วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

“เซ็ปเป้” โชว์แผนตลาดปี 56 ชูจุดขาย 52 ล้านขวดข่มคู่แข่ง


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 เมษายน 2556 19:03 น.


ที่มา http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000049947
อดิศักดิ์ รักอริยะพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรัพย์อนันต์ เยนเนอรัลฟู้ด จำกัด เจ้าตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริ้งก์ภายใต้แบรนด์ "เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์" เปิดเผยแผนธุรกิจ-การตลาด ประจำปี 2556 พร้อมเปิดตัวภาพยนต์โฆษณาชุดใหม่ที่จะเริ่มออกอากาศในวันที่ 25 เม.ย.ศกนี้
       เจ้าตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ คาดแนวโน้มตลาดปี 56 โตต่อเนื่อง 20% เน้นทำตลาดด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์มากกว่าการจัดโปรโมชัน เตรียมลงทุน 100 ล้านบาทเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมขยายตลาดอินโดนีเซีย เผยใช้งบฯ การตลาดขั้นต่ำ 150 ล้านบาทในแคมเปญต่างๆ หวังเร่งยอดขาย 2 พันล้านบาท หลังประสบความเร็จด้วยยอดขาย 52 ล้านขวดต่อปี
     
       นายอดิศักดิ์ รักอริยะพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรัพย์อนันต์ เยนเนอรัลฟู้ด จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทั้งหมด 6 แบรนด์มุ่งเจาะตลาดใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มฟังก์ชันนัลดริงก์ ได้แก่ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงามภายใต้แบรนด์ “เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์” และเครี่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีวิตามินและแร่ธาตุสูงสำหรับคนเมืองและคนทำงานที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและต้องการดูแลตัวเอง แบรนด์ “เซ็ปเป้ สมา-ที ดริ้งค์” 2. กลุ่มอาหารเสริม คือ แบรนด์ “เซนต์ แอนนา” ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในรูปแบบชอต 3. กลุ่มน้ำผักผลไม้ ประกอบด้วย แบรนด์ “เซ็ปเป้ ฟอร์ วันเดย์” น้ำผักผลไม้เข้มข้น 100% สำหรับคนรักสุขภาพ และ “โมกุ โมกุ” น้ำผลไม้ผสมวุ้นมะพร้าวรายแรกของโลก 4. กลุ่มผลิตภัณฑ์รูปแบบผง ประกอบด้วยกาแฟและผงคลอโรฟิลล์ชั้นดีนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ “เพรียว คอฟฟี่” และ “เพรียว คลอโรฟิลล์”
     
       “ในปี 2555 บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานในอัตราที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง สามารถทำยอดขายรวมทั้งหมดเป็นมูลค่ากว่า 1.8 พันล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ยังมีอัตราการเติบโตกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้ตลอดทั้งปี 2556 คิดเป็นมูลค่าประมาณ2 พันล้านบาท ส่วนที่มาของรายได้ทั้งหมดนั้นแยกเป็นรายได้จากกลุ่มฟังก์ชันนอลดริ้งค์ประมาณ 700 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์รูปแบบผง ประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มอาหารเสริมและกลุ่มน้ำผักผลไม้ รวมถึงการทำตลาดส่งออกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของรายได้ทั้งหมด”
     
       สำหรับแผนธุรกิจประจำปี 2556 นั้น บริษัทเตรียมงบประมาณ 100 ล้านบาทเพื่อใช้ในการลงทุนด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มไลน์การผลิตเป็น 420 ล้านขวดต่อปี พร้อมเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่วงไตรมาสที่สองของปี รวมถึงเร่งทำตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีจำหน่ายกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยล่าสุดได้ร่วมทุนก่อตั้งบริษัทจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซ็ปเป้ในประเทศอินโดนีเซีย เพิ่มเติมจากที่เคยมีบริษัทและโรงงานผลิตในประเทศสโลวาเกีย
     
       “เหตุผลที่เลือกทำตลาดในประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเรามีข้อได้เปรียบในฐานะที่เคยทดลองทำตลาดมาก่อน ประกอบกับมีผู้ร่วมทุนที่ดี รวมถึงจุดเด่นในเรื่องของขนาดตลาดและจำนวนประชากรที่มีสูงกว่า 200 ล้านคน ซึ่งถ้าหากเราสามารถทำตลาดในประเทศอินโดนีเซียได้ประสบความสำเร็จ ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนต่อไป”



       บริษัทยังมีแผนธุรกิจสำคัญที่เริ่มดำเนินการแล้วคือการใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทจากงบประมาณการตลาดรวม 150 ล้านบาทเพื่อใช้ในการเดินหน้าขยายตลาดเฉพาะในส่วนของเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “เซ็ปเป้” สามารถครองยอดขายเป็นอันดับ 1 ในตลาดรวมติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยสัดส่วนประมาณ 56% โดยมั่นใจว่าตลาดยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากปีก่อนประมาณ 20% เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพและความสวยงามมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการที่มีสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายรวมมีการขยายตัวสูงขึ้นตามไปด้วยโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้ชาย
     
       หนึ่งในแผนการรุกตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ คือ การใช้งบประมาณขั้นต่ำ 50 ล้านบาทในการเปิดตัว 5 พรีเซ็นเตอร์พร้อมภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ “สถิติความสวย” เพื่อสื่อสารและตอกย้ำความเป็นผู้นำของตลาดด้วยยอดขายมากกว่า 52 ล้านขวดในปี 2555 โดยจะเริ่มออกอากาศครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.ศกนี้เป็นต้นไป นอกจากนั้นบริษัทยังจะมีการใช้กลยุทธ์ทางการสื่อสารใหม่ๆ อาทิ การตลาดแบบออนไลน์มากขึ้นเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้สื่อสมัยใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงาน รวมถึงกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการความสวยดูดีในแบบของตัวเองที่มีช่วงอายุระหว่าง 18-35 ปี
     
       นายอดิศักดิ์กล่าวด้วยว่า ตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ไทยมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งยังมีพัฒนาการที่หลากหลายและมีความโดดเด่นสูงเทียบชั้นกับประเทศญี่ปุ่นและมากกว่าทุกประเทศในยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้สินค้าของทุกแบรนด์ในตลาดจึงจำเป็นต้องปรับแผนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตลาดมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาคุณภาพและรสชาติของผลิตภัณฑ์
     
       “สำหรับแบรนด์เซ็ปเป้จะเน้นทำตลาดในลักษณะ Brand Image มากกว่าการจัดโปรโมชั่นแรงๆ ซึ่งอาจมีผลให้ตลาดมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงเน้นกลยุทธ์ในเรื่องของการพยายามเจาะช่องว่างใหม่ๆ ทางการตลาดเพื่อคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าด้วยการดื่มแล้วสามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจน”
     
       ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องโดยร่วมออกบูธในงานมหกรรมต่างๆ อาทิ การร่วมออกบูธแสดงสินค้าในงาน THAIFEX WORLD OF FOOD ASIA 2013 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันที่ 22-26 พ.ค.ศกนี้

โฟร์โมสต์หวังเพิ่มแชร์ถึง55%



วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2013 เวลา 14:01 น.
กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
ที่มา http://www.thanonline.com/index.php?option
"โฟร์โมสต์" อัดงบ 500 ล้าน หวังเพิ่มแชร์เป็น 55% จากตลาดนม 6 หมื่นล้าน ดึง "ณเดชน์"เป็นพรีเซนเตอร์ขยายฐานแฟนคลับ พร้อมเปลี่ยนโลโกมีตราฉลากเขียวกรกฎาคมนี้

ชนินทร์ อรรจนานันท์    นายชนินทร์ อรรจนานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  ผู้ผลิตและจำหน่ายนมพร้อมดื่มภายใต้แบรนด์ "โฟร์โมสต์" เปิดเผยว่า  บริษัทมีเตรียมใช้งบประมาณทำการตลาด 500 ล้านบาท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์  พร้อมกับการกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่หันมาดื่มนมเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่สถิติการดื่มนมของคนไทยเพียง 14 ลิตรต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ย 1 กล่องต่อคนต่อสัปดาห์ แตกต่างจากยุโรปที่มีอัตราการบริโภคสูงถึง 103 ลิตรต่อคนต่อปี   ซึ่งสินค้าหลักที่บริษัทจะเน้นในปีนี้ ได้แก่  กลุ่มนมพร้อมดื่มและนมพาสเจอไรซ์  โดยใช้พรีเซนเตอร์อาทิ ณเดชน์ คูมิยะ ในการดึงเอาแฟนคลับมาเป็นแฟนของแบรนด์ ผ่านช่องทางออนไลน์ในการร่วมสนุกต่างๆ โดยที่ผ่านมามีการออกแคมเปญ "Milk Bump" ชนนมผ่านสมาร์ทโฟนกันนะวัยรุ่น เพื่อเป็นการกระตุ้นอีกช่องทางหนึ่ง
โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 10%  จากปีที่ผ่านมาทำรายได้ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 50%  คาดว่าจะเพิ่มเป็น 55% ในสิ้นปี  จากมูลค่าตลาดรวมทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านบาท  เติบโต 9%  และปีนี้มั่นใจว่าจากการกระตุ้นตลาดดังกล่าวของบริษัทจะส่งให้มูลค่าตลาดรวมเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก
    นายชนินทร์  กล่าวอีกว่า ด้านโรงงานผลิตบริษัทเตรียมลงทุน 400 ล้านบาท  แบ่งเป็น 4 เฟส  โดยจะลงทุนทางด้านการประหยัดพลังงานใช้งบ 100 ล้านบาท และอีก 300 ล้านบาท จะเป็นการทยอยลงทุนในอีก 3 ปีที่เหลือ  เพื่อใช้สร้างจุดแข็งในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน  ซึ่งโรงงาน 2 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในย่านหลักสี่และสำโรง  ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) จากกระทรวงอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา  ซึ่งบริษัทเตรียมทยอยปรับเปลี่ยนฉลากผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ทุกประเภทเพื่อให้มีตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียวในเดือนกรกฎาคมนี้  พร้อมกันนี้ได้วาง 4 แนวทางในการทำตลาด  ได้แก่  1.การส่งเสริมสุขภาพและภาวะโภชนาการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดื่มนมและให้ความรู้ในด้านโภชนาการจากนมแก่ผู้บริโภค 2. การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน เป็นการจัดการกระบวนการผลิตนมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   3.การบริหารจัดการฟาร์มโคนม ที่บริษัทรับซื้อเพื่อสร้างคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น  และ 4. การพัฒนาฟาร์มโคนมอย่างยั่งยืน

 จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,826  วันที่  14 - 16  มีนาคม พ.ศ. 2556

เปิดฉากแล้ว ศึกชิงมาร์เก็ตติ้ง


 อนุรักษ์ กอเซ็ม
กระจกไร้เงา 28 February 2556 - 00:00
LINK http://www.thaipost.net/news/280213/70208
  ดัชนีหุ้นไทยเปิดฉากการลงทุนได้อย่างสวยงาม ภายใน 2 เดือนแรกดัชนีหุ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปี แม้ว่าจะไม่ทุบสถิติเดิมที่เคยไปสูงถึง 1,700 จุดก็ตาม แต่ข้อมูลด้านอื่นสามารถสร้างสถิติสูงสุดอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน อาทิ มูลค่าการซื้อขายต่อวันเฉลี่ยกว่า 5 หมื่นล้านบาท และดันให้มูลค่าตลาดรวม หรือมาร์เก็ตแคป แตะระดับ 12 ล้านล้านบาท
    ในแง่ของจำนวนผู้ลงทุนมีการเพิ่มขึ้น จนขณะนี้มีบัญชีซื้อขายเกือบ 900,000 บัญชี ด้วยจำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่การตลาด หรือมาร์เก็ตติ้ง ทำงานมือเป็นระวิง ความสำคัญของมาร์เก็ตติ้งไม่ได้ถูกลดทอนลง แม้ว่าขณะนี้นักลงทุนจะนิยมซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จนมีสัดส่วน 50% ของการซื้อขายในส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยก็ตาม
    "มาร์เก็ตติ้ง" ครั้งหนึ่งสมัยหนึ่งเคยถูกเรียกขานว่าเป็น “มนุษย์ทองคำ” ยิ่งในภาวะตลาดหุ้นบูม ศึกแย่งชิงมาร์เก็ตติ้งเข้าขั้นดุเดือด ในช่วงปีที่ผ่านมาข่าวการแย่งชิงมาร์เก็ตติ้งอาจไม่ได้แรงมากนัก เพราะเป็นปีแรกของการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ ทุกคนต่างอยู่ในฐานที่มั่นหมดแล้ว และข้อสำคัญทุกคนต่างอิ่มเอมกับตลาดหุ้นอยู่ในสภาวะกระทิงเปลี่ยว ทำให้ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด อยู่เฉยๆ อาหารก็ป้อนถึงปาก
    หากทว่าอะไรๆ ที่เคยสงบ ก็กลับปะทุขึ้นมาใหม่ ศึกชิงมาร์เก็ตติ้งที่ห่างหายไปช่วงหนึ่งก็กลับมาร้อนระอุ ที่สะเทือนวงการและเป็นข่าวในช่วงนี้ ก็คือกรณีที่ นายสมชาย กาญจนเพชรรัตน์ ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เคที ซิมีโก้ ไปเป็นกรรมการผู้จัดการของ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)
    นั่นคือสัญญาณของการแย่งชิงมาร์เก็ตติ้งที่กำลังจะกลับมาพร้อมๆ กับการบูมของตลาดครั้งใหม่ ที่ไม่มีใครจะรู้หัวหรือก้อย ว่าจะทะยานไปไกลได้แค่ไหน อย่างไรก็ตาม มีบริษัทหลักทรัพย์ที่เพิ่งซื้อใบอนุญาตและเริ่มรุกธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย พากันกระโจนเข้ามาสู่สมรภูมิของการแข่งขัน เพื่อชิงส่วนแบ่งทางตลาด และมีหลายค่ายที่เลือกใช้วิธีซื้อตัวมาร์เก็ตติ้ง เพื่อเป็นทางลัดในการชิงส่วนแบ่งทางการตลาด
    แม้ว่าทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จะออกมาให้ข่าวว่า ทางสมาคมไม่กังวล และไม่จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการใดๆ ออกมาในเรื่องของการย้ายงานของมาร์เก็ตติ้ง เพราะทางสมาคมมองว่า การย้ายงานเป็นเรื่องของแต่ละคนที่สามารถทำได้
    แต่ทั้งนี้ก็ต้องจับตาให้ดีว่าถ้ามีการชิงมาร์เก็ตติ้งกันหนักข้อกว่านี้ ทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จะออกมามีมาตรการใดบ้างหรือไม่ เพราะมีบริษัทหลักทรัพย์หลายรายที่เพิ่งได้ใบอนุญาตและกำลังจะรุกตลาด ที่เห็นๆ กันอยู่ตอนนี้ก็มี บล.โอเอสเค (ประเทศไทย) และ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)
    อย่างไรก็ตาม เกมการแข่งขันและชิงตัวมาร์เก็ตติ้งที่กำลังระอุนี้ ก็เป็นไปตามความร้อนแรงของตลาด ถ้าดัชนีปรับตัวลงมาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันไม่ได้สูงอย่างตอนนี้ ศึกชิงมาร์เก็ตติ้งอาจกลายเป็นศึกแข่งกันปลดมาร์เก็ตติ้งก็ได้ ซึ่งนี่เป็นข้อสมมุติ เพราะเอาเข้าจริง ก็ไม่มีใครรู้ได้หรอกว่าตลาดหุ้นจะบูมอย่างนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณ หรือควันไฟ เกมการชิงมาร์เก็ตติงก็คงระอุไปอีกนาน
    ที่ไหนมีความพร้อมในแง่ของโอกาสและผลตอบแทนที่ดีกว่า ก็จะได้เปรียบ
    จับตาดูกันให้ดีเถอะ ศึกชิงมาร์เก็ตติ้งครั้งนี้คงมีสีสันให้ได้ติดตามกันอย่างสนุก และบทสรุปที่ออกมาจะเป็นรูปแบบไหนก็ไม่สำคัญในฐานะคนดู
    นี่ก็คืออีกหนึ่งมิติของตลาดหุ้นไทยในภาวะที่ตลาดบูมสุดขีดเท่านั้นเอง.

