วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

ตลาดโตเร็ว คู่แข่งแกร่งบริษัทต่างชาติปรับแผนรุกเอเชีย


ที่มา http://www.posttoday.com/
14 มีนาคม 2556 เวลา 08:13 น
โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วภายในภูมิภาค ไม่เพียงแต่ทำให้เอเชียเป็นตลาดรองรับสินค้าจากโลกตะวันตกที่มีความสำคัญเท่านั้น การขยับขยายที่เกิดขึ้นยังเป็นเสมือนโอกาสให้บรรดาบรรษัทข้ามชาติข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาลงทุนเพื่อเพิ่มฐานรายได้ของตนให้แข็งแกร่ง

เห็นได้จาก การเติบโตของอินโดนีเซียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่สามารถดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจากสหรัฐให้เข้ามาลงทุนได้ไม่ยาก เนื่องจากหลายบริษัทคาดการณ์ว่าด้วยจำนวนประชากรที่มีเกือบ 250 ล้านคน ความต้องการต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น รถไฟ การสาธารณสุข ทำให้การลงทุนในประเทศแห่งนี้มีแนวโน้มได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่า ช่วงหลายสิบปีนี้ บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่โดยเฉพาะจากซีกโลกตะวันตกที่เข้ามาลงทุนในเอเชียมักจะเป็นยักษ์ใหญ่ไร้คู่ต่อกร ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่บริษัทเหล่านี้จะครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากที่สุด หรือแม้กระทั่งขึ้นแท่นกลายเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดสินค้าหรือบริการนั้นๆ ไป

อย่างไรก็ตาม สถานะความเป็นยักษ์ข้างต้นกำลังอยู่สั่นคลอนและเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่ทำให้บริษัทข้ามชาติจากโลกตะวันตกทั้งหลายต้องหันมาคิดทบทวน และลงมือปรับปรุงแก้ไขกลยุทธ์เพื่อรักษาฐานตลาดภายในซีกโลกตะวันออก รวมถึงเข้าถึงภูมิภาคเอเชียแห่งนี้ให้มากขึ้น

เหตุผลเพราะการเติบโตที่รวดเร็วได้ส่งผลดึงดูดให้บริษัทคู่แข่งอื่นๆ กระโดดเข้ามาร่วมวงมากขึ้นตามไปด้วย โดยมีบริษัทเจ้าของประเทศหรือภายในภูมิภาคเดียวกันเป็นคู่แข่งมาแรงที่น่ากลัว

สจ๊วต ดีน ประธานบริหารแฟร์ ฟิลด์ คอนน์. บริษัทร่วมทุนกับบริษัทเจนเนอรัล อิเล็กทริกส์ (จีอี) สัญชาติสหรัฐ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ยอมรับว่า คู่แข่งในประเทศหรือจากในภูมิภาคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว คือความจริงที่กดดันให้ หนึ่งในบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ที่สุดของโลกจำต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารงาน จากเดิมที่จะใช้มาตรฐานเดียวเป็นหลักในการบริหารงานบริษัทที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก

สำหรับกรณีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของ เจนเนอรัล อิเล็กทรอนิกส์ (จีอี) ก็คือ ตลาดหัวรถจักรในอินโดนีเซีย ซึ่งจีอีครองสถานะเป็นเจ้าตลาดหัวรถจักรรถไฟให้แดนอิเหนาแห่งนี้มาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี

แต่ด้วยความต้องการใช้รถไฟที่พุ่งพรวด จนการรถไฟแห่งอินโดนีเซียจำเป็นต้องเพิ่มหัวรถจักรมากถึง 100 เครื่อง เพื่อบรรเทาความแออัด บริษัทข้ามชาติที่สนใจจะลงทุนจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่จีอีอีกต่อไป และส่งผลให้เกิดการแข่งขันตามมา เห็นได้จากการประมูลสัญญาขายหัวรถจักรล่าสุดของการรถไฟอินโดนีเซียที่มีบริษัทจากยุโรป แคนาดา หรือกระทั่งในเอเชียอย่างจีน โดดเข้าร่วมประมูล พร้อมข้อเสนอน่าดึงดูดตั้งแต่เทคโนโลยีทันสมัยไปจนถึงต้นทุนราคาถูก

แม้จีอีจะชนะคู่แข่งและสามารถเซ็นสัญญามูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐกับอินโดนีเซียได้เรียบร้อย แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยอมรับว่า เป็นชัยชนะที่เฉียดฉิวและเชือดเฉือน โดยจีอีมีภาษีดีกว่าตรงที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับการรถไฟอินโดนีเซียมาอย่างยาวนาน

