วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

BWG เดินแผนต่อยอดธุรกิจลุยเชื้อเพลิงทดแทน มั่นใจดันผลประกอบการเติบโตโดดเด่นตั้งแต่ปี 2556


ข่าวเศรษฐกิจ ThaiPR.net -- จันทร์ที่ 1 เมษายน 2556 09:27:43 น.
BWG เดินแผนต่อยอดธุรกิจลุยเชื้อเพลิงทดแทน มั่นใจดันผลประกอบการเติบโตโดดเด่นตั้งแต่ปี 2556
ที่มาhttp://www.ryt9.com/s/prg/1621020
กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--IR PLUS
“สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ” ผู้บริหาร BWG เผยพร้อมเดินแผนต่อยอดธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมเต็มสูบ ประเดิมงานแรกผลิตเชื้อเพลิงทดแทน คาดรับรู้รายได้จากเฟสแรกทันทีตั้งแต่ Q2/56 เชื่อหนุนผลประกอบการทั้งปีเติบโตได้อย่างโดดเด่น

นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ผู้ประกอบธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรทั้งฝังกลบ เผาทำลาย และนำกลับมาใช้ใหม่รายเดียวในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าขยายฐานธุรกิจให้กว้างขวางขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างโดดเด่นและมั่นคงในระยะยาว โดยขณะนี้บริษัทฯ พร้อมต่อยอดธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรม ไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนจากกากอุตสาหกรรม (Refuse Derived Fuel Project) โดยการคัดแยกและแปรรูปกากอุตสาหกรรมที่บริษัทฯ รับเข้ามากำจัด ได้แก่ กากอุตสาหกรรมประเภทเศษหนัง กระดาษ พลาสติก บรรจุภัณฑ์ เศษผ้าปนเปื้อน, วัสดุดูดซับ ยาง วัสดุผสม ไปเป็นเชื้อเพลิงแข็ง (RDF) จำหน่ายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ


“โครงการนี้เราเรียกว่า RDF โดย BWG สามารถรับประโยชน์ได้ถึง 2 ชั้น คือ รับค่ากำจัดกากอุตสาหกรรมจากโรงงานเจ้าของกากอุตสาหกรรม และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายเชื้อเพลิงแข็งให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการเชื้อเพลิงทดแทนด้วย เนื่องจากเชื้อเพลิงที่เราผลิตได้มีราคาประมาณ 1,000 — 1,500 บาท/ตัน เท่านั้น ต่ำกว่า เชื้อเพลิงเช่น ถ่านหิน ที่โรงงานอุตสาหกรรมใช้ในปัจจุบัน 1-2 เท่าตัว ในขณะที่ค่าความร้อนที่ได้รับไม่ต่างกันมาก ซึ่งจากการสำรวจตลาดพบว่าเชื้อเพลิงแข็งของบริษัทฯได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโรงงานที่มีเตาเผาที่ต้องใช้เชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก”

นายสุวัฒน์ กล่าวต่อว่าโครงการ RDF จะแบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกมีกำลังการผลิตประมาณ 250 ตัน/วัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2556 และรับรู้รายได้ในไตรมาสเดียวกัน ส่วนโครงการในเฟส 2 จะเริ่มได้ในช่วงปลายปี 2556 ซึ่งคาดว่า จะมีกำลังการผลิตทั้ง 2 เฟสรวมกันประมาณ 1,000 ตัน/วัน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนอกเหนือจากการเติบโตของธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมแบบฝังกลบที่คาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดย

บริษัทฯ ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปีนี้ไว้จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 จากรายได้ 1,060 ล้านบาท ในปี 2555“หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกฟ้อง ในคดีที่มีกลุ่มบุคคลฟ้องให้ปิดกิจการและยึดใบอนุญาตของบริษัทฯ ซึ่งถือว่าคดีนี้ถึงที่สุด ทำให้ความเสี่ยงทางธุรกิจที่นักลงทุนเคยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ หมดไปทันที และเชื่อว่าหลังจากนี้นักลงทุนจะเชื่อมั่นและมั่นใจกับการลงทุนในบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีนมากยิ่งขึ้น และหลังจากนี้เราจะมีแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องให้เติบโตไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้กับผู้ถือหุ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้ใช้เวลาไปกับการพิสูจน์ความจริงเพื่อให้ทุกอย่างกระจ่างชัด จนทำให้ต้องชะลอการขยายธุรกิจในบางธุรกิจออกไป แต่ขณะนี้เราพร้อมแล้วที่จะขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเต็มกำลังอีกครั้ง” นายสุวัฒน์กล่าว

ข้อมูลบริษัท บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)

บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจการบริหารและจัดการสิ่งปฏิกูลฯอย่างครบวงจร (One Stop Service) โดยธุรกิจหลักที่ให้บริการมาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ คือ การกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล และวิธีการฝังกลบอย่างปลอดภัย (รวมทั้งการฝังกลบอย่างปลอดภัยเมื่อทำการปรับเสถียร หรือทำให้เป็นก้อนแข็งแล้ว) โดยมีศูนย์บริหารและจัดการฯ อยู่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งภายในศูนย์บริหารและจัดการฯ บริษัทยังสามารถให้บริการบำบัด (Treatment) สำหรับการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางเคมีกายภาพด้วย

ในปี 2550 บริษัทได้มีการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติมในการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) ด้วยการทำเชื้อเพลิงผสม (Fuel Blending) นอกจากนี้บริษัทได้ขยายธุรกิจเข้าสู่การบำบัด (Treatment) ด้วยวิธีเผาทำลายในเตาเผาเฉพาะสำหรับของเสียอันตราย ผ่านบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย นอกจากนั้น บริษัทมีรายได้ค่าบริการจากการจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ด้วยวิธีการอื่นซึ่งบริษัทฯ มิได้เป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองอีกส่วนหนึ่งด้วย อาทิ การส่งไปเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือเผาทำลายร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ และการส่งไปยังโรงงาน เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ (Recycle) เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น