เจาะกลยุทธ์ "ยามาฮ่า" ชู "3S" ลุยตลาดมอเตอร์ไซค์เมืองไทย


updated: 19 ก.พ. 2556 เวลา 11:15:16 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ตลาดหนึ่งในภูมิภาคนี้ เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเอื้ออำนวย โดยเฉพาะทางด้านภูมิศาสตร์ ประเทศไทยมีประชากรกว่า 65 ล้านคน มีพื้นที่เป็นที่ราบเป็นส่วนใหญ่ แต่เส้นทางคมนาคมยังพัฒนาไม่ทั่วถึง รถจักรยานยนต์จึงกลายเป็นพาหนะที่สะดวกที่สุด นอกจากนี้ในเขตเมือง เช่น กรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ ปัญหาการจราจรติดขัด ประชาชนจำนวนมากนิยมใช้รถจักรยานยนต์เพื่อความรวดเร็วในการเดินทาง
ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือปี 2545 มียอดจำหน่าย 1,332,744 มาถึงปี 2555 มียอดจำหน่าย 2 ล้านกว่าคัน หรือเติบโตเกือบ 100%

สำหรับตลาดประเทศไทย รถจักรยานยนต์ถูกผูกขาดโดยบริษัทญี่ปุ่น 4 ยี่ห้อ คือ ฮอนด้า, ยามาฮ่า, คาวาซากิ และซูซูกิ โดยเริ่มเข้ามาวางตลาดในประเทศไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ก่อนหน้านี้รถจักรยานยนต์ที่รู้จักกันส่วนใหญ่มาจาก ยุโรป ไม่ว่าจะเป็นไทรอัมพ์ หรือ บีเอ็มดับเบิลยู แต่ด้วยความที่ญี่ปุ่นมีราคาถูก พัฒนาสินค้าในรูปแบบใหม่หลากหลาย และมีขนาดเหมาะสมกับสรีระชาวไทย ทำให้ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

กว่า 24 ปีแล้ว ค่ายฮอนด้าครองตำแหน่งผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์ในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมียามาฮ่าเป็นอันดับ 2 แต่นับวันยอดขายก็เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีหลังๆ ยามาฮ่ามีสินค้าตัวใหม่มานำเสนอ โดยเฉพาะ ยามาฮ่า ฟีโน่ ช่วยกระตุ้นตลาดจักรยานยนต์ในประเทศไทยได้อย่างมาก

สำหรับปีนี้ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ชูกลยุทธ์หลัก ดู อินโนเวทีฟ (Do>>Innovative) รุกตลาดต่อเนื่อง วางเป้าหมายเติบโตเพิ่มขึ้น 12% ผ่านกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์การตลาด และกลยุทธ์เครือข่าย 3S ได้แก่ ด้านการขาย (Sales) การบริการ (Service) และอะไหล่ (Spare Part) ประกาศสร้างยอดขายเพิ่มจากเดิม 4.9 แสนคัน เป็น 5.5 แสนคัน และตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็นอย่างน้อย 25%

นายประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด บอกว่า ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2012 น่าจะมีอัตราการเติบโต 6% คิดเป็นยอดจดทะเบียนรวมประมาณ 2.13 ล้านคัน แบ่งเป็นสัดส่วนรถจักรยานยนต์ออโตเมติก 50% และรถจักรยานยนต์เกียร์ธรรมดา 50%

สำหรับปี 2012 บริษัทฯ มียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ภายใต้แบรนด์ยามาฮ่าอยู่ที่ 4.9 แสนคัน ถือเป็นสถิติสูงสุดของบริษัทฯ ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2011 

ในขณะที่ปี 2013 นี้ ยามาฮ่าคาดการณ์ว่าความต้องการของตลาดรวมรถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 2.2 ล้านคัน เติบโตขึ้น 3% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง และยามาฮ่าได้ตั้งเป้าหมายยอดขายไว้ที่ 5.5 แสนคัน หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 12% เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในทุกพื้นที่ โดยกำหนดนโยบายที่จะทำการตลาดเชิงรุกภายใต้กลยุทธ์ "Do>> Innovative"

นายประพันธ์ยังบอกอีกว่า กลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของยามาฮ่าประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.การเพิ่มสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงเข้าสู่ตลาด ด้วยเทคโนโลยีหัวฉีด ประหยัดน้ำมันและดีไซน์ที่แตกต่างทั้งรถจักรยานยนต์เกียร์ออโตเมติกและรถจักรยานยนต์เกียร์ธรรมดา ตั้งเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 40% สำหรับรถจักรยานยนต์เกียร์ออโตเมติก และมากกว่า 12% สำหรับรถจักรยานยนต์เกียร์ธรรมดา ภายในสิ้นปี 2013

2.สร้างสรรค์กิจกรรมภายใต้แคมเปญ "Do>>Innovative" เพื่อเสริมภาพลักษณ์ตราสินค้ายามาฮ่าอย่างต่อเนื่อง เน้นกิจกรรมการตลาดเชิงไลฟ์สไตล์ มาร์เก็ตติ้ง สร้างสรรค์และเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า 

3.ขยายโชว์รูมยามาฮ่าสแควร์ และปรับปรุงศูนย์บริการรูปแบบใหม่ รวมถึงสร้างประสิทธิภาพเครือข่ายด้านการขาย การบริการและอะไหล่ของผู้จำหน่ายแบบครบวงจร

"ในปีนี้บริษัทฯ มีกลยุทธ์การเพิ่มศักยภาพของสินค้าให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ทุกเซกเมนต์ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่มีความทันสมัย โดยเฉพาะจุดเด่นในเรื่องการประหยัดน้ำมัน ถือเป็นจุดแข็งของยามาฮ่า รวมถึงการพัฒนารูปแบบการดีไซน์ที่ให้ความแตกต่างเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคตามเทรนด์ของปี" นายประพันธ์กล่าวเสริม

นอกจากนี้ ยามาฮ่าพร้อมเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั่วประเทศโดยการสร้างสรรค์กิจกรรมการตลาดผ่านกลยุทธ์ที่ดำเนินมาต่อเนื่อง อาทิ กลยุทธ์สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง และกลยุทธ์มิวสิก มาร์เก็ตติ้ง และการจัดกิจกรรมยามาฮ่าคลับ กิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ รวมถึงการส่งเสริมการขายร่วมกับผู้จำหน่ายมากกว่า 4,500 ครั้งต่อปี 

สำหรับการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านเครือข่ายบริการ และอะไหล่ (3S) นั้นถือเป็นหัวใจในการสร้างความพึงพอใจของลูกค้า ในส่วนของการขายจะเพิ่มเครือข่ายยามาฮ่าสแควร์ (YSQ) เป็นจำนวน 666 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น (Application) รูปแบบใหม่สำหรับใช้กับไอแพด เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงของกลุ่มลูกค้า นอกจากนั้นยังมุ่งขยายตลาดผ่านช่องทางการขายแบบใหม่และการพัฒนาธุรกิจรถจักรยานยนต์มือสองอย่างต่อเนื่อง

ส่วนด้านการบริการหลังการขาย จะปรับปรุงศูนย์บริการรูปแบบใหม่ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น และขยายจำนวนศูนย์ซ่อมบำรุงหัวฉีด (YiS : Yamaha Innovative Service) ถือว่าเป็นศูนย์บริการที่มีอุปกรณ์การตรวจเช็กระบบหัวฉีดที่ทันสมัยที่สุด นอกจากนั้นจะเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าผ่านโครงการบริการส่งอะไหล่เร่งด่วนภายใน 48 ชม. การรับประกันคุณภาพอะไหล่แท้และอะไหล่ตกแต่ง รวมถึงการเพิ่มการบริการ คอลเซ็นเตอร์ สำหรับอะไหล่

ด้วยกลยุทธ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ บริษัทฯ มีความมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้า สร้างความแข็งแกร่งให้ตราสินค้า และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
 

ยุทธศาสตร์ใหม่เบียร์สิงห์


carlberg Asia_market
ยุทธศาสตร์ใหม่เบียร์สิงห์
Posted 19/03/2013
link http://viratts.wordpress.com/2013/03/19/singhax/

เรื่องของเบียร์มีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด  แต่สำหรับบุญรอดบริวเวอรีเจ้าของ”เบียร์สิงห์”ที่อยู่ในธุรกิจอย่างโฟกัสมาตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัฐไทยเมื่อ 80ปี   ย่อมเข้าใจได้ดีกว่าใครๆ
เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเบียร์สิงห์ กับ Carlsberg มีหลายมุมที่ควรมอง แต่ไม่ว่าจะเป็นมุมไหน ล้วนสะท้อนสถานการณ์ธุรกิจที่มีความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในเมืองไทยและภูมิภาค

“Carlsberg secures Thailand comeback with Singha deal” (ReutersFri Sep 28, 2012)

“สิงห์”ผนึก”คาร์ลสเบอร์ก” ล้มไฮเนเก้น ลั่น5ปีแชมป์เบียร์พรีเมียมในไทย” (มติชนออนไลน์ 14 กุมภาพันธ์ 2556)

สองข่าวข้างต้นมีสาระเหมือนกัน แต่มีขึ้นในต่างวาระ ย่อมมีความหมายบางอย่างที่แตกต่างกันไป

ครั้งแรก—เป็นการแถลงข่าวจาก Copenhagen ฐานของ Carlsberg แต่มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ก่อนหน้าเพียงสัปดาห์เดียว นั้นคือดีลสำคัญระหว่าง Heineken กับ Asia Pacific Breweries  ซึ่งมีความหมายสำคัญมากสำหรับ Heineken ในความพยายามควบคุมตลาดเบียร์ในภูมิภาคให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยสามารถเข้าถือหุ้นใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จใน Asia Pacific Breweries ถือเป็นบทสรุปต่อเนื่องจากดีลที่ใหญ่กว่า –ดีลไทยเบฟฯกับ Fraser & Neave

แต่เดิม  Fraser & Neave ถือหุ้นร่วมกันกับ Heinekenใน Asia Pacific Breweries   หากไทยเบฟฯของเจริญ สิริวัฒนภักดี สามารถครอบครอง Fraser & Neave ได้ทั้งหมด เขาก็จะมีเครือข่ายธุรกิจระดับภูมิภาคอย่างสำคัญ แต่เมื่อเผชิญการต่อสู้โดยตรงกับHeineken เรื่องจึงไม่ง่าย   ในกระบวนการเจรจาต่อรองทางธุรกิจ  ไทยเบฟฯยอมให้ Fraser & Neave ขายหุ้นใน Asia Pacific Breweriesให้ Heineken   แลกเปลี่ยนกับ Heineken ไม่เสนอตัวแย่งชิง Fraser & Neave กับไทยเบฟฯ    ดีลใหญ่ จึงจบลงด้วย win-win game

สำหรับไทยเบฟฯ ซึ่งมีเพียงแบรนด์หลัก—เบียร์ช้าง ก็คงเสียดายไม่น้อย เพราะAsia Pacific Breweries เป็นเครือข่ายธุรกิจเบียร์ที่ใหญ่มากๆในระดับภูมิภาค นอกจากผลิตแบรนด์ Heinekenแล้ว ยังผลิตแบรนด์ท้องถิ่นที่สำคัญอีกหลายแบรนด์ รวมทั้งแบรนด์ Tiger ด้วย

แม้ว่าทั้ง Carlsberg  และ Heineken เป็นเบียร์สัญชาติเดมนมาร์กด้วยกัน แต่ก็ถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดกันด้วย  โดยเฉพาะทั้งสองประเมินสถานการณ์เหมือนกันว่า ตลาดเบียร์ในโลกตะวันตกได้อิ่มตัวแล้ว  ขณะที่ตลาดในภูมิภาคเอเชียกำลังเติบโต    แม้ว่าทั้งคู่มีเครือข่ายธุรกิจเบียร์ในภูมิภาคนี้มากกว่าเบียร์ระดับโลกรายอื่นมาก่อนหน้าแล้ว  แต่ยังพยายามแสดงบทบาทในฐานะผู้นำตลาดที่มียุทธศาสตร์เชิงรุกอย่างเข้มข้นมากทีเดียว  ว่าไปแล้วเป็นสัญญาณใหม่ เกิดขึ้นจากสถานการณ์ใหม่  ระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคทีกำลังปรับเปลี่ยนและหลอมรวมครั้งใหญ่  เมื่อAECเกิดขึ้น มีบทสรุปหนึ่งที่แน่ชัด  ตลาดในภูมิภาคจะรวมกันเป็นตลาดใหญ่ๆแห่งหนึ่งในโลก และปฎิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญอย่างมากต่อAECในภาพรวม

ครั้งที่สอง—การแถลงข่าวต้นปี 2556 โดยเบียร์สิงห์ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ ย่อมสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ใหม่อย่างแท้จริงของธุรกิจเบียร์เก่าแก่ของไทย

โดยเนื้อหาหลักของการแถลงข่าวเบียร์สิงห์แสดงความมั่นใจในแผนการนำ Carlsberg  เข้าสู่ตลาดไทยอย่างจริงจังอีกครั้ง ในฐานะเป็น Distribution Company ให้ Carlsberg   และในฐานะเบียร์สิงห์มีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับเบียร์ท้องถิ่นมากที่สุดในประเทศไทย    การเพิ่มสินค้าเบียร์ในฐานะPremium beer ถือเป็นแผนการตลาดที่มีความเป็นไปได้ “ผลักดันให้ยอดขายให้อยู่ที่ 35 ล้านลิตร และก้าวสู่การเป็นเบอร์ 1 ในตลาดเบียร์พรีเมียมของไทย และก้าวขึ้นสู่การเป็นเบอร์ 3 ของตลาดโลกในด้านยอดขาย ภายในระยะ 5 ปี”  (จากข่าวมติชนที่อ้างถึงข้างต้น) ขณะที่เบียร์สิงห์เชื่อว่าจะบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ด้วยขยายกิจการในเมืองไทยให้เติบโตมากขึ้น  โดยมีสินค้าหลากหลายครอบคลุมเซ็คเม้นท์ต่างๆตลาดเบียร์ในเมืองไทยมากที่สุด

ว่าไปแล้วตลาดเบียร์ระดับPremiumในเมืองไทยมีการแข่งขันไม่มากนัก โดยมี Heineken เป็นเจ้าตลาดในฐานะเข้ามาลงทุนตั้งแต่ปี2538 ด้วยร่วมทุนกับกลุ่มไทยประกันชีวิตและกลุ่มไทยน้ำทิพย์(ผู้ผลิตและจำหน่าย Coke)

สถานการณ์โดยรวมในปัจจุบัน เบียร์สิงห์ อยู่ในช่วงที่ดีมากช่วงหนึ่งในรอบ80ปีก็ว่าได้  จากยุคผูกขาดตลอด60ปีแรก   มาเผชิญสถานการณ์สั่นไหวอย่างรุนแรงในช่วงประมาณปี 2535-6เป็นต้นมา  เมื่อมีการเปิดเสรี  ยุคการต่อสู้อันเข้มข้นกับกลุ่มทีซีซีของเจริญ สิริวัฒนภักดี(หรือไทยเบฟฯในปัจจุบัน)จึงเริ่มขึ้น  ประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลืม คือเจริญเคยใช้ Carlsberg เป็นหัวหอกในการต่อสู้กับเบียร์สิงห์ในระยะแรกๆ  ก่อนที่Carlsberg  จะได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดแล้วถอนตัวไป   ในช่วงนั้นเบียร์สิงห์ต้องสูญเสียฐานะผู้นำตลาดไประยะหนึ่ง ก่อนที่จะเรียนรู้และปรับตัวการกลับมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้เอง

