วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

“ลดต้นทุนคลังสินค้า” เร่งเครื่องธุรกิจโตก้าวกระโดด

14 Jun 12 ,  สุวรรณี เรืองวิทยาโชติ
ที่มา http://www.logisticsdigest.com/article/company-focus
หากเป้าหมายของธุรกิจคือการเติบโตและยอดขายที่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการโลจิสติกส์ด้านคลังสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพจะสามารถช่วยธุรกิจท่านเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดเช่นเดียวกับ “บุญถาวรเซรามิค”
บริษัท บุญถาวรเซรามิค จำกัด ดำเนินธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง จำหน่ายสินค้าประเภทกระเบื้อง เซรามิก สุขภัณฑ์ หินอ่อน หินแกรนิต เฟอร์นิเจอร์ชุดครัว และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวฯ ปัจจุบันมี 8 สาขาและมีแนวโน้มการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

ในอดีตแต่ละสาขาจำเป็นต้องมีภาระในการจัดการคลังสินค้าเอง โดยรับสินค้าจากซัพพลายเออร์กว่า 200 ราย สร้างความยุ่งยากในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง



คุณกนก จุฑามณี ผู้จัดการศูนย์กระจายสินค้า บริษัท บุญถาวรเซรามิค จำกัด เผยว่า จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ แต่จะใช้เทคโนโลยีอะไรนั้นคงต้องสะท้อนภาพตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่า ธุรกิจเราคืออะไร ออกแบบธุรกิจไว้อย่างไร แล้วจึงนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริม

สำหรับบุญถาวร คือค้าปลีก ทำอย่างไรให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญก็คือ “เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาซื้อสินค้า เขาต้องได้มันไป เพราะถ้าเขาไม่ได้ เขาต้องไปซื้อที่อื่น”

ทางที่ง่ายที่สุดคือ การทำสต็อคเตรียมให้ลูกค้า 2 เดือน ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหา บริษัทฯ มียอดขาย 1,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่เมื่อพิจารณาให้ดีการเตรียมสต็อคเผื่อถึง 2 เดือน เท่ากับเงินต้องจมไปกับสต็อค 2,000 ล้านบาท ฉะนั้นคงไม่สะดวกแน่ในการจัดการธุรกิจ

จัดการเงินไม่จม มิติที่ท้าทาย

ต้นทุนโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1. ต้นทุนการขนส่งสินค้า 2. ต้นทุนการรักษาสินค้าคงคลัง ซึ่งประกอบด้วยต้นทุนการถือครองสินค้า (Inventory Carrying Cost) และต้นทุนการบริหารคลังสินค้า (Warehouse Cost) 3. ต้นทุนการบริหารจัดการ

จากข้อมูลของสำนักโลจิสติกส์ กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าต้นทุนการรักษาสินค้าคงคลัง (ร้อยละ 3.12 ต่อจีดีพี) มีสัดส่วนที่สูงกว่าต้นทุนการขนส่งสินค้า (ร้อยละ 2.29 ต่อจีดีพี) การจัดการคลังสินค้าจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งของโลจิสติกส์ที่ผู้บริหารจะต้องวางแผนแต่ละขั้นตอนในการจัดการคลังสินค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งประกอบด้วย การรับสินค้า การเก็บสินค้า และการกระจายสินค้า

ดังนั้นมิติที่ท้าทายสำหรับ “บุญถาวรเซรามิค” คือทำอย่างไรให้สต็อคมีสินค้าพร้อมโดยเงินไม่จม

คุณกนก เล่าว่า เราทำการลดระดับสต็อคให้ถึงระดับที่เหมาะสม คือบวกลบ 1 เดือน อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถลดระดับสต็อคได้มากนัก ด้วยเงื่อนไขรอบระยะเวลาการผลิตกระเบื้องประมาณ 1 เดือน และโจทย์ที่ยากขึ้นคือ 60% ของสินค้าที่ขายคือ กระเบื้อง

คอนเซปท์ของเราคือ ทำอย่างไรจึงจะนำสินค้าจากผู้ผลิตกว่า 200 ราย มาพร้อมให้กับลูกค้าเมื่อเข้ามาจับจ่ายตาม 8 สาขาที่เรามีอยู่

