอร์เหมือนในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ภายในร้านแฟมิลี่มาร์ทจะมีร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ และยังมีสินค้ามูจิ สูทซีเล็คเข้าไปจำหน่ายในร้าน ส่วนร้านแฟมิลี่มาร์ทในไต้หวันก็จะเปิดร่วมกับร้านซับเวย์ หรือมีร้านซึทาญ่าให้บริการ
“การจะนำแบรนด์หรือสินค้าใดเข้าไปให้บริการจะแตกต่างกันออกไปตามทำเลที่ตั้ง และพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่แบ่งออกเป็นคลัสเตอร์" เขาย้ำ ก่อนแบไต๋ว่าไตรมาส 3 ถึงจะได้ยลแฟมิลี่มาร์ทโฉมใหม่
ทุกโมเดลที่ณัฐบอกนั้น ดูเหมือนจะประยุกต์ใช้ได้ในประเทศไทย เพราะแบรนด์ร้านค้าที่จับคู่กันนั้น ล้วนเข้ามาเปิดช็อปในศูนย์การค้าของไทยแล้วทั้งสิ้น
“ทำเล” ที่ตั้งซึ่งถือเป็น “หัวใจ” หลักในการขยายสาขาร้านสะดวกซื้อ หลายพื้นที่แน่น แฟมิลี่มาร์ทจึงต้องยึด “ภาคใต้และตะวันตก” เป็นหัวหาดในเปิดสาขา ซึ่งเขามองว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของแฟมิลี่มาร์ท รวมถึงพื้นที่ในต่างจังหวัดที่ยังมีช่องว่างให้เข้าเจาะตลาดได้อีกมาก เพราะดีมานด์ของผู้บริโภคมีสูง แต่สาขากลับไม่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า เพราะปริมาณยังน้อยอยู่
ยิ่งคำนวณสัดส่วนสาขาต่อจำนวนประชากร พบว่า การขยายร้านสะดวกซื้อของไทยนั้นยึดประชากร 5,000 คนต่อ 1 สาขา เทียบกับไต้หวันประชากร 2,800-3,000 คนต่อ 1 สาขา ทั้งที่ไต้หวันเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรกว่า 23 ล้านคนเท่านั้น แต่กลับมีร้านสะดวกซื้อมากถึง 2 หมื่นสาขา
ดังนั้นไทยจึงมีโอกาสขยายร้านสะดวกซื้อได้อีกมาก เพราะแค่อิงปัจจัยด้านประชากรที่มีเกือบ 70 ล้านคน ก็เห็นขุมทองทางการตลาดมหาศาลแล้ว บิ๊กเนมอย่างเซ็นทรัล จึงสบช่องทุ่มเม็ดเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ติดสปีดเปิดสาขา การลงทุนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ครบเครื่อง เพื่อทะยานสู่เป้าหมายเบอร์ 2 ให้ได้ในเร็ววัน
อีกกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจร้านสะดวกซื้อครั้งนี้ คือการแปลงโฉมท็อปส์ เดลี่ ในเครือเซ็นทรัล ที่มีอยู่กว่า 200 สาขา ให้เป็นแฟมิลี่มาร์ท จะยิ่งเป็นตัวปั๊มจำนวนสาขาของแฟมิลี่มาร์ทให้เพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด แต่แผนนี้ ซีอีโอณัฐ ยังไม่เคาะว่าจะเดินหน้าอย่างไร
นอกจากโฉมใหม่ที่จะดึงดูดผู้บริโภคแล้ว สินค้ายังถือเป็นหมัดเด็ดที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ที่มีไลฟ์สไตล์ สะดวกซื้อ สะดวกกิน สะดวกใช้และสะดวกจ่ายมากขึ้น จึงต้องเพิ่มสัดส่วนสินค้าประเภทอาหารให้มีสัดส่วนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารเซ็ทเบนโตะต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้นคือการเพิ่มสินค้า Exclusive brand จำหน่ายเฉพาะในแฟมิลี่มาร์ท มาเสริมจุดแข็งให้แกร่งมากขึ้น เขายังวางเป้าหมายเพิ่มสินค้าดังกล่าวไว้ในสัดส่วน 20% จากที่มีอยู่ 10%