สถานการณ์ล่าสุด นอกจากสะท้อนให้เห็นว่า องค์กรธุรกิจเก่าแก่อย่างบุญรอดบริวเวอรี่ ก็สามารถปรับตัวได้   ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างไทยเบฟฯ  อยู่ในช่วงพยายามผลักดันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจที่มีฐานกว้างกว่าเดิม ย่อมเสียสมดุลบางระดับในธุรกิจเบียร์   เบียร์สิงห์ในฐานะที่ดำเนินธุรกิจอย่างโฟกัส ย่อมอยู่ในตำแหน่งทีดี

แต่เบียร์สิงห์ก็มีปัญหาหนึ่งที่สำคัญซ่อนอยู่   คือการขยายตลาดต่างประเทศเป็นไปอย่างจำกัด  แม้ว่าจะเริ่มต้นส่งออกมาตั้งแต่ 3ทศวรรษที่แล้ว รวมทั้งตั้ง Boonrawd Trading International(ปี 2544) ดูแลตลาดโลกโดยตรง ไม่เพียงเบียร์สิงห์ยังไม่สามารถเป็นแบรนด์ระดับโลก อย่าง“Red bull” ได้เท่านั้น การเกิดขึ้นของAEC เป็นสถานการณ์ใหม่ที่เพิ่มแรงกดดันอย่างมากทีเดียว   จากยุทธศาสตร์ที่มองข้ามตลาดเพื่อนบ้านไปอย่างไม่น่าเชื่อ

“การมีพันธมิตรที่ดีจะทำให้แบรนด์สินค้าของไทยเติบโตในตลาด เพราะสามารถรุกตลาดได้ทันที โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนที่จะมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่จะมีฐานผู้บริโภคมากกว่า 600 ล้านคน ซึ่งจะทำให้เบียร์สิงห์บรรลุเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นแบรนด์อันดับ3 ของภูมิภาคเอเชีย จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 5-6 ของภูมิภาคนี้” ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการบริหาร บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์กว้างๆของเบียร์สิงห์ ในการแถลงข่าวครั้งนั้น  แต่เป็นรู้กันดีว่า เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่สำคัญมาก( อ้างแล้ว)

“ปีนี้สิงห์จะเน้นการบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยจะให้ความสำคัญกับตลาด AEC เป็นหลัก โดยการผนึกกำลัง Carlsberg ที่มีความแข็งแกร่งในตลาดเอเชีย ทั้งในแง่โรงงานที่เป็นฐานการผลิต 8 โรงงาน ในลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย รวมทั้งเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมในหลายประเทศ” ปิติ ภิรมย์ภักดี ให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง (ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 6 มีนาคม2556)

เมื่อท่านผู้อ่านพิจารณาแผนภูมิประกอบบทความซึ่งเป็นข้อมูลของ Carlsberg เอง (http://www.carlsberggroup.com) ก็คงข้าใจยุทธศาสตร์ใหม่ของเบียร์สิงห์ได้กระจ่างขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ฐานะผู้นำตลาดเบียร์ในเมืองไทยของเบียร์สิงห์ มีคุณค่าสามารถแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายอันกว้างขวางภูมิภาคของCarlsberg

ตลาดเบียร์ใน AECกำลังโหมโรงกันอย่างคึกคึก   ดูเหมือนเบียร์สิงห์ได้พยายามก้าวขึ้นรถด่วนสายนี้ได้สำเร็จขั้นต้นแล้ว

แนวโน้มตลาดสีทาอาคารอาเซียนพุ่ง TOAเดินหน้าขยายฐานการผลิต


วันศุกร์ ที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556, 06.00 น.
ที่มาhttp://www.naewna.com/business/39852
แนวโน้มตลาดสีทาอาคารอาเซียนพุ่ง TOAเดินหน้าขยายฐานการผลิตหวังมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้น1%ทุกปี

นายพงษ์เชิด จามีกรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดสีทาอาคารปี 2555 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 19,000 ล้านบาท เติบโต 12% เมื่อเทียบกับปี 2554 โดยแบ่งเป็นตลาดระดับบน 26% ,ระดับบน(พิเศษ) 23% ,ระดับกลาง 31% และระดับล่าง 20% ทั้งนี้ทีโอเอมีส่วนแบ่งตลาดระดับบน 50% ,ระดับบน(พิเศษ) 23%, ระดับกลาง 62% และระดับล่าง 26% โดยขณะที่สีน้ำทาอาคารของทีโอเอมีส่วนแบ่งที่ 47% คิดเป็นยอดขายในปี 2555 อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท เติบโต 20% ทั้งนี้ยอดขายรวมของทีโอเอในทุกประเภทจะอยู่ที่ 15,500 ล้านบาท เติบโต 20% สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 14,000 ล้านบาท

โดยในปี 2555 ทีโอเอได้มุ่งเน้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะสีเพื่อการตกแต่ง (Decorative) ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และการขยายการเพิ่มเครื่องผสมสีระบบคอมพิวเตอร์ “TOA Color World” ไปในตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวนรวมมากกว่า 2,200 เครื่อง

นอกจากนี้ด้านการตลาดและการขาย ได้ผนวกความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพ ตอกย้ำแบรนด์ทีโอเอในฐานะผู้นำนวัตกรรมและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อครองใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในระยะยาว พร้อมทั้งยังมีการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่วนด้านช่องทางจัดจำหน่าย ได้ขยายเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น โดยในปี 2556 ทีโอเอตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 18,600 ล้านบาท เติบโต 20%

ทั้งนี้เป้าหมายการเติบโตในปี 2556 บริษัทต้องการให้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น 1% ทุกปี เพื่อก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดสีงานไม้และผู้นำในเคมีภัณฑ์และสีอุตสาหกรรม ตลอดจนต้องการเป็นผู้นำตลาดสีน้ำในอินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย โดยมีส่วนแบ่งตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเป็น 14% จาก 12% ในปี 2555 กลยุทธ์ที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว คือ พัฒนาความได้เปรียบใหม่ๆในการแข่งขัน และนำความได้เปรียบในการแข่งขันที่มีอยู่แล้วมาใช้ เช่น แบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก เครือข่ายร้านค้าที่มีจำนวนมากและครอบคลุม ความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในตลาดที่ไม่ใช่การตกแต่งมากขึ้น โดยจะเน้นตลาดสีงานไม้ เคมีภัณฑ์ สีอุตสาหกรรม และตลาดต่างประเทศ

นายมนัส เพ็ชรบัวศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานการผลิต บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทีโอเอจะมุ่งเน้นการผลิตสินค้าให้ง่ายและจัดส่งสินค้าเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการผลิตสีทาอาคารจะผลิตที่ทีโอเอ บางนาตราด กม. 23 เป็นหลัก เพราะเป็นโรงงานผลิตสินค้าที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน ควบคุมการผลิตด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทุกขั้นตอน และเป็นการผลิตในระบบปิด ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้เร็วขึ้นกว่าเดิมกว่า 50%

ในส่วนของการลงทุนขยายกำลังการผลิตและพัฒนาสินค้าในอาเซียนนั้น ปัจจุบันทีโอเอมีโรงงานผลิตสีในเวียดนาม ลาว มาเลเซีย และมีแผนที่จะขยายการลงทุนสร้างโรงงานในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น ล่าสุดสร้างโรงงานที่พม่า จะแล้วเสร็จไตรมาส 2 ปี 2556 จากนั้นจะขยายไปยังที่อื่นๆ เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจสีในตลาดอาเซียน

เปิดพอร์ต4หมื่นล."เอฟแอนด์เอ็น"ในไทย



link http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 11:11
จับตา "เอฟแอนด์เอ็น" ในไทย หลังกลุ่มเจริญฮุบแบบเบ็ดเสร็ด คาดรวมทุกเซกเม้นท์มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท

ใกล้รูดม่านปิดฉากดีลประวัติศาสตร์การซื้อขายกิจการใหญ่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กับปฏิบัติการฮุบบริษัทเฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) เพื่อรวบอำนาจบริหารแบบเบ็ดเสร็จโดยเจ้าพ่อน้ำเมา “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ยอมทุ่มเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้านบาท ในการขยายอาณาจักรธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในภูมิภาค

ทว่านับสัดส่วนหุ้นวันนี้ “เสี่ยเจริญ” กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเอฟแอนด์เอ็นเรียบร้อยแล้ว ถือครองหุ้นสัดส่วน 69% หลังคิรินโฮลดิ้งส์ ขายหุ้นทั้งหมดราว 15% ให้กับทีซีซีแอสเสท

สิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากเก้าอี้บริหารตกเป็นของเสี่ยเจริญ คือการวางหมากนำ "ผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม" รวมทั้ง "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ของเอฟแอนด์เอ็นมาเสริมพอร์ตทีซีซีกรุ๊ป เพราะต้องยอมรับว่าสินค้าที่มีอยู่ในบริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด หาใช่เป็นแบรนด์โนเนม หลายรายการอยู่ใน "ท็อปทรี" และบางรายการถือเป็น "ผู้นำตลาด" ด้วยซ้ำอย่างผลิตภัณฑ์นมสเตอริไลส์ตราหมี ผลิตภัณฑ์นมตราหมีโกลด์ ผลิตภัณฑ์นมข้นจืด และครีมเทียมข้นหวานพร่องไขมันตราคาร์เนชั่น เป็นต้น

ย้อนรอยไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เอฟแอนด์เอ็นได้เข้ามารุกธุรกิจในประเทศไทยเต็มตัว หลังเข้าซื้อกิจการในกลุ่มเครื่องดื่มของเนสท์เล่มาเสริมพอร์ตเมื่อปี 2550 ปูทางให้บริษัททยอยนำเข้าสินค้าจากเข้ามาบุกไทย พร้อมกับการลงทุนครั้งใหญ่ 3,500-4,500 ล้านบาท ด้วยการสร้างโรงงานผลิตสินค้าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกาศปักธงรบเต็มสูบหวังโกยยอดขายในไทย 20,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ซึ่งตามแผนจะต้องบรรลุภายในปี 2555 แต่ปีที่ผ่านมาผู้บริหารยังเงียบ

นอกจากนี้ยังพบว่า ที่ผ่านมาเอฟแอนด์เอ็นได้ทุ่มงบการตลาดในไทยไม่น้อย แต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 500-1,000 ล้านบาท โดยมีสินค้า "เรือธง" อย่างนมสเตอริไลส์ตราหมี นมข้นจืดคาร์เนชั่น เสริมทัพด้วยน้ำผลไม้เอฟแอนด์เอ็น "ฟรุท ทรี เฟรซ" และ "เอ็ฟแอนด์เอ็นแม็กโนเลีย ช็อกมอลต์"
ทว่า 2 แบรนด์หลังกลับเงียบหายไปจากตลาด โดยเฉพาะเอฟแอนด์เอ็นแม็กโนเลียฯ ที่ไม่มีอยู่บนเชลฟ์ จากที่เคยจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และโมเดิร์นเทรด

ดังนั้น การที่เสี่ยเจริญได้สินค้ามาโดยไม่ต้องก่อร่างสร้างแบรนด์ตั้งแต่แบเบาะ ย่อมเป็นสิ่งดีเพราะสินค้าในพอร์ตหลายๆตัว ผู้บริโภคในตลาดมีการรับรู้แบรนด์บ้างแล้ว หากไล่เรียงกันจะเห็นว่า มูลค่าตลาดของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้นค่อนข้างใหญ่ แต่การแบ่งเค้กแต่ละกลุ่มนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

ประเดิมที่สินค้า "หัวหอก" ของเอฟแอนด์เอ็นอย่าง "ตลาดนมสเตอริไลส์หรือนมพร้อมดื่ม" สำหรับผู้ใหญ่มีมูลค่าตลาดรวม "ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท" หากจะกล่าวถึงตลาดนี้ต้องเรียกว่า "ตราหมี" สินค้าใต้ปีกเอฟแอนด์กินรวบเจ้าเดียวโกยมาร์เก็ตแชร์ 98% ซึ่งถือเป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้หลักให้กับเอฟแอนด์เอ็นในประเทศไทย

ขณะที่ "ตลาดนมข้นหวาน" ในไทยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4,000ล้านบาท ผู้นำตลาดยังเป็นตรามะลิ และ "คาร์เนชั่น" ยังตามหลังอยู่ ส่วน "ตลาดนมข้นจืด" มีมูลค่าราว 1,500-2,000 ล้านบาท โดยคาร์เนชั่นถือเป็นผู้นำตลาดที่เคยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 60% แต่เอฟแอนด์เอ็นยังมีสินค้าในพอร์ตอีกแบรนด์นั่นคือ "ทีพอท" ซึ่งรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้ต่างจากคาร์เนชั่น

อีกตลาดที่สำคัญคือ "ตลาดนมพร้อมดื่มยูเอชที" ที่มีมูลค่าราว 40,000 ล้านบาท แต่ตลาดนี้ต้องแยกย่อยลงไปอีก ในกลุ่มตลาด "เครื่องดื่มมอลต์สกัด" มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6,600 ล้านบาท ตลาดดังกล่าวมีคู่แข่งหลักๆเพียง 2 ราย คือ "โอวัลตินและไมโล" แต่ในแง่ของส่วนแบ่งทางการตลาดนั้นห่างชั้นกันมาก โดยโอวัลตินเป็นเบอร์ 1ครองส่วนแบ่งกว่า 75%

อีกหนึ่งสีสันของวงการตลาดเครื่องดื่มได้แก่ "ตลาดน้ำผลไม้" ที่มีมูลค่า 8,500 ล้านบาท โดย "ทิปโก้" ยังเป็นเจ้าตลาด ที่ดูแล้วน่าจะเหนื่อยสำหรับน้องใหม่อย่างเอฟแอนด์เอ็น เพราะที่ผ่านมาแม่ทัพการลาดพยายามจะผลักดันแบรนด์ "เอฟแอนด์เอ็น ฟรุท ทรี เฟรช" แล้ว แต่ยังเกิดยากในวงการนี้

แต่ตลาดที่ดูจะเข้มข้นเห็นจะเป็น "ตลาดกาแฟ 3 อิน 1" ซึ่งมีมูลค่าราว 14,040 ล้านบาท หรือสัดส่วน 78% ของตลาดกาแฟสำเร็จรูปในประเทศไทย ที่ตลาดนี้มีเนสกาแฟเป็นเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่งกว่า 60% โดยตลาดดังกล่าวมีการขับเคี่ยวกันดุเดือดของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ 4-5 รายเท่านั้น "เอฟแอนด์เอ็นครีเอชั่น" ต้องเจอโจทย์หินไม่ใช่เล่น
มีกาแฟก็ต้องมีเครื่องเคียงทำให้กลมกล่อมอย่าง "ครีมเทียม" ซึ่งตลาดนี้ยังคงโดดเด่นรับกับไลฟ์สไตล์คอกาแฟอยู่แล้ว ตลาดดังกล่าวมีมูลค่าราว 5,000-6,000 ล้านบาท และเจ้าตลาดนยังเป็นเนสท์เล่ คอฟฟี่เมต เกณฑ์มาร์เก็ตแชร์กว่า 85% ถือได้ว่าเกือบกินรวบทั้งตลาดก็ว่าได้ ไม่นับแบรนด์เล็กอย่างบัดดี้ดีน และคูซ่า ที่ทยอยเก็บมาร์เก็ตแชร์ตุนไว้ในกระเป๋าบ้างแล้ว แต่ตลาดนี้ไม่น่าจะยากเกินความสามารถของเสี่ยเจริญ เพราะหากคอกาแฟต้องการนมข้นจืดคาร์เนชั่นเพิ่มรสละมุนให้กับกาแฟ อาจไม่ยากถ้าจะเปิดใจลองครีมเทียมคาร์เนชั่นบ้าง

เอฟแอนด์เอ็นยังมี "ผลิตภัณฑ์รังนก" ที่ทำตลาดในไทย แต่ตลาดนี้จะต้องฝ่าด่าน 2 รายใหญ่อย่างแบรนด์ และสก็อต เพื่อแบ่งเค้กมูลค่า 3,000 ล้านบาทให้ได้ แถมแบรนด์เป็นผู้นำตลาดที่ถือเค้กก้อนโตกว่า 60% ไว้ในมือ และคงไม่ยอมปล่อยให้ใครง่ายๆ

เมื่อรวมทุกเซ็กเมนต์ที่เอฟแอนด์เอ็นผงาดในไทย พบว่ามี "มูลค่าตลาดรวม" ไม่ต่ำกว่า 46,000 ล้านบาท ท้าทายเสี่ยเจริญที่จะเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในพอร์ต ต่อยอดความมั่งคั่งอีกไม่น้อย !!