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจที่ไปได้สวยทำให้หลายบริษัทสัญชาติเอเชียเติบโตได้ดี จนกระทั่งช่องว่างระหว่างบริษัทตะวันตกกับตะวันออกหดแคบลงทุกที ส่งผลให้สินค้าและบริการที่ผลิตออกมาสู่ตลาดไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก

ผลลัพธ์ข้างต้นทำให้บริษัทจากฝั่งตะวันตกต้องเดินหน้าทุ่มการลงทุนให้มากขึ้นเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ตลอดจนส่งผู้บริหารระดับสูงเข้ามาดูแลโดยตรงและใกล้ชิด

ทั้งนี้ ผลสำรวจบรรดาบริษัทสหรัฐที่เข้ามาลงทุนในเอเชียของสมาคมหอการค้าสหรัฐในสิงคโปร์เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมาถือเป็นหลักฐานยืนยันแนวโน้มการลงทุนได้เป็นอย่างดี โดย 9 ใน 10 บริษัทซึ่งมีการลงทุนในอาเซียนอยู่แล้วมีแผนลงทุนเพิ่มเติมอีกภายในระยะ 5 ปีข้างหน้านี้

ขณะที่ ฮันนีเวลล์ อินเตอร์เนชันแนล ผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยและอวกาศจากนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ เพิ่งจะประกาศอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารในภูมิภาคเอเชียมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการผลิตสินค้าใหม่ๆ ป้อนสู่ตลาดในแต่ละประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ เช่น หลอดไฟแอลอีดีสำหรับตลาดจีน

ยิ่งไปกว่านั้น การมีคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อีกหลายๆ บริษัทข้ามชาติจากโลกตะวันตกเริ่มใส่ใจเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีตของตนเองซึ่งเกิดจากประเด็นปลีกย่อย เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในตลาดเอเชีย โดยสำหรับจีอี ก็คือ คู่มือการใช้งานอุปกรณ์เพื่อสุขภาพซึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ปัจจุบันจีอีจัดการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นของชาติต่างๆ ในเอเชียหลายภาษา เช่น ภาษาบาฮาซาที่นิยมใช้ในอินโดนีเซีย

นอกจากบริษัทสัญชาติเอเชียจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวภายในภูมิภาคแล้ว นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่ง รวมถึง วินเซนต์ ชิน นักวิเคราะห์อาวุโสจากบอสตัน คอลซัลติง บริษัทที่ปรึกษาในสิงคโปร์ยังยอมรับว่า หลายๆ บริษัทเอเชียเริ่มเติบโตกลายเป็นยักษ์ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นคู่แข่งในตลาดโลก

หลักฐานยืนยันก็คือ บริษัท เลอโนโว กรุ๊ป ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล(พีซี) จากจีนที่ไล่ตามยักษ์ใหญ่ของตลาดอย่างฮิวเล็ตต์แพ็กการ์ดได้กระชั้นมากขึ้น โดยในปี 2555 เลอโนโวมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกพีซีอยู่ที่ 14.8% ขณะที่ฮิวเล็ตต์ แพ็กการ์ดอยู่ที่ 16% หรือกรณีของหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีโทรคมนาคมของจีนที่ทำรายได้สูงถึง 3.54 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรองอิริกสัน ผู้นำตลาดซึ่งทำรายได้อยู่ที่ 3.58 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ชอย ไรน์ ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัยตลาดจีน ไชนา มาร์เก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ปในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า การแข่งขันระหว่างบรรษัทข้ามชาติของตะวันตกกับตะวันออกมีแนวโน้มดุเดือดรุนแรงขึ้น เนื่องจากบรรษัทตะวันออกขยับขยายเติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับที่สามารถว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการต่อยอดพัฒนา และการคิดค้นหนทางผลิตที่ใช้ต้นทุนได้ถูกลงจนสามารถขายตัดราคาสินค้าคู่แข่งชาติตะวันตกได้

สถานการณ์ข้างต้น ทั้งความแข็งแกร่งของบริษัทในประเทศนั้นๆ และการเติบโตของบริษัทภายในภูมิภาค ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าบรรษัทข้ามชาติตะวันตกอาจต้องผจญกับการปรับตัวปรับกลยุทธ์อยู่พักใหญ่ เนื่องจากวิธีการเดิมๆ ที่ใช้มา ไม่อาจได้ผลอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคู่แข่งมีความได้เปรียบตรงที่เป็นบริษัทเจ้าของประเทศหรือในภูมิภาคเดียวกันที่มีความเข้าอกเข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ได้มากกว่า

กลายเป็นบทสรุปที่ นักวิเคราะห์แทบจะทุกสำนักต่างสรุปตรงกันว่า นับต่อจากนี้ไป ทั่วโลกคงได้เห็นกลยุทธ์ใหม่ๆ ของบรรดาบรรษัทข้ามชาติเพื่อช่วงชิงโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับตลาดในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น