ส่วนกลยุทธ์การทำตลาด จากนี้ไปจะเห็นการเพิ่ม Strategy media ของแฟมิลี่มาร์ทให้เป็น Mass มากขึ้น โดยเทงบยกเครื่องการสื่อสารการตลาด อัดกิจกรรมทั้งภายในร้านและนอกร้านอย่างเข้มข้น เพื่อเข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง
เหล้าเก่าในขวดใหม่ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “LAWSON108” จากการผนึกทุนครั้งใหญ่ของเครือสหพัฒน์ กับลอว์สัน เจแปน อิงค์ ดึงแบรนด์ "ลอว์สัน" คอนวีเนียนสโตร์เบอร์ 2 ของญี่ปุ่นมาร่วมฟื้นร้านสะดวกซื้อของตระกูล “โชควัฒนา” ผู้ปลุกปั้น "108 ช็อป" หรือ 108 Shop หลังเป็นเสือซุ่มมาพักใหญ่ ก็ได้ฤกษ์คลอด “LAWSON108” สาขาแรกที่ด้านหน้าบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ให้ยลโฉมกันเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา
สีของร้านและโลโก้จะเป็นโทนฟ้าขาว ยึดฟอร์แมทจากแดนอาทิตย์อุทัย ที่สำคัญสีดังกล่าวทำให้มองแล้วสบายตา และยังเป็นสีของเสื้อผ้าพนักงานร้าน ลบภาพร้านเดิมที่มีโทนสีส้มดูร้อนแรง แต่ จุดด้อย ของสาขาแรก กลับปิดโอกาสสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้ (Brand Awareness) แก่ผู้บริโภค ด้วยทัศนียภาพร้าน โลโก้ถูกบดบังจากต้นไม้ริมถนนที่แผ่กิ่งก้านสาขาค่อนข้างมาก
5 วันผ่านไป (ณ วันที่ 2 เม.ย.56) ดูเหมือนหน้าร้านจะยังไม่ลงตัว เพราะเต็มไปด้วยสินค้าตั้งตระหง่าน ด้านในร้านบริเวณด้านข้างเคาท์เตอร์แคชเชียร์ยังมีพื้นที่โล่งโปร่งให้เห็น แต่โดยรวมพื้นที่ในร้านสะอาดสะอ้าน และยังคงประดับประดาไปด้วยลูกโป่งและป้ายแสดงการตอบรับแบรนด์ใหม่ “WELLCOME LAWSON108”
ส่วนการจัดวางสินค้าก็เป็นระเบียบแยกเป็นหมวดหมู่ ที่สำคัญโลโก้แบรนด์ติดอยู่ที่ป้ายราคา ทั้งหมวดสินค้าพร้อมทาน อาหารทอด รวมทั้งข้าวปั้นสไตล์ญี่ปุ่น ถือเป็นไฮไลท์ใหม่ของร้านก็ว่าได้
ทั้งหมดสอดคล้องกับเสียงของแม่ทัพ บมจ.สหพัฒนบูล อย่าง "บุญชัย โชควัฒนา" ประธานกรรมการบริหาร ที่เคยเล่าว่า "รีแบรนด์" 108 Shop ใหม่ ให้เข้ากับการเกี่ยวก้อยตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างทั้ง 2 ค่าย คือ เครือสหพัฒน์ กับลอว์สัน พร้อมย้ำการใช้ชื่อแบรนด์ "Lawson108" เพื่อยกแบรนด์ระดับโลกมาเติมเต็มแบรนด์ไทย
สำหรับการคืนชีพร้านสะดวกซื้อของสหพัฒน์มีเป้าหมายใหญ่ที่"บุญชัย" ประกาศท้าชนแฟมิลี่มาร์ท ชิงเก้าอี้ "เบอร์ 2" ในตลาดคอนวีเนียนสโตร์ เรียกว่า น้ำหนักการแข่งขันที่รุนแรงจะตกมาอยู่ที่ 2 แบรนด์นี้
ในอดีต บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารร้าน 108 Shop เคยตั้งเป้าจะเปิดสาขาใหม่ปีละ 500 สาขา แต่ปัจจุบันการขยายสาขาต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทำให้ปีที่ผ่านมาบริษัทต้องทบทวนแผนการลงทุนใหม่ รวมไปถึงการศึกษารูปแบบร้านที่เหมาะสมสำหรับ 108 Shop ในหลายโมเดล เพื่อเฟ้นหาตัวเลือกที่ดีที่สุดมาเป็นต้นแบบในการขยายสาขาในอนาคต
