วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชี้ชัด “โปรโมชั่น” เพิ่มความภักดีต่อแบรนด์

ชี้ชัด “โปรโมชั่น” เพิ่มความภักดีต่อแบรนด์


การตลาด
ศุกร์ที่ 05 สิงหาคม 2011
ชี้ชัด “โปรโมชั่น” เพิ่มความภักดีต่อแบรนด์
ที่มาhttp://www.wiseknow.com/
ผลวิจัยนีลเส็น ระบุ แคมเปญโปรโมชั่น นอกจากจะสามารถกระตุ้นอารมณ์จับจ่ายผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มความภักดีต่อแบรนด์และร้านค้ามากขึ้นด้วย

การทำตลาดด้วยแคมเปญโปรโมชั่น ถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมจากบรรดายักษ์ธุรกิจร้านค้าปลีกมากขึ้นใน ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าจากนี้ไป ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่มาแรง เพราะยิ่งในยุคธุรกิจค้าปลีกขยายตัวและแข่งแรง ยิ่งทำให้แต่ละค่ายต้องเร่งโหมงบการตลาด จัดแคมเปญโปรโมชั่นถี่ยิบ เพื่อกวาดลูกค้าให้ครบทุกเซกเมนต์แบบอยู่หมัด

ลงโฆษณาที่นี่
แม้การออกสินค้าโปรโมชั่นจะไม่ใช่กลยุทธ์ ใหม่ แต่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ทุกยุคสมัย โดยเฉพาะในช่วงสภาพเศรษฐกิจที่ยังกระดกหัวไม่ขึ้น การให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของสินค้าอุปโภค และบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น จะเห็นว่า ร้านค้าปลีกต่างๆ จึงหันมาให้น้ำหนักในการออกสินค้าโปรโมชั่นมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่มีงบประมาณจำกัดในช่วงที่ผ่านมา

จากรายงานชอปเปอร์เทรนด์ล่าสุด ของนีลเส็น ประเทศไทย พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 63% กล่าวว่า โปรโมชั่นต่างๆ สามารถดึงดูดใจพวกเขา โดยมากกว่าครึ่งของผู้บริโภคกลุ่มนี้ บอกว่า พวกเขาตอบสนองต่อสินค้าที่มีโปรโมชั่น และหนึ่งในสิบกล่าวว่า พวกเขาจะเปลี่ยนร้าน หากที่นั่นมีโปรโมชั่นที่ดีที่สุด

ขณะที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า รายงานชอปเปอร์เทรนด์ล่าสุด ยังพบว่า ผู้บริโภคมีความภักดีต่อแบรนด์ และร้านค้ามากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 โดยเมื่อถูกถามว่าโปรโมชั่นมีผลต่อการซื้อของในซูเปอร์มาร์เกต และไฮเปอร์มาร์เกตอย่างไร ผู้บริโภค 24% กล่าวว่า พวกเขาซื้อสินค้าโปรโมชั่นเมื่อเขาชอบแบรนด์เท่านั้น (เมื่อเทียบกับ 16% จากปี 2551)

อีกทั้งความภักดีต่อแบรนด์ที่เพิ่มขึ้นยังขยายไปสู่ความภักดีของผู้บริโภค ที่มีต่อร้านค้า กล่าวคือ เกือบ 3 ใน 4 หรือประมาณ 73% ของผู้บริโภค กล่าวว่า พวกเขาไปซื้อของที่ร้านเดิมอยู่เสมอ โดยเพิ่มจาก 63% ในปี 2551 เป็น 69% ในปี 2552 และถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะอยู่ในกระแสที่มีสินค้าโปรโมชั่นจำนวนมาก แต่มีนักชอปเพียง 11% ที่จะเปลี่ยนสถานที่ซื้อสินค้าไปที่ที่มีสินค้าโปรโมชั่นดีที่สุด เทียบกับ 17% ในปี 2551

หากเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก กลุ่มนักชอปที่สนใจสินค้าโปรโมชั่นมากที่สุดในทวีป ได้แก่ เวียดนาม ด้วยผู้บริโภคที่มากถึง 87% ที่ติดตามสินค้าที่มีโปรโมชั่นอย่างกระตือรือร้น รองลงมาคือ มาเลเซีย 86% และไต้หวัน 70%

