วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

เปิดพอร์ต4หมื่นล."เอฟแอนด์เอ็น"ในไทย



link http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 11:11
จับตา "เอฟแอนด์เอ็น" ในไทย หลังกลุ่มเจริญฮุบแบบเบ็ดเสร็ด คาดรวมทุกเซกเม้นท์มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท

ใกล้รูดม่านปิดฉากดีลประวัติศาสตร์การซื้อขายกิจการใหญ่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กับปฏิบัติการฮุบบริษัทเฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) เพื่อรวบอำนาจบริหารแบบเบ็ดเสร็จโดยเจ้าพ่อน้ำเมา “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ยอมทุ่มเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้านบาท ในการขยายอาณาจักรธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในภูมิภาค

ทว่านับสัดส่วนหุ้นวันนี้ “เสี่ยเจริญ” กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเอฟแอนด์เอ็นเรียบร้อยแล้ว ถือครองหุ้นสัดส่วน 69% หลังคิรินโฮลดิ้งส์ ขายหุ้นทั้งหมดราว 15% ให้กับทีซีซีแอสเสท

สิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากเก้าอี้บริหารตกเป็นของเสี่ยเจริญ คือการวางหมากนำ "ผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม" รวมทั้ง "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ของเอฟแอนด์เอ็นมาเสริมพอร์ตทีซีซีกรุ๊ป เพราะต้องยอมรับว่าสินค้าที่มีอยู่ในบริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด หาใช่เป็นแบรนด์โนเนม หลายรายการอยู่ใน "ท็อปทรี" และบางรายการถือเป็น "ผู้นำตลาด" ด้วยซ้ำอย่างผลิตภัณฑ์นมสเตอริไลส์ตราหมี ผลิตภัณฑ์นมตราหมีโกลด์ ผลิตภัณฑ์นมข้นจืด และครีมเทียมข้นหวานพร่องไขมันตราคาร์เนชั่น เป็นต้น

ย้อนรอยไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เอฟแอนด์เอ็นได้เข้ามารุกธุรกิจในประเทศไทยเต็มตัว หลังเข้าซื้อกิจการในกลุ่มเครื่องดื่มของเนสท์เล่มาเสริมพอร์ตเมื่อปี 2550 ปูทางให้บริษัททยอยนำเข้าสินค้าจากเข้ามาบุกไทย พร้อมกับการลงทุนครั้งใหญ่ 3,500-4,500 ล้านบาท ด้วยการสร้างโรงงานผลิตสินค้าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกาศปักธงรบเต็มสูบหวังโกยยอดขายในไทย 20,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ซึ่งตามแผนจะต้องบรรลุภายในปี 2555 แต่ปีที่ผ่านมาผู้บริหารยังเงียบ

นอกจากนี้ยังพบว่า ที่ผ่านมาเอฟแอนด์เอ็นได้ทุ่มงบการตลาดในไทยไม่น้อย แต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 500-1,000 ล้านบาท โดยมีสินค้า "เรือธง" อย่างนมสเตอริไลส์ตราหมี นมข้นจืดคาร์เนชั่น เสริมทัพด้วยน้ำผลไม้เอฟแอนด์เอ็น "ฟรุท ทรี เฟรซ" และ "เอ็ฟแอนด์เอ็นแม็กโนเลีย ช็อกมอลต์"
ทว่า 2 แบรนด์หลังกลับเงียบหายไปจากตลาด โดยเฉพาะเอฟแอนด์เอ็นแม็กโนเลียฯ ที่ไม่มีอยู่บนเชลฟ์ จากที่เคยจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และโมเดิร์นเทรด

ดังนั้น การที่เสี่ยเจริญได้สินค้ามาโดยไม่ต้องก่อร่างสร้างแบรนด์ตั้งแต่แบเบาะ ย่อมเป็นสิ่งดีเพราะสินค้าในพอร์ตหลายๆตัว ผู้บริโภคในตลาดมีการรับรู้แบรนด์บ้างแล้ว หากไล่เรียงกันจะเห็นว่า มูลค่าตลาดของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้นค่อนข้างใหญ่ แต่การแบ่งเค้กแต่ละกลุ่มนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

ประเดิมที่สินค้า "หัวหอก" ของเอฟแอนด์เอ็นอย่าง "ตลาดนมสเตอริไลส์หรือนมพร้อมดื่ม" สำหรับผู้ใหญ่มีมูลค่าตลาดรวม "ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท" หากจะกล่าวถึงตลาดนี้ต้องเรียกว่า "ตราหมี" สินค้าใต้ปีกเอฟแอนด์กินรวบเจ้าเดียวโกยมาร์เก็ตแชร์ 98% ซึ่งถือเป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้หลักให้กับเอฟแอนด์เอ็นในประเทศไทย