ที่ผ่านมาบริษัทเคยเคาะขนาดของร้าน 108 Shop ที่เหมาะสมที่ 60 ตร.ม. เป็นการหาช่องว่างในการเจาะตลาด และหาความแตกต่างจากคู่แข่งที่ส่วนใหญ่จะเน้นขนาดร้าน 70-80 ตร.ม. และขนาดใหญ่ไปจนถึง 100 ตร.ม.หลังร่วมกับพันธมิตรต่างชาติที่พรั่งพร้อมด้วยองค์ความรู้ (Know how) จะช่วยสะท้อนโมเดลใหม่ของร้านสะดวกซื้อของเครือสหพัฒน์ ให้ชัดขึ้นแน่นอน แต่จะสร้างแบรนด์แบ่งเค้กชิงทำเล ยอดขาย และกลุ่มเป้าหมายได้สำเร็จหรือไม่ ยังต้องจับตามอง เพราะต้องยอมรับว่าเครือสหพัฒน์ไม่ใช่หน้าใหม่ในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ แต่คร่ำหวอดในวงการนี้กว่า 10 ปีแล้ว หากแต่ไม่ประสบความสำเร็จในสังเวียนค้าปลีกไซส์เล็กเท่าที่ควร
ฟากเบอร์ 1 อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ภายใต้การนำทัพของซีพีออลล์ ของตระกูลเจียรวนนท์ อีกหนึ่งหน่วยธุรกิจของเครือซี.พี. พี่เบิ้มในภาคธุรกิจของไทย ตั้งเป้าใหญ่ขยายสาขาร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ให้ครบ 1 หมื่นสาขาใน 2561-2562 จากสิ้นปีนี้จะมีร้านเปิดให้บริการ 7,370 สาขา ทิ้งห่างคู่แข่งปิดโอกาสไม่ให้ไล่บี้ทัน !!
การเปิดสาขาใหม่ปีละ 550-600 สาขาต่อปี ยัง "บล็อก" ให้แบรนด์ใหม่ๆที่หวังชิงเค้กค้าปลีก เจอโจทย์หินมากขึ้น เพราะนอกจากจะหาทำเลได้ยาก ยังทำให้หมดทางแย่งแบ่งกำลังซื้อผู้บริโภคในชุมชน เพราะหากทุกหัวมุมถนนมีร้านเซเว่นฯแบรนด์คุ้นหู การ Switch แบรนด์ น่าจะทำได้ยาก จากความเคยชินในการซื้อสินค้าผ่านเซเว่นฯ
ด้านรูปแบบของเซเว่นฯ ไม่หยุดอยู่กับที่ ยังคงงัดโมเดลใหม่ๆมาโยนหินถามทาง วัดใจผู้บริโภคว่าจะแบบไหนโดนใจที่สุด อยู่เสมอ
โมเดลของร้านเซเว่นฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ เซเว่นฯมาตรฐาน,เซเว่นฯที่ผสมผสานร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงในชื่อ Book Smile หรือจะครบเครื่องด้วยจำหน่ายมุมกาแฟและเบเกอรี่ในร้านภายใต้ชื่อคัดสรร (Kudsun) กระทั่งมีร้านยาเอ็กซ์ต้า(Exta) ให้บริการภายในร้าน ส่วนโมเดลไหนจะเป็นหัวหอกเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค จะอิงขนาดพื้นที่หรือคูหาที่เฟ้นมาได้นั่นเอง บางทำเลที่ดีพื้นที่ขนาดใหญ่จะมีสินค้าและบริการครบครันทั้งร้านยาเอ็กซ์ต้า และคัดสันรวมไว้ในพื้นที่เดียวกัน แบบวันสต๊อปชอปปิง
เซเว่นฯ ยังมีอาวุธทางการตลาดอีกมาก ที่จะผสานความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารที่เป็นเรือธงสร้างรายได้ให้กับบริษัท ดันยอดขายสูงกว่า 70% ส่วนการสื่อสารการตลาด ยังเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่เซเว่นฯ ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การสร้างความเคลื่อนไหวให้กับแบรนด์ แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความ"อยาก"ซื้อสินค้าในแต่ละช่วงเวลา
นอกจากนี้ เซเว่นฯยังจัดโปรโมชันที่กุมผู้บริโภคให้อยู่หมัด ด้วยแคมเปญสะสมสแตมป์แลกซื้อของพรีเมี่ยมต่างๆ ถือเป็นการสร้างสีสันให้แวดวงร้านสะดวกซื้อไซส์เล็ก พร้อมไปกับการดันยอดขายเซเว่นฯให้พุ่งกระฉูดอีกระลอก