ฉะนั้นกิจกรรมที่นำมาสนับสนุนซัพพลายเชนในเวลานั้น ผู้บริหาร “บุญถาวรเซรามิค” จึงใช้หลักคิด Direct to Store โดยให้ซัพพลายเออร์ส่งสินค้าตรงไปที่สาขา แต่ถ้าพิจารณาให้ดีพบว่า รอบระยะเวลา (Lead Time) ระหว่างซัพพลายเออร์กับสาขามี 7 วัน สาขาจึงจำเป็นต้องมีสต็อค จำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันซัพพลายเออร์เองก็จำเป็นต้องเตรียมสต็อคไว้เพื่อรอบรับสาขา ซึ่งนั่นหมายความว่า ทั้ง 2 ฝั่งต้องมีสต็อคเผื่อไว้

“บุญถาวรเซรามิค” ใช้แนวคิดเช่นนี้มาโดยตลอด จาก 10 ปีที่ผ่านมาธุรกิจโตขึ้น สินค้ามีเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มสต็อคเริ่มมีปัญหาและมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่คลังสินค้า



DC ตัวขับเคลื่อน Inventory

เมื่อธุรกิจของ “บุญถาวรเซรามิค” โตขึ้น ชนิดสินค้าที่มีมากกว่า 100,000 รายการ ผู้บริหารจะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไร

แนวคิดการจัดทำศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center: DC) จึงเกิดขึ้น รูปแบบการจัดการสินค้าก็เริ่มเปลี่ยนไป ซัพพลายเออร์ส่งสินค้าตรงมาที่ศูนย์กระจายสินค้า และทางศูนย์กระจายสินค้าจะไปเติมสินค้าที่สาขาเอง

“บุญถาวร โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์” จัดเก็บสินค้าได้กว่า 20,000 พาเลท ทำการกระจายสินค้าให้กับสาขาต่างๆ ระบบใหม่นี้ช่วยจัดการให้สินค้ามีปริมาณพอเหมาะกับการจัดจำหน่ายในแต่ละวัน โดยมีการเติมเต็มสินค้าที่รวดเร็ว และรับประกันการส่งสินค้าให้สาขาได้ภายใน 24 ชั่วโมง ในกรณีที่ลูกค้าต้องการสินค้าเร่งด่วน

เมื่อมีคลังสินค้ากลาง ซัพพลายเออร์และสาขาทั้งสองฝ่ายต่างมีคนกลางคอยจัดการซัพพลายสินค้าจึงไม่จำเป็นต้องเก็บสต็อคไว้มากเหมือนก่อน ผลที่ได้คือ สามารถลดระดับสต็อคได้

นอกจากนี้ยังใช้แนวคิด Cross-Docking เมื่อมีความต้องการที่สาขามาที่ DC แต่ไม่มีของ DC จะทำหน้าที่สั่งของจากซัพพลายเออร์และให้ไปส่งที่สาขาทันที

ในส่วนของการนำสินค้าส่งมอบให้ลูกค้า ในอดีตสาขาจะทำหน้าที่ส่งสินค้าให้ลูกค้า ทำให้เกิด Double Handling ปัจจุบันกำลังดำเนินการทดลองเมื่อสาขาขายสินค้า ข้อมูลจะถูกส่งมาที่ DC จากนั้น DC จะเอาของไปส่งลูกค้าเอง

โจทย์ลำดับต่อไปคือ การเติมสินค้าให้เต็มตามสาขาภายใน 24 ชั่วโมง ข้อมูลต่างๆ จะต้องเชื่อมโยงกันและรวดเร็วแบบรีลทาม สามารถเช็คข้อมูลระหว่างกันได้โดย DC ต้องให้ข้อมูลกับซัพพลายเออร์และสาขา

