ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1365445628&grpid=&catid=11&subcatid=1103
จากปัญหาต้นทุนต่าง ๆ ที่ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นแพง ค่าเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในหลาย ๆ ธุรกิจเร่งปรับตัวเพื่อรับมือและหาทางลดต้นทุนควบคู่กันไป ประกอบกับการเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะมีผลอย่างเป็นทางการในปลายปี 2558 ก็ทำให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มมองเป็นโอกาสที่จะขยายฐานการผลิตออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนที่ถูกกว่ามากขึ้น
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แผนลงทุนในประเทศพม่าในปีนี้จะเป็นการสร้างฐานผลิตใหม่เพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีกเท่าตัว เนื่องจากความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดพม่าสูงขึ้น และกำลังผลิตของโรงงานที่มีอยู่นั้นเต็มกำลังการผลิตแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเป็นการขยายส่วนต่อจากโรงงานเดิมซึ่งตั้งอยู่ในเมืองย่างกุ้ง หรือตั้งโรงงานใหม่ที่มัณฑะเลย์ หากเป็นการตั้งโรงงานใหม่ที่มัณฑะเลย์ จะต้องใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท เนื่องจากเป็นสเกลที่ไม่ใหญ่มาก คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตได้ภายในครึ่งปีหลังนี้ โดยนำเข้าเครื่องจักรสำเร็จรูปจากเมืองไทย
"จริง ๆ ที่ขยายเข้าไปที่พม่าเพิ่ม หลัก ๆ เพื่อรองรับโอกาสการบริโภคที่ขยายตัว ในแง่ต้นทุนผลิตเทียบกับเมืองไทยไม่ได้ ต่างกันมากนัก เพราะต้นทุนค่าแรงคิดเป็นส่วนน้อยของต้นทุนทั้งหมด หลัก ๆ จะมาจากน้ำมันปาล์ม กับแป้งสาลี ซึ่งแป้งสาลีก็ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเช่นเดียวกับโรงงานผลิตที่ไทย"
นายพันธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ได้เข้าไปตั้งโรงงานในพม่ากว่า 10 ปี และถือเป็นโรงงานของเครือสหพัฒน์เพียงแห่งเดียวที่เข้าไปบุกเบิกในพม่าอย่างจริงจัง ปัจจุบันมาม่าเป็นอันดับ 2 รองจาก "ยำยำ" (อายิโนะโมะโต๊ะ) และบริษัทตั้งเป้าว่า 3-5 ปีจะสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดพม่าได้ หลังจากนี้จะมีการเซตทีมตลาดเพื่อเข้าไปทำตลาดที่พม่าอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศฮังการี เพื่อใช้เป็นฐานเจาะตลาดในยุโรป และก่อนหน้านี้ยังร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อเข้าดำเนินธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศกานา ซึ่งจะใช้เป็นฐานเพื่อขยายตลาดแอฟริกา โดยโรงงานจะสร้างเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปีหน้า ส่วนในเอเชียกลางจะเข้าไปตั้งโรงงานในภูฏาน เพื่อใช้เป็นช่องทางขยายธุรกิจไปยังอินเดีย
ด้านนายชัยเลิศ มนูญผล กรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนจำหน่ายชุดว่ายน้ำสปีโด้ เปิดเผยว่า เพื่อรับมือกับการเปิดเออีซี "สปีโด้" มีนโยบายที่จะมองหาแหล่งผลิตใหม่ อาทิ พม่า และกัมพูชา เนื่องจากมีต้นทุนด้านแรงงานที่ถูกกว่าไทย ซึ่งขณะนี้ในพม่ามีการร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นเพื่อผลิตชุดชั้นในชาย แต่ยังไม่สามารถผลิตชุดว่ายน้ำได้ เนื่องจากยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่ในอนาคตเมื่อแรงงานมีความชำนาญขึ้นก็อาจยกระดับสู่ไลน์ชุดว่ายน้ำต่อไป