จาก "โฮมโปร" สู่ "เมกาโฮม" กางแผนห้าปีจะเป็นเบอร์ 1 ในเออีซี


updated: 21 มี.ค. 2556 เวลา 10:14:03 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ที่มา http://www.prachachat.net/news_detail
"โฮมโปร" ยักษ์ใหญ่ธุรกิจโมเดิร์นเทรดวัสดุที่มี "แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์" เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 30% เศษ สร้างยอดขายเติบโตโดดเด่น ดูสถิติย้อนหลังตลอด 11 ปีที่ผ่านมา (2554-2555) เติบโตเฉลี่ยปีละ 22.4% ทำยอดขายปีที่ผ่านมาได้ 36,970 ล้านบาท

ปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศ 55 แห่ง ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ "โฮมโปร" ต้องวางกลยุทธ์หาตลาดใหม่รองรับอนาคต โดย 1.รุกตลาดอาเซียนหรือเออีซี 2.แตกโมเดลศูนย์วัสดุแบรนด์ใหม่ "เมกาโฮม" เจาะกลุ่มลูกค้าช่างและผู้รับเหมา



"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "คุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อไขแผนกลยุทธ์และเป้าหมายของยักษ์ค้าวัสดุไทยรายนี้

"คุณวุฒิ" เปิดประเด็นว่า ธุรกิจศูนย์ค้าวัสดุสมัยใหม่แบบโมเดิร์นเทรดปัจจุบันแตกเซ็กเมนต์เป็น 2 กลุ่ม จากเดิมเป็นศูนย์ค้าวัสดุที่จับกลุ่มลูกค้ารายย่อยแบบโฮมโปร ทำเลอยู่ในเมืองหรือแหล่งชุมชน ซึ่งโฮมโปรทำได้ดีแล้ว ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาด 25% จากมูลค่าตลาดรวม 150,000 ล้านบาท

แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เกิดศูนย์ค้าวัสดุแบบโอเพ่นแอร์ จับกลุ่มลูกค้าช่าง ผู้รับเหมา ลูกค้าโครงการภาครัฐ-เอกชน ทำเลจะเป็นพื้นที่รอบนอกทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่โฮมโปรยังไม่ได้เข้าไป ประเมินว่ามีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 130,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่วนแบ่งตลาด 30% อยู่ในมือของผู้เล่นรายใหญ่ 3 รายคือ ไทวัสดุ โกลบอลเฮ้าส์ และดูโฮม อีก 70% เป็นของร้านค้าวัสดุในเครือเอสซีจี (ปูนซิเมนต์ไทย) และร้านค้าวัสดุทั่วไป
"จริง ๆ มันคือขนมเค้กก้อนเดียวกันของตลาดวัสดุ เดิมเราไม่ได้เข้าไปแชร์ แต่ตอนนี้เราขอแบ่งเค้กด้วย เป็นที่มาของการเปิดเมกาโฮม"

กระบวนการก่อนเปิดเมกาโฮม ใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 1 ปี เซตทีมบริหารแยกจากโฮมโปร เพราะอยากให้วิธีคิด จัดร้าน บริหารร้านเป็นคนละรูปแบบ มีการดึงผู้บริหารระดับสูงที่เป็นลูกหม้อ (อนุชา จิตจาตุรันต์) เป็นกรรมการผู้จัดการของเมกาโฮม อีกคนคือ "สุพรรศรี นาคธนสุกาญจน์" เป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ เป็นลูกหม้อโฮมโปรกับแม็คโครมาก่อน

จุดขายของเมกาโฮมคือ 1.ความหลากหลายสินค้า จะมีหลายแสนรายการมากกว่าโฮมโปรเท่าตัว ตั้งแต่วัสดุก่อสร้างหนัก เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น ไม้ กระเบื้องหลังคา ฯลฯ 2.ราคาถูก แบบขายยกโหล ยกกล่องได้ 3.สะดวกในการเลือกสินค้า สิ่งที่เน้นคือลูกค้ามาเดินแล้วต้องไม่บ่นว่าหาของยากเพราะธุรกิจนี้เฉือนกันที่วิธีบริหารจัดการ "ใคร" จะเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าได้มากกว่ากัน

เมื่อถามถึงโมเดลธุรกิจ และแผนการขยายสาขาเมกาโฮม ได้รับคำอธิบายว่า ในแง่การทำงานหลังร้านเมกาโฮมจะรวมระบบการจัดซื้อสินค้าเข้ากับโฮมโปร ทำให้ได้ต้นทุนซื้อสินค้าลดลง 1-2% เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อด้วยตัวเองรายเดียว โดยกรอสมาร์จิ้น "เมกาโฮม" ปีแรกคาดว่าจะได้ 15% เน็ตมาร์จิ้น 5% ขณะที่โฮมโปรมีกรอสมาร์จิ้น 22-23% เน็ตมาร์จิ้น 7.8%

รูปแบบร้านเมกาโฮมใช้พื้นที่ 30 ไร่ขึ้นไป มีพื้นที่ร้านรวม 40,000 ตารางเมตร แยกเป็นพื้นที่ขาย 20,000 ตารางเมตร คลังเก็บสินค้า 20,000 ตารางเมตร เนื่องจากเป็นร้านที่มีพื้นที่กว้าง สินค้าหลักที่สต๊อก ได้แก่ เหล็ก ปูน ไม้ น่าจะมียอดขายเป็นท็อปเซลของร้านเป็นสัดส่วน 30% อีก 70% กระจายไปในหมวดอื่น ๆ อาทิ กระเบื้องเซรามิก สุขภัณฑ์ โคมไฟ เครื่องไฟฟ้า ฯลฯ

"ปีแรกเราจะเปิด 3 สาขา สาขาแรกที่นวนคร ใกล้ตลาดไทและมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (รังสิต) กำหนดเปิดปลายปีนี้ ในแง่ทำเลยังไม่มีใครมาเปิดเพราะนโยบายการทำเมกาโฮม ไม่ได้ทำเพื่อสกัดคู่แข่ง และไม่ได้ต้องประจันหน้า ไม่ต้องการทำสงครามราคาแข่งกับใคร"

กับคำถามว่า "เมกาโฮม" และ "โฮมโปร" จะกินลูกค้ากันเองหรือไม่ "คุณวุฒิ" ระบุว่า อาจมีบ้างแต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะปัจจุบันลูกค้าโฮมโปร 85% เป็นเจ้าของบ้าน อีก 15% เป็นกลุ่มช่าง ผู้รับเหมา ซึ่งไม่ถนัดเดินห้างติดแอร์ รัศมีเจาะลูกค้า 1 สาขาอยู่ที่ 5-15 กิโลเมตร มีพื้นที่ขายขนาด 7,000-10,000 ตารางเมตร เฉลี่ยรายได้ต่อสาขาปีละ 600 ล้านบาท

แต่ "เมกาโฮม" ฐานลูกค้าจะกลับกัน 85% เป็นกลุ่มช่าง ผู้รับเหมา ลูกค้าโครงการ อีก 15% อาจเป็นเจ้าของบ้าน รัศมีการตลาดวงใหญ่กว่าอยู่ที่ 30-100 กิโลเมตร เฉลี่ยรายได้ปีละ 700 ล้านบาท/สาขา"ยุทธศาสตร์คือตรงไหนมีช่องว่าง เมกาโฮมจะไปหมด เป้าหมายคือขยายครบ 20 สาขาใน 4 ปี"

คำถามสำคัญคือโมเดิร์นเทรดโอเพ่นแอร์มีคนทำก่อนแล้วคือ "ไทวัสดุ" ของตระกูลจิราธิวัฒน์ กับ "สยามโกลบอลเฮ้าส์" ในเครือเอสซีจี จะเป็นคู่แข่งทางตรงใช่หรือไม่

"ไทวัสดุอาจไม่มีข้อมูลมากนัก เพราะไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น แต่ประเมินโกลบอลเฮ้าส์แล้วรูปแบบเน้นขายผ่านระบบดีลเลอร์ เน้นขายสินค้าในเครือที่เอสซีจีเป็นผู้ผลิต ขณะที่เมกาโฮมในเครือ-นอกเครือ (ผู้ผลิตไทย-เทศ) ได้ทั้งหมด"
นอกจากกลยุทธ์การแตกแบรนด์ คือการรุกตลาดอาเซียน ต้นปีหน้าพร้อมเปิดบริการสาขาแรกกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รูปแบบร้านคล้ายเมืองไทย แต่สินค้านำเข้ามี 50% ขึ้นไป มากกว่าเมืองไทยที่มีมากกว่า 20% เพราะของที่ผลิตในมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก

ส่วนการบริหารงานว่าจ้างกรรมการผู้จัดการเป็นคนมาเลเซีย ตอนนี้กำลังมาเรียนรู้งานที่สำนักงานใหญ่ (ประชาชื่น) อยู่
"คุณวุฒิ" ระบุว่า กว่า 16 ปีก่อนโฮมโปรตั้งเป้าเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจโฮมอิมพรูฟเมนต์ประเทศไทย และวันนี้ทำได้แล้ว เป้าหมายต่อไปการเป็นที่หนึ่งในตลาดเออีซีภายใน 5 ปี (2556-2560)

เส้นทางการรุกเออีซี ก่อนเข้ามาเลเซียเคยศึกษาตลาดพม่า อินโดฯ ฟิลิปปินส์ พบว่าใช้โฮมโปรไปลงทุกประเทศไม่ได้ เพราะกำลังซื้อไม่เท่ากัน เมื่อมีเมกาโฮมแล้วต่อไปก็เข้าไปลงทุนได้ "แผนบุกอาเซียนหรือเออีซี เราไม่รอเปิดเสรีในปี 2558 เราทำก่อนเลย ก่อนหน้านี้อาจจะมีเพียง 1 แบรนด์ที่ไปบุกตลาดได้ นั่นคือโฮมโปร แต่ตอนนี้จะมี 2 แบรนด์คือโฮมโปรกับเมกาโฮม"

สำหรับตลาดโฮมอิมพรูฟเมนต์ในอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศที่สูสีคือ ไทย (โฮมโปร) กับอินโดนีเซีย ที่มีผู้เล่น
รายใหญ่คือ "ACE Hardware" จำนวนสาขาใกล้เคียงกัน แต่ ACE มีเฉพาะโมเดลร้านแบบติดแอร์ไม่มีร้านโอเพ่นแอร์แบบเมกาโฮม

ดังนั้น เมื่อเรือธงคือการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในเออีซี กลยุทธ์หลักที่เป็นตัวชี้วัดมี 3 ขั้นบันได คือ 1.ต้องขยายสาขาเข้าไปในเออีซี 10 ประเทศ 2.มีรายได้สูงที่สุดเทียบกับคู่แข่ง 3.กำไรสูงที่สุด เพื่อนำไปสู่คำตอบสุดท้าย "...นั่นคือ เราแข่งขันกับ ACE Hardware"

อุตฯหนังไทยเดือดเม็ดเงินพุ่ง2พันล. ผู้ผลิตงัดฟอร์มยักษ์สู้-โรงหนังทุ่มขยายสาขาไม่อั้น



updated: 28 มี.ค. 2556 เวลา 09:37:01 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
link http://www.prachachat.net/news_detail
เปิดม่านปีทองอุตสาหกรรมหนังไทย เหยียบคันเร่งต้นปี จีทีเอช-เอ็ม 39 ปล่อยทีเด็ด 2 เรื่อง 2 รส ด้านสหมงคลฟิล์มเตรียมส่ง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร 5 และต้มยำกุ้ง ฟากผู้ประกอบการโรงหนัง เมเจอร์ฯ-เอสเอฟ โหมขยายสาขาต่อเนื่อง คาดสิ้นปีดันมูลค่าตลาดหนังไทยทะลุ 2,000 ล้านบาท

พี่มาก...พระโขนง และคู่กรรม หนังไทย ฟอร์มยักษ์จากสองผู้ผลิตไฟแรง ที่กำลังโหมสร้างกระแสผ่านโซเชียลมีเดีย ดึงความสนใจจากผู้ชม

ทำ ให้อุตสาหกรรมหนังไทยส่อแววคึกคักตั้งแต่ต้นปี ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่าน ส่วนแบ่งตลาดหนังไทยไม่เคยวิ่งข้ามเส้นกินส่วนแบ่งตลาดเกิน 35% แต่กลับมีการเติบโต 30-35% จากมูลค่ารวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (หนังไทย-ต่างประเทศ) ปีที่แล้ว 4,100 ล้านบาทโดยหลาย ๆ ผู้ผลิตหนังไทยในปีนี้พากันปรับตัวหวังกระตุ้นตลาด สร้างสีสันให้อุตฯหนังไทยกลับมาครื้นเครง

ปีทองอุตฯภาพยนตร์ไทย

นาย วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีทีเอช จำกัด และประธานสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยว่า ตั้งแต่ครึ่งปีแรกปีนี้ถือว่าอุตฯหนังไทยมีแนวโน้มที่ดี เพราะมีหนังไทยฟอร์มใหญ่เข้าฉายถึง 2 เรื่อง คือ พี่มาก...พระโขนง และคู่กรรม ส่งผลให้อุตฯคึกคัก

อย่างไรก็ตามคาดว่าภาพรวมของ อุตฯหนังไทยทั้งปีนี้จะโตต่อเนื่อง โดยมีภาพยนตร์ไฮไลต์ 2 เรื่อง คือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 และต้มยำกุ้ง ภาค 2 ที่จะเข้าฉาย ทำให้

คาด ว่าอุตฯหนังไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทแน่นอน เพราะปีก่อนแม้ว่าจะไม่มีหนังไทยที่หวือหวา แต่ภาพรวมตลาดยังโตและมีมูลค่าถึง 1,100 ล้านบาท

โรงหนังขยาย สร้างโอกาส-รายได้

นาย วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันเมเจอร์ฯมีสาขาครอบคลุม 30 จังหวัด คาดว่าสิ้นปีนี้จะครอบคลุม 32-33 จังหวัด ด้วยปัจจัยดังกล่าวเชื่อว่าส่งผลให้อุตฯหนังไทยเติบโตเช่นกัน

ทั้ง นี้มองว่าถ้าหัวรถจักรไม่ขยาย อุตสาหกรรมหนังก็ไม่โต แต่วันนี้หัวรถจักรขยายตัวขึ้น เมเจอร์ฯมี 434 โรง สิ้นปีจะมีถึง 500 โรง บวกกับเทคโนโลยีกำลังถูกพัฒนาเป็นดิจิทัล ทำให้การผลิตหนังง่ายขึ้น ต้นทุนลดลง เชื่อว่าหนังไทยจะโตแน่นอน

