วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

ถึงเวลาล่าซื้อธุรกิจโลจิสติกส์อาเซียน


19 Apr 12 ,  สุวรรณี เรืองวิทยาโชติ, Logistics Digest
ที่มาhttp://www.logisticsdigest.com/article/logistics-insight
การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC จะมีผลกระทบต่อตลาดโลจิสติกส์ของโลกหรือไม่ และการแข่งขันของธุรกิจโลจิสติกส์ระดับโลกทุกวันนี้เหตุใดจึงมีการซื้อกิจการกันมากขึ้น


กูรูผู้โลดแล่นอยู่ในสายอาชีพโลจิสติกส์มากว่า 20 ปี คุณธนาธร ศรีสกุล ปัจจุบันผันตัวเองรับเป็นที่ปรึกษาในนามบริษัท Peak Management Asia ให้คำตอบง่ายๆ ก็คือแต่ละบริษัทที่แม้จะเป็นผู้นำทางธุรกิจแต่อาจไม่มีโซลูชั่นที่แท้จริงให้กับลูกค้า เพราะองค์กรบางแห่งเก่งด้านโลจิสติกส์ บางแห่งเก่งด้านซัพพลายเชน ไม่มีองค์กรใดที่เก่งในทุกๆ ด้าน

สำหรับงานขนส่ง (Transport) มีทั้งขนส่งภายในประเทศ ขนส่งระหว่างประเทศ ขนส่งข้ามแดน ความชำนาญการแต่ละอย่างก็ไม่เหมือนกัน

ถ้าพูดถึงการขนส่งระหว่างประเทศ ผู้ให้บริการ หรือ Freight Forwarder ทำหน้าที่เป็น Consolidator คือรวมสินค้าเพื่อทำให้ค่าขนส่งถูกลง แต่ถ้ามีเครือข่าย (Network) เป็นของตัวเอง มีสาขาอยู่ทั่วโลก หรือมีมากกว่า 4-5 แห่งในแต่ละประเทศ ก็สามารถต่อสู้และแข่งขันในธุรกิจนี้ได้อย่างเข้มแข็ง

ส่วนงานด้านซัพพลายเชนก็จะเกี่ยวข้องในเรื่องของคลังสินค้า (Warehouse) ตั้งแต่เริ่มการจัดซื้อ การผลิต และนำโลจิสติกส์เข้ามาบริหารจัดการทำให้สินค้าลื่นไหลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเมื่อผลิตสินค้าเสร็จตรวจสอบผ่าน ส่งออกไปถึงศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) และส่งต่อไปถึงร้านค้าปลีก (Retail Store)

หลายท่านคงเคยได้ยินว่าบริษัท Exel ซึ่งบริษัทโลจิสติกส์ระดับเบอร์ 2 ของโลก ถูก DHL ซึ่งเป็นเบอร์ 3 ของโลกเมื่อปี 2005 ในเวลานั้นซื้อกิจการไป ด้วยมูลค่า 6.7 พันล้านเหรียญยูโร เหตุผลคือมีเงินเพียงพอแต่ไม่มีโนฮาว ไม่มีเทคโนโลยี บุคลากร และลูกค้า เป้าหมายต้องการจะขยายธุรกิจในระยะเวลา 3-5 ปี ถ้ารอให้ธุรกิจขยายเองคงใช้เวลามากกว่านี้ หนทางง่ายสุดคือซื้อกิจการคู่แข่งที่มีครบทุกอย่าง เพราะ Exel สมัยนั้นมีความเข้มแข็งในด้านซัพพลายเชน ทั้ง Contract Management และ Freight Management รวมถึงการทำ Cross Border มีความสามารถทำได้ทุกอย่าง

“หลักในการซื้อขายกิจการเขาดูว่าคุณมีลูกค้าในมือเท่าไร ไม่ใช่ทรัพย์สิน ซื้อกิจการไปได้ยอดขายตามมาทันที แต่ยอดขายก็ต้องมีโนฮาว โซลูชั่นที่ให้ลูกค้าพึงพอใจที่จะอยู่กับเราหรือไม่” คุณธนาธร กล่าว

