โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 ธันวาคม 2555 17:03 น.
ที่มา http://www.manager.co.th/iBizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000149787
"ปีนี้กำไรสุทธิน่าจะเติบโต 15% ส่วนรายได้น่าจะใกล้เคียงเป้าหมาย 1,000 ล้านบาท ซึ่งการการเติบโตดังกล่าวมาจากการขายและการบริการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาปิโตรเคมีในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นด้วย " กิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ ให้ความเห็น
ทั้งนี้ UAC ตั้งเป้าในระยะ 3 ปีข้างหน้าบริษัทจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% ซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทในปี 2558 แตะ 3,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากแผนการปรับสัดส่วนรายได้ของธุรกิจจากเดิมที่เน้นหนักไปทางเทรดิ้งอุปกรณ์และสารเคมีต่างๆ มากกว่าธุรกิจอื่น ก็เปลี่ยนมาเป็นรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน 60% และอีก 40% จากมาจากธุรกิจหลักเดิม
“ที่ผ่านมา เรามีการลงทุนด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีจากนี้ ทำให้ภายในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะอยู่ในช่วงการทยอยรับรู้รายได้ตามกำหนดที่แต่ละโครงการแล้วเสร็จ โดยช่วงที่โรงก๊าซ CBG ทั้ง 20 แห่งกับโรงแยกก๊าซที่สุโขทัยแล้วเสร็จจะทำให้บริษัทรับรายได้อย่างเต็มที่”นายกิตติ กล่าว
เปิดแผนUACรุกพลังงานทดแทน
ทั้งนี้ UAC มีแผนจะจัดตั้งโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง (CBG) จำนวน 20 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆทางภาคเหนือ โดยจะเป็นการลงทุนโดยตรงของบริษัท 10 แห่ง งบลงทุนโรงงานละ 100 ล้านบาท รวม 1,000 ล้านบาท แต่จะรับเงินสนับสนุนจาก สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) 10%ของมูลค่าลงทุน
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนจัดตั้งโรงงานCBG อีก 10 แห่ง ในลักษณะร่วมลงทุน ซึ่งมูลค่าโครงการรวมอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าโครงการเฉพาะโรงงาน CBG ประมาณ 2,000 ล้านนบาท
“ หากคิดเป็นมูลค่าโครงการรวมอาจดูสูง แต่เม็ดเงินที่ใช้จริงนั้นไม่มากนัก เพราะมีเงินสนับสนุนจาก สนพ.เข้ามาช่วย 10%ต่อโรงงาน เหมือเราสร้าง 9 โรงงานแล้วได้ฟรีอีก 1 โรงงาน ส่วนโรงงานที่ร่วมกับพันธมิตรก็จะเป็นไปในลักษณะร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ทำให้เราไม่ได้ใส่เงินลงไปมากหรือเต็มจำนวน
ส่วนเม็ดเงินลงทุน จะมาจาก เงินกู้สถาบันการเงินประมาณ 600 ล้านบาท การขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ RO จำนวน 100 ล้านบาท และเงินเพิ่มทุนแบบ PO อีกกว่า 100 ล้านบาท รวมถึงเราจะการออกวอร์แรนต์ในต้นปีหน้า อีกประมาณ 500 -600 ล้านบาท เราคาดว่า CBG แต่ละโครงการจะมีรีเทิร์น 15-20% ใช้เวลา 5-6 ปีจะคุ้มทุน
และไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนอีกภายใน 3 ปีจากนี้ อีกทั้งบริษัทมีเป้าหมายจะรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ไม่ให้เกิน 1 เท่า จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 0.5 เท่า "นายกิตติ กล่าว
สำหรับโครงการผลิตไบโอดีเซลที่อยุธยา ที่ UAC ร่วมทุน(ถือหุ้น30%)กับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) ในนามบริษัท บางจากไบโอฟลูเอล จำกัด ซึ่งมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตคาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า โดยบริษัทอาจใช้เงินในการร่วมลงทุนประมาณ 250 ล้านบาท
ขณะที่ โครงการโรงแยกก๊าซ Petroleum Product Production (PPP) ที่ จ.สุโขทัย จะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 1/56 และเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/56แบื้องต้นคาดว่าจะรับรู้รายได้ประมาณ 130-140 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทยังอยู่ระหว่างมองโอกาสในการลงทุนตั้งโรงแยกก๊าซแห่งที่ 2 ในสุโขทัยไปพร้อม ๆ กับแหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณสำรองเพิ่มเติม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปลายปี 56
นอกจากนี้ UAC อยู่ระหว่างการศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกะวัตต์ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเป็นการร่วมทุนกับบมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่(QTC)และพันธมิตรท้องถิ่นในจ.ประจวบฯอีก 1 ราย คาดมีข้อสรุปในไตรมาส 1/56
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีการลงทุนในโครงการผลิต Bio Oil จากของเสียในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม โดยเฉพาะกากปาล์ม ซึ่งผลผลิตที่ได้มีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันเตา ซึ่งกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานในพม่า และทางภาคใต้ของไทย โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ เพราะปริมาณการใช้ไฟฟ้า ในพม่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมาก
อีกทั้ง บริษัทยังมีโครงการร่วมทุนระบบน้ำดีและน้ำเสียในพม่ากับ บมจ.ไฮโครเทค(HYDRO)ที่ UAC ถือหุ้นในสัดส่วน 50% โดยโครงการแรกใกล้ได้ข้อสรุปและน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี2556 ซึ่งเป็นโครงการระบบบำบัดน้ำเสียให้กับนิคมอุตสาหกรรมในเมืองมัณฑะเลย์ มูลค่าลงทุนราว 300-400 ล้านบาท คาดว่าจะทำรายได้ราว 200 ล้านบาท/ปี ส่วนโครงการผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสียแห่งที่ 2 มูลค่าลงทุนราว 800 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 300 ล้านบาท/ปี น่าจะเริ่มสร้างได้กลางปีหน้าและแล้วเสร็จในปี 2558
"ธุรกิจพลังงานทดแทน เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงมาก ปัจจุบันเรามีสัญญาขายก๊าซระยะยาว 15 ปีกับ ปตท. จึงถือว่านี่คือแหล่งรายได้หลักของธุรกิจ ซึ่งในอนาคตเรามีความสนใจที่จะนำก๊าซเข้าไปขายตามโรงงานอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งจุดนี้เรามองว่ายังมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวน้อย ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากยังมีความต้องการสูง ตอนนี้ก็มีอุตสาหกรรมเซรามิค ติดต่อมาที่เราเช่นกัน
อีกประการ แม้จะมีการลงทุนสูงมาก ผมก็ไม่มีแนวคิดที่จะขายหุ้นที่ถือยู่ออกไป เพราะยังต้องการบริหารองค์กรให้มีความมั่นคง และไม่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวด้วย ตอนนี้ก็มีกองทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้ามาดูงาน และขอรับฟังข้อมูลเราบ่อยมาก ซึ่งหลายกองทุนก็แสดงความต้องการเข้ามาลงทุนในUAC”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น