อีกหนึ่งหมัดการตลาดของเซเว่นฯ คือมีเซเว่น-แค็ตตาล็อก(7-Catalog) ซึ่งจะช่วยสร้างมิติใหม่แห่งการชอปปิงให้กับร้านสะดวกซื้อ ด้วยการนำเสนอสินค้ากว่า 1,200 รายการ ครอบคลุมสินค้าหลายหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นเด็ก สินค้าแม่และเด็ก รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สารพัดที่พร้อมส่งถึงมือผู้บริโภค และยังเปิดช่องทางออนไลน์มาเสริมความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังมีบริษัท รีเทล ลิงค์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งจำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ จึงมีส่วนช่วยในการขยายแฟรนไชส์ของเซเว่นฯได้ค่อนข้างมาก
สะท้อนภาพการรั้งเบอร์ 1ของเซเว่นฯในไทย ไม่ได้มาจากความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุนที่ใช้ขยายสาขาเท่านั้น แต่ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด สินค้าและบริการ ทำให้ทุกอย่างลงตัว ตอกย้ำตำแหน่งผู้นำธุรกิจร้านสะดวกซื้อในไทยให้แข็งแกร่ง เหมาะกับชื่อชั้นแบรนด์คอนวีเนียนสโตร์ระดับโลกอย่างเซเว่นฯ
วันนี้ซีพีออล์ ไม่ได้มองแค่สมรภูมิค้าปลีกร้านสะดวกซื้อในไทย แต่ได้แผ่ขยายอาณาจักรถึงแดนมังกร มองข้ามช็อตคู่แข่งในประเทศไปอีกขั้น หลังปูพรมเปิดสาขาเตะสกัดคู่แข่งไปมากแล้ว ด้วยรายได้รวมวันนี้ที่ใกล้จะแตะ 2 แสนล้านบาท กำไรกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท สาขาที่กำลังจะทะยานสู่ 1 หมื่นสาขา ไม่ว่ารายใหม่จะใหญ่แค่ไหน ก็ยากที่จะต่อกรกับเบอร์ 1 ทุกวิถีทางจึงไม่แปลกที่แบรนด์รอง หวังเต็มที่แค่เบอร์ 2 ของตลาด เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากมองสังเวียนค้าปลีกไซส์เล็กที่เป็น"คอนวีเนียนสโตร์" อย่างแท้จริง วันนี้ 3 ค่าย ต่างมี Back up เป็น"แบรนด์ข้ามชาติระดับโลก" มาเสริมแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบใหญ่ในสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรง แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีร้านค้าปลีกไซส์มินิจาก 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างเทสโก้ โลตัส ในนาม "เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส" หรือบิ๊กซีที่ส่ง "มินิบิ๊กซี" มาท้าชน เพราะหากนับจำนวนสาขาค้าปลีกไซส์เล็ก เทสโก้เอ็กซ์เพรส คือเบอร์ 2 ในตลาด ด้วยพื้นที่ในการขยายสาขามีจำกัด จำนวนลูกค้าก้อนเดียวกัน จึงเป็น"โจทย์หิน" ที่ทุกค่ายต้องงัดกลยุทธ์มาฟาดฟัน หาทางแบ่งมาร์เก็ตแชร์ธุรกิจค้าปลีก "แสนล้าน" ให้ได้
แต่เกมการแข่งขันจะเข้มข้นดุเดือดแค่ไหน คงไม่ต้องวัดบัลลังก์แชมป์เบอร์ 1 ที่ไกลเกินเอื้อม หากแต่ต้องเกาะติดตำแหน่งเบอร์ 2 ว่าใครจะได้ครอบครอง
ระหว่าง แฟมิลี่มาร์ท หรือลอว์สัน 108 !!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น