ขณะที่ล่าสุดมีข่าวการควบรวมกิจการ “UPS” ขอซื้อบริษัท “TNT” ถ้าพูดถึงบริษัทขนส่งด่วนท็อป 4 ระดับโลก ก็คือ DHL, UPS, FedEx และ TNT ลักษณะนี้ก็เช่นเดียวกัน UPS เบอร์ 2 ของโลก ซื้อเบอร์ 4 TNT ซึ่ง TNT มี Trucking และ Cross Border ในยุโรป ตะวันออกกลาง บลาซิล และในเอเชียที่แข็งแรง ซึ่ง UPS มีความเข้มแข็งแค่เฉพาะในอเมริกา และต้องการขยายตลาดในยุโรป

“คาดว่าไม่น่าจะเกินหนึ่งปีข้างหน้าชื่อ “TNT” น่าจะหายไปกลายเป็น “UPS” มาแทน แนวโน้มการแข่งขันจะมากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่าคนไหนเป็นเจ้าใหญ่จะมีความได้เปรียบด้านการเงิน ความคิด การวางกลยุทธ์ระยะยาว” คุณธนาธร ให้ความเห็น



ตลาดโลจิสติกส์ใหญ่แค่ไหน

Transport Intelligence รายงานสัดส่วนทางการตลาดของธุรกิจ Freight Forwarding ระดับโลก ปี 2010 ล่าสุดว่าค่าขนส่งของเอเชียแปซิฟิคปัจจุบันได้แซงหน้ายุโรปแล้ว

ในอดีต North America กับ Europe ถือได้ว่าเป็นพี่ใหญ่ ถ้ารวมกันขนาดของตลาดใหญ่ประมาณ 70-80% ของโลก เอเชียเป็นแค่แหล่งผลิตแล้วส่งกลับคืน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ศักยภาพของคนเอเชียในเรื่องความเป็นอยู่ และรายได้มีมากขึ้น มีการซื้อขายกันเองระหว่างเอเชียด้วยกัน

ดังนั้นจะเห็นว่าตลาดธุรกิจโลจิสติกส์ของโลกในปี 2010 เอเชียนำหน้ามาเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 32% ของการใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ทั้งหมด ด้วยมูลค่า 39 พันล้านเหรียญยูโร อันดับที่สองรองมาคือยุโรป มูลค่า 37 พันล้านเหรียญยูโร และอันดับสามคือ อเมริกา มีขนาดตลาดมูลค่า 36 พันล้านเหรียญยูโร

“ยิ่งถ้าเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC อีกสามปีข้างหน้า ตลาดโลจิสติกส์ในเอเชียเราจะแซงไปอีกเยอะเลย มีการประมาณการณ์ตัวเลขปี 2014 ตลาดโลจิสติกส์ในเอเชียจะเพิ่มเป็น 66 พันล้านเหรียญยูโร เพิ่มขึ้นเกือบ 70% นี่คือโอกาส ตัวเลขที่ทำการสำรวจได้จากการสอบถามผู้ประกอบการระดับ Global Freight Forwarding ว่าไปลงทุนที่ไหนบ้าง ทำให้เรามองเห็นธุรกิจการซื้อขายในเอเชียแปซิฟิคมีมากขึ้น” คุณธนาธร กล่าวเน้น

ผลสรุปผู้ให้บริการด้าน Freight Forwaring อันดับหนึ่งของโลกคือ Kuehne+Nagel มียอดขาย 11,527 ล้านเหรียญยูโร ซึ่งไม่ถึง 10% ของขนาดตลาดโลจิสติกส์ของโลก ดังนั้นคาดว่าจะมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นอีกมาก แต่คิดว่าขณะนี้เวลายังไม่เหมาะสม เพราะบริษัทใหญ่ๆ ถูกซื้อไปหมดแล้ว

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อีก 3 ปีข้างหน้า จึงเป็นการเปิดโอกาสให้กับบริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ “ล่าซื้อกิจการ” ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย บริษัทไหนที่มี “ลูกค้าสำคัญในมือ” เขาก็จะเริ่มกว้านซื้อในเร็ววันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น