ที่มา http://www.thailandindustry.com/news/view.php?id=18380§ion=29&rcount=Y
อำพลฟูดส์" พาไปเยี่ยมชมโรงงานที่นครปฐม เพื่อดูว่าระบบไอทีที่นำมาใช้มีอะไรบ้าง เริ่มที่ฝ่ายควบคุมระบบไอที ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลกับสาขาที่ท่าเตียน กรุงเทพฯ ตลอดเวลา โดยใช้วิธีการยิงคลื่นไมโครเวฟเพื่อรับส่งข้อมูลระหว่างสองจุด ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อข้อมูลพอสมควร แม้ช่วงแรกจะลงทุนสูงก็ตาม ส่วนเน็ตเวิร์กภายในเดินสายเคเบิล
ขณะที่ระบบสำรองข้อมูลยังเป็นระบบเทป เพราะขนย้ายได้ง่าย แม้ฮาร์ดดิสก์จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ส่วนการควบคุมระบบการใช้อินเทอร์เน็ตของพนักงานจะแยกต่างหาก มีการมอนิเตอร์ตลอด ทำให้รู้ว่าใครเข้าเว็บไซต์อะไรบ้าง มีการใช้แบนด์วิดท์มากไปหรือไม่ ซึ่งทุก ๆ สิ้นเดือนจะมีการพิมพ์รายงานออกมาว่าใครใช้เยอะเกินไปอย่างไร พร้อมแจ้งหัวหน้างาน ถือว่าค่อนข้างเข้มงวด แต่มีประโยชน์สำหรับการทำงานจริง
ฝ่ายไอทีของบริษัทยังมีการวัดมาตรฐานการทำงานด้วย โดยทุกครั้งที่มีการแจ้งเรื่องมา ต้องทำให้เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง เช่นกันกับกรณีระบบล่ม ต้องแก้ให้เสร็จในไม่เกินครึ่งชั่วโมง ทั้งยังเชื่อมต่อระบบกับซับพลายเออร์ เช่น บริษัทในเครือ เอสซีจี ที่ส่งกระดาษให้นำมาผลิตกล่อง เพื่อคำนวณสินค้าว่าควรมาส่งให้เมื่อไร จากเดิมสั่งเป็นลอตใหญ่ และนำมาเก็บไว้ในสต๊อก ก็เปลี่ยนเป็นให้เอสซีจีเก็บแทน เมื่อจะสั่งค่อยลิงก์ระบบเข้าไปตัดบัญชี พร้อมกับทยอยส่งของ
"เกรียงไกร เทพผดุงพร" กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด เล่าต่อว่า ส่วนของการสต๊อกสินค้า บริษัทใช้ระบบ ERP หรือ Enterprise Resource Planning ของคิวเอดี (QAD) เช่น ในกระบวนการส่งออก และเก็บของในคลังใช้ระบบบาร์โค้ด บันทึกว่าสินค้าตัวใดเข้ามาก่อนหลัง เพื่อไม่ให้มีสินค้าค้างในคลัง ต้นทุนไม่จมเหมือนก่อน ที่เงินหายไปหลักแสนกับสินค้าหมดอายุ
ส่วนไลน์ผลิต เป็นการนำมาประยุกต์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มี เพื่อคาดการณ์กำลังผลิต ทั้งในแง่มะพร้าวที่จะเข้ามา รวมถึงสภาพตลาดปัจจุบัน ทำให้มีกำลังผลิตให้ตรงกับช่วงเวลานั้นมากที่สุด คาดว่ามีค่าผิดพลาดเพียง 10-20% ถือว่าต่ำมาก
การนำไอทีเข้ามาใช้ นอกจากช่วยเรื่องความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร และ การทำตลาดแล้ว ยังประหยัดต้นทุนใน การใช้คนด้วย โดยเฉพาะกรณีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก การนำระบบไอที เช่น ซื้อแขนกล ราคา 5 ล้านบาท ทดแทนแรงงานกว่า 16 คน ในการเรียงกล่องสินค้า เป็นความคุ้มค่าในระยะยาว
"เราเริ่มนำระบบไอทีมาใช้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะเห็นความจำเป็น จึงเรียก ผู้บริหารมาประชุม พร้อมเรียกบริษัทโซลูชั่นด้านไอทีระดับโลกและในประเทศเข้ามานำเสนอระบบ สุดท้ายเลือก QAD เพราะอธิบายได้เข้าใจที่สุด ช่วงนั้นผู้บริหารเกือบทุกคนยังปิดคอมพิวเตอร์ด้วยการดึงปลั๊กอยู่เลย ด้วยความไม่รู้ จึงตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่มีมาใช้งาน ตั้งแต่ระบบ ERP ขั้นเริ่มต้นจนไปถึงระบบขั้นสูง ตอนนี้มีบางตัวยังไม่ได้ใช้ก็มี ต่อไปทุกอย่างต้องเป็นเรียลไทม์"
ล่าสุด นำเทคโนโลยี "จีพีเอส" มาให้พนักงานขายใช้งานด้วย หลังจากเริ่มใช้กับการขนส่งเพียงอย่างเดียว โดยลักษณะการทำงานคล้ายกัน คือส่วนกลางกำหนดพื้นที่ลูกค้าให้พนักงานขายพร้อมคำนวณระยะเวลาที่จะไปถึง ทำให้การเยี่ยมลูกค้าของเซลส์แทบไม่มีพลาด ก่อนหน้านี้เคยแจกเครื่องปาล์มให้เซลส์ทุกคน เพื่อ เช็กสินค้าเข้าออกสต๊อก แต่ไม่สำเร็จ เพราะประสิทธิภาพเครื่อง เมื่อเทียบกับจำนวนข้อมูล ทำให้โหลดช้า จนต้องยกเลิกใช้ในที่สุด
"เงินลงทุนด้านไอที ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ตอนนี้เราอาจลงทุนแค่นี้ แต่ปีถัดไปจะเพิ่มเท่าไรค่อยว่ากัน ทุกคนต้องปรับตัว ไม่ใช่ตามเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องใช้ เพื่อประหยัดต้นทุน ช่วยธุรกิจได้มากกว่าที่คิด เช่น เมื่อก่อนรายได้เราแค่ 700 ล้าน ทุกวันนี้ก้าวสู่ระดับ 3 พันล้านแล้ว"
"เกรียงไกร" บอกอีกว่า ในปีหน้าจะนำระบบที่เรียกว่า BI หรือ Business Intelligent มาใช้วิเคราะห์ข้อมูล พร้อมบาร์โค้ดแบบ RFID หรือ Radio-Frequency Identi cation เพื่อยกระดับจากเดิมต้องยิง บาร์โค้ดทีละชิ้นเพื่อบันทึกรายการ เปลี่ยนเป็นใช้คลื่นวิทยุเช็กสินค้าทั้งลอตว่าไปที่ไหน ทำให้การทำงานเร็วขึ้นมาก หากการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้า เชื่อว่าจะสู้กับคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น