วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

จดไว้ในหัวใจ คนสหพัฒน์




จดไว้ในหัวใจ คนสหพัฒน์

จดไว้ในหัวใจ คนสหพัฒน์

วัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งของ "สหพัฒน์" จากการสั่งสมรุ่นสู่รุ่นและคงเด่นชัดจนถึงปัจจุบัน คือ องค์ความรู้ที่เกิดจาก "ประสบการณ์" สั่งสมอย่างยาวนาน เป็นคำสอนจากผู้นำองค์กรแบบนักต่อสู้และนักเรียนรู้ตัวยง ถ่ายทอดสิ่งนั้นประดุจวัฒนธรรมองค์กร ฝังแน่นอยู่ในใจคนสหพัฒน์
ด้วยความเป็นองค์กรมีประวัติยาวนานกว่าค่อนศตวรรษ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษา "ความเป็นสหพัฒน์" เอาไว้ แม้ว่าวันนี้ได้เปลี่ยนผ่านผู้นำมาแล้ว 2 เจ เนอเรชั่น จากยุคก่อตั้งโดย "เทียม โชควัฒนา" สู่ยุคสานต่อความสำเร็จโดย "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" ประธานเครือสหพัฒน์คนปัจจุบัน แต่ด้วยความเป็นองค์กรที่มีบริษัทในเครือกว่า 200 บริษัท พนักงานอีกกว่าแสนชีวิต ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาและคงเอกลักษณ์ต่าง ๆ ไว้
แต่สำหรับองค์กรแห่งนี้ การบริหารจัดการกลับเป็นความเรียบง่ายที่นึกไม่ถึง

ด้วยสไตล์ถึงลูกถึงคนของผู้นำทั้ง 2 ยุค การลงไปคลุกคลีและปลุกปั้นธุรกิจต่าง ๆ ด้วยตัวเอง สิ่งที่ทั้งคู่เลือกทำ คือ การถ่ายทอด "องค์ความรู้" ทุกอย่างที่มีให้กับคนรอบข้างอยู่เสมอ

เป็นการสอนจากชีวิตและประสบการณ์จริงที่ประสบพบเจอด้วยตัวเอง

เป็น ฮาวทูตามแบบฉบับสหพัฒน์ซึ่งผ่านการพิสูจน์มาแล้ว เป็นฮาวทูที่กลั่นจากชีวิตจริงที่ค่อย ๆ ก่อตัวตกผลึก ไม่ได้อิงแอบหรืออ้างถึงการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรใด ๆ ในทุก ๆ ชั้นเรียน

แม้จะล่วงลับมานาน วันนี้นายห้างเทียมได้ทิ้งมรดกคำสอนแห่งชีวิตผ่าน "บันทึกความจำ" 3 เล่มหนาปึ้ก ซึ่งบันทึกไว้ในช่วงปี 2514-2521 ถือเป็นอนุสรณ์ความคิดที่สำคัญอย่างยิ่งของวงการธุรกิจเมืองไทย

ในการตีพิมพ์บันทึกความเข้าใจดังกล่าวโดยสำนักพิมพ์เทียนทอง นายห้างเทียมได้เขียนคำปรารภในหนังสือดังกล่าวว่า

"...ข้าพเจ้า บันทึกสิ่งทั้งหมดนั้นด้วยความมุ่งหมายประการแรก คือ เตือนตนเองให้เข้าใจในความสำเร็จหรือล้มเหลว หรือบทเรียนเหล่านั้นให้กระจ่างขึ้นไปอีก ความมุ่งหมายข้อต่อมาก็เพื่อให้บุตรหลาน มิตรสหายและผู้ใกล้ชิดข้าพเจ้า หากว่าเขาจะได้อ่าน ดังนั้นเขาจะได้รู้ ได้เข้าใจตัวข้าพเจ้าดียิ่งขึ้น ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องเห็นด้วย เพราะข้าพเจ้าปรารถนาเพียงให้เขาได้ รับรู้เท่านั้น อื่นใดนอกเหนือไปจากนี้อยู่ที่วิจารณญาณของเขาเอง"

หากมีโอกาสอ่านบันทึกความจำทั้ง 3 เล่ม ด้านหนึ่งอาจไม่สนุกสนานเหมือนหนังสือแนวการตลาดยุคใหม่ เช่นเดียวกับสำบัดสำนวนอาจไม่ตื่นเต้น เร้าใจ

สิ่ง มีค่ายิ่งกว่า คือ ประสบการณ์จริงของชายคนหนึ่งที่ด้อยกว่าคู่แข่งในทุก ๆ ด้าน ทั้งชาติตระกูล การศึกษา ความรู้ เงินทุน ฯลฯ แต่สามารถนำพาองค์กรให้ก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าด้วยแบบฉบับของตัวเองอย่างโดด เด่นไม่เหมือนใคร