ที่ผ่านมารายได้หนังไทย ไม่ถึง 100 ล้านบาท เพราะคอนเทนต์ยังไม่โดนใจผู้ชม ตอนนี้มีฮาร์ดแวร์คือ จำนวนโรงพร้อม เหลือแต่ซอฟต์แวร์ที่ยังต้องทำให้โดนใจผู้ชม ขอให้หนังดี เชื่อว่ามีโอกาสสร้างรายได้ อนาคตอาจเห็นหนังไทยหนึ่งเรื่องทำรายได้ 400-500 ล้านบาท เพราะโรงหนังพร้อมแล้วเช่นเดียวกับเครือเอสเอฟที่เดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อ เนื่อง ก่อนหน้านี้

นายสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด กล่าวว่า ปีนี้เตรียมขยายอีก 10 สาขา ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ภายใต้งบฯ 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมี 228 โรง

จับพฤต"กรรมผู้ชมให้ถูกท"ศ

นาย วิสูตรกล่าวต่อว่า ปีนี้จีทีเอชจะเดินหน้าโฟกัสธุรกิจหลัก นั่นคือการสร้างหนัง คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีหนังเข้าฉายอีก 2 เรื่อง ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ เป็นหนังสยองขวัญ 1 เรื่อง และหนังรัก 1 เรื่อง

สำหรับ สิ่งที่ทำให้ จีทีเอช ประสบความสำเร็จตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา คือ การปรับกลยุทธ์ แบ่งเป็น 3 กลยุทธ์ คือ หนึ่ง ลดจำนวนการผลิตหนัง จากเดิมปีละ 7-8 เรื่อง เหลือ 3-4 เรื่องต่อปี ภายใต้งบฯ 25-30 ล้านบาทต่อเรื่อง

โฟกัสคุณภาพด้านการผลิตเป็นหลัก

สอง จับทิศทางและรสนิยมผู้ชม หลังพบว่าคนไทยชอบสนุกและขี้เบื่อ ต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์ หากจับเทรนด์ไม่ทันก็จบ เพราะว่าหนังแต่ละเรื่องสร้างล่วงหน้า 1-2 ปี

ส่วนกลยุทธ์ที่สาม คือ การสร้างแบรนด์ ต่อยอดสู่ธุรกิจต่าง ๆ ทั้งละครเวที คอนเสิร์ต เปิด "จีทีเอช ช็อป" สินค้าเมอร์แชนไดส์ ถือว่าประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์ จีทีเอช เพิ่มขึ้น

สหมงคลฯเน้นครบรส

นาง สาวชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ รองประธานฝ่ายขาย บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า สหมงคลฯยังคงเดินหน้าสร้างหนังที่หลากหลายครบทุกแนว เชื่อว่าหนังต้องมีความหลากหลาย และเชื่อว่าถ้าทำหนังดีก็จะมีคนดู แม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจจะประสบความสำเร็จแค่บางเรื่องก็ตาม ซึ่งเฉลี่ยแต่ละปีจะมีหนังเข้าฉาย 15-16 เรื่อง

ขณะที่ปีนี้จะมีหนัง โปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ 2 เรื่องหลักคือ ต้มยำกุ้งภาค 2 ระบบ 3 มิติ และตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 5 ยุทธหัตถี ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดน่าจะวางโปรแกรมเข้าฉายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้รวม 1,500 ล้านบาท

ทั้งจากนำหนังจากต่างประเทศเข้ามาฉายและหนังไทย ถือเป็นตัวเลขการเติบโตสูงที่สุดตั้งแต่ทำหนังมา

ทั้ง นี้ตั้งแต่ต้นปี บริษัทมีหนังเข้าฉายหลายเรื่อง ทั้ง จันดารา ปัจฉิมบท เข้าฉายเป็นเรื่องแรก ตามด้วยปัญญาเรณู 3 รูปูรูปี ส่วนหนังรักปีนี้จะมีเรื่อง "ฤดูที่ฉันเหงา" และหนังวัยรุ่น "เกรียนฟิคชั่น" หนังโรแมนติก "เธอเขาเราผี" และมีโปรเจ็กต์ร่วมกับเวิร์คพอยท์ รวมถึงโปรเจ็กต์สิ่งเล็กเล็ก 2 ด้วย

เอ็ม 39 ปรับแนวคิด ขยับเนื้อหา

ประธาน กรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่ายหนังเครือเมเจอร์ฯเตรียมหนังไทยที่จะเข้าฉายไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง จากทั้ง 2 ค่ายคือ เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์

ไม่ต่ำกว่า 7 เรื่อง และบริษัท ทาเลนต์ วัน จำกัด อีก 3 เรื่อง

"หนัง ของเครือเมเจอร์ฯลุ้นรายได้ 100 ล้านบาททุกเรื่อง เพราะแต่ละเรื่องต้องมีนักแสดงแม่เหล็ก คุณภาพต้องดี ทำให้ต้นทุนการสร้างหนังทุกเรื่องไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท"

สอดรับกับ นางสาวจันทิมา เลียวศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด กล่าวว่า ปีนี้วางเป้าหมายว่าจะผลิตหนังเพิ่มขึ้น แต่ก็คงค่อยเป็นค่อยไป เริ่มไตรมาสแรกด้วย "คู่กรรม" อย่างไรก็ตามผลจากการปรับแนวคิดและขยับเนื้อหาอย่างต่อเนื่องในปี 2555 ทำให้ภาพยนตร์ของค่ายได้รับความนิยมจากผู้ชมเพิ่มขึ้น

'แอร์เอเชีย' ตั้งเป้า3ปี รุกส่วนแบ่งการตลาดเป็น 50%

Pic_324530

ไทยรัฐออนไลน์
โดย ไทยรัฐออนไลน์
4 กุมภาพันธ์ 2556, 14:47 น.
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/eco/324530
"สายการบินไทยแอร์เอเชีย" ครบรอบ 9 ปี เปิดตัวเครื่องบินแอร์บัส เอ 320 “ชาร์คเล็ท” ใส่ใจสิ่งแวดล้อมประหยัดพลังงาน พร้อมโว! ภายใน 3 ปีจากนี้ จะดึงส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบัน 37%...

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียได้เติบโตมา 9 ปี และเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมาก โดยในปีนี้ไทยแอร์เอเชียจะเน้นเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการกว่าปีละ 8.3 ล้านคน/ปี และคาดว่าในปี 56 นี้ จะมีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 10 ล้านคน/ปี โดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดทางการบินในประเทศกว่า 37% และคาดว่าภายใน 3 ปีไทยแอร์เอเชียจะดึงส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 50%

ส่วนอัตราการบรรทุกผู้โดยสารนั้น ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียเฉลี่ยกว่า 82% อย่างไรก็ตาม จากที่ผู้โดยสารเดินทางด้วยการใช้บริการ ไทยแอร์เอเชียต่อเนื่อง ทำให้ผลการดำเนินงานดีเกินคาด โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา ไทยแอร์เอเชียมีผลการดำเนินงานกว่า 16,000ล้านบาท และโตอย่างต่อเนื่อง มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่าปีละ 20-21% สาเหตุมาจากไทยแอร์เอเชียอยู่ในประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยแล้วใช้ไทยแอร์เอเชียเป็นตัวเชื่อมต่อการเดินทางทั้งในไทย และประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเชื่อมต่อไปยังพม่าและเวียดนาม

“ในโอกาสครบรอบ 9 ปีของไทยแอร์เอเชีย ได้จัดพิธีเจิมเครื่องบินแอร์บัส เอ320 ใหม่ ลำที่ 28 ซึ่งมีความพิเศษมีปลายปีกแบบชาร์คเล็ท ซึ่งช่วยประหยัดเชื้อเพลิงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นลำแรกในไทยและเป็นนวัตกรรมการบินที่แอร์เอเชียพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เครื่องบินลำใหม่นี้จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปสู่ปลายทางหลากหลาย ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ “ชาร์คเล็ท” (Sharklet) เป็นอุปกรณ์ติดตั้งปลายปีกเครื่องบิน ซึ่งแอร์บัสได้ออกแบบและพัฒนาใหม่สำหรับเครื่องบินแอร์บัสรุ่น เอ320 มีประสิทธิภาพช่วยลดการไหลเวียนของอากาศที่มีแรงดันสูงใต้ปีกไปยังพื้นที่ เหนือปีกที่อากาศมีแรงดันต่ำกว่า และยังช่วยลดแรงดึงที่ปลายปีก ช่วยให้ประหยัดการใช้เชื้อเพลิงมากขึ้น เมื่อเทียบกับปลายปีกแบบเดิม ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับเครื่องบินแอร์บัส ทั้งในด้านพิสัยบินและการบรรทุกน้ำหนัก"

พร้อมกันนี้ นายทัศพล ยังกล่าวถึงทิศทางการขยายเครือข่ายบินของแอร์เอเชียในปี 2556 ว่า จะเป็นปีที่เน้นสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง จากเครื่องบินใหม่ 7 ลำ ที่ทยอยเข้ามาตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการเพิ่มความถี่บินเส้นทางในประเทศ ที่ได้รับความนิยมสูงมาก เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ ฯลฯ ตลาดประเทศจีนและอินโดจีน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดีในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ แอร์เอเชียยังตั้งเป้าในการมอบของขวัญความสุขสำหรับทุกคน อาทิ การให้บริการ Wi-Fi ฟรีสำหรับผู้โดยสาร ณ สนามบินดอนเมือง รวมทั้งเพิ่มช่องทางสะดวกซื้อและชำระเงินค่าบัตรโดยสาร การทำกิจกรรมตอบแทนสังคมในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้งนี้ สำหรับปี 2555 ที่ผ่านมา แอร์เอเชียประสบความสำเร็จกับการเพิ่มเครือข่ายบินสู่หลากหลายปลายทางใหม่ รวม 9 เส้นทาง คือ ดอนเมืองสู่ตรัง นครพนม ศรีลังกา เชนไน มัณฑะเลย์ ฉงชิ่ง อู่ฮั่น ซีอาน และเส้นทางเชียงใหม่-มาเก๊า โดยเฉพาะการเดินหน้าบุกตลาดประเทศจีน รวมทั้งการย้ายฐานปฏิบัติการบินมาให้บริการที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยติดตามข้อมูล โปรโมชั่น และกิจกรรมดีๆ จากแอร์เอเชียตลอดปี 2556 นี้ ได้ทั้งทาง facebook.com/AirAsiaThailand และ twitter.com/AirAsiaThailand

ทีวี ไดเร็ค’ รุกใหญ่ ระดมทุนกว่า 500 ล้านรับการขยายตัวของธุรกิจ
วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 15:20:16 น.
ที่มาhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid
‘ทีวี ไดเร็ค’ เตรียมแผนรุกครั้งใหญ่ ประกาศระดมทุนกว่า 500 ล้านบาท รองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต พร้อมจับมือพันธมิตรยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มความหลากหลายของสินค้าและช่องทางขายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เผยมติบอร์ดเพิ่มทุน 117.5 ล้านหุ้น

นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านช่องทางการตลาดที่หลากหลาย (Multichannel Marketing) เปิดเผยว่า เนื่องจากธุรกิจโฮมชอปปิ้งมีทิศทางการขยายตัวที่สูงมากในอนาคต บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องระดมเงินทุนให้เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ


โดยปัจจุบันได้เจรจากับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศหลายราย เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ที่จะสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับบริษัทฯ นอกจากนี้ ยังจะได้แลกเปลี่ยนโนว์ฮาวระหว่างกัน ที่จะทำให้บริษัทฯ ได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว



ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 376 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นมูลค่า 188 ล้านบาท เป็น 493.50 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นมูลค่า 246.75 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 117.5 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท  ในจำนวนนี้จะเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 94 ล้านหุ้น ในสัดส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 4.50 บาท


ส่วนหุ้นเพิ่มทุนอีก 23.5 ล้านหุ้น จะรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัฯ (วอแรนท์) ที่บริษัทฯ จะจัดสรรให้ผู้ที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยได้รับวอแรนท์ในอัตราส่วน 4 หุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อ 1 วอแรนท์  โดยวอแรนท์ดังกล่าว มีอายุ 3 ปี สามารถใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญปีละ 2 ครั้ง ในอัตราส่วน 1 วอแรนท์ ต่อ 1 หุ้นสามัญ ที่ราคาหุ้นละ 3.50 บาท


“จากหุ้นสามัญที่เสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม 94 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 4.50 บาท หากจำหน่ายได้ทั้งหมด บริษัทฯ จะได้รับเงิน 423 ล้านบาท และจะได้รับเงินจากการแปลงสภาพวอแรนท์ในอนาคตอีก ซึ่งหากใช้สิทธิทั้งหมด ก็จะได้เงินอีก 82.25 ล้านบาท เท่ากับว่าบริษัทจะได้เงินจากการเพิ่มทุนครั้งนี้รวม 505.25 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปลงทุนขยายกิจการได้อีกมาก อันจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น” นายทรงพลกล่าวและเสริมว่า


 จากการพูดคุยกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ต่างขานรับที่จะใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพราะมั่นใจว่าจะทำให้บริษัทฯ แข็งแกร่งมากขึ้นและเติบโตได้อย่างยั่งยืน


ปัจจุบันบริษัทฯ มีฐานลูกค้ากว่า 2 ล้านราย ขณะที่โครงสร้างการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ สามารถแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก คือ การตลาดทางทีวี (TV Marketing) การตลาดแบบตรง (Direct Marketing) การตลาดทั่วไป (Conventional Marketing) การบริการ อาทิ การให้บริการรับจ้างผลิตสื่อโฆษณาและจัดหาเวลาโฆษณาให้แก่ลูกค้า และธุรกิจขายตรง (Direct Sale) สำหรับในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 20% จากปีก่อนที่มียอดขาย 2,222 ล้านบาท ขณะที่แผนระยะยาวในอีก 5 ปี หรือในปี 2560 บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายจะอยู่ที่ระดับ 5,555 ล้านบาท

ปตท.ดัน “GPSC” เข้าตลาดหุ้นปีนี้ ระดมทุนรุกธุรกิจไฟฟ้าอาเซียน


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 มีนาคม 2556 10:39 น.
ที่มา http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000026397
ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.เล็งนำ “โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่” เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นภายในปีนี้ เพื่อนำเงินรุกธุรกิจไฟฟ้าในอาเซียน เผยจะเร่งโอนหุ้นโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี-น้ำลิก 1 ที่สปป.ลาว และอื่นๆเข้ามาในบริษัทก่อนเข้าตลาดหุ้น ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1-2 พันเมกะวัตต์
     
       แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.มีแผนที่จะกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าในเครือฯให้อยู่ภายใต้บริษัทร่วมทุนที่ตั้งใหม่ คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GPSC) โดยจะมีการโอนหุ้นที่ ปตท.ถืออยู่ทั้งในโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก 1 ที่ สปป.ลาวและโครงการอื่นๆ เข้ามาอยู่ในโกลบอล เพาเวอร์ฯ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1-2 พันเมกะวัตต์
     
       หลังจากนั้น ปตท.มีแผนจะนำบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะดำเนินการระดมทุนในตลาดหลักทรัยพ์ฯ ได้ภายในปี 2556 โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหุ้นจะใช้เพื่อการขยายธุรกิจไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งบริษัทฯ มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุน หรือร่วมลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในพม่า เป็นต้น ส่วนการเข้ายื่นประมูลไอพีพีรอบใหม่นั้น คงต้องพิจารณาถึงกฎระเบียบข้อบังคับ เนื่องจากบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ฯ เป็นการถือหุ้นบริษัทฯในเครือ ปตท.ทั้ง 100%
     
       ทั้งนี้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ฯ เป็นบริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นหลังจากควบรวมกิจการระหว่างพีทีที ยูทิลิตี้ และบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) โดยมีทุนจดทะเบียน 8.63 พันล้านบาท
     