"ปัจจุบันเครือสหพัฒน์ได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตยังประเทศพม่า 5-6 โรงงาน โดยในอนาคตอาจทำเป็นนิคมคล้ายกับที่ย่างกุ้งและที่ทวาย อย่างไรก็ตามปัจจุบันต้นทุนด้านระบบคมนาคมที่พม่ายังคงสูงกว่าไทย แต่เชื่อว่าในอนาคตการผลิตในพม่าจะทำให้ต้นทุนถูกกว่าในไทยแน่นอน โดยในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น"
เช่นเดียวกับ นายสุรัตน์ ตันติจิรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีน่า เฮาส์ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า จากปัญหาค่าแรงแพง ทำให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมการ์เมนต์ในไทยประสบกับความยากลำบาก เนื่องจากยอดการสั่งผลิตได้หันไปหาประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าอย่าง จีน พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ทำให้โรงงานบางส่วนที่เคยรับออร์เดอร์การผลิตจากต่างประเทศที่สู้ค่าแรงไม่ไหวปิดตัวไปจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในฐานะที่บริษัทวางตำแหน่งตัวเองเป็นธุรกิจค้าปลีกแฟชั่น จึงต้องปรับตัวด้วยการเลือกหาแหล่งผลิตที่ต้นทุนต่ำอย่างจีนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนของสินค้าที่ผลิตจากประเทศจีน 60-70% ไทย 40-30% และบางส่วนจากเวียดนาม ซึ่งทำให้สินค้ามีต้นทุนถูกกว่าการผลิตในประเทศ 20%
"ที่ผ่านมาได้มีกลุ่มผู้ผลิตในประเทศไทยชักชวนให้ไปใช้ฐานการผลิตที่พม่าและกัมพูชา ที่เริ่มเปิดประเทศมากขึ้น และมีค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย แต่บริษัทยังมองเรื่องความพร้อมด้านอื่นอย่างความหลากหลายของวัตถุดิบ และการพัฒนาของฝีมือแรงงานที่ยังไม่พร้อมเท่าประเทศจีน อย่างไรก็ตามการเข้าไปใช้แหล่งผลิตที่พม่า และกัมพูชา ก็ยังถือเป็นตัวเลือกหนึ่งซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษา และรอจังหวะอย่างค่อยเป็นค่อยไป"
สอดคล้องกับ นายดนัย ดีโรจนวงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) ผู้ดำเนินธุรกิจขายตรง "มิสทิน" เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำหรับการขยายตลาดต่างประเทศเป็นการร่วมมือกับเครือสหพัฒน์ เพื่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องสำอางในประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนการผลิต
ด้านนายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิชิเวิร์ล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายของเล่นจากไม้รายใหญ่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทปรับตัวด้วยการจ้างผลิตในต่างประเทศมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสัดส่วน 30% อีก 70% ผลิตในประเทศ แต่ปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนจ้างผลิตให้มากขึ้นเป็น 50% คาดว่าจะทำได้ภายในปี 2557 เพื่อรับมือกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น โดยประเทศหลักที่จ้างผลิตคือ เวียดนาม รวมถึงการกระจายความเสี่ยง ด้วยการทำธุรกิจทั้งในรูปแบบของการนำเข้าและส่งออก ปัจจุบันมีสัดส่วน 50:50
"ปัญหาต้นทุนทำให้บริษัทที่ส่งออกต้องปรับตัว ถ้าเป็นสินค้าที่ไม่มีแบรนด์อาจจะใช้วิธีย้ายฐานการผลิต แต่สินค้าที่มีแบรนด์จะใช้วิธีจ้างผลิต สำหรับบริษัทยังคงรักษาฐานการผลิตในประเทศไว้ แต่ขนาดจะเล็กลงและเพิ่มน้ำหนักการจ้างผลิตในต่างประเทศให้มากขึ้น"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น