วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

สองยักษ์เหล็กญี่ปุ่นควบรวม ขึ้นแท่นเบอร์ 2 เขย่ามิตตัล


updated: 03 ต.ค. 2555 เวลา 14:21:08 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ที่มาhttp://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1349248897&
บริษัท เหล็กสองรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง นิปปอน สตีล บริษัทเหล็กอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น และบริษัทคู่แข่งซึ่งใหญ่เป็นอันดับสามอย่าง ซูมิโตโม เมทัล จะควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่งผลให้กลายเป็นบริษัทใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเป็นรองเพียงบริษัทอาร์เซเลอร์มิตตัล จากอินเดีย และทำให้พวกเขาไปเร็วกว่าคู่แข่งในจีนและเกาหลีใต้

เอเอฟพีรายงานว่า อุตสาหกรรมเหล็กโลกมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าดีมานด์ในตลาดโลกจะถูกกระตุ้นโดยตลาดเกิดใหม่อย่างจีน ซึ่งมีการก่อสร้างโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ ระบบสาธารณูปโภค และโรงงานอุตสาหกรรม แต่ความวิตกกังวลทางเศรษฐกิจฉุดดีมานด์ต่อเหล็ก และผู้ผลิตญี่ปุ่นต้องต่อสู้กับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งค่าเงินเยนได้แข็งค่าขึ้นทำสถิติใหม่สูงสุดเมื่อเทียบเงินดอลลาร์ในปี ที่ผ่านมา

แม้ต้นทุนต่อหน่วยจะต่ำจากการประหยัดต่อขนาด แต่นิปปอน สตีล และซูมิโตโม เมทัล ยังคงห่างไกลจากอาร์เซเลอร์มิตตัล ซึ่งมีผลผลิตต่อปีมากกว่า 2 เท่า โดย 2554 อาร์เซเลอร์มิตตัลผลิตเหล็กดิบ 97.2 ล้านตัน ในขณะที่นิปปอน สตีล ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 6 และซูมิโตโม เมทัล อันดับ 27 ผลิตรวมกันได้ 46.1 ล้านตัน ตามตัวเลขของสมาคมเหล็กโลก

การเปิดตัวในครั้งนี้อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากในอุตสาหกรรมเหล็กของ ญี่ปุ่น นายฮิโรชิ โตโมโน ประธานกลุ่มซูมิโตโม เมทัล กล่าวว่า สภาวะแวดล้อมการทำธุรกิจอาจไม่ดีนัก เรามีข้อได้เปรียบในด้านคุณภาพอย่างล้นหลาม แต่ต้นทุนของเรายังมีปัญหา

ในขณะที่เจ้าหน้าระดับสูงของนิปปอน สตีล กล่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นสามารถทำได้ดีในตลาดระดับบน แต่อาจจะต้องเผชิญปัญหาในการแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ ในเอเชียที่ต้นทุนต่ำกว่า

การกระทำดังกล่าวเป็นการเจริญรอยตามบริษัท ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และบริษัทอื่น ๆ ที่พยายามขยายการผลิตในตลาดต่างประเทศ เพื่อหาช่องทางสร้างการเติบโต ความต้องการซื้อของลูกค้าที่มั่นคง และลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

นายเคย์จู คุโรซากะ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สเตนเลย์ กล่าวว่า เร็วเกินไปที่จะบอกว่าบริษัทใหม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนหรือไม่

"ข้อได้เปรียบของการควบรวมกิจการคือขนาดที่ใหญ่ขึ้น เพราะขนาดจะทำให้สามารถตัดลดต้นทุนได้ และเพราะขนาดจะทำให้มีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะอยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจ ขาลง การอยู่รอดในตลาดโลกจำเป็นที่จะต้องลงทุนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งคาดว่ามีดีมานด์ที่เติบโตในระยะยาว แต่เราต้องรอจนกระทั่งแผนการดำเนินธุรกิจมีความมั่นคงมากกว่านี้ถูกประกาศ ออกมาว่าจะมีการตั้งเป้าการลงทุนหรือไม่" นายคุโรซากะกล่าว

ในขณะ ที่นายชินยะ ยามาดะ นักวิเคราะห์จากเครดิต สวิส กล่าวว่า "การลดมูลค่าทางบัญชีของทรัพย์สินลงของนิปปอน สตีล คือสิ่งสำคัญในการที่จะก้าวไปสู่การฟื้นฟูในรูปแบบตัววี โดยการควบรวมกิจการ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น