       “การดึงธุรกิจไฟฟ้าในเครือปตท.เข้ามาอยู่ใน GPSC นั้นจะได้เป็นการรวมศูนย์ ทำให้เกิดSynergy ของกลุ่มธุรกิจ แต่จะไม่ดึงโรงไฟฟ้าที่บริษัทในเครือฯ ตั้งขึ้นเพื่อใช้ภายในโรงงานตนเอง เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ของไออาร์พีซี ซึ่งในอนาคตบริษัทดังกล่าวจะรุกธุรกิจไฟฟ้าทั้งถ่านหิน ก๊าซฯ และพลังน้ำ”
     
       นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ สนใจศึกษาความเป็นไปได้ในการรุกธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในแถบอเมริกา หลังจากได้รับการชักชวนหลายราย โดย ปตท.ได้ศึกษาข้อเสนอในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุน การซื้อ แต่ปัญหาในขณะนี้ คือ ใบอนุญาตการส่งออกLNG จากสหรัฐฯต้องใช้เวลา หลังจากเพิ่งอนุญาตให้มีการส่งออกได้เพียง 1-2 รายเท่านั้น สาเหตุหนึ่งมาจากลูกค้าในพื้นที่ต้องการให้ใช้ภายในประเทศมากกว่าส่งออกพลังงานราคาถูก
     
       ทั้งนี้ ปตท.เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อ LNG ระยะยาวเพิ่มเติม หลังจากได้มีการทำสัญญาซื้อจากกาตาร์แล้ว 1 ล้านตัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้ LNG ทั่วโลกสูงถึง 300 ล้านตัน โดยญี่ปุ่นและเกาหลีมีการนำเข้าคิดเป็น 50% ของความต้องการใช้ทั่วโลก
     
       เมื่อเร็วๆ นี้ ปตท.เปิดตัวบัตร PTT Blue Card บัตรสะสมคะแนนเพื่อใช้แทนเงินสด แลกของรางวัล และรับสิทธิพิเศษมากมายให้ผู้บริโภคที่เติมน้ำมัน หรือซื้อผลิตภัณฑ์ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. อีกทั้งยังสามารถแสดงบัตรรับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ร้านอาหาร โรงแรม สปาและร้านค้าชั้นนำที่ร่วมรายการ โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิก 2 แสนรายในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนรายใน 3 ปีข้างหน้

TCC เปิดแผนรุกต่างประเทศตั้ง 2 บริษัทในจีนและอินโดฯ


TCC เปิดแผนรุกต่างประเทศตั้ง 2 บริษัทในจีนและอินโดฯ พร้อมเจาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ มั่นใจดันออเดอร์เพิ่ม
ข่าวเศรษฐกิจ ThaiPR.net -- พฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 18:27:06 น.
กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น
ที่มา http://www.ryt9.com/s/prg/1599881
บมจ.ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น เปิดแผนเกมรุกต่างประเทศ จัดตั้ง 2 บริษัทในประเทศจีน และอินโดนีเซียเสริมเขี้ยวเล็บ พร้อมเดินหน้าเจาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ มั่นใจดันออเดอร์เพิ่ม

นายบัณฑิต โชติวรรณพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TCC ผู้นำเข้า และจำหน่ายถ่านหิน เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศ จำนวน 2 แห่ง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการติดต่อประสานงานทางการค้า โดยบริษัทแรกตั้งอยู่ที่เมืองกว่างโจว ประเทศจีน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และประสานงานในเรื่องการค้าถ่านหินในประเทศจีน โดยมีกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง

“บริษัทที่จีนได้จัดตั้งเสร็จและเริ่มดำเนินการไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา โดยมีทีมงานมืออาชีพในการสนับสนุนการขายประจำในพื้นที่ที่คอยดูแลกลุ่มลูกค้าโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีออเดอร์เพิ่มสูงขึ้น”นายบัณฑิต กล่าว

สำหรับบริษัทที่สองตั้งอยู่ที่เมืองจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย เพิ่งจัดตั้งเสร็จและดำเนินการเมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่กระชับพื้นที่ในการบริหารจัดการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเหมืองต่างๆโดยตรง โดยมีทีมงานอยู่ประจำในพื้นที่ตลอดทั้งปี เพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่ายคอมมิชชั่นจากตัวแทนต่างๆที่มักจะมีมูลค่าที่สูง

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า จากการจัดตั้งบริษัททั้งสองแห่งดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างเครือข่ายทางการค้าที่สามารถเข้าตรงต่อกลุ่มเป้าหมายได้อย่างใกล้ชิด และเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ทั้งในการซื้อ และการขายที่สอดรับ และเหมาะสมต่ออุปสงค์และอุปทานของแต่ละตลาดที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิด และที่สำคัญจะสามารถประหยัดต้นทุนที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมาก

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาขายถ่านหินล็อตใหญ่ให้กับโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในไม่ช้านี้ ซึ่งจะผลักดันให้ผลการดำเนินงานต่อจากนี้ไปจะเติบโตได้อย่างดี ทั้งนี้สำหรับแนวโน้มราคาถ่านหินโลกในปี 2556 นั้น ทางบริษัทเชื่อว่าจะเป็นปีที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน โดยเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาถ่านหิน (ICI Index) ในช่วง 8 — 12 อาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับตัวขึ้นในทุกค่าความร้อน (กิโลแคลลอรี่) และเป็นการปรับตัวแบบค่อยๆทะยานขึ้นไม่ต่ำกว่า 5%-10% เนื่องมาในจีนเองก็เริ่มมีการเพิ่มยอดการสั่งซื้อมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 55 และในหลายประเทศเริ่มประสบปัญหาการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอจากรูปแบบพลังงานเดิมๆไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ จึงทำให้ถ่านหินเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในอันดับแรกๆในการตอบสนองต่ออุปสงค์การใช้พลังงานดังกล่าว

บริษัทไอทีอินเดียรุกซื้อกิจการยุโรป

วันที่ 11 เมษายน 2556 02:43
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business
"ทาทา คอนซัลแทนซี เซอร์วิสเซส" บริษัทส่งออกบริการซอฟต์แวร์รายใหญ่สุดของอินเดีย ทุ่มเงิน 98 ล้านดอลลาร์หรือราว 2,900 ล้านบาท ซื้อกิจการบริษัทให้บริการเทคโนโลยีฝรั่งเศส "อัลติ" ในการเคลื่อนไหวที่จะช่วยให้บริษัทขยายธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

การเคลื่อนไหวข้างต้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทซอฟต์แวร์อินเดียจำนวนหนึ่ง พากันรุกเข้าซื้อกิจการ และทำข้อตกลงเอาท์ซอร์สจำนวนมากทั่วทั้งยุโรป ในช่วงปีที่ผ่านมา แม้จะต้องรับมือกับกฎหมายแรงงานที่เข้มงวด อุปสรรคด้านภาษา และต้นทุนดำเนินงานในระดับสูง

ข้อตกลงของทาทา ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ อินโฟซิส คู่แข่งที่มีขนาดใกล้เคียงกันที่สุด เพิ่งประกาศไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทำข้อตกลงถือครองกิจการครั้งใหญ่สุดของบริษัท ด้วยการเข้าซื้อกิจการบริษัทที่ปรึกษาสวิตเซอร์แลนด์ "โลเดอสโตน โฮลดิ้ง" มูลค่าราว 350 ล้านดอลลาร์ หรือราว 10,500 ล้านบาท

จากนั้น ในเดือนธันวาคม ค็อกนิแซนต์ เทคโนโลยี โซลูชั่น คอร์ป ที่พนักงานมากกว่า 3 ใน 4 ของบริษัทอยู่ที่อินเดีย ก็เข้าลงทุนในเยอรมนีด้วยการซื้อกิจการบริษัท 6 แห่ง ในวงเงินลงทุนที่ไม่มีการเปิดเผยมูลค่าแต่อย่างใด ตามด้วยกรณีของจีโอเมทริค เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ที่เข้าซื้อ 3แคป เทคโนโลยีส์ บริษัทเยอรมนี ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ ที่มีพนักงานอยู่ 110 คน โดยไม่เปิดเผยวงเงินการลงทุนเช่นเดียวกัน

การเข้าถือครองกิจการเหล่านี้ เกิดขึ้นแม้ยุโรปจะตกอยูภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจอันหนักหน่วง ที่ทำให้การขยายตัวช้าลง อัตราว่างงานสูง และวิกฤติหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นพักๆ แต่ปัญหาเหล่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้บริษัทอินเดียละทิ้่งแผนการรุกเข้าตลาดยุโรปแต่อย่างใด

ความสนใจในตลาดยุโรปเกิดขึ้น หลังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐกลายมาเป็นตลาดที่อิ่มตัวสำหรับผู้ส่งออกซอฟต์แวร์อินเดีย โดยมีการทำข้อตกลงจำนวนจำกัด และต้องเจอกับการแข่งขันอย่างดุเดือด ทั้งการขาดแคลนวีซ่าสำหรับแรงงานที่มีทักษะในสหรัฐ ยิ่งทำให้บริษัทอินเดียกังวลมากขึ้นในการทำธุรกิจที่สหรัฐ เพราะอาจต้องมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้นในการจ้างงานแรงงานอเมริกัน

วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

สายการบินอาร์เมเนียประกาศล้มละลาย

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2556 เวลา 22:08 น.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/world/194608
สายการบินอาร์เมเนีย ประสบภาวะขาดทุนและหนี้สินอย่างหนัก ประกาศภาวะล้มละลายเป็นรายล่าสุดแล้ว
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงเยเรวาน ประเทศอาร์เมเนีย เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ว่า อาร์มาเวีย สายการบินแห่งชาติรายล่าสุดของอาร์เมเนีย ต้องยุติการประกอบการพร้อมประกาศกระบวนการล้มละลายแล้วเมื่อวันจันทร์ เนื่องจากประสบปัญหาทางการเงินอย่างใหญ่หลวง อาร์มาเวีย ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเจ้าของสายการบินอาร์มาเวีย นำเงินจากการลงทุนในธุรกิจอื่นมาประคับประคองสายการบินแห่งนี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้เป็นไปไม่ได้ว่าจะยังคงดื้อดึงเดินหน้าทำงานกันต่อไป


อาร์มาเวีย ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2539 โดยนายมิคาอิล บักดาซารอฟ นักธุรกิจชาวอาร์เมเนีย มีเครื่องบินโดยสารแอร์บัส เอ320 ลำหนึ่ง, โบอิ้ง 737 3 ลำ และเครื่องบินขนาดกลางอีก 4 ลำ ให้บริการผู้โดยสาร


ทางบริษัทไร้ความสามารถในการชำระหนี้ สืบเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างหนัก และเป็นเหตุให้ล้มละลาย หรือถูกบังคับให้ต้องชำระหนี้ให้แก่สายการบินใหญ่อีกหลายสาย เช่นอเมริกัน แอร์ไลน์ส และคูบันของรัสเซีย

“เหลียงเฉาเหว่ย” อดร่วมงาน “อัตจัง” โครงการหนังล่มหลังผู้สร้างล้มละลาย

วันที่อัพเดท : 1 มีนาคม 2556
อัตสึโกะ มาเอดะ - เหลียงเฉาเหว่ย - โชตะ มัตสึดะ
ที่มา http://www.j-doramanga.com/lesson_detail/5257
       บริษัทหนัง Prenom H จากญี่ปุ่นถึง ขั้นล้มละลายเลยทีเดียว จากผลประกอบการที่ไม่ค่อยดีในระยะหลัง จนกระทั่งมาเจอวิกฤตเมื่อโครงการหนังเรื่องใหม่โดนผลกระทบจากข้อพิพาท ระหว่างประเทศจนไม่สามารถเปิดกล้องได้
       
       Prenom H บริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1988 กับการซื้อหนังอาร์ตยุโรป และเอเชียเข้ามาฉายในญี่ปุ่นรวมถึงผลงานของผู้กำกับชื่อดังอย่าง หว่องกาไวไช่หมิงเหลียง และโหวเสี่ยวเชี่ยน ต่อมาจึงมีโอกาสจัดจำหน่ายหนังของผู้สร้างญี่ปุ่น และยังได้สร้างภาพยนตร์เป็นของตัวเอง อาทิ Summer of Chirusoku (2003),Soup Opera (2010) กลับต้องมาปิดฉากบทบาทในวงการหนังในที่สุด หลังทางบริษัทได้ยื่นเอกสารขอล้มละลายกับศาลกรุงโตเกียวจากปัญหาหนี้สินก้อน โต 643 ล้านเยน (ประมาณ 207.8 ล้านบาท) แต่มีรายได้ตั้งแต่ต้นปี 2012 จนถึงเดือน ต.ค. ในปีเดียวกันแค่ 50 ล้านเยน (16.2 ล้านบาท) เท่านั้น
       
       Prenom H คืออีกหนึ่งบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์อิสระของญี่ปุ่นที่ต้องปิดตัวไปในระยะหลัง เช่นเดียวกับ Cine Qua NonTornado Film, RumblefishWise Policy,Xanadeux และ Movie Eye Entertainment ที่ขอยุติบทบาทไปก่อนหน้านี้ ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักของวงการหนังอิสระของญี่ปุ่น ในขณะที่หนังกระแสหลักกลับรุ่งเรืองทำเงินมหาศาลในแทบทุกปี
       
       สำหรับกรณีของ Prenom H นักวิเคราะห์ทางการเงินของ Teikoku Databank เชื่อว่าแม้บริษัทจะขาดทุนสะสมและมีหนี้สินจำนวนมาก แต่สาเหตุสำคัญที่สุด ที่ทำให้ Prenom H ต้องมีการยื่นขอล้มละลายน่าจะมากจากความล้มเหลวในการปั้นโครงการหนังฟอร์ม ใหญ่เรื่องล่าสุด ที่โดนผลกระทบของปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นนั่นเอง
       
       โดยก่อนหน้านี้ Prenom H กำลังมีโครงการใหญ่ร่วมสร้างหนังกับ Shochiku ในหนัง1905 งานแนวอิงประวัติศาสตร์ของ คุโรซาว่า คิโยชิ ที่เล่าเรื่องคนจีนในโยโกฮาม่าเมื่อร่วม 100 ปีก่อน เป็นโครงการหนังที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว กับการวางตัว โชตะ มัตสึดะอัตสึโกะ มาเอดะ อดีตสมาชิก AKB48 และนักแสดงหนุ่มชาวฮ่องกงเหลียงเฉาเหว่ย จากหนัง The Grandmaster ให้มาร่วมประชันบทบาทกัน จนกลายเป็นโครงการที่มีคนสนใจกันมากมาย
       
       แต่แล้วกลับมีข่าวว่าความขัดแย้งเรื่องข้อพิพาทการแย่งชิงหมู่เกาะ เซนกากุระหว่างสองประเทศอาจทำให้หนังมีปัญหา โดยเฉพาะชาวจีนจำนวนมากที่โจมตี เหลียงเฉาเหว่ย นักแสดงเชื้อสายจีนที่รับเล่นหนังเรื่องนี้
       
       ซึ่งแม้ เหลียงเฉาเหว่ย จะเคยออกปากว่าเขาอยากทำงานกับ คุโรซาว่า มาก แต่หลังเกิดเสียงวิจารณ์ขึ้นมา ความเคลื่อนไหวของหนังเรื่องนี้ก็เริ่มเงียบลง จนมีรายงานออกมาว่าเขาได้ถอนตัวจากหนังไปแล้ว ส่วนต้นสังกัดก็ให้ข่าวว่า เหลียงเฉาเหว่ย ยังไม่ได้เซ็นสัญญารับเล่นหนังเรื่องนี้อย่างเป็นทางการด้วยซ้ำไป
       
       หลังจากนั้นโครงการหนังเรื่อง 1905 ก็ดูจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จนกระทั่ง Prenom H เจ้าของโครงการได้ยื่นขอล้มละลาย หนังฟอร์มใหญ่เรื่องนี้จึงอาจไม่มีวันได้เปิดกล้องอีก

Prenom H บริษัทหนังที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศจนถึงขั้นล้มละลาย

ยุคมืดธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์

วันจันทร์ที่ 02 มกราคม 2012 เวลา 10:03 น.
กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก
ที่มา http://www.thannews.th.com/index.php?option
ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ถูกมองว่าเป็นทางออกที่จะช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลก แต่เวลานี้ผู้ประกอบการหลายรายในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์กำลังตกที่นั่งลำบาก จนบางรายถึงกับต้องปิดกิจการไป

 เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า การล้มละลาย ราคาหุ้นบริษัทตก และหนี้สินมูลค่ามหาศาล ก่อให้เกิดคำถามตามมาถึงความอยู่รอดของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่นับตั้งแต่ยุคทศวรรษ ค.ศ. 1970 ถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นหนทางที่นำพาโลกเข้าสู่ยุคใหม่แห่งพลังงาน ความต้องการพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกยังคงเติบโตขึ้น โดยจากการวิเคราะห์ของเจฟฟรีส์ กรุ๊ป ประเมินว่า ในปี 2554 มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นทั่วโลก 8% อย่างไรก็ตามความต้องการในปี 2555 นี้ ได้รับการคาดหมายว่าจะคงที่

 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ทรุดตัว คือ ราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์และส่วนประกอบ อาทิ โพลีซิลิโคน เวเฟอร์ เซลล์ รวมถึงตัวแผงเซลล์เอง ที่ลดต่ำลง ด้วยเหตุผลง่ายๆ นั่นคือ มีผู้ผลิตจำนวนมากเกินไปที่พยายามแข่งกันขายสินค้าของตนเอง

 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์อย่างน้อย 7 รายที่ยื่นล้มละลายหรือขาดความสามารถในการชำระหนี้ โดยในจำนวนดังกล่าวมีบริษัทสัญชาติเยอรมัน 2 ราย คือ บริษัท โซลาร์ มิลเลนเนียมฯ และบริษัท โซลอน เอสอีฯ รวมถึงกรณีของบริษัท โซลิดรา จากสหรัฐอเมริกา ที่พัวพันกับการถูกสอบสวนทางอาญาว่าฉ้อโกงรัฐบาลสหรัฐฯ หรือไม่

 ในจำนวน 10 อันดับบริษัทผลิตชิ้นส่วนสำหรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดตามมูลค่าในตลาด มีถึง 6 บริษัทที่รายงานผลประกอบการขาดทุนในไตรมาส 3 ของปี 2554 และมีเพียงบริษัทเดียวที่ทำรายได้ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ 6 ใน 10 บริษัทยังมีมูลค่าหนี้สูงกว่ามูลค่าบริษัทในตลาดอีกด้วย

 มีอีกหลายบริษัทในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีสถานการณ์การเงินที่ย่ำแย่ เช่น บริษัท เอเนอร์จี คอนเวอร์ชัน ดีไวเซส ของสหรัฐฯ ที่มูลค่าหุ้นตกฮวบลงถึง 95% ในปี 2554 และต้องหยุดการผลิต ยืดเวลาการชำระดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างพนักงาน

 แม้แต่บริษัท เฟิสต์ โซลาร์ฯ ซึ่งเป็นผู้เล่นที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรม ก็ยังต้องปรับโครงสร้างเนื่องจากผลประกอบการที่อ่อนแอลง นายไมค์ อาเฮิร์น ประธานของเฟิสต์ โซลาร์ ยอมรับว่าอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จะมีปัญหาเรื่องความกดดันของราคาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งหมายความว่าการถอนตัวของบริษัทผู้ผลิตบางรายออกจากตลาดจะเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง "อุตสาหกรรมไม่สามารถรองรับผู้ผลิตเซลล์เกินกว่า 300 รายได้ ดังนั้นจะต้องมีบริษัทที่ยังคงเหลืออยู่ยอมแพ้และออกจากอุตสาหกรรมไป" นายเซงรง ชี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ซันเทค พาวเวอร์ โฮลดิงส์ฯ ผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์จากจีนให้ความเห็น ซันเทคลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงอย่างน้อย 20% ในปีหน้าด้วยความหวังว่าจะดึงมูลค่าหุ้นขึ้นจากที่ลดลง 70% ในปีนี้

 จำนวนผู้ผลิตที่มีมากเกินความต้องการเกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาด นายทุนก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรม และนักลงทุนกว้านซื้อหุ้นไอพีโอของบริษัทด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ท่ามกลางราคาน้ำมันที่พุ่งสูง และการตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลยุโรปก็ให้เงินอุดหนุนจำนวนมากสำหรับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นการเพิ่มความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้นอีก

 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ การตัดสินใจของรัฐบาลจีนให้ธนาคารภายในประเทศปล่อยกู้โดยไม่มีเงื่อนไขให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก นิว เอเนอร์จี ไฟแนนซ์ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2551 ธนาคารจีนให้สินเชื่อเป็นมูลค่ารวมแล้วอย่างน้อย 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับบริษัทด้านพลังงานทดแทนสัญชาติจีน ซึ่งการเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายในเวลาที่การปล่อยสินเชื่อทั่วโลกมีไม่มากนัก ทำให้บริษัทจีนสามารถสร้างโรงงานและเริ่มเดินสายการผลิต บีบให้คู่แข่งในยุโรปและสหรัฐฯ ต้องทำตาม

 การผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์จำนวนมากส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างดุเดือด เมื่อปีก่อน ลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายแผงเซลล์และนักพัฒนาโครงการ สามารถซื้อแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ในราคา 1.60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัตต์โดยเฉลี่ย แต่เวลานี้ราคาอยู่ที่ 90 เซ็นต์-1.05 ดอลลาร์ต่อวัตต์ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ กำลังสอบสวนคำร้องของผู้ผลิตชาวสหรัฐฯ ที่กล่าวหาว่ามีการทุ่มตลาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์จากผู้ผลิตชาวจีนในตลาดสหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,702  5-7 มกราคม  พ.ศ. 2555

บาฟส์จ่อขึ้นค่าบริการโลวคอสต์ ต.ค.นี้

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 เมษายน 2556 18:09 น.


ที่มา http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000046288
ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล
ASTVผู้จัดการรายวัน - “บาฟส์” จ่อขยับขึ้นค่าบริการเติมน้ำมันอากาศยานโลวคอสต์ที่ดอนเมืองต้นตุลาคมนี้ ดันรายได้ทั้งปีโตขึ้นกว่า 6% มั่นใจFPTออกจากศาลล้มละลายกลางได้ พ.ค.นี้ พร้อมศึกษาแผนขยายการลงทุนโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันอยุธยา-พิษณุโลก-ลำปาง ได้ข้อสรุป ก.ย. 56
     
       ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บาฟส์) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนจะปรับขึ้นอัตราค่าบริการเติมน้ำมันอากาศยาน (เจ็ท) กับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลวคอสต์ แอร์ไลน์) ที่สนามบินดอนเมืองในต้นเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากโลวคอสต์มีเที่ยวบินมากแต่การเติมน้ำมันแต่ละครั้งไม่สูง ทำให้มีต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันบาฟส์คิดอัตราค่าบริการทุกสายการบินในดอนเมืองเท่ากันหมดอยู่ที่ 55 สตางค์/ลิตร
     
       หากบริษัทฯ มีการปรับขึ้นอัตราค่าบริการเติมน้ำมันกับโลวคอสต์ แอร์ไลน์ จะทำให้รายได้ของบริษัทโตเพิ่มขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ในปีนี้ขยายตัว 6% จากปีก่อน
       
       ม.ร.ว.ศุภดิศกล่าวถึงความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ขนส่งน้ามันทางท่อ จำกัด (FPT) ว่า ขณะนี้บริษัท FPT อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง คาดว่าจะออกจากการฟื้นฟูฯ ได้ในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ FPTอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการขยายแนวท่อขนส่งน้ำมันสายอยุธยา-พิษณุโลก-ลำปาง ระยะทาง 550 กิโลเมตร เพื่อลดการขนส่งน้ำมันทางรถยนต์ไปภาคเหนือ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเส้นทางและอัตราค่าบริการ
     
       โครงการขยายแนวท่อขนส่งน้ำมันจากอยุธยา-พิษณุโลก-ลำปางจะต้องมีการสร้างคลังน้ำมันที่พิษณุโลกและลำปาง ความจุ 100 ล้านลิตร/คลัง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนโครงการนี้ประมาณ 6.5 พันล้านบาท ดยแหล่งเงินทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาในหลายรูปแบบทั้งกการกู้ยืมสถาบันการเงินโดยมีบาฟส์ค้ำประกัน การออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์) หรือการออกหุ้นกู้ เป็นต้น
     
       “กระทรวงพลังงานได้ติดต่อทาง FPT ว่าสนใจที่วางท่อจากไปยังภาคเหนือจากเดิมที่บริษัทฯมีท่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นบางจาก-บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะมีการเชื่อมกับท่อน้ำมันแทปไลน์เพื่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นที่ระยองด้วย หากโครงการนี้มีผลตอบแทนที่ดี ก็คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปีหน้า ใช้เวลา 3 ปี โดยค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจะต่ำกว่าการขนส่งน้ำมันทางรถยนต์”
     
       นายฉัตรชัย พันธัย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2556 บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้โตขึ้น 2-3% จากปีก่อน ตามปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานที่โตขึ้น 2-3% ทั้งปีคาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันจะขยายตัวขึ้น 6% เพราะธุรกิจสายการบินในเอเชียยังดีอยู่
     
       ส่วนความคืบหน้าการวางระบบท่อน้ำมันใต้ดินในโครงการขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 ใช้เงินลงทุน 700 ล้านบาท ของบริษัทย่อยนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอคำตอบจากกฤษฎีกา หลัง บมจ.ท่าอากาศยานไทยได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้พิจารณา

"ศรีอยุธยา"หาช่องเทคโอเวอร์ประกันเพิ่ม


"ศรีอยุธยา"หาช่องเทคโอเวอร์ประกันเพิ่ม
28 มีนาคม 2556
เวลา 17:05 น.
ที่ีมาhttp://www.posttoday.com/
ศรีอยุธยา แคปปิตอล ลั่นพร้อมเทคโอเวอร์บริษัทประกัน เล็งเพิ่มสัดส่วนหุ้นอลิอันซ์ประกันชีวิต
นายโรวัน ดี อาซี่ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทศรีอยุธยา แคปปิตอล เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนหรือซื้อธุรกิจประกันวินาศภัยอื่นเพิ่มเติม รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท อลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต หรือ AZAY ให้ได้มากขึ้น เนื่องจากบริษัทต้องการเข้าไปมีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการธุรกิจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา บริษัท อลิอันซ์ฯ ส่งกำไรกลับมาให้บริษัทเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่สูง เมื่อเทียบกับบริษัทศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย  ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออีกแห่ง ที่ส่งกำไรกลับมาให้บริษัท 100%

“การลงทุนทั้งในบริษัทประกันวินาศภัยและประกันชีวิต จะเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจและสร้างรายได้ให้กับเรามากขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องการซื้อธุรกิจประกันวินาศภัยอยู่และคงต้องใช้เวลาดูพอสมควร  แต่หากเห็นว่ามีบริษัทไหนที่เหมาะสมและน่าสนใจ  ก็พร้อมพิจารณาทันที  ซึ่งเชื่อว่าแผนการลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายโรวัน กล่าว

อย่างไรก็ตาม  ในช่วงนี้บริษัทคงใช้วิธีการเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อหารายได้จาการลงทุนแทนก่อน  โดยรอดูจังหวะเหมาะสม  เนื่องจากทิศทางการลงทุนในหุ้นไทยขณะนี้ มีความผันผวนค่อนข้างมาก จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่บริษัทจะยึดหลักลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดีและมีการจ่ายปันผลต่อเนื่องอยู่แล้ว  เป็นการลงทุนกระจายในทุกกลุ่มเพื่อลดความเสี่ยง จึงไม่น่ากังวล  

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทมีเงินลงทุนอยู่  5,500  ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจประกันโดยถือหุ้นในบริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย บริษัท อลิอันซ์อยุธยา ประกันชีวิต รวมถึงตราสารทุนและเงินฝากในธนาคาร

สำหรับแผนการลงทุนของบริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัยนั้น คงต้องชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน 1-2 ปี จนกว่าจะจัดการเรื่องค่าสินไหมจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เรียบร้อย เนื่องจากบริษัทได้รับความเสียหายสูง

ช็อก! ธนาคารดัง “บาร์เคลย์” ขาดทุนยับ 4.8 หมื่นล้าน

ช็อก! ธนาคารดัง “บาร์เคลย์” ขาดทุนยับ 4.8 หมื่นล้าน-จ่อปลด พนง.อื้อ อาจกระทบฐานะสปอนเซอร์ฟุตบอล “พรีเมียร์ลีก”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 กุมภาพันธ์ 2556 17:30 น.

ที่มา http://www.manager.co.th/Around/ViewNews
       เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - “บาร์เคลย์” ธนาคารชื่อดังของอังกฤษซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงลอนดอน ประกาศในวันอังคาร (12) เตรียมปลดพนักงานอย่างน้อย 3,700 ตำแหน่งภายในปีนี้ จากจำนวนพนักงานในสังกัดทั้งหมด 140,000 คน โดยตำแหน่งงานที่จะถูกปลดในครั้งนี้ประกอบด้วยพนักงาน 1,800 คนในสายงานธนาคารเพื่อการลงทุน และอีก 1,900 คนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ารายย่อยและธุรกิจในยุโรป หลังผลประกอบการหลังหักภาษีขาดทุนยับถึง 1.04 พันล้านปอนด์ (ราว 48,455 ล้านบาท) ในปี 2012 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับผลประกอบการเมื่อปี 2011 ที่เคยมีกำไรสุทธิถึง 3 พันล้านปอนด์ (ราว 139,850 ล้านบาท)
     
       แอนโทนี เจนกินส์ ซีอีโอของบาร์เคลย์ ยอมรับว่า ปี 2012 ถือเป็นปีแห่งความยากลำบากของบาร์เคลย์ รวมถึงภาคธนาคารของอังกฤษในภาพรวมซึ่งถูกครอบงำด้วยการลงทุนแบบผลีผลามของเหล่านายแบงก์ที่คำนึงถึงแต่ผลกำไรระยะสั้นมากกว่าความมั่นคงในระยะยาว และละเลยความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และสังคมในภาพกว้าง พร้อมเผยว่านอกจากมาตรการปลดพนักงานดังกล่าวแล้วทางบาร์เคลย์ยังต้องดำเนินการตัดลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรให้ได้กว่า 1.7 พันล้านปอนด์ (ราว 79,247 ล้านบาท) ภายในปี 2015 อีกด้วย
     
       เจนกินส์เพิ่งเข้ามารับหน้าที่ผู้บริหารของธนาคารบาร์เคลย์แทนที่บ็อบ ไดมอนด์ เมื่อ 5 เดือนก่อน หลังจากที่บาร์เคลย์ถูกหน่วยงานผู้คุมกฎของทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ ปรับเงินกว่า 290 ล้านปอนด์ (ราว 13,522 ล้านบาท) จากความเกี่ยวข้องกับเรื่องฉ้อฉลอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของการทำกู้ยืมระหว่างธนาคารในกรุงลอนดอน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยรายวันในการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารในกลุ่มยูโรโซน
     
       อย่างไรก็ดี เจนกินส์ซึ่งเพิ่งออกมาปฏิเสธไม่ขอรับเงินโบนัสประจำปี 2012 มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านปอนด์ (ราว 47 ล้านบาท) ไปเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ยอมเปิดเผยว่าสถานะที่ย่ำแย่ของธนาคารในขณะนี้จะกระทบการเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของศึกฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษหรือไม่ หลังจากมีข่าวลือว่าทางธนาคารบาร์เคลย์ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักให้ศึกพรีเมียร์ลีกมาตั้งแต่ปี 2001 อาจจำต้องถอนตัวจากการสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลรายการดังกล่าวในอนาคตอันใกล้นี้
     