เทคโนโลยีช่วยจัดการโลจิสติกส์อย่างเข้มแข็ง

ปัจจุบัน DC “บุญถาวร โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์” ใช้การรับ-จ่าย และจัดเก็บสินค้าด้วยระบบบาร์โค้ด ซึ่งมองว่าการใช้เทคโนโลยี RFID ยังไม่คุ้มค่า และยังไม่จำเป็นนักในเวลานี้ สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในเบื้องต้น 4 ประการคือ
 
1.เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสินค้า ในอดีต 6-7 ปีก่อน ขนาดคลังสินค้า 20,000 ตรม. สินค้าวางกองกับพื้น มีชั้นวางสินค้าสูง 7 เมตร หยิบของโดย Lift Truck หรือรถยกของธรรมดา ต่อเมื่อสินค้ามีปริมาณมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทฯลงทุนใช้รถยกระบบไฟฟ้า 8 คัน เก็บของที่สูง 14 เมตร รถประเภทนี้ทำให้ประหยัดพื้นที่มหาศาล และมีความปลอดภัย รถจะถูกควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ คาดว่าจะนำมาใช้ประมาณปลายปีนี้
2.เทคโนโลยีการบ่งบอกและติดตามสินค้า แต่ละวันมีการรับสินค้าและเก็บในตำแหน่งต่างๆ ใน DC จำนวนมหาศาล จึงนำใช้เทคโนโลยี Warehouse Management System หรือ WMS มาประยุกต์ใช้ร่วมกับบาร์โค้ด เมื่อสินค้าเข้ามาที่ DC ระบบจะ Gen บาร์โค้ดแล้วนำไปติดที่พาเลท แต่ละพาเลทจะมี Identification (ID) บ่งบอกผ่านบาร์โค้ด ซึ่งระบบจะ Gen ว่าพาเลทนี้ควรวางตรงไหน เมื่อเจ้าหน้าที่นำสินค้าไปวางก็จะสแกนตำแหน่งซึ่งมีบาร์โค้ดติดอยู่ว่าวางพาเลทไว้ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว

3.เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงข้อมูลแบบรีลทาม สำหรับระบบ Global Positioning System หรือ GPS ถูกนำมาใช้ในส่วนของบริการหลังการขาย โดยติดในรถทุกคัน สแกนทุกครั้งเมื่อลูกค้ารับของแล้ว ข้อมูลจะถูกยิงมาที่เชิร์ฟเวอร์ นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในแง่มาร์เก็ตติ้งได้ด้วย โดยการพล็อตจุดพื้นที่ในการส่งของหนาแน่นและพื้นที่ในการส่งของบางเบา นำมาวิเคราะห์ใช้ในการจัดการได้

4.เทคโนโลยีวิเคราะห์รายงานผล บุญถาวรเซรามิคให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลตั้งแต่เป็นร้านค้าเล็กๆ เมื่อ 20 ปีก่อน โดยใช้ Oracle ในการบริหารจัดการ นำข้อมูลเข้าระบบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทำให้มองเห็นการเคลื่อนไหวของสินค้า การขาย แล้วนำมาวิเคราะห์
ปัจจุบันเมื่อมิติธุรกิจก้าวเข้าสู่ระบบอิเล็คทรอนิกส์มากขึ้น ผู้บริหาร “บุญถาวรเซรามิค” จึงตัดสินใจยกเครื่องใหม่ใช้ระบบ SAP มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจรวมถึงระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

คุณกนก กล่าวว่า ซอฟแวร์ที่นำมาใช้มีมิติด้านข้อมูลที่เก็บไว้ในระบบมากมาย ทำอย่างไรจะเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เราจึงนำระบบ Business Intelligence มาใช้เป็นตัวดึงข้อมูลมาวิเคราะห์รายงานผล

“ผมว่าจุดอ่อนนักธุรกิจไทยไม่ค่อยเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์และช่วยในการตัดสินใจ” คุณกนก แสดงความเห็นและกล่าวต่อไปว่า การขยายธุรกิจของ “บุญถาวรเซรามิค” ชัดเจนขึ้น ระบบ Enterprise Resources Planning หรือ ERP มีส่วนช่วยในวางแผนบริหารจัดการ เชื่อมโยงข้อมูลธุรกิจ และวางแผนร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความพร้อมในการขยายและเติบโตในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น