วันอังคารที่ 09 เมษายน 2013 เวลา 17:28 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การเงิน FINANCIAL -
ที่มา http://www.thanonline.com/index.php?option
ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ประเภทพัฒนาที่อยู่อาศัยว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่หรือไม่นั้น ด้านการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการของบริษัทอสังหาฯพบว่าได้มีการใช้เครื่องมือในตลาดทุนด้วยการออกหุ้นกู้กันอย่างคึกคัก
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่าไตรมาสแรกปี 2556 มีบริษัทอสังหาฯออกหุ้นกู้รวม 7 บริษัท คิดเป็นมูลค่าที่ออกประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 38% โดยไตรมาสแรกปี 2555 มีบริษัทที่ออกหุ้นกู้รวม 5 บริษัท คิดเป็นมูลค่าที่ออกประมาณ 8.7 พันล้านบาท
สำหรับแนวโน้มอีก 3 ไตรมาสของปีนี้จากการรวบรวมข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ"พบว่าบริษัทอสังหาฯยังเดินหน้าออกหุ้นกู้อีกจำนวนมาก โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 เมษายน 2556 มีแผนออกหุ้นกู้รวม 11 บริษัท คิดเป็นวงเงินที่ออกรวม 3.07 หมื่นล้านบาท ส่วนวัตถุประสงค์ในการระดมทุนมีทั้งเพื่อพัฒนาโครงการ รีไฟแนนซ์หุ้นกู้ชุดเดิม ที่จะครบอายุ ตลอดจนใช้หนี้สถาบันการเงิน
ทั้งนี้มีตัวอย่างของบริษัทที่มีแผนออกหุ้นกู้ เช่น บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)(บมจ.) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหรือบอร์ดบริษัทมีมติอนุมัติการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทางการเงิน โดยไม่จำกัดวงเงินและจำนวนครั้งที่เสนอขาย โดยขออนุญาตเป็นโครงการไม่เกิน 5 ปีและกำหนดวงเงินสูงสุดไม่เกิน 6 พันล้านบาท และจะขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 26 เมษายนนี้
ขณะเดียวกัน บมจ.แสนสิริ แจ้งตลท.มีแผนออกหุ้นกู้วงเงิน 4 พันล้านบาท อายุไม่เกิน 10 ปี โดยจะขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 30 เมษายนนี้ , บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น มีแผนออกหุ้นกู้วงเงิน 3 พันล้านบาท และตั๋วแลกเงิน(บี/อี ) มูลค่า 3 พันล้านบาท รวม 6 พันล้านบาท, บมจ.ศุภาลัย มีแผนออกหุ้นกู้วงเงิน 1-2 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยังมี บมจ.อารียา พรอพเพอร์ตี้ (A) ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ว่าบริษัทจะออกและเสนอขายหุ้นกู้ 700 ล้านบาท อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2559 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.75% ต่อปี เสนอขายให้กับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 9-11 เมษายน 2556 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์(บล.)เคที ซีมิโก้ฯ เป็นผู้จัดการจัดจำหน่าย วัตถุประสงค์เพื่อจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้เพื่อใช้ในการลงทุน และ/หรือ เป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไปของบริษัท เพื่อวัตถุประสงค์อื่นตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร(ดูตารางประกอบ)
ด้าน นายเลิศชัย กอเจริญรัตนกุล ผู้อำนวยการภาคธุรกิจเอกชนและกองทุน บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือเรตติ้งกล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปี 2556 ถือเป็นปีที่เริ่มมีการลงทุนเพิ่มเพื่อหาที่ดินสะสม หรือ แลนด์แบงก์ เพิ่มหลังจากที่รับรู้รายได้จากยอดโอนแล้ว ทำให้กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีแผนระดมทุนทั้งการออกหุ้นกู้ และกู้เงินจากสถาบันการเงิน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 ทริส เรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3.5 พันล้านบาทของบมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ระดับ "A" ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทดังกล่าวที่ระดับ "A" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง "Stable" หรือ "คงที่"
ทริสระบุว่าบมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีแผนจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในครั้งนี้ไปชำระคืนหนี้และใช้เป็นเงินทุนสำหรับขยายกิจการ อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แบรนด์ที่แข็งแกร่ง ตลอดจนความสามารถของคณะผู้บริหาร การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากเงินลงทุนขนาดใหญ่ในหลักทรัพย์สภาพคล่องสูง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลง แรงกดดันจากการแข่งขัน รวมทั้งภาระหนี้ที่สูงของบริษัท
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไว้ได้ด้วยผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 50% เป็นเวลานานต่อเนื่อง
รายงานของทริสยังระบุอีกว่า บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีภาระหนี้ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ทว่าความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีเงินลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพดีซึ่งสามารถสร้างรายได้ และถือเงินลงทุนขนาดใหญ่ในหลักทรัพย์สภาพคล่องสูง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นปี 2555 อยู่ที่ 46.2% ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำกว่า 1.5 เท่าตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ โดย ณ สิ้นปี 2555 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.97 เท่า ทริส เรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะได้รับแรงกดดันต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจากแผนการขยายโครงการแนวสูงที่จะมีอย่างต่อเนื่องและนโยบายการจ่ายเงินปันผลในระดับสูง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,834 วันที่ 11 - 13 เมษายน พ.ศ. 255
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น