ขณะที่ "ตลาดนมข้นหวาน" ในไทยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4,000ล้านบาท ผู้นำตลาดยังเป็นตรามะลิ และ "คาร์เนชั่น" ยังตามหลังอยู่ ส่วน "ตลาดนมข้นจืด" มีมูลค่าราว 1,500-2,000 ล้านบาท โดยคาร์เนชั่นถือเป็นผู้นำตลาดที่เคยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 60% แต่เอฟแอนด์เอ็นยังมีสินค้าในพอร์ตอีกแบรนด์นั่นคือ "ทีพอท" ซึ่งรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้ต่างจากคาร์เนชั่น

อีกตลาดที่สำคัญคือ "ตลาดนมพร้อมดื่มยูเอชที" ที่มีมูลค่าราว 40,000 ล้านบาท แต่ตลาดนี้ต้องแยกย่อยลงไปอีก ในกลุ่มตลาด "เครื่องดื่มมอลต์สกัด" มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6,600 ล้านบาท ตลาดดังกล่าวมีคู่แข่งหลักๆเพียง 2 ราย คือ "โอวัลตินและไมโล" แต่ในแง่ของส่วนแบ่งทางการตลาดนั้นห่างชั้นกันมาก โดยโอวัลตินเป็นเบอร์ 1ครองส่วนแบ่งกว่า 75%

อีกหนึ่งสีสันของวงการตลาดเครื่องดื่มได้แก่ "ตลาดน้ำผลไม้" ที่มีมูลค่า 8,500 ล้านบาท โดย "ทิปโก้" ยังเป็นเจ้าตลาด ที่ดูแล้วน่าจะเหนื่อยสำหรับน้องใหม่อย่างเอฟแอนด์เอ็น เพราะที่ผ่านมาแม่ทัพการลาดพยายามจะผลักดันแบรนด์ "เอฟแอนด์เอ็น ฟรุท ทรี เฟรช" แล้ว แต่ยังเกิดยากในวงการนี้

แต่ตลาดที่ดูจะเข้มข้นเห็นจะเป็น "ตลาดกาแฟ 3 อิน 1" ซึ่งมีมูลค่าราว 14,040 ล้านบาท หรือสัดส่วน 78% ของตลาดกาแฟสำเร็จรูปในประเทศไทย ที่ตลาดนี้มีเนสกาแฟเป็นเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่งกว่า 60% โดยตลาดดังกล่าวมีการขับเคี่ยวกันดุเดือดของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ 4-5 รายเท่านั้น "เอฟแอนด์เอ็นครีเอชั่น" ต้องเจอโจทย์หินไม่ใช่เล่น
มีกาแฟก็ต้องมีเครื่องเคียงทำให้กลมกล่อมอย่าง "ครีมเทียม" ซึ่งตลาดนี้ยังคงโดดเด่นรับกับไลฟ์สไตล์คอกาแฟอยู่แล้ว ตลาดดังกล่าวมีมูลค่าราว 5,000-6,000 ล้านบาท และเจ้าตลาดนยังเป็นเนสท์เล่ คอฟฟี่เมต เกณฑ์มาร์เก็ตแชร์กว่า 85% ถือได้ว่าเกือบกินรวบทั้งตลาดก็ว่าได้ ไม่นับแบรนด์เล็กอย่างบัดดี้ดีน และคูซ่า ที่ทยอยเก็บมาร์เก็ตแชร์ตุนไว้ในกระเป๋าบ้างแล้ว แต่ตลาดนี้ไม่น่าจะยากเกินความสามารถของเสี่ยเจริญ เพราะหากคอกาแฟต้องการนมข้นจืดคาร์เนชั่นเพิ่มรสละมุนให้กับกาแฟ อาจไม่ยากถ้าจะเปิดใจลองครีมเทียมคาร์เนชั่นบ้าง

เอฟแอนด์เอ็นยังมี "ผลิตภัณฑ์รังนก" ที่ทำตลาดในไทย แต่ตลาดนี้จะต้องฝ่าด่าน 2 รายใหญ่อย่างแบรนด์ และสก็อต เพื่อแบ่งเค้กมูลค่า 3,000 ล้านบาทให้ได้ แถมแบรนด์เป็นผู้นำตลาดที่ถือเค้กก้อนโตกว่า 60% ไว้ในมือ และคงไม่ยอมปล่อยให้ใครง่ายๆ

เมื่อรวมทุกเซ็กเมนต์ที่เอฟแอนด์เอ็นผงาดในไทย พบว่ามี "มูลค่าตลาดรวม" ไม่ต่ำกว่า 46,000 ล้านบาท ท้าทายเสี่ยเจริญที่จะเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในพอร์ต ต่อยอดความมั่งคั่งอีกไม่น้อย !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น