วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

เปิดโผบริษัทไทยตบเท้าลงทุนพม่า

ที่มา http://www.dailynews.co.th/businesss/190291
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- จันทร์ที่ 2 เมษายน 2555 00:00:33 น.
เมื่อประเทศพม่าเริ่มแง้มประตูบ้าน กลิ่นผลตอบแทนจากการลงทุนที่หอมหวานก็เชิญชวนให้นักลงทุนนานาประเทศ ทั้งหัวดำ หัวทอง ข้ามน้ำข้ามทะเลมาลิ้มรสความหอมหวานกันอย่างถ้วนหน้า การที่นักลงทุนจากนานาประเทศเดินทางไปพม่า นอกจากต้องการผลประโยชน์อันมหาศาลที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ยังมองเห็นศักยภาพของประเทศที่พร้อมจะเดินไปข้างหน้า และพร้อมต้อนรับการลงทุนไม่ว่าเงินสกุลใดๆ


ขณะที่พม่ากำลังจะพลิกโฉมประเทศด้วยการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองให้ก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังคงวนอยู่ในอ่างน้ำใบเล็กๆ ที่มีตัวละครไม่กี่ตัว ตั้งหน้าตั้งตาออกมาเรียกร้องความปรองดอง ทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่สามารถหาได้ในโลกความเป็นจริงตราบใดที่ยังมีนักโทษหนีคดีคอยบงการ จึงทำให้นักลงทุนเริ่มเบื่อหน่ายและหันหน้าไปหาพื้นที่ลงทุนใหม่ที่น่าพิสมัยมากกว่าในบ้านเรา หรือแม้นักลงทุนไทยเองก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนในพม่าไม่ต่างจากนักลงทุนในหัวทองทั้งหลาย

ที่ผ่านมาบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยหลายแห่งเข้าลงทุนในพม่าอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีข่าวการเปิดประเทศเสียอีก โดยบริษัทหลักๆ ที่เข้าลงทุน ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี), เครือสหพัฒนธนพิบูล, ยูนิลิเวอร์, โอสถสภา, บมจ.ปตท.สผ. (PTTEP), และ บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเมนท์ (ITD) เป็นต้น

โดยล่าสุด บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ (ITD) ได้ข้อสรุปโครงการผลิตไฟฟ้าในโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในสหภาพพม่าว่าจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในช่วง 5 ปีแรก จากนั้นก็จะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตามคาดว่าโครงการผลิตไฟฟ้าอาจจะขยายกำลังการผลิดไปถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ จากเดิมจะมีกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้จะเริ่มก่อสร้างในสิ้นปี 2555 และคาดว่าจะจ่ายไฟได้ในปี 2559

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ เอ ไอ (mai) สนใจที่จะเข้าไปลงทุนในพม่ามากขึ้น เช่น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ได้ยื่นข้อเสนอที่ทำโรงไฟฟ้าพลังลมขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ใน 3 รัฐใกล้จ.ทวาย ประเทศพม่า ซึ่งขณะนี้ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่าเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทอยู่ระหว่างส่งพนักงานเข้าไปสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการเข้าไปติดตั้งเสาวัดลมเพื่อประเมินความแรงของลม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือน เม.ย.นี้ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ เมกะวัตต์ละ 100 ล้านบาท และมีแผนจะทำโรงไฟฟ้าที่ใช้ดีเซลเป็นเชื้อเพลิงขนาด 5-10 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนให้กับชุมชนใกล้ๆกับทวาย พร้อมหาโอกาสการทำโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในบริเวณที่มีท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท. (PTT) ผ่านจากแหล่ง M9 เพื่อขายไฟฟ้าให้พม่าอีกด้วย

ด้าน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนก่อสร้างโรงผลิตปูนซิเมนต์ในประเทศพม่า หลังจากได้ใช้ระยะเวลาในการศึกษาร่วมกว่า 2 ปี ซึ่งถือว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าไปลงทุน เพราะตลาดในประเทศพม่าเปิดกว้างมากขึ้น และบริษัทได้ทำธุรกิจขายสินค้าประเภทปูนซีเมนต์ ซีแพค และเคมีคอล เป็นเวลากว่า 10 ปีแต่ทั้งนี้ ต้องรอดูกฎหมายและนโยบายของประเทศพม่าเกี่ยวกับกฎหมายส่งเสริมการลงทุนและสิทธิในการสร้างเหมืองปูนให้มีความชัดเจนก่อน

ขณะที่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ระบุว่า ในปี 2558 จะเปิดห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ ในรูปแบบของการถือหุ้นร่วมกันระหว่างบริษัทและพันธมิตรในประเทศนั้นๆ และเน้นการซื้อมอลล์มาพัฒนามากกว่าที่จะสร้างขึ้นใหม่ โดยเล็งประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ พม่า ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องที่ดิน เพราะรัฐบาลพม่าไม่ให้สิทธิ์ชาวต่างชาติเข้าซื้อที่ดิน

บมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ (PB) เตรียมขยายธุรกิจไปยังประเทศพม่า โดยอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง เนื่องจากประเทศพม่าในปัจจุบันนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทยเมื่อ 40 ปีก่อน คือมีร้านโชห่วยค่อนข้างมาก ในขณะที่ร้านค้าสมัยใหม่มีน้อย ดังนั้นจึงเหมาะในการขยายตลาดขนมปัง

บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร (DRT) เตรียมขยายการส่งออกไปยังพม่าเช่นกัน เนื่องจากมองว่า พม่ามีศักยภาพและโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้นหลังจากมีการเปิดประเทศ ซึ่งจะทำให้มีความต้องการวัสดุก่อสร้างมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทได้เข้าไปทำการตลาดในพม่ามานานกว่า 10 ปี ทำให้มีความเข้าใจตลาดและพฤติกรรมความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี และมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันยอดขายจากการส่งออกไปพม่าเพิ่มขึ้นเป็น 10%

ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตต่อธนาคารกลางพม่า และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการไปเปิดสำนักงานตัวแทนของธนาคารในส่วนที่เป็นทั้งสำนักงาน และที่พัก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยที่ขยายธุรกิจไปยังพม่า

บมจ.ไฮโดรเท็ค (HYDRO) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมที่จะเข้าไปทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียและด้านน้ำประปา ซึ่งเป็นโครงการสาธารณูปโภคทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนในประเทศพม่า ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องของกฎหมายในอีก 3 เดือนข้างหน้า พร้อมเตรียมยื่นข้อมูลรายละเอียดการเข้าลงทุนดังกล่าวบริษัทจะจับมือกับ บมจ.ผลธัญญะ (PHOL)

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของบริษัทที่เข้าไปลงทุนในพม่าเท่านั้น ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สนใจลงทุนอีกมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ารัฐบาลพม่ามีความพยายามอย่างมากที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองให้ทันกับความก้าวหน้าของประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะประเทศจีนที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมการตลาด (Socialist Market Economy) และประเทศไทยที่เป็นประเทศประชาธิปไตยซึ่งมีชาวพม่าหลายล้านคนเข้ามาทำงาน แต่ประเทศพม่ายังคงล้าหลังกว่าในทุกๆด้าน

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศพม่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีของรัฐบาลพม่าออกมาสู่สายตาของสังคมโลก ซึ่งทำให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในพม่า แต่พม่ายังจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยพม่ายังเป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคคัญ คือ ปัญหาการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในประเทศพม่า ปัจจุบันพม่ายังไม่สามารถที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการของครัวเรือนในเมืองใหญ่อย่างเช่น ที่กรุงย่างกุ้งจะพบว่ามีระบบกระแสไฟฟ้าขัดข้องเกิดขึ้นเกือบทุกวัน ทำให้โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารที่พักอาศัย และตลาดในย่างกุ้งต้องมีเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าติดตั้งให้เห็นโดยทั่วไป

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมบางประเภท แม้ว่าประเทศพม่าจะมีแรงงานเป็นจำนวนมาก แต่พบว่าส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคการเกษตร ที่อาจจะมีทักษะไม่ตครงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ดังนั้น พม่ายังจำเป็นที่จะต้องมีโครงการฝึกอบรมแรงงานฝีมือเพื่อให้พร้อมที่จะเข้าสู่ระบบโรงงานอุตสาหกรรมได้

ปัญหาระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินจัตที่ใช้เป็นทางการของพม่ามีระดับที่แตกต่างในทิศทางที่แข็งค่ากว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินในท้องตลาด (ตลาดมืด) ทั่วไปมาก (อัตราแลกเปลี่ยนของทางการกำหนดไว้ที่ประมาณ 6.4 จัตต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับท้องตลาดอยู่ที่ประมาณ 800 จัตต่อดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ทำให้ยากต่อการทำธุรกิจที่ต้องการความชัดเจนของระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้มาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะเริ่มใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 เมษายนนี้ น่าจะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ระบบการเงินพม่า นอกจากนี้ ค่าเงินของทางการที่จะอ่อนค่าลง ตลอดจนระบบการชำระเงินที่จะปรับให้เป็นสากลน่าจะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าและการลุงทุนของพม่าเพิ่มมากขึ้น

ปัญหาระบบการติดต่อสื่อสาร แม้ว่าในปัจจุบันพม่ามีระบบการต่อต่อสื่อสารด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้แล้ว โดยมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 594,000 ราย แต่ยังมีราคาแพงและไม่เพียงพอกับความต้องการทำให้การติดต่อสื่อสารขาดหายบางขณะ นอกจากนั้นโทรศัพท์ตามสายมีเพียง 604,700 ราย ทำให้มองเห็นภาพชาวพม่าเข้าคิวเพื่อรอใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะในกรุงย่างกุ้งเป็นจำนวนมาก

ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง ที่นอกจากจะยังไม่มีความพร้อมด้านถนนหนทางแล้ว ยังมีปัญหาขาดแคลรถยนต์เนื่องจากพม่าปิดประเทศมานาน ทำให้รถยนต์ที่ใช้กันทั่วไปในประเทศพม่ามีสภาพเก่าและขาดแคลนอะไหล่ ดังนั้นการเดินทางในประเทศพม่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าปกติ ส่วนในชนบทชาวพม่ายังคงใช้เกวียนและวัวในการขนส่งสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ การปฏิรูปทางการเมืองในพม่าดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นสากล ซึ่งนับเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะปูทางไปสู่การสร้างประชาธิปไตยและการเปิดประเทศของพม่าสู่สังคมโลก โดยนอกจากวันที่ 1 เมษายน 2555 จะเป็นวันเลือกตั้งซ่อมครั้งประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นวันที่ทางการพม่ากำหนดที่จะเริ่มต้นการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนไปสู่ระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ ด้วยการเริ่มทยอยลอยตัวค่าเงินจัต

พัฒนาการที่น่าจับตามองของพม่านี้ถือได้ว่ามีนัยสำคัญต่อประเทศไทย ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ใกล้ชิดกับพม่า ทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รูปแบบการค้าระหว่างไทยกับพม่าค่อนข้างพึ่งพาการค้าผ่านชายแดนเป็นสำคัญ คิดเป็นสัดส่วนราว 93.6% ของมูลค่าการค้าโดยรวมของไทยกับพม่า โดยการค้าระหว่างไทยกับพม่าในปี 2554 มีมูลค่า 6,114.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 25.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น