วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

แบงก์ดันเป้าค่าฟีโตต่อเนื่อง ขณะที่ธปท.ส่งสัญญาณบีบลดค่าธรรมเนียมอีกระลอก


ที่มา http://www.thanonline.com/index
วันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2013 เวลา 17:24 น.

11 ธนาคารพาณิชย์ ประกาศผลประกอบการปี 2555 มีกำไรสุทธิ 1.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.06% จากปี 2554 อยู่ที่ 1.25 แสนล้านบาท โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึง 14.17% จาก 9.31 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 1.06 แสนล้านบาท สอดคล้องกับรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยซึ่งเติบโต17.53% จาก 1.52 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 1.79 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยเติบโต 12.87% จาก 3.24 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 3.66 แสนล้านบาท
    "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์รวมบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประจำปี 2555 เพิ่มขึ้น 3.77 หมื่นล้านบาท หรือ 30.06% โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ยังมีผลกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้นมากที่สุด 1.10 หมื่นล้านบาท หรือ 45.55% จาก 2.42 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 3.52 หมื่นล้านบาท รองลงมา ธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้น 9 พันล้านบาท หรือ 28.9% จาก 3.12 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 4.02 หมื่นล้านบาท ธนาคารกรุงไทย เพิ่มขึ้น 6.53 พันล้านบาท หรือ 38.40% จาก 1.70 หมื่นล้านบาท  เพิ่มเป็น 2.36 หมื่นล้านบาท และธนาคารกรุงเทพเพิ่มขึ้น 5.68 พันล้านบาท หรือ20.8% จาก 2.73 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 3.30 หมื่นล้านบาท
    หากสำรวจไปยังรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ระดับ 1.32 หมื่นล้านบาท หรือ 14.17% จาก 9.31 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 1.06 แสนล้านบาท โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสูงสุดคือธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้น 3.83 พันล้านบาท หรือเติบโต 18.56%  จาก 2.06 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 2.44 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นธนาคารขนาดกลางอย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เพิ่มขึ้น 1.94 พันล้านบาท จาก 1.07 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 1.27 หมื่นล้านบาท ต่อด้วยธนาคารกรุงไทยที่เพิ่มขึ้น 1.84 พันล้านบาท จาก 1.13 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 1.32 หมื่นล้านบาท ธนาคารทิสโก้เพิ่มขึ้น 1.27 พันล้านบาท จาก 1.85 พันล้านบาท เพิ่มเป็น 4.12 พันล้านบาท  ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่อย่างธนาคารกรุงเทพกลับมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 996 ล้านบาท จาก 1.81 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 1.91 หมื่นล้านบาท ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้นเพียง 650 ล้านบาท จาก 1.98 หมื่นล้านบาท เป็น 2.04 หมื่นล้านบาท     จากผลดังกล่าวสะท้อนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง สาเหตุส่วนหนึ่งจากผลการปรับลดค่าธรรมเนียมตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาทิ ค่าธรรมเนียมการโอนอิเล็กทรอนิกส์รายย่อยระหว่างธนาคาร (NITMX Bulk Payment) ในปี 2553 ต่อมาในปี 2554 มีการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างธนาคารเดียวกันแต่ข้ามเขต การถอนเงินในธนาคารเดียวกันแต่ข้ามเขต การถอนเงิน/ถามยอดต่างธนาคารแต่ในจังหวัดเดียวกัน ที่ฟรี 4 ครั้งแรก และการถอนเงินจากธนาคารข้ามเขต นอกจากนี้ยังมีเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินรวมทั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากในอัตรา 0.47%
    ล่าสุดธปท.เตรียมหารือกับธนาคารพาณิชย์และฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องอีกระลอก เพื่อปรับปรุงการให้บริการระบบชำระเงิน กรณีการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินภายในธนาคารเดียวกันข้ามเขต โดยให้เหตุผลไม่น่าจะมีต้นทุนค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีธนาคารพาณิชย์ 2 แห่งที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนนี้ ได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน และธนาคารทิสโก้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่คิดค่าบริการฝาก/โอนธนาคารเดียวกันข้ามเขตฟรีครั้งแรกของเดือน ครั้งถัดไปคิดค่าบริการรายการละ 15 บาท

    นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเงินฝากและการลงทุน และการประกันภัยธนพัทธ์ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กรณีการเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์คิดอัตราค่าธรรมเนียมในระดับราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคของธปท.นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการถอน โอน เอทีเอ็ม ที่ผ่านมารายได้จากธุรกรรมเหล่านี้ทยอยปรับลดสัดส่วนลงแล้ว ขณะเดียวกันปริมาณการเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพราะแม้ปริมาณธุรกรรมจะมากขึ้นแต่ไม่สามารถคิดค่าบริการในอัตราสูงเท่าเดิมได้
    ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ต้องหันไปเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมในช่องทางอื่นๆ แทน เช่นเดียวกับธนาคารกรุงศรี โดยรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันภัย กองทุนรวม ถือมีส่วนสำคัญต่อรายได้ของธนาคารอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพราะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และน่าจะมีผลต่อค่าธรรมเนียมของธนาคารในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 30%
    สำหรับกลยุทธ์การหารายได้ค่าธรรมเนียมในสายธุรกิจเงินฝากและการลงทุน และการประกันภัยธนพัทธ์จะมาจาก 2 ส่วน คือส่วนของธุรกรรมที่เกิดขึ้นตามปกติ อาทิ การโอนเงิน ถอนเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการ เช็ค เอทีเอ็ม ธนาคารจะใช้กลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าเพื่อดึงดูดใจให้หันเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เช่น การออกผลิตภัณฑ์ออมทรัพย์กรุงศรีจัดให้ซึ่งลูกค้าสามารถชำระค่าบริการฟรี 5 ครั้ง/เดือน และเบิกถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มฟรีทุกธนาคาร เป็นต้น แม้จะมีผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารแต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้เพิ่มขึ้น อีกส่วนจากการหารายได้ค่าธรรมเนียมจากกองทุน กลยุทธ์จะเน้นการแข่งขันเชิงผลงานเป็นหลัก เพราะจะเป็นการโปรโมตแบรนด์กรุงศรีไปในตัว
    ส่วนกรณีที่ธปท.ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกค่าธรรมเนียมเก็บการโอนเงินภายในธนาคารเดียวกันข้ามเขต เพราะมองว่าไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายนั้น ยอมรับว่าค่าใช้จ่ายด้านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สูงนัก แต่ธนาคารพาณิชย์ยังมีต้นทุนการเคลื่อนย้ายเงิน การติดตั้งเอทีเอ็ม ค่าเช่าพื้นที่ การรักษาความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกันในระดับสมาคมบ้างแล้ว เชื่อว่าทุกธนาคารสมาชิกจะยังคงเก็บค่าบริการไว้ในระดับเดิม

 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,813  วันที่   27 - 30  มกราคม พ.ศ. 2556

แปลภาษา
       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น