ภาพ http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=36469&page=1
“แบรนด์” ถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจ เผลอๆ จะมีมูลค่ามหาศาลกว่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้เสียอีก
“อินเตอร์แบรนด์” เพิ่งจัดอันดับ 100
แบรนด์ระดับโลกที่มีมูลค่าสูงสุด (Top 100 Global Brands 2012)
โดยยักษ์น้ำดำ “โคคา-โคลา” ยังคงครองแชมป์เป็นปีที่ 12 ตามด้วย “แอ๊ปเปิ้ล”
อาณาจักรไอทียักษ์ใหญ่ ที่รั้งตำแหน่งเบอร์ 2
ด้วยตัวเลขมูลค่าแบรนด์ที่เพิ่มขึ้น 129% ก้าวกระโดดจากอันดับ 8
ในปีที่แล้ว ส่วนอีกแบรนด์ที่ไต่เพดานบินรวดเร็วคือ “ซัมซุง” ที่ติดอันดับ 9
ขยับพรวดจากอันดับ 17 ในปีก่อน
โดยบริษัทเทคโนโลยีพากันตบเท้ายึดทำเนียบท็อป 10
แบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกปีล่าสุด ทั้งแอ๊ปเปิ้ล กูเกิล ไมโครซอฟท์
อินเทล และซัมซุง แต่ขณะเดียวกัน
อดีตบิ๊กเนมในแวดวงเทคโนโลยีก็ทำผลงานได้ย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นแบล็คเบอร์รี่
และโนเกีย ที่กำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ซีอีโอของอินเตอร์แบรนด์ “จอช เฟลด์เมท” อธิบายว่า แบรนด์จะประสบความสำเร็จ
เมื่อสามารถกำหนดนิยามของตลาดได้ อย่างกรณีของแอ๊ปเปิ้ล
ซึ่งจับตลาดโทรศัพท์มือถือ
และนำเข้าสู่ระบบนิเวศที่ผู้บริโภคสามารถซื้อเกมมาเล่น ฟังเพลง
และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยใช้อุปกรณ์เพียงเครื่องเดียว
เมื่อเปรียบเทียบแบรนด์ที่ทำผลงานได้ดี
กับแบรนด์ที่ต้องดิ้นรนจากความยากลำบาก พบว่า
แบรนด์ที่ทำผลงานได้ดีสามารถทำนายสิ่งที่ผู้คนต้องการในตลาดนั้นๆ ได้
น่าสังเกตว่า หากพิจารณาข้อมูลจากรายงานของอินเตอร์แบรนด์
นอกเหนือจากการจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่ามากสุดในโลกแล้ว
ไส้ในยังสะท้อนให้เห็น 10 แบรนด์ที่มูลค่าร่วงหนักสุดอีกด้วย
เริ่มจาก “แบล็คเบอร์รี่” สมาร์ทโฟนที่เคยโด่งดังของค่ายรีเสิร์ช อิน
โมชั่น หรือริม ซึ่งกำลังเผชิญความยากลำบากทางธุรกิจ
โดยมูลค่าแบรนด์แบล็คเบอร์รี่ดิ่งหนักถึง 39% อยู่ที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์
โดยรายได้ลดลง 25.2% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
ทั้งๆ
ที่แบล็คเบอร์รี่เคยเป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนที่ยิ่งใหญ่เมื่อไม่กี่ปีมานี้
แต่ปัญหาระบบล่มหลายครั้ง บวกกับความล้มเหลวของแท็บเล็ตเพลย์บุ๊ค
รวมทั้งการแข่งขันที่ดุเดือดจากไอโฟนของค่ายแอ๊ปเปิ้ล
และมือถือตระกูลแอนดรอยด์ของกูเกิล
ล้วนบีบให้มูลค่าแบรนด์แบล็คเบอร์รี่ลดฮวบอย่างรวดเร็ว
ขณะที่ส่วนแบ่งในตลาดระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนของแบล็คเบอร์รี่ก็ลดลงจาก
21.7% ในเดือนกรกฎาคม 2554 เหลือ 9.5% ในปีนี้
ผิดกับส่วนแบ่งของแอ๊ปเปิ้ลที่เพิ่มจาก 27% เป็น 33.4%
ส่วนกูเกิลก็เพิ่มจาก 41.8% เป็น 52.2% นอกจากนี้
หุ้นของแบล็คเบอร์รี่ยังร่วงเกือบ 90% ในช่วง 3 ปีมานี้
แบรนด์ที่มูลค่าร่วงมากเป็นอันดับ 2 คือ “โกลด์แมน แซคส์”
มูลค่าแบรนด์ลดลงถึง 16% มีมูลค่าที่ 7.6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนรายได้ลดลง
23.2% ในรอบ 1 ปี โกลด์แมนฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติการเงินโลก
เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการขายตราสารอนุพันธ์ประเภทซีดีโอ (collateralized
debt obligations) หรือตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งสลับซับซ้อน
ประกอบกับวิกฤติหนี้กรีซ
โกลด์แมนฯ กลับมาเป็นข่าวคึกโครมอีกครั้งหลังผู้บริหารสาขาลอนดอนลาอออก
โดยแฉผ่านสื่อว่าโกลด์แมนฯ เป็นธุรกิจที่มีพิษภัย และหาประโยชน์จากลูกค้า
ซึ่งผู้บริหารบางคนเรียกว่า พวกหน้าโง่
