วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

มาม่าเร่งสปีดขยายการลงทุนไทย

วันอังคารที่ 29 มกราคม 2013 เวลา 14:56 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การตลาด MARKETING -
ที่มาhttp://www.thannews.th.com/index.php?option
"มาม่า" เร่งสปีดขยายการลงทุนไทย/เทศ  สวนกระแสตลาดบะหมี่ อิ่มตัว ทุ่มงบกว่า 1 พันล้านซื้อเครื่องจักรผลิตบะหมี่ทั้งแบบถ้วย ซอง ร่วมทุนพาร์ตเนอร์ตั้งโรงงานในกานาขยายตลาดแอฟริกา และโรงงานในภูฏานหวังส่งออกในอินเดีย

  ล่าสุดซุ่มเจรจายักษ์ธุรกิจในญี่ปุ่น หวังร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตสแน็กในไทย  คาดสิ้นปีฟันรายได้ทะลุหมื่นล้าน หลังปี 55 ทำสถิติรายได้และกำไรสูงสุดในรอบ 40 ปี

     นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานกรรมการ บริษท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือทีเอฟ เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาทมีการเติบโตเพียงแค่ 3% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี และยังคงอยู่ในภาวะอิ่มตัวต่อเนื่องจากปีก่อนโดยเฉพาะในบะหมี่แบบซอง ซึ่งมีสัดส่วนโดยรวมราว 75% ของตลาด ส่วนอีก 25% เป็นบะหมี่แบบถ้วย ทำให้บริษัทปรับกลยุทธ์ หวังเพิ่มสัดส่วนยอดขายในบะหมี่แบบถ้วย ซึ่งมีราคาสูงกว่าแทน

    โดยในปีนี้บริษัทมีแผนใช้งบลงทุนราว 1.09 พันล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อผลิตบะหมี่แบบซอง สำหรับโรงงานที่ศรีราชา จำนวน 5 เครื่อง มูลค่า 380 ล้านบาท  , ซื้อเครื่องจักรเพื่อผลิตบะหมี่แบบถ้วย สำหรับโรงงานที่ระยอง  จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 135 ล้านบาท  , ซื้อเครื่องจักรเพื่อผลิตเวเฟอร์ สำหรับโรงงานที่ระยอง จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 75 ล้านบาท นอกจากนี้ยังใช้เงินอีกราว 500 ล้านบาท ในการตั้งโรงงานผลิตขึ้นที่กานา เพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังแอฟริกา และโรงงานที่ภูฏานเพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังอินเดีย จากปัจจุบันที่บริษัทมีการลงทุนตั้งโรงงานในกัมพูชาและพม่า ซึ่งในปีที่ผ่านมามียอดขาย 288 ล้านบาท และ 593 ล้านบาท ตามลำดับ และล่าสุดเข้าไปตั้งโรงงานในบังกลาเทศ เริ่มผลิตและวางจำหน่ายมาม่าเมื่อเดือนมกราคม 2556 นี้

    อย่างไรก็ดีแม้ปัจจุบันบริษัทจะประสบปัญหาต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกราว 15% ในปีนี้แต่บริษัทจะไม่ขึ้นราคาขายมาม่าอย่างแน่นอน หลังจากที่บริษัทเคยปรับราคาสินค้ามา 2 ครั้งในรอบ 15 ปี โดยในปี 2540 ปรับขึ้นจากราคา 4 บาทเป็น 5 บาท และในปี 2550 ปรับราคาขึ้นจาก 5 บาท เป็น 6 บาท

    ขณะที่ราคาวัตถุดิบในปีนี้  พบว่าแป้งสาลีมีราคา 360 บาทต่อกระสอบ (ขนาด22.5 กิโลกรัม) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีราคา 330 บาท  ส่วนน้ำมันปาล์มมี 33 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีราคาเฉลี่ย 30 บาทต่อกิโลกรัม  อย่างไรก็ดีบริษัทต้องควบคุมต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ต้องเจรจาซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า 6-12 เดือน จากเดิมที่จะสั่งซื้อล่วงหน้า 2-3 เดือน เพื่อให้ราคาวัตถุดิบคงที่ นอกจากนี้บริษัทยังใช้วิธีการตั้งโรงงานผลิตแป้งสาลีขึ้นเองภายในพื้นที่โรงงานผลิตบะหมี่เดียวกัน เพื่อลดต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบด้วย

    ด้านนายสุชัย รัตนเจียเจริญ กรรมการผู้อำนวยการ กล่าวว่า การขยายการลงทุนในธุรกิจอื่น ถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับทีเอฟ  โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มทุนญี่ปุ่น เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการรุกตลาดขนมขบเคี้ยวหรือสแน็ก ด้วยการเข้ามาตั้งโรงงานสแน็กในเมืองไทย ซึ่งจะเป็นสแน็ก เซ็กเมนต์ใหม่ โดยคาดว่าจะสามารถสรุปความคืบหน้าได้ในเดือนเมษายนนี้ หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรมีการปรับโครงสร้างการบริหารใหม่

    สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปี 2556 คาดว่าจะมียอดขาย 1.045 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% มีกำไร 700 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน เพราะต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นแต่บริษัทไม่ปรับราคาสินค้า ขณะที่ในปี 2555 บริษัทมียอดขายราว 1 หมื่นล้านบาท มีกำไร 1.253 พันล้านบาท สูงสุดในรอบ 40 ปี  แบ่งเป็นยอดส่งออก 20% และยอดขายในประเทศ 80%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,814
วันที่   31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น