วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ธานินทร์อุตสาหกรรม ฤาจะพ้นพงหนาม

ธานินทร์อุตสาหกรรม ฤาจะพ้นพงหนาม      



นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2531
ที่มา  http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=31265
หลังจากทำท่าว่าจะต้องกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ของผู้บุกเบิกอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย เพราะปัญหาทั้งภายนอกและภายในที่รุมเร้ากันเข้ามา วันนี้ ธานินทร์ได้รับการเยียวยาจนลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งหนึ่ง ดูกันอย่างเผิน ๆ ความยุ่งยากทั้งปวงได้ผ่านพ้นไปเหมือฟ้าใสหลังฝนซา แต่พินิจกันให้ถ่องแท้แล้ว หนทางข้างหน้านับจากนี้ไปยังเป็นข้อกังขาอยู่ว่าจะราบรื่นเพียงใด

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการรองกรรมการผู้จัดการของธนาคารกสิกรไทย เคยพูดถึงธานินทร์เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมานี้ว่า เป็นลูกหนี้ที่ดีมากเพราะคุยกันรู้เรื่อง

"เขาแสดงให้เห็นว่าไม่ตั้งใจจะโกงธนาคารเลย และมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาร่วมกับเจ้าหนี้ โดยยินยอมแม้กระทั่งขายทรัพย์สินที่เจ้าหนี้เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการ ดำเนินงาน" เป็นเหตุผลสองประการที่นำไปสู่ข้อสรุปข้างต้นของหม่อมอุ๋ย

แม้ว่าการลงนามในข้อตกลงยืดอายุและปรับโครงสร้างหนี้ของธานินทร์เมื่อ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปีนี้ ระหว่างกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้กับประธานกรรมการของธานินทร์คือ อุดม วิทยะสิรินันท์ พี่ใหญ่แห่งตระกูล ซึ่งผลคือตำแหน่งกรรมการของบริษัทจะยังคงมีอุดมนั่งเป็นประธานอยู่ และมีอนันต์ ผู้น้องกับอุษา ภรรยาของอนันต์ ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย แต่กรรมการอีกห้าคนนั้น เป็นคนที่ทางเจ้าหนี้ส่งมาเพื่อดูแลการบริหารงาน

นอกจากนั้น มือบริหารที่จะนั่งทำงานวันต่อวันก็เป็นคนที่กลุ่มเจ้าหนี้ เป็นผู้เลือกสรรเอง คือ ดร. ชวลิต ทิสยากร ดุษฎีบัณฑิตทางวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส A&M อดีตผู้จัดการโรงงานของบริษัทปัญจพลไฟเบอร์ ผู้ผันตัวเองมานั่งเป็นผู้จัดการทั่วไปของเครือธานินทร์

ดู ๆ ไปก็เหมือนกับว่า ธานินทร์ที่เคยเป็นสมบัติของตระกูลวิทยะสิรินันท์แต่เพียงผู้เดียว ต้องหลุดไปอยู่ในการกำกับดูแลของเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นคนภายนอก

คงจะเป็นความเจ็บปวดไม่น้อยของสมาชิกแห่ง "วิทยะสิรินันท์" ที่ต้องถูกกันออกไปจากกิจการของตระกูลอันสืบทอดมานานเกือบสี่สิบปี แม้จะเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งและยังหวังว่าจะกลับมาอยู่ในอ้อมอกของตนอีก ครั้งก็ตาม

แต่ก็ยังดีกว่าที่จะให้ธานินทร์ต้องล้มหายตายจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีกต่อไป

ถึงวันนี้ ธานินทร์ที่เคยทำท่าว่าจะต้องล้มคะมำลงไปอย่างหมดท่า ก็ได้รับการประคบประหงมฟื้นคืนขึ้นมาอยู่ในระยะตั้งไข่อีกครั้งหนึ่ง และพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าได้อีกครั้ง

ปัญหาอยู่ที่ว่า จะแข็งแรงพอที่จะเดินไปได้ไกลและตลอดรอดฝั่งแค่ไหน บนเส้นทางที่ต้องเจอกับแรงกระแทกกระทั้นเบียดเสียดจากเพื่อนร่วมงานอีกมาก หน้าหลายตา??

