วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556

เมื่อ Dell ออกจากความเป็นบริษัทมหาชน


วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 01:00

ดร.พสุ เดชะรินทร์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "มองมุมใหม่"
ที่มาhttp://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics
ดร.พสุ เดชะรินทร์ Michael Dell ซีอีโอของ Dell บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของโลกประกาศซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อถอน Dell ออกจากการเป็นบริษัทมหาชน หรือ ที่อีกหน่อย Dell จะกลายเป็นบริษัท Private ไม่ใช่บริษัทมหาชนเหมือนในอดีต ซึ่งผมว่าประกาศล่าสุดของ Dell นี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ และเป็นบทเรียนที่น่าศึกษาครับ

เชื่อว่าท่านที่ผ่านการเรียนทางด้านบริหารธุรกิจ หรือ กลยุทธ์ หรือ การผลิตและดำเนินงาน คงจะคุ้นกับ Dell ในฐานะที่เป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิกในแวดวงบริหารธุรกิจ Dell สร้างชื่อขึ้นมาจากกระบวนการผลิตคอมพิวเตอร์ในรูปแบบใหม่ ที่เน้นขายก่อนที่จะผลิต ซึ่งแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ในสมัยนั้นที่จะผลิตก่อนและขาย นอกจากนี้กระบวนการในการผลิตและการดำเนินงานของ Dell ก็เป็นกรณีศึกษาที่ทุกคนจะต้องเคยได้ยินและเรียนรู้เกี่ยวการประกอบที่มีประสิทธิภาพ มีของเสียน้อย และต้นทุนต่ำ

จากความสามารถในการขายคอมพิวเตอร์ที่มีต้นทุนต่ำ แต่การบริการที่ดีนั้น ทำให้ Dell ก้าวขึ้นเป็นผู้นำการขายคอมพิวเตอร์ของโลก อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับธุรกิจทั่วไป ที่ถ้าองค์กรหลงอยู่กับความสำเร็จที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็จะนำพาซึ่งหายนะมาสู่องค์กร เนื่องจากลูกค้าหลักของ Dell คือบรรดาบริษัทต่างๆ ในอดีตเรามักจะไม่ค่อยเห็น Dell ขายให้กับผู้บริโภคทั่วไป แต่เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ก็มีปรากฏการณ์ที่บริษัทต่างๆ ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์น้อยลง ประกอบกับแนวโน้มการซื้อคอมพิวเตอร์จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ Dell ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยหันมาออกคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่เน้นเอาใจผู้บริโภคมากขึ้น

จากกระแสการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ นอกจากจะทำให้ Dell ต้องมาจับตลาดผู้บริโภคมากขึ้นแล้ว Michael Dell ผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งได้วางมือจากการบริหารบริษัทต้องกลับมาคุมบังเหียนเป็น CEO อีกครั้ง และ Dell ก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ขนานใหญ่ทีเดียว แต่เป็นการปรับกลยุทธ์ที่เลียนแบบ IBM และ HP เพียงแต่เป็นการเลียนแบบที่อาจจะช้าเกินไป

Dell พยายามเลียนแบบกลยุทธ์ของ IBM และ HP โดยการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ของตนเองมากขึ้น เพื่อไม่ต้องพึ่งพาแต่เฉพาะการขายคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Dell เข้าไปซื้อบริษัทต่างๆ จำนวนมาก ทั้งบริษัทที่ทำซอฟต์แวร์ บริษัทที่ทำฐานข้อมูล บริษัทผู้ให้บริการด้าน IT Services โดย Dell พยายามวางตำแหน่งของตนเองไว้ว่าต้องการเป็นผู้ให้บริการด้าน IT อย่างครบวงจรให้กับธุรกิจขนาดกลางและย่อม ซึ่งเป็นช่องว่างทางการตลาด ที่ Dell มองว่า IBM และ HP ไม่ได้มุ่งเน้น

อย่างไรก็ดีสุดท้ายรายได้หลักของ Dell ก็มาจากการขายคอมพิวเตอร์อยู่ดี แต่ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อีกรอบครับ ทั้งการเติบโตของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์จากเอเชียอย่างเช่น Lenovo ซึ่งสามารถแย่งชิงอันดับสองของผู้ขายคอมพิวเตอร์จาก Dell ไป ที่สำคัญคือตลาดคอมพิวเตอร์มีการหดตัวลง ผู้บริโภคซื้อคอมพิวเตอร์น้อยลง ขณะเดียวกันตลาด Mobile ก็เติบโตขึ้น ซึ่งเจ้าตลาด Mobile นั้นก็เป็นสิ่งที่ Dell ได้ละเลยมาตลอด

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการที่ Dell ตัดสินใจออกจากความเป็นบริษัทมหาชนเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสม เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน สถานะทางการเงินของ Dell ก็ไม่ได้เลวร้าย ยอดขายก็ดี กำไรก็มี เงินสดก็มี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกลยุทธ์การเติบโตของ Dell ในอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นกันเลย ไม่ว่าตลาดคอมพิวเตอร์ที่หดตัวลง คู่แข่งจากเอเชียที่มีค่าแรงที่ถูกกว่า หรือ การเข้าสู่ตลาด IT Services ที่ช้ากว่ายักษ์ใหญ่อย่าง IBM และ HP

แต่เมื่อ Dell ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว Michael Dell ก็จะไม่เผชิญกับความกดดันจากหน่วยงานกำกับ นักวิเคราะห์ และ นักลงทุนต่างๆ ทั้งการเปิดเผยข้อมูล การทำยอดขายให้ถึงเป้าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และที่สำคัญคือความคาดหวังของผู้ถือหุ้น ถ้า Dell จะคิดค้น Business Model หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็สามารถทำได้อย่างเป็นความลับ การไม่ต้องตกอยู่ในสายตาของผู้อื่นตลอดเวลานั้น อาจจะช่วยทำให้ Dell ได้มีเวลาทบทวนและแสวงหากลยุทธ์ ผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนวทางใหม่ๆ ที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต

สุดท้ายแล้วเราคงต้องเฝ้าดูนะครับ ว่า Dell จะประสบความสำเร็จในการเอาบริษัทออกจากตลาดหรือไม่ และเมื่อออกแล้ว Dell จะกลับมารุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ได้เหมือนเดิมหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น