วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

'บีเอ็มซีแอล'กางแผนล้างขาดทุน


คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 29-04-2556
ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20130211/151495
สัมภาษณ์พิเศษ : 'บีเอ็มซีแอล' กางแผนล้างขาดทุน ปั้นทีมรอเปิดวิ่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง ปี 59 : โดย...อนัญชนา สาระคู
                         ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ การเดินทางของคนกรุงเทพฯ จะสะดวกสบายมากขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อของโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างสายใหม่และส่วนต่อขยายอีกหลายเส้นทาง
                         โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ (สถานีคลองบางไผ่ ถึงสถานีเตาปูน) ดูจะมีความคืบหน้ามากที่สุด การก่อสร้างเดินหน้าไปแล้วกว่า 50% และล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองราคากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเอ็มซีแอล ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดสำหรับสัญญาที่ 4 คือสัมปทานสำหรับการลงทุนจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา
                         อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บีเอ็มซีแอล กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมในการเข้าทำสัญญากับ รฟม. โดยได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอเพียง ครม.อนุมัติ และลงนามในสัญญาสัมปทานก็สามารถเดินหน้างานตามสัญญาสัมปทานที่ 4 ได้ทันที ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกคือ การออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบระบบการทำงานของอุปกรณ์ งานระบบรถไฟฟ้า และระบบอื่นๆ จะต้องแล้วเสร็จภายใน 1,200 วันนับจากวันลงนามในสัญญา และระยะที่ 2 คือ การให้การเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี
                         โดยโครงข่ายรถไฟฟ้าในอนาคตที่จะทำให้คนกรุงเทพฯ เดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้นนั้น นายชัยวัฒน์ขยายความให้ฟังว่า ปัจจุบันบีเอ็มซีแอลให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หรือสายสีน้ำเงิน และคาดว่า ในปี 2559 รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จะเปิดให้บริการได้ จากนั้นในปี 2560 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายก็จะเปิดให้บริการเช่นกัน
                         โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น เริ่มจากสถานีหัวลำโพง ไปสถานีแรกของส่วนต่อขยายที่วัดเล่งเน่ยยี่ สนามไชย ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วไปโผล่ที่วัดกัลยาณมิตร วิ่งยกระดับไปจนจบที่สถานีเตาปูน โดยถือว่าเป็นอุโมงค์เดียวกันกับสายสีน้ำเงินที่ให้บริการในปัจจุบัน ทำให้มองว่า การเข้าบริหารก็น่าจะเป็นผู้ให้บริการรายเดียวกัน
                         อย่างไรก็ตาม กรณีที่บีเอ็มซีแอลได้เข้าทำสัญญาสัมปทาน เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ แล้วจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเองที่จะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2585 จากปัจจุบันสัญญาสัมปทานสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ) จะครบกำหนดสัมปทานในปี 2572 นอกจากนี้ยังจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการบริการเดินรถ และรายได้จากการซ่อมบำรุงรักษา ตลอดจนจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน ด้วยคาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่งผลดีต่อรายได้ของบริษัทให้เพิ่มขึ้น

เปิดสายสีม่วงเบรกภาวะขาดทุน

                         ในด้านผลประกอบการของบริษัทในปี 2555 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบริษัทให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินมานานกว่า 8 ปี ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามากกว่า 500 ล้านเที่ยว แต่ด้วยความที่มีต้นทุนทางการเงินค่อนข้างสูง ประกอบกับแผนงานต่างๆ มีความคลาดเคลื่อนจากที่ประมาณการไว้ บริษัทจึงทำได้แค่การประคองตัว แต่ในช่วง 3 ปีให้หลังมานี้ ผลประกอบการเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยบริษัทสามารถมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBIDA) ต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี
                         “จากตัวเลขดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า เรามีรายได้มากกว่ารายจ่าย แต่ที่ผลประกอบการยังขาดทุน เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินสูงอยู่ไม่น้อย” นายชัยวัฒน์ กล่าว

                         นอกจากนี้ยังจะมีความชัดเจนเกิดขึ้นในอีก 40 เดือนข้างหน้าเมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการ และอีก 12 เดือนถัดไปสำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเปิดให้บริกการ โดยจากการที่บีเอ็มซีแอลว่าจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำประมาณการรายได้ใหม่ ทำให้คาดว่า ในปี 2559 บริษัทจะหยุดการขาดทุน จากนั้นในอีก 5-6 ปีข้างหน้าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่าหมื่นล้านบาทได้ทั้งหมด
                         สำหรับประมาณการผู้โดยสารนั้น ได้จัดทำใหม่เช่นกัน โดยจากเดิมในวันหยุดจะพบว่าปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการมีอัตราติดลบมาต่อเนื่อง แต่ในปี 2555 กลับพบว่าปริมาณผู้โดยสารในวันหยุดมีอัตราการเติบโตถึง 20% เฉลี่ยปริมาณผู้โดยสารทุกๆ วันเติบโต 15-17% คือเฉลี่ยจากเมื่อปี 2554 จำนวน 189,000 คนต่อวัน(เที่ยว) เพิ่มเป็น 230,000 คนต่อวัน(เที่ยว)
                         อัตราการเติบโตดังกล่าวสอดคล้องกับประมาณการใหม่ที่เพิ่ม โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 260,000 คนต่อวัน(เที่ยว) เป็น 300,000 คนต่อวัน(เที่ยว) และเมื่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็น 400,000 คนต่อวัน(เที่ยว)
                         นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจัยการเติบโตดังกล่าวมองว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเมือง การมีที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก ตลอดจนมีศูนย์การค้าเปิดใหม่หลายแห่ง ซึ่งจากผลสำรวจพบว่ามีประชาชนที่อาศัยอยู่ข้างเส้นทางรถไฟฟ้าเติบโตขึ้นกว่าพื้นที่อื่นๆ 2% ขณะเดียวกันการเดินทางโดยรถยนต์มีอัตราช้าลงเหลือชั่วโมงละครึ่งกิโลเมตร นับเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญ
                         นอกจากนี้ ในช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ มี 4 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ถูกน้ำท่วมล้อมรอบ แต่รถไฟฟ้าใต้ดินยังสามารถเปิดให้บริการได้ตลอดเส้นทาง และไม่หยุดการให้บริการเลย ทำให้ในช่วงนั้นมีผู้โดยสารใหม่เพิ่มขึ้นมา ประกอบกับบริษัทมีการดำเนินกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง

อัดโปรโมชั่นดึงยอดผู้โดยสาร

                         กรรมการผู้จัดการ บีเอ็มซีแอล กล่าวถึงแผนงานในปี 2556 ด้วยว่า บริษัทจะให้ความสำคัญในการจัดทำแผนการตลาด และการจัดโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการเพิ่มรายได้ในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จะเริ่มทยอยเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน 3 สถานี เช่น ที่พระราม 9, ศูนย์สิริกิติ์ และศูนย์วัฒนธรรม เน้นสร้างความแตกต่างและการให้บริการที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อดึงดูดคน เช่น บิวตี้ พาราไดซ์
                         ขณะเดียวกันจะหาพันธมิตรเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในบัตรโดยสาร เพื่อที่ว่าผู้โดยสารจะไม่ต้องจ่ายค่ามัดจำบัตรโดยสาร ซึ่งปัจจุบันคิดใบละ 50 บาท แต่เมื่อมีสปอนเซอร์จะเพิ่มความสะดวกได้มากขึ้น ทั้งจะเป็นบัตรที่เป็นของสะสมได้อีก โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บัตรโดยสารจากปัจจุบันคิดเป็น 50% ของผู้โดยสารทั้งหมด ให้เพิ่มเป็น 60% จากนั้นก็จะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
                         “ในปีนี้เราจะใช้การตลาดนำ รายได้ในเชิงพาณิชย์แม้จะเติบโต แต่ก็จะยังไม่โดดเด่นนัก แต่เราก็จะใช้เป็นพระเอกในการดึงคนเข้ามาใช้บริการ ซึ่งก็ตั้งเป้าว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 17% เช่นเดียวกับรายได้ในปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโต 17% เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขแผนงานที่ตั้งไว้ แต่เราก็คาดหวังว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้สูงกว่านั้น” นายชัยวัฒน์ กล่าว
                         เขากล่าวอีกว่า ในปี 2556 นี้ จะเป็นปีที่สำคัญมากๆ ของบีเอ็มซีแอลในการสร้างความพร้อม สร้างทีมงานเพื่อรองรับการเข้าบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพราะเมื่อถึงเวลานั้นทางบีเอ็มซีแอลจะมีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 700-800 คน ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมการล่วงหน้าแล้ว โดยจะร่วมกับทางมหาวิทยาลัยในการให้ทุนนักศึกษา ดึงเข้ามาร่วมฝึกอบรมพิเศษ เมื่อพวกเขาเหล่านั้นจบการศึกษาก็จะมีความพร้อมเข้าทำงานกับบีเอ็มซีแอลได้ทันที
                         สำหรับแนวคิดส่วนตัวของนายชัยวัฒน์ ในการมองถึงระบบคมนาคมในอนาคตนั้น เขาบอกว่า ครอบครัวของเรานั้นถือเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ จึงอยากให้ลูกหลาน และคนกรุงมีวิถีชีวิตที่ควรจะเป็นอย่างพอเหมาะพอสม เหมือนอย่างคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ในประเทศอื่นๆ เขาเป็นอยู่กัน และเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง วิถีชีวิตคนเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนจะรู้จักการบริหารชีวิต ตลอดจนการบริหารการเดินทางที่สะดวกและประหยัดของตนเองได้ ซึ่งปัจจุบันคนเมืองใช้บริการรถไฟฟ้าเพียงอัตรา 5% แต่เมื่อมองไปอีก 10-15 ปีข้างหน้า อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 30-40% ถึงตอนนั้นผู้คนคงปรับตัวและหาทางในการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับตนเองได้
                         อย่างไรก็ตาม ในส่วนตนเองปัจจุบันอายุ 60 ปีแล้ว เมื่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงเริ่มให้บริการแล้ว ก็มองถึงการแขวนนวม เพราะได้วางกรอบแนวทางการบริหาร การให้บริการ ตลอดจนแนวทางการตลาดไว้เป็นอย่างดี


--------------------------------
(สัมภาษณ์พิเศษ : 'บีเอ็มซีแอล' กางแผนล้างขาดทุน ปั้นทีมรอเปิดวิ่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง ปี 59 : โดย...อนัญชนา สาระคู)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น