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่า แม้พฤติกรรมนักชอปส่วนใหญ่จะนิยมเขียนรายการก่อนไปซื้อสินค้า แต่เกือบ 50% จะซื้อสินค้านอกเหนือจากรายการอยู่เสมอ และเมื่อไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 79% จะวางแผนว่าจะซื้อสินค้าอะไรบ้าง ทั้งๆ ที่เตรียมรายการที่ต้องการซื้อไว้แล้ว อีก 42% กลับไม่เคร่งครัดกับรายการที่เตรียมมา เพราะมักจะซื้อสินค้านอกรายการเสมอ

ทั้งนี้ ผู้ซื้อผู้หญิงมีแนวโน้มจะซื้อสินค้านอกเหนือจากรายการมากกว่าผู้ชาย ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักชอปชาวมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จัดอยู่ในสองลำดับแรกที่ชอบตัดสินใจซื้อของทันทีที่เห็นสินค้ามากที่สุด
เมื่อนีลเส็นถามผู้บริโภคว่าชอบชอปปิ้งหรือ ไม่ ชาวฟิลิปปินส์ 80% จัดอยู่ในลำดับแรกในกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกที่ชอบกิจกรรมนี้ ในขณะที่นักชอปชาวไทย 63% มีความคิดเห็นแบบเดียวกัน โดยในประเทศไทย ผู้หญิง 77% ยังคงเป็นผู้จับจ่ายของใช้ในบ้าน ขณะที่อีก 23% เป็นผู้ชาย

สำหรับช่องทางการจับจ่ายสินค้าของผู้บริโภคในประเทศไทย ผู้บริโภคยังนิยมใช้ไฮเปอร์มาร์เกตเป็นช่องทางหลักในการซื้อสินค้า โดยมีผู้บริโภคมากถึง 92% ไปซื้อของที่ไฮเปอร์มาร์เกตใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา รองลงมาคือ ร้านขายของชำ และร้านสะดวกซื้อ คิดเป็นสัดส่วนเท่ากัน 87% และตลาดสด 86% และผู้บริโภคใช้เงินประมาณ 50% ของการจับจ่ายของพวกเขาไปกับอาหารสด

สาเหตุที่ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินในไฮเปอร์มาร์เกตมากขึ้น ผลวิจัยพบว่า สาเหตุหลักมาจากไฮเปอร์มาร์เกตประสบความสำเร็จในการตอบสนองความสะดวกสบายให้ แก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นความง่ายในการหาสินค้า การมีสินค้าทุกอย่างที่ผู้บริโภคต้องการ และความคุ้มค่าในด้านราคา และแม้ว่าร้านสะดวกซื้อจะไม่ใช่ช่องทางหลักก็ตาม แต่ร้านค้าประเภทนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดความถี่ในการซื้อมากขึ้นต่อเดือน โดยผู้บริโภคมองหาอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพสูง ตลอดจนความอร่อยจากอาหารพร้อมรับประทานในร้านสะดวกซื้ออีกด้วย

ผลสำรวจชอปเปอร์เทรนด์ล่าสุด ยังแสดงให้เห็นว่า 32% ของผู้ซื้อชาวไทยเลือกเข้าร้านที่สามารถประหยัดเงินได้ ด้วยการใช้คูปองที่ได้จากหนังสือพิมพ์หรือใบปลิว ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 29% ในผลสำรวจก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าโฆษณาสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคให้สนใจสินค้าเพิ่ม มากขึ้นได้ เนื่องจากผู้ซื้อมักเลือกเข้าร้านที่ได้เห็นโฆษณาเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 11% ในปีที่แล้ว เป็น 17% ในปีนี้

เห็นเช่นนี้ เชื่อว่าจากนี้ไป ยักษ์ค้าปลีกจะต่างพร้อมใจรุกตลาดด้วยโปรโมชั่นแรงขึ้นแน่นอน เพื่อรับมือกำลังซื้อที่กำลังฟื้นตัว จากภาวะการเมืองชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกัน แรงแข่งในตลาดค้าปลีกที่รุนแรงทะลุองศาเดือด ก็ทำให้แต่ละค่ายต้องใช้ทุกยุทธวิธีป้องตลาดตัวเอง พร้อมช่วงชิงตลาดจากคู่แข่งให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น