โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail
หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ โดยเอ็นพีแอล ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2555 อยู่ที่ระดับ 2.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 20% จากยอดสินเชื่อคงค้าง 1.2 แสนล้านบาท แต่หากวัดตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่คิดหนี้ค้างชำระ 3 เดือนเป็นเอ็นพีแอล จะทำให้ระดับหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 30%
อันที่จริง ระดับหนี้เสีย 30% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงมาก หากเปรียบเทียบกับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจธนาคาร และเป็นระดับหนี้เสียที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หากไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว เพราะยิ่งปล่อยปัญหาไว้และให้ธนาคารดำเนินการตามปกติ ปัญหาก็ยิ่งหนักขึ้น ซึ่งอาจจะมาหลายสาเหตุ อาทิ ต้นทุนดำเนินการเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ เพราะรายได้จากดอกเบี้ยลดลงจากหนี้เสีย และบางกรณี ลูกหนี้ก็ถือโอกาสผิดชำระมากขึ้น
ประเด็นของไอแบงก์ มีข้อน่าสังเกตคือเป็นธนาคารที่ตั้งขึ้นมาใหม่ล่าสุด และเป็นธนาคารที่ให้บริการเฉพาะกลุ่ม โดยเป้าหมายให้บริการลูกค้ารายย่อยที่เป็นมุสลิม อีกทั้งสถานะตั้งแต่เริ่มแรกไม่ได้มีปัญหาเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังและธนาคารของรัฐอื่นเข้าถือหุ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าเป็นปัญหามาจากการบริหารภายในของธนาคารเอง โดยนายธานินทร์ก็ยอมรับว่าไม่ได้ทำตามวัตถุประสงค์ตั้งแต่ต้น ในเรื่องให้บริการลูกค้ารายย่อย แต่กลับไปให้กู้รายใหญ่
เราไม่รู้ว่าการปล่อยกู้ของไอแบงก์มีการพิจารณาที่รัดกุมเพียงพอ ตามหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็นหรือไม่ แต่หากฟังจากการให้สัมภาษณ์ของนายธานินทร์ ระบุว่าปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นมาจาก 3 สาเหตุ คือ 1.ปล่อยสินเชื่อโดยไม่รอบคอบ 2.ประเมินหลักประกันเกินจริง และ 3.ไม่มีการติดตามหนี้ที่ดีพอ นอกจากนี้นายธานินทร์ยังบอกถึงสิ่งที่น่ากลัวคือ "ปล่อยสินเชื่อเกินหลักประกัน เช่น หลักประกันมี 100 ก็ปล่อยไป 120 โดยนำส่วนที่เกินมา 20 นี้ มาชำระเป็นดอกเบี้ยในปีแรก เพื่อให้เลี้ยงหนี้ไปก่อน พอปีต่อมาสินเชื่อเริ่มมีปัญหา"
หากคำกล่าวของนายธานินทร์เป็นจริง ที่ว่านอกจากจะมีปัญหาเรื่องการประเมินหลักประกันแล้ว ลูกหนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นรายใหญ่ ก็ถือว่าการทำธุรกิจของไอแบงก์เข้าขั้นประมาทหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะการปล่อนกู้เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรณีของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการหรือบีบีซีในอดีต อีกทั้งการปล่อยกู้เน้นไปที่รายใหญ่นั้น แทบจะไม่มีธนาคารไหนทำกันแล้วในปัจจุบัน ส่วนใหญ่หากเป็นรายใหญ่จริงๆมักจะร่วมกันปล่อยกู้ ยกเว้นลูกหนี้ที่มีเครดิตดีจริงๆเท่านั้น
เราเห็นว่าพฤติกรรมของไอแบงก์ที่เกิดปัญหาในขณะนี้ กำลังซ้ำรอยธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในช่วงก่อนวิกฤติ เพราะอาจเห็นว่าความเสียหายในที่สุดแล้ว กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นจึงเกิดข้อสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจากการปล่อยกู้ เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ก่อนหน้านั้นที่มีกองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงินดูแลอยู่ และรู้อยู่แล้วว่าภาครัฐจะปล่อยให้ล้มไม่ได้ จึงเกิดขบวนการยักยอกเงินหลวงอย่างแยบยล แต่ไม่น่าเชื่อว่าภาครัฐปล่อยให้เกิดขบวนการเช่นนี้ได้อย่างไร ทั้งๆที่มีบทเรียนมาแล้ว และในครั้งนี้กระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบโดยตรง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น