02 Mar 12 , กรุงเทพธุรกิจ
http://www.logisticsdigest.com/article/company-focus
เหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง บวกกับ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
อย่างสหรัฐ และประเทศในยูโรโซน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจการบินทั่วโลก
ยังคงอยู่ในอาการซบเซา เพราะคนไม่อยากบิน ไม่อยากท่องเที่ยว สวนทางกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก
ที่ไม่เพียงผันผวน ยังมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น และสูงขึ้น
กลายเป็นความท้าทายของธุรกิจการบิน โดยเฉพาะ"สายการบินต้นทุนต่ำ" (โลว์คอร์ท แอร์ไลน์) อย่างไทยแอร์เอเชีย ที่ ทัศพล แบเลเว็ลด์ ซีอีโอไทยแอร์เอเชีย ประเมินว่า ปีนี้น่าจะเหนื่อยมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจาก "น้ำมัน" ถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจสายการบิน ในสัดส่วนสูงถึง 35-40 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ต้องแข่งขันกันด้วยราคา "มาร์จิน" ของธุรกิจนี้ จึงถูกบีบทั้งขึ้นทั้งล่อง ขยับราคาก็ไม่ได้ แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น !!
สมการการแก้ไขปัญหานี้ สำหรับไทยแอร์เอเชีย น่าจะคิดไม่ต่างกันกับสายการบินต้นทุนต่ำรายอื่นๆ มากนัก
โดยทัศพล บอกว่า จะเน้นไปที่การเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร ด้วยการเพิ่ม "ความถี่" ของจำนวนเที่ยวบิน ล้อไปกับสโลแกน "ใครๆ ก็บินได้" (Everyone can fly) โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราผู้โดยสารโดยเฉลี่ย (Load Factor)
ให้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 85% ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 75-80% ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ต้นทุนการดำเนินการโดยเฉลี่ยต่ำลง
“เราต้องการฐานลูกค้าจำนวนมาก เพื่อจะได้ไปช่วยเฉลี่ยต้นทุนการบินที่เพิ่มสูงขึ้น” เขาบอก
ล่าสุด กับการเปิดเส้นทางบินใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ -ตรัง ,กรุงเทพฯ- นครพนม และกรุงเทพฯ- ศรีลังกา และมีแผนจะเพิ่มจำนวนฝูงบิน ยอมลงทุนสั่งเครื่องบินใหม่จำนวน 5 ลำ เข้ามาประจำในฝูงบินจากปัจจุบันที่มีเครื่องบิน จำนวน 23 ลำ โดยถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองในวาระที่สายการบินแห่งนี้มีอายุครบ 8 ขวบปี ซึ่งมีพัฒนาการไปเป็นลำดับ
โดยไทยแอร์เอเชีย เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ด้วยเครื่องบินแบบโบอิง 737-300 จำนวน 2 ลำ เปิดบริการการบินไปยัง 3 เส้นทาง ปัจจุบันมีเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 ประจำการทั้งหมด 23 ลำ มีฐานการบิน (Hub) จำนวน 3 แห่งในไทย ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่ ทำการบินไปยังจุดหมายปลายทางในประเทศ 13 แห่ง และต่างประเทศอีก 14 แห่ง
"ปีนี้เราจะเน้นในเรื่องของการเพิ่มความถี่ และความแรง มากขึ้น" ทัศพล บอก ก่อนจะขยายความว่า...