"บุญฤทธิ์ มหามนตรี" ลูกหม้อสหพัฒน์อีกคนหนึ่งเล่าว่า เป็นหนึ่งในบรรดา ผู้บริหารที่ได้รับคำแนะนำจากนายห้างเทียมอย่างสม่ำเสมอผ่าน "บันทึกความจำ" ซึ่งเขาเล่าติดตลกว่า "เมื่อนำบันทึกนั้นไปถ่ายทอดให้ลูกน้อง ทำให้ได้รับเครดิตจากลูกน้อง คิดว่าเราเก่ง แต่จริง ๆ เพราะนำคำของนายห้างมาสอน"

"ท่านจะเขียนบันทึกความจำ และนำมาแจกจ่ายให้กับผู้บริหารทุกคนเดือนละฉบับ ถือเป็นประเพณีทุกเดือนที่ท่านจะต้องส่งมา เรารอว่าเมื่อไรจะมา พอมาแล้วรีบอ่าน เป็นสิ่งคุ้มค่าในการพัฒนาตัวเองอย่างยิ่ง"

ที่ สำคัญเป็นการสอนแบบไม่มีเก็บงำ "เคล็ดลับ" ต่างกันลิบลับจากภาพยนตร์จีนกำลังภายใน อาจารย์มักจะถ่ายทอดสิ่ง ต่าง ๆ ให้กับลูกศิษย์เพียงบางส่วน ขณะที่ "เคล็ดลับ" สำคัญจะยังคงเก็บไว้กับตัวเอง เพราะกลัวว่าสักวันลูกศิษย์จะก้าวขึ้นแซงหน้า หรือมาล้างครู

แต่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในวัฒนธรรมองค์กรของสหพัฒน์

"ถ้าไปคุยกับศิษย์เก่าสหพัฒน์ทุกคนก็จะตอบแบบนี้หมด ถามร้อยคนก็จะตอบแบบนี้ ท่านสอนเป็นเล่ม

เราก็เอามาใช้เยอะ ตลอดชีวิตการทำงานปรัชญาของท่านจะเป็นหลักสูตรสอนคน"

เมื่อกลั่นจากประสบการณ์ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว จึงมีน้ำหนักอย่างยิ่ง

"การ สอนของท่าน คือ ทำให้ดู คือพูดแล้วท่านก็ทำ ท่านจะรับฟังความเห็นที่ดีแม้จะเป็นเด็ก ๆ ท่านก็ยกย่องไม่เคยมีใครถูกท่านตำหนิ หรือด่าว่าไม่ถูก ท่านก็บอกว่าไม่ถูก ไม่ได้เป็นคนเจ้าอารมณ์ แต่ใจเย็น มีเมตตา"

นายห้างเทียมยังมีปรัชญาคำสอนเตือนใจอีกมากมาย อาทิ รู้น้อยไม่เกี่ยงงาน, เที่ยงธรรม และเยือกเย็น คือหลักสำคัญในการปกครองคน, แค่หยุดอยู่กับที่ ก็กลายเป็นผู้ล้าหลัง, อ่อมน้อมถ่อมตน ทำให้คนยอมรับ รวมทั้ง "เร็ว-ช้า-หนัก-เบา" ที่ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ฯลฯ

แต่ละปรัชญานายห้างเทียมจะมีคำอธิบายอย่างแจ่มแจ้ง ปัจจุบันปรัชญาดังกล่าวถูกบันทึกไว้ใน www.drthiam.org

"สำเริง มนูญผล" รองประธานกรรมการ บริษัทสหพัฒนา อินเตอร์โฮลดิ้ง ลูกหม้อเก่าแก่ที่ทำงานกับนายห้างเทียมมาตั้งแต่อายุ 16 ปี ถ่ายทอดว่า

...ท่าน สอนให้ซื่อสัตย์อดทน ความอดทนหมายถึงการค้าบางอย่างตั้งแล้วไม่ได้กำไรทันที ต้องอดทน รอเวลา แบรนด์หนึ่งกว่าจะสร้างได้เป็นสิบปี ส่วนความซื่อสัตย์สำคัญ ถ้าไม่ซื่อสัตย์ลูกค้าก็ไม่เล่นกับเรา ไม่มีลูกค้าก็ไม่มีเพื่อน ไม่มีพรรคพวก มีเงินไม่มีบารมีก็หมด ต้องสร้างบารมี"

หรือจะเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เต็มไปด้วยความรัดกุม

"นายห้างจะมีวิธีการบางอย่าง สมมติมี 100 บาท จะไม่เอาทั้งหมดไปเสี่ยง แต่เอาไปแค่ 10 บาท แล้วไปลองสัก 5 อย่าง ถ้า 1 ใน 5 ถูก เราอาจได้เป็นเท่าตัว ถึงจะเป็นการลองผิดลองถูก แต่ไม่ได้เสี่ยงลงทั้งหมด นี่คือทฤษฎีของนายห้าง"

แนวคิดดังกล่าวนี้เองกลายมาเป็นแนวทางการลงทุนที่สหพัฒน์ยังคงยึดมั่นในคอนเซ็ปต์ที่ว่า "ปลอดภัยไว้ก่อน"

ขณะที่ "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" ประธานเครือสหพัฒน์คนปัจจุบัน หลักคิดที่มักย้ำกับลูกน้องอยู่เสมอ คือ "คำ 4 คำ" ที่เปรียบเสมือนหัวใจในการทำ "ทุกสิ่ง" ที่สร้างความสำเร็จสูงสุดในยุคนี้ "เร็ว-ช้า-หนัก-เบา" เป็นคำที่เขาจำขึ้นใจ จากคำสอนของนายห้างเทียมที่ฝังลึกอยู่ในใจเสมอ

"ดูเหมือนเป็น 4 คำง่าย ๆ แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา ถึงขณะนี้ผมก็ไม่กล้ากล่าวได้อย่างเต็มปากว่า รู้ซึ้งถึงคำสอนนี้ ด้วยทั้ง 4 คำนี้ dynamic มาก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ต้องใช้การวิเคราะห์ทุกอย่าง จะเร็ว-ช้า-หนัก-เบา" บุณยสิทธิ์ยืนยันในสิ่งที่ตัวเองประสบ

ขณะ ที่ตัว "บุณยสิทธิ์" ถือเป็นเจ้าแห่งหลักการ ไม่แพ้ผู้เป็นพ่อ ส่วนหนึ่งของหลักคิดต่าง ๆ ที่กลั่นออกมาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองเช่นกัน

"บังเอิญ ผมไม่ได้เรียนหนังสือ ก็เลยพยายามหัดทำธุรกิจโดยไม่อาศัยหนังสือเป็นหลัก ผมอยู่ญี่ปุ่นได้ไปเรียนรู้การเล่นโกะ ซึ่งสอนเรื่องความเป็นระบบ หากจะเรียนรู้เรื่องการบริหารต้องเรียนโกะ ขณะนั้นกว่าผมจะรู้ว่าโกะคืออะไรต้องใช้เวลา 2 ปี สิ่งที่ผมจำขึ้นใจคือทฤษฎีการเล่นโกะที่ไม่ได้สอนให้คนเอาชนะอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักแพ้ รู้จักชนะ"

นอกจากการเล่นโกะที่กลายเป็นหลักคิดส่วนตัว และคนของสหพัฒน์ "บุณยสิทธิ์" ยังได้ถ่ายทอดแง่คิดส่วนตัวโดยเปรียบเปรยกับการ "ขับเครื่องบิน" งานอดิเรกที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ

"ผม ไม่ได้เล่นเครื่องบินเพื่อสนุก แต่มองว่าทฤษฎีของเครื่องบินสามารถนำมาใช้กับธุรกิจได้ โดยการขับเครื่องบินนั้นก่อนจะขับต้องมีการเตรียมตัวทำอะไรเยอะแยะ ทำให้ต้องรอบคอบ แต่ที่ดีที่สุดคือ เวลาบินขึ้นไปแล้วความเครียดทุกอย่างหายไปหมด เพราะว่าขณะนั้นจะไปคิดอย่างอื่นไม่ได้ ต้องมีสมาธิเหมือนกับอยู่บนหลังเสือ ขึ้นไปแล้วก็ต้องให้ถึงเป้าหมาย ต้องเช็กทุกอย่าง ทั้งการสื่อสารที่ดี ต้องมีเนวิเกเตอร์ ต้องรู้ดินฟ้าอากาศ"

เช่นเดียวกับการบริหารองค์กรสหพัฒน์ในทุกวันนี้

ปัจจุบัน สหพัฒน์ยังเป็นองค์กรที่ก้าวไปข้างหน้าเสมอ ตามคำสอนของนายห้างเทียม โชควัฒนา ที่ว่า "เพียงเมื่อท่านหยุดก้าว ท่านก็เริ่มถอยหลังแล้ว" ทุก "คำสอน" ล้วนจดลึกและฝังลงไปในใจคนสหพัฒน์ ยิ่งกว่าตำราทางการตลาดใด ๆ เสียอีก

คอลัมน์ คิด-มอง-ทำ

Made by สหพัฒน์


ที่มา http://www.wiseknow.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น