อันดับ 2 ร่วมอีกราย คือ “โนเกีย” อดีตยักษ์มือถือรายใหญ่สุดของโลก
ซึ่งออกอาการย่ำแย่ เพราะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้
และเสียตำแหน่งผู้ผลิตมือถือรายใหญ่สุดของโลกให้กับซัมซุงไปแล้ว
อีกทั้งราคาหุ้นก็ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งในปีที่ผ่านมา โนเกียเหลือมูลค่าแบรนด์
2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนรายได้ช่วง 1 ปี ลดลง 20.5%
บริษัทประกาศโละพนักงาน 10,000 ตำแหน่ง เพื่อรักษาเงินสดในมือเอาไว้
ปัจจุบัน บริษัทมือถือจากฟินแลนด์รายนี้คาดหวังกับระบบปฏิบัติการบนมือถือ
“วินโดว์ส” ของไมโครซอฟท์ และเพิ่งเปิดตัวสมาร์ทโฟนลูเมีย 920
แต่ยังไม่เป็นที่ประทับใจ
อันดับ 4 “โมเอท ชองดอง” แบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยมูลค่าแบรนด์ของโมเอทฯ ร่วงลง 13% อยู่ที่ 3.8 พันล้านดอลลาร์
หรือมูลค่าแบรนด์หายไป 500 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
แต่ไม่ใช่เพราะแบรนด์โมเอทฯ อ่อนแอ หากแต่เป็นเพราะพิธีกรรมเปลี่ยนไป
เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจมาจากภูมิภาคที่ไม่ได้นิยมเฉลิมฉลองด้วย
แชมเปญ ขณะที่ในตลาดสหรัฐ โมเอทฯ ยังทำยอดขายได้ดี
อันดับ 4 ร่วม “ยาฮู” มูลค่าแบรนด์ขณะนี้อยู่ที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์
โดยเมื่อปีที่แล้วข่าวของยาฮูวนเวียนอยู่ที่เรื่องฉาวของซีอีโอคนเก่า
และการสรรหาบอสคนใหม่จนมาได้ “มาริสสา เมเยอร์”
แต่การเปลี่ยนชะตากรรมของยาฮูไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะสูญเสียตลาดโฆษณาแบบดิสเพลย์ให้กับกูเกิลและเฟซบุ๊คไปแล้ว
ประเมินกันว่า ยาฮูเหลือส่วนแบ่ง 9.3% ของรายได้โฆษณาแบบดิสเพลย์ในปีนี้
น้อยกว่ากูเกิล 15.4% และเฟซบุ๊ค 14.4%
อันดับ 6 “ซิตี้” มูลค่าแบรนด์ร่วงลง 12% อยู่ที่ 7.6 พันล้านดอลลาร์
นับจากภาวะขาลงต่อเนื่อง 5 ปี มูลค่าแบรนด์ของซิตี้ในปีนี้เหลือต่ำกว่า 1
ใน 3 ของสถิติสูงสุดตลอดกาล 2.34 หมื่นล้านดอลลาร์
รวมทั้งซิตี้ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาที่ว่ามีส่วนทำให้เกิดวิกฤติซับไพรม์ใน
สหรัฐ
อันดับ 6 ร่วมอีกราย “เอ็มทีวี” มีมูลค่าแบรนด์ 5.6 พันล้านดอลลาร์
อินเตอร์แบรนด์เตือนว่า เอ็มทีวีกำลังก้าวพ้นจากรากเหง้าเรื่องดนตรี
และเริ่มไปมุ่งคอนเทนต์ราคาถูก
ซึ่งอาจก่อให้เกิดวิกฤติด้านอัตลักษณ์ของแบรนด์ตามมา
อันดับ 8 “ฮอนด้า” ค่ายรถจากญี่ปุ่น มูลค่าแบรนด์ปีที่ผ่านมาหดหายไป 11%
เหลือ 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์
ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์โลกเริ่มฟื้นตัวจากภาวะถดถอย โดยมูลค่ารวมอยู่ที่
1.6 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ จาก 1.28 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2553
แต่ฮอนด้าเผชิญกับเหตุไม่คาดฝัน ทั้งแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น
และน้ำท่วมใหญ่ในไทย ซึ่งกระทบซัพพลายเออร์
รวมถึงฮอนด้าต้องเผชิญกับการเรียกคืนรถหลายระลอกในระยะหลัง
รวมถึงรุ่นซีอาร์วีที่เสี่ยงไฟไหม้หน้าต่างรถ
อันดับ 8 ร่วม “ธอมสัน รอยเตอร์ส” มีมูลค่าแบรนด์ 8.4 พันล้านดอลลาร์
แม้ครั้งหนึ่งรอยเตอร์สจะเคยครองตลาดบริการข้อมูลธุรกิจ
แต่คู่แข่งอย่างบลูมเบิร์กก็ฉวยส่วนแบ่งตลาดไปได้ไม่น้อย
อันดับ 10 “เดลล์” บริษัทเทคโนโลยีรายนี้มีมูลค่าแบรนด์ลดลง 9% อยู่ที่ 7.6
พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี
เนื่องจากบริษัทขยับจากการขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มาเน้นบริการไอที
ขณะที่บริษัทยังดิ้นรนที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ บนสมาร์ทโฟน
ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น