ความถี่ในที่นี้ หมายถึง การเพิ่มความถี่ของการบินให้รองรับจำนวนผู้โดยสารให้ได้มากขึ้น ส่วนการเพิ่มความแรงคือ
การจัดทำโปรโมทชั่นต่างๆ แคมเปญการตลาดต่างๆ ในการกระตุ้นตลาดและกระตุ้นการเดินทางของคนให้มาเดินทาง
โดยเครื่องบินมากขึ้น
โดยเฉพาะการเน้นเรื่อง Sport Marketing โดยในปีนี้ไทยแอร์เอเชียจะสนับสนุนทีมฟุตบอลในไทยพรีเมียร์ลีกเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว 12 ทีม นอกจากนี้จะหันไปสนับสนุนทีมบาสเกตบอลเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นกีฬาใหม่ที่คนไทยเริ่มให้ความสนใจ
“เราต้องการดึงคนดู ดึงแฟนกีฬาทีมฟุตบอลหรือบาสเกตบอลให้มาเป็นลูกค้าเราด้วย ผมมองว่าการเจาะฐานลูกค้ากลุ่มนี้จะง่ายและเร็วกว่า อย่างปีที่แล้วเราได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มนี้ แต่บังเอิญว่าปลายปีเจอน้ำท่วม เลยไม่ค่อยเป็นไปตามเป้าหมายเท่าไหร่”
นอกจากการเพิ่มความถี่และเปิดเที่ยวบินใหม่ อีกแนวทางในการลดต้นทุนการดำเนินการคือ การปรับเส้นทางการบินจาก กรุงเทพฯ-นิวเดลี เพื่อลดภาระต้นทุนเรื่องราคาน้ำมัน และการขึ้นค่าธรรมเนียมสนามบินในบางเส้นทางบิน ที่เห็นว่าจำนวนผู้โดยสารไม่ได้มีจำนวนมากอย่างที่คาดหมายไว้ตั้งแต่ต้น และยังปรับความถี่ในการบินลดลงตามความเหมาะสม
ทัศพล บอกว่า ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจต้นๆ ที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ต้องมีความยืดหยุ่นสูง ธุรกิจจึงจะอยู่รอดสามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ได้ นอกจากนี้พนักงานต้อนรับบนเครื่องก็ต้องมีความพร้อมและเต็มใจให้บริการลูกค้าบนเครื่อง ยิ้มแย้มแจ่มใส
"ผมยืนยันว่าน้องๆ แอร์โฮสเตสเราสวยทุกคน ย้ำนะครับว่าสวยทุกคน นี่ละจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของเรา" เขากล่าวติดตลก ก่อนจะบอกต่อว่า ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่มีความเปราะบาง มีความเสี่ยงสูง ทุกๆ ปัจจัยมีผลกระทบต่อธุรกิจสายการบินหมด ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ หรือน้ำท่วม ดังนั้นคนที่เข้ามาเล่นในธุรกิจนี้ต้องมี "สายป่านยาว" และ "มีความอดทนสูง" เพราะคนจะเดินทางท่องเที่ยวนั้นต้องมีเงินเหลือจึงจะเที่ยว
ดังนั้น แม้จะมีสายการบินใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะรายใหญ่อย่างการบินไทย ที่ออกมาทำ Sub-Brand อย่าง Thai Smile Air ภายใต้คอนเซปต์ Light Premium (จ่ายเบาๆ ในบริการพรีเมียม) ที่ต้องการลงมาแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำ ทศพลบอกว่าไม่กลัว เพราะทุกอย่างอยู่ที่การบริหารจัดการต้นทุน
"ที่ขาดไม่ได้เลยคือ การบริหารต้นทุนน้ำมัน ซึ่งไทยแอร์เอเชียซื้อประกันความเสี่ยงล่วงหน้า (Hedging) ราคาน้ำมันไว้ที่ 30% เราพยายามให้อยู่ในระดับนี้ หรือพนักงานต้อนรับบนเครื่องเราก็ต้องพยายามให้เขาขายสินค้าบนเครื่องให้ได้มากที่สุด ไม่ให้เหลืออาหารตกค้างบนเครื่อง เพราะมันคือต้นทุน เรามีการปรับตารางการทำงาน ทบทวนเส้นทางการบินอยู่เป็นประจำ การนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย ลดการใช้พนักงาน เช่น บริการผ่านระบบออนไลน์ หรือกระทั่งตัวนักบินเองก็ต้องหาวิธีบินที่ประหยัดน้ำมันมากที่สุด"
สำหรับในปีนี้ ไทยแอร์เอเชียตั้งเป้าหมายว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารใกล้เคียงกับปี 2554 ที่ 7 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้โดยสาร
ที่เป็นคนไทยในสัดส่วน 20-30% ขณะที่เหลือเป็นชาวต่างประเทศ แต่ในอนาคตหวังว่าสัดส่วนผู้โดยสารคนไทย
และต่างชาติจะมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50%
นอกจากนี้ไทยแอร์เอเชียยังมีแผนที่จะเตรียมเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากเลื่อนมาแล้วหลายรอบ โดยมีแผนกระจายหุ้นไม่ต่ำกว่า 25% ซึ่งการระดมทุนครั้งนี้คาดว่าจะสามารถระดมเงินทุนได้ไม่ต่ำกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระหนี้ส่วนหนึ่งให้กับกลุ่มชินคอร์ป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น