       ทั้งนี้ บาร์เคลย์ซึ่งมีกิจการในมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ.1690 และถือเป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดเป็นลำดับที่ 6 ของโลกที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่

JYP ประกาศปิดสำนักงานในสหรัฐฯ หลังขาดทุนยับ


JYP ประกาศปิดสำนักงานในสหรัฐฯ หลังขาดทุนยับ
พัคจินยอง J.Y. Park
ที่มา http://star.kapook.com/view59270.html
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก allkpop

          ดูเหมือนว่าทางบริษัท JYP Entertainment ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ต้นสังกัดของศิลปินชื่อดังอย่าง Wonder Girls, 2PM, 2AM และ Miss A จะประสบปัญหาใหญ่ทีเดียว เมื่อทาง JYP ได้ตัดสินใจปิดบริษัทสาขาที่สหรัฐอเมริกา หลังก่อตั้งได้เพียง 1 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2011 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2012 เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ JYP Entertainment ที่บริหารงานโดย พัคจินยอง หรือ J.Y. Park ได้ลงทุนเป็นเงินถึง 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อก่อตั้งสาขาที่สหรัฐอเมริกา สำหรับช่วยสนับสนุนการโปรโมทของศิลปินในค่ายที่นั่น แต่กลับต้องประสบภาวะขาดทุนถึง 119 ล้านวอน หรือประมาณ 106,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2011 และยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาจนปี 2012 ซึ่งรวมแล้วทางค่ายขาดทุนถึง 1.7 พันล้านวอน หรือประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เลยทีเดียว

           เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนดังกล่าว J.Y. Park ได้ลงทุนเปิดร้านเนื้อย่างเกาหลี Kristalbelli ที่นิวยอร์ก แต่ก็ดูเหมือนกิจการจะไปได้ไม่ดีเท่าไรนัก เพราะประสบปัญหาขาดทุนเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ร้านเนื้อย่างดังกล่าวก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่

          แม้ว่าจะตัดสินใจปิดสาขาที่อเมริกาแล้ว แต่ทาง JYP ก็ยังยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่มีผลอะไรกับแผนการโปรโมทของศิลปินในค่ายอย่างแน่นอน โดย JYP Entertainment กล่าวอย่างมั่นใจว่า การปิดตัวของบริษัทสาขาที่อเมริกา จะไม่ส่งผลต่อการโปรโมทของศิลปิน ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากลแต่อย่างใด เนื่องจากศิลปินในค่ายอย่าง 2PM, miss A และวงอื่น ๆ จะเน้นการโปรโมทในเอเชีย เช่นที่ญี่ปุ่นและจีน มากกว่าอเมริกาอยู่แล้ว รวมถึงทางค่ายยังไม่มีแพลนจะโปรโมทพวกเขาที่อเมริกาในเร็ว ๆ นี้ด้วย ดังนั้นการปิดสาขาที่อเมริกา จึงไม่ส่งผลกระทบอะไรกับพวกเขาเลย

กู้วิกฤติ"โซนี่"ขาดทุนยับ!!!!!!

ที่มา http://www.gotcha.co.th/finance/1303022602
กู้วิกฤติ"โซนี่"ขาดทุนยับ!!!!!!
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ว่า โซนี่ แถลงว่า บริษัทได้ขายอาคารใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว เป็นมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ แล้วเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนของบริษัท โดยตึกดังกล่าวเป็นหนึ่งในตึกอาคารบริหารใหญ่ของโซนี่ มีจำนวน 25 ชั้น ซึ่งเป็นแผนกพัฒนาสินค้าโทรทัศน์ ขายให้แก่กลุ่ม"นิปปอน บิวดิ้ง ฟันด์"และนักลงทุนในสถาบันการเงินรายหนึ่ง
       
โดยการขายครั้งนี้ จะทำโซนี่ได้กำไรจากการขายเป็นจำนวนเงิน 41,000 ล้านเยน และถือเป็นการปรับฐานธุรกิจและสินทรัพย์ของโซนี่ เพื่อเสริมโครงสร้างการเงินที่เข้มแข็งให้แก่บริษัท และเป็นส่วนหนึ่งของการปรับองค์กรโซนี่ด้วย และว่า โซนี่ จะยังคงทำงานในอาคารในกรุงโตเกียว ภายใต้สัญญาเช่า 5 ปี
       
รายงานระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ โซนี่ ประกาศว่าจะสามารถสร้างรายได้ 1,200 ล้านดอลลาร์จากการขายแผนกการแพทย์ออนไลน์ของโซนี่ ซึ่งจะทำให้โซนี่มีผลประกอบการได้กำไรตลอดปีเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ โซนี่ เพิ่งประกาศขายตึกสำนักงานโซนี่หลายแห่งในแมนฮัตตัน เป็นจำนวนเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งมีแผนจะปรับยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่ รวมทั้งการปลดพนักงานหลายพันตำแหน่ง การขายแผนกเคมี และแผนกการลงทุนในกิจการ"โอลิมปัส"โดยที่ผ่านมา การวางจำหน่ายโทรทัศน์"บราเวีย"ของโซนี่ และเกมส์เพลย์สเตชั่น เมื่อปีที่แล้ว ปรากฎว่าขาดทุนเป็นจำนวน 456,000 ล้านเยน (ราว 182,000 ล้านบาท) และโซนี่ ประกาศลั่นว่า จะกลับมาทำกำไรเฉลี่ย 20,000 ล้านเยน (8,000 ล้านบาท) ในปีนี้จนถึงรอบเดือนมี.ค.
       
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน โซนี่ เพิ่งประกาศจะวางจำหน่ายเกมส์เพลย์ สเตชั่น 4 ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดจากสินค้าเกมส์ราคาถูก รวมทั้งเกมส์ฟรี ที่สามารถดาวน์โหลดได้จากมือถือสมาร์ทโฟนและแท็บเลตด้วย

พฤกษาถอดใจลงทุนมัลดีฟส์ แลกเปลี่ยนเงินทำขาดทุนยับ



ที่มา http://www.dbbnews.com/index.php/real-estate
พฤกษา  ถอนลงทุนมัลดีฟส์  เหตุอัตราแลกเปลี่ยนทำขาดทุนกว่า  50  ล้านบาท  เล็งขายที่ดินชดเชย  “ทองมา”  ทุ่มงบส่วนตัวกว่า  3,000  ล้านบาท  สร้างอาคารพฤกษาเป็นสำนักงานพื้นที่  54,000  ตร.ม.ปากซอยอารีย์  มั่นใจธุรกิจจอสังหาริมทรัพย์ปี  2556  ตลาดกลาง-บนมาแรงแน่

นายทองมา  วิจิตรพงศ์พันธุ์  ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ  บริษัท  พฤกษา  เรียลเอสเตท  จำกัด  (มหาชน)  เปิดเผยว่า  บริษัทตัดสินใจถอนการลงทุนจากประเทศมัลดีฟส์  เนื่องจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนหลังการลงทุน  ซึ่งการลงทุนที่มัลดีฟส์จะนำเงินสกุลดอลลาร์ไปลงทุน  แต่หากขายได้และต้องการนำเงินกลับประเทศจะต้องเป็นสกุลเงินรูฟียาของมัลดีฟส์  ซึ่งจะทำให้ค่าเงินลดลง  15-16%  ส่งผลให้บริษัทขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้วกว่า  50  ล้านบาท  อย่างไรก็ตาม  การขาดทุนดังกล่าวอาจชดเชยด้วยการขายที่ดินที่ยังไม่พัฒนาอีก  60%  ได้  ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะสามารถขายที่ดินได้เท่าใด

นอกจากนี้มัลดีฟส์ยังเป็นตลาดเล็ก  มีประชากรเพียง  3  แสนคน  ธนาคารที่ปล่อยกู้ลูกค้ารายย่อยมีเพียงแห่งเดียว  วันดีคืนดีก็หยุดปล่อยสินเชื่อ  รวมไปถึงการไม่มีโรงงาน  ทำให้มีความเสี่ยงด้านการลงทุนมากกว่าผลตอบแทนที่จะได้รับ  โดยที่ผ่านมาบริษัทได้นำเม็ดเงินเข้าไปลงทุนประมาณ  250-300  ล้านบาท  ร่วมกับบริษัท  เฮ้าส์ซิ่ง  ดีเวลลอปเม้นท์  คอร์ปอเรชั่น  หรือ  HDC  รัฐวิสาหกิจของมัลดีฟส์  ภายใต้บริษัทร่วมทุน  พฤกษา-เอชดีซีเฮาส์ซิ่ง  จำกัด  โดยลงทุนพัฒนาคอนโดมิเนียม  Coral  Ville  บนเกาะฮูลูมาเล่  จำนวน  2,400  ยูนิต  ที่ผ่านมาพัฒนาในเฟสแรกไปแล้วบนพื้นที่  4.35  ไร่  ประกอบด้วย  9  อาคาร  จำนวน  180  ยูนิต  มูลค่าโครงการประมาณ  470  ล้านบาท  หรือคิดเป็น  40%  ของจำนวนที่ดินทั้งหมด  โดยในไตรมาส  2  คาดว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จจึงจะสามารถถอนการลงทุนกลับประเทศได้

ส่วนการลงทุนในประเทศอื่นๆของพฤกษา  ได้แก่  บังกาลอร์  ประเทศอินเดีย  ขณะนี้มียอดจองแล้ว  765  ล้านบาท  จากมูลค่าโครงการ  1,650  ล้านบาท  ปัจจุบันโอนไปแล้ว  272  ล้านบาท  นอกจากนี้ยังได้ร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใน  เมืองมุมไบ  ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาซื้อที่ดิน  ขณะที่เวียดนามจะเปิดจองบ้านได้ในไตรมาส  3  ของปีนี้  และที่อินโดนีเซียอยู่ระหว่างเจรจาซื้อที่ดิน

นายทองมา  กล่าวต่อว่า  ได้ก่อตั้งบริษัท  ชัญญา  เรียลเอทเตส  จำกัด  ด้วยทุนส่วนตัวกว่า  3,000  ล้านบาท  แบ่งเป็นเงินซื้อที่ดิน  1,300  ล้านบาท  งบประมาณก่อสร้างอีกกว่า  1,600  ล้านบาท  พัฒนาเป็นอาคารสำนักงานขนาด  54,000  ตร.ม.  บริเวณปากซอยอารีย์  แบ่งเป็นพื้นที่สำนักงาน  36,000  ตร.ม.  เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของพฤกษา  เนื่องจากในปัจจุบันพฤกษาต้องใช้พื้นที่สำนักงานถึง  4  อาคาร  ทำให้ยุ่งยากในการเดินทางและบริหารจัดการ  หากอยู่ในพื้นที่เดียวกันก็จะทำให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

ส่วนสาเหตุที่ใช้เงินส่วนตัวแทนที่จะเป็นเม็ดเงินลงทุนของพฤกษา  เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวให้ผลตอบแทนเพียง  6%  ต่อปีซึ่งจะใช้เวลาคืนทุนนาน  ในขณะหากพฤกษานำเม็ดเงินดังกล่าวไปลงทุนพัฒนาโครงการเพื่อขายจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง  20%  เนื่องจากมีรอบการลงทุนเพียง  117  วันเท่านั้น

ด้านภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี  2555  มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ  700,000  ล้านบาท  แบ่งเป็นเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล  350,000  ล้านบาท  และต่างจังหวัด  350,000  ล้านบาท  คาดปีนี้มูลค่ารวมตลาดน่าจะเติบโตประมาณ  7%  จากการใช้จ่ายของภาครัฐ  กำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นของภาคประชาชน  การเปิด  AEC  และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มสังคมเมืองมากขึ้นในกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด  ซึ่งส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น  โดยระดับราคาที่คาดว่าจะมีการเติบโตมากที่สุดในปีนี้คือ  ระดับกลาง-บน

"ภาวะฟองสบู่ที่หลายฝ่ายกังวลนั้น  บริษัทได้ออกมาตรการสำหรับป้องกันปัญหาดังกล่าว  โดยเน้นบุกตลาดแนวราบโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง  ในส่วนโครงการแนวสูงบริษัทได้ใช้มาตรการส่งเสริมกลุ่มที่ซื้อและสามารถโอน  ได้จริง  อาทิ  กลุ่มลูกค้าภายใน  พนักงาน  ส่วนกลุ่มลูกค้าภายนอกบริษัทจะวิเคราะห์  จำแนกและสกัดกลุ่มนักลงทุนที่มีพฤติกรรมจองเกินกว่า  3  ยูนิตขึ้นไปโดยจะเชิญมาสอบถามก่อนการอนุมัติจอง  เนื่องจากบริษัทไม่มีมาตรการส่งเสริมการซื้อขายใบจองโดยไม่มีแนวโน้มที่จะโอน"  นายทองมา  กล่าว

ด้าน  นายประเสริฐ  แต่ดุลยสาธิต  กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการกล่าวว่า  ในสิ้นปี  2555  บริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้  (backlog)  ที่  35,396  ล้านบาท  โดยจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้  24,490  ล้านบาท  ซึ่งคิดเป็น  73%  ของเป้าหมายรายได้ปีที่ตั้งไว้  34,000  ล้านบาท  จึงมั่นใจว่าในปีนี้จะสามารถทำรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย  ส่วนในปี  2556  คาดว่ากำไรสุทธิและรายได้ของบริษัทจะทำสถิติสูงสุดอีกครั้ง  โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิเกิน  5,000  ล้านบาท  จากปีก่อน  ที่มีกำไรสุทธิ  3,890  ล้านบาท  และรายได้มีโอกาสแตะ  40,000  ล้านบาทจากเป้าหมายที่ตั้งไว้  34,000  ล้านบาท  จากสต็อกและ  backlog  ที่มีอยู่ในปีนี้  โดยปีนี้จะมียอดโอนคอนโดมิเนียมเข้ามามากถึง  9,545  ล้านบาท  ซึ่งอัตรากำไรสูงกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น  ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรสุทธิรวมในปีนี้อยู่ที่  15-16%  จากปีก่อนอยู่ที่  14%  ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มเป็น  35%  จากปีก่อนอยู่ที่  34%

"ในปีนี้  เรามียอดโอนคอนโดฯ  ประมาณ  1  ใน  3  ของรายได้  ซึ่งคอนโดฯ  จะมี  Net  Profit  Margin  ที่  18%  และ  Gross  Profit  Margin  40%  ซึ่งสูงกว่าบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์  ประกอบกับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นมาก  ทำให้รายได้และกำไรปีนี้สูงขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง"

นายประเสริฐ  กล่าวอีกว่าปีนี้  บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่  78  มูลค่ารวม  55,000  ล้านบาท  ทั้งในกรุงเทพ  ต่างจังหวัด  และต่างประเทศ  ประกอบด้วยทาวน์เฮาส์  47  โครงการ,  บ้านเดี่ยว  16  โครงการ  และคอนโดมิเนียม  13  โครงการ  ส่วนโครงการในต่างประเทศมี  2  โครงการ  ได้แก่ที่เมืองมุมไบ  ประเทศอินเดีย  มูลค่า  1,000  ล้านบาท  และที่เวียดนาม  เมืองไฮฟง  มูลค่า  3,000  ล้านบาท  ที่คาดเปิดจองได้ในไตรมาส  3/56  หลังมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเสร็จสิ้นแล้ว  ส่วนงบซื้อที่ดินในปีนี้  ตั้งไว้ที่  15,000  ล้านบาท  นอกจากนี้  บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้  วงเงิน  6,000  ล้านบาท  อายุ  3  ปี  5  ปี  ในช่วงกลางปีนี้  โดยจะนำมาทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน  จำนวน  4,500  ล้านบาท  ส่วนอีก  1,500  ล้านบาท  ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน