ที่มาhttp://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article
ส่งผลให้บริษัทก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำของธุรกิจเคมีภัณฑ์ ของกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)(บมจ.) ด้วยกำลังการผลิตเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมีสายโอเลฟินและอะโรแมติกรวมประมาณ 8.45 ล้านตันต่อปี
อนนต์ สิริแสงทักษิณ แต่ด้วยสภาวะการแข่งขันและตลาดภายในประเทศมีจำกัด ทำให้พีทีทีจีซี ต้องปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานใหม่ ด้วยการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ด้วยการวางเป้าหมายของบริษัทไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะต้องเติบโตอยู่ 1 ใน 25 บริษัทชั้นนำของเอเชีย เพราะนอกจากจะสามารถขยายธุรกิจให้มีขนาดใหญ่แล้ว ยังต้องมีรายได้เติบโตขึ้นเพื่อให้เทียบเคียงกับบริษัทชั้นนำของโลกด้วย
นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีจีซี ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมายไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการตัดสินใจร่วมลงทุนกับบริษัท พีที เปอร์ตามิน่าฯ บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย ที่จะผุดปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ระดับโลก ด้วยเม็ดเงินลงทุนของโครงการ 4-5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
+++ลุยปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์อินโดนีเซีย
การตัดสินใจของบริษัทที่เข้าไปร่วมทุนกับบริษัท พีที เปอร์ตามิน่าฯ ครั้งนี้ ถือเป็นการก่อสร้างโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำที่มีขนาดกำลังการผลิตใหญ่ระดับโลก คาดใช้เงินลงทุนประมาณประมาณ 1.2-1.5 แสนล้านบาท ซึ่งพีทีทีจีซี จะเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 49 % และของเปอร์ตามีน่า 51% โดยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายสามารถหาพันธมิตรร่วมทุนได้ แต่จะต้องได้รับความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ระหว่างนี้ทางพีทีทีจีซีก็ได้เริ่มเจรจาที่จะหาพันธมิตรต่างชาติเข้ามาถือหุ้นร่วมด้วยแล้ว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาศึกษาในรายละเอียดประมาณ 5 เดือน และหลังจากนั้นจะเซ็นสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทขึ้นมาในช่วงปลายปีนี้ และเริ่มพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560-2561 โดยทางเปอร์ตามีน่าคาดหวังว่าโครงการปิโตรเคมีจะเป็นธุรกิจหลักตัวใหม่ที่จะสร้างรายได้ในอนาคต ที่จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศ 30% ภายใน 5-10 ปี ภายหลังจากโครงการดังกล่าวเดินเครื่องแล้ว
สำหรับโครงการนี้จะประกอบด้วยโรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่มีโรงงานโอเลฟินขนาดกำลังผลิตปีละ 1 ล้านตัน รวมถึงโรงโพลิเมอร์ปลายน้ำเพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนแหล่งเงินทุนนั้นจะกู้ยืมจากสถาบันการเงินและเงินทุนของบริษัทอย่างละครึ่ง ซึ่งฐานะการเงินของพีทีทีจีซีมีความเข้มแข็ง และมีสภาพคล่องเพียงพอ
+++วาง3ยุทธศาสตร์การลงทุน
สำหรับการลงทุนร่วมกับเปอร์ตามีน่านับว่าเป็นยุทธศาสตร์การลงทุนตามที่บริษัทวางไว้ 3 ด้าน ยุทธศาสตร์แรกเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจปัจจุบันที่ดำเนินงานอยู่ 7 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมัน อะโรแมติก โอเลฟิน โพลีเมอร์ เอทิลีนออกไซด์ กรีนเคมิคอล และกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ ที่จะสามารถนำวัตถุดิบไปป้อนให้กันได้
ดังนั้นในปีนี้บริษัทจึงเน้นการลงทุนใน 3 กลุ่มหลัก คือการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ,การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในโรงงานเดิม โดยจะขยายกำลังการผลิตในโรงงานอะโรแมติกโรงที่ 2 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 แสนตันต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีการนำผลิตภัณฑ์ C4 ที่ได้จากโรงงานมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ในโครงการผลิตบิวเทน 1 และบิวทาไดอีน ซึ่งนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยางสังเคราะห์ โดยแผนการลงทุนทั้งหมดที่บริษัทได้วางไว้ คาดว่าจะทำให้อัตราการเติบโตของกำไรในช่วง 5 ปี (2556-2560) จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-6%
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการขยายผลจากธุรกิจปัจจุบัน จะต้องมีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อต่อยอดธุรกิจซึ่งในปี 2556 บริษัทจะขยับเข้าไปสู่ธุรกิจต้นน้ำมากขึ้น อาทิ อุตสหกรรมก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ ดังนั้นจึงได้จับมือกับบริษัท Perstorp Holding France SAS เมื่อปลายปี 2554 และเปลี่ยนชื่อเป็น VENCOREX Holding เพื่อดำเนนิธุรกิจผลิตไอโซไซยาเนส ซึ่งเป็นเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษที่ใช้ในการผลิตสารโพลียูรีเทน ซึ่งมีคุณสมบัติหลักเหมาะสำหรับการใช้งานเป็นสารเคลือบในอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตฉนวนความร้อนสำหรับก่อสร้างอาคาร รวมถึงการผลิตโฟมที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
และยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การดำเนินธุรกิจที่เกาะกระแสโลก โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทเข้าร่วมลงทุนในบริษัท NatureWorks LLC ของสหรัฐอเมริกา เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตไบโอพลาสติกประเภท PLA (Poly Lactic Acid) ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 1.4 แสนตันต่อปี ใช้เงินลงทุนทั้งโครงการ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยไบโอพลาสติกประเภท PLA เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้จากการหารือกับ NatureWorks คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ที่จะเริ่มโครงการระยะแรกก่อน 7 หมื่นตันต่อปี +++จับมือมาเลเซีย-จีนลงทุนปิโตรเคมี
ส่วนความคืบหน้าในการลงทุนโครงการปิโตรเคมีกับปิโตรนาส ประเทศมาเลเซีย เพื่อร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตโพรพิลีนออกไซด์ หรือโพลีออล ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนโครงการปิโตรเคมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่มสูง(High Value Added Products) ในเขตอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศมาเลเซีย สำหรับโครงการนี้พีทีทีจีซีมีสัดส่วนการถือหุ้น 25% ,ปิโตรนาส 55% และบริษัท อิโตชู 20%
อย่างไรก็ตามปัจจุบันรัฐบาลมาเลเซียมีความชัดเจนด้านนโยบายสนับสนุนการลงทุนมากขึ้น ดังนั้นน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้แน่นอน โดยบริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในโครงการดังกล่าวไม่เกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่โครงการร่วมทุนบริษัท ซิโนเปคของจีน เพื่อร่วมมือกันทำการค้า รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตโพลียูรีเทนในประเทศจีน เพื่อสนองความต้องการใช้ภายในประเทศ ซึ่งบริษัทเห็นศักยภาพการใช้โพลียูรีเทนในจีนที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าผลการศึกษาการตั้งโรงงานนี้จะได้ข้อสรุปในปีนี้
+++อัดงบลงทุน5ปีรวม4.5พันล้านดอลลาร์
สำหรับเม็ดเงินที่จะใช้ลงทุนช่วง 5 ปีนี้(ปี 2556-2560) ในโครงการต่างๆ ที่กล่าวมา คาดว่าจะอยู่ประมาณ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปีละ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมแล้ว 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีเงินจากวงเงินกู้จากผู้ถือหุ้นอีก 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในปี 2555 ที่ผ่านมาออกหุ้นกู้ไปแล้ว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแผนจะกู้ได้อีก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ดังนั้นรวมแล้วบริษัทฯจะมีเงินลงทุนรวม 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามบริษัทจะรักษาอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่เกิน 0.7 เท่า และหนี้สินต่ออีบิตดาไม่เกิน 2.4 เท่า
+++รายได้ปีนี้เติบโตต่อเนื่อง
ส่วนแนวโน้มรายได้ในปีนี้ คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2555 โดยมีกำไรเพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน ซึ่งรายได้ที่เติบโตขึ้นในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากผลของการควบรวม ทำให้พีทีทีจีซีสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปริมาณการใช้ก๊าซจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6 เพิ่มขึ้น จึงช่วยลดต้นทุนลงได้
ขณะเดียวกันราคาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ค่อยดีนักในปี 2555 ทำให้ปีนี้เริ่มขยับตัวขึ้นบ้าง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริษัทฯไม่ได้มีกำไรเพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่ แต่มาจากการเพิ่มประสิทธิภาพจากธุรกิจปัจจุบัน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,835 วันที่ 14 - 17 เมษายน พ.ศ. 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น