ธานินทร์ถือกำเนิดและเติบใหญ่ขึ้นมาตามลำดับจนกลายเป็นอุตสาหกรรม ตัวอย่างที่เป็นของคนไทยล้วน ๆ เพียงหนึ่งเดียวในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ด้วยความอุตสาหะทุ่มเทใจกายปลุก ปั้นกิจการของอุดม วิทยะสิรินันท์ พี่ใหญ่ของตระกูล

"คุณอุดมเก่งมากในเรื่องวิทยุ ทั้งที่ไม่เคยร่ำเรียนมาทางนี้ แกจบจากอัสสัมชัญพาณิชย์ อาศัยความเอาจริง ศึกษาเองจากหนังสือภาษาอังกฤษ แล้วลองทำดู" คนใกล้ชิดอุดมเล่าให้ฟัง

จุดเริ่มต้นของธานินทร์คือ "นภาวิทยุ" ซึ่งเป็นร้านขายวิทยุร้านเล็ก ตั้งอยู่บริเวณสามแยกเอส. เอ.บี ที่อุดมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2489 ถัดจากนั้นสามปีให้หลังก็ย้ายมาอยู่ตรงข้างโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ในชื่อใหม่ว่า "ธานินทร์วิทยุ" ด้วยพนักงานเริ่มแรกเพียงเจ็ดคนบวกกับความตั้งใจแน่วแน่ ร้านขายวิทยุเล็ก ๆ แห่งนี้ก็ได้เจริญก้าวหน้าจนขยับขยายกิจการขึ้นไปเป็นผู้ประกอบวิทยุออก จำหน่ายเสียเอง ภายใต้ยี่ห้อ "ซิลเวอร์" เมื่อปี 2499 ซึ่งก็ขายดิบขายดีจนต้องเปลี่ยนยี่ห้อใหม่มาเป็น "ธานินทร์" เพื่อหนีการลอกเลียนแบบ

ปี 2505 ธานินทร์ก้าวกระโดดครั้งใหญ่เมื่ออุดมและน้อง ๆ คือ อรรณพ อนันต์ และอเนก ระดมทุนแปรสภาพกิจการเป็นบริษัทจำกัดในชื่อ "ธานินทร์อุตสาหกรรม" ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก สามล้านบาท พร้อมกับซื้อที่ดินก่อสร้างโรงงานขึ้นที่ซอยอุดมสุข บางนา อันเป็นที่ตั้งของบริษัทจนถึงปัจจุบันนี้ การประกาศตัวว่าเป็นสินค้า "เมดอินไทยแลนด์" ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้คนไทยใช้สินค้าไทย เป็นวิธีการที่ได้ผลทำให้วิทยุทรานซิสเตอร์ของธานินทร์ประสบความสำเร็จอย่าง น่าพอใจ

พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความต้องการในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน วิทยุเริ่มกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในฐานะสื่อที่จะรับรู้ความเคลื่อนไหวของ บ้านเมืองและความบันเทิง

ในตอนนั้นวิทยุที่ใช้กันอยู่ในบ้านเราเป็นวิทยุหลอดที่มีรูปร่างเทอะทะ ใหญ่โตและมีราคาแพง เพราะต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบลาวฟุ้งท์ เทเลฟุงเก้น กรุนดิก หรือ ยี.อี. ล้วนแต่เป็นวิทยุที่จะพบเห็นได้เฉพาะในเมืองกรุงเท่านั้น เพราะเป็นสิ่งที่เกินฐานะกว่าที่ชาวชนบทจะซื้อหามาใช้ได้

ธานินทร์อาศัยความได้เปรียบทางด้านราคาที่ถูกกว่า เพราะผลิตได้เองในประเทศ มาเป็นจุดแข็งของคนในการขยายตลาด และใช้ความเหนือกว่าทางด้านคุณภาพมาเป็นสิ่งสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า ในวิทยุทรานซิสเตอร์

"วิทยุที่ IMPORT เข้ามาช่วงนั้นมีข้อเสียตรงที่เวลารับคลื่น เอเอ็มแล้ว ไม่ค่อยชัด ธานินทร์แก้ปัญหาตรงนี้ได้ รับเอเอ็มได้ชัดแจ๋ว สมัยก่อนก็เป็นคลื่นเอเอ็มทั้งนั้น ธานินทร์ก็เลยเหนือกว่าคนอื่น" นักเล่นวิทยุรุ่นเก่ารายหนึ่งเล่าให้ฟัง

นอกเหนือจากราคาที่ถูกกว่า รับฟังได้ชัดเจนกว่าแล้ว ไม้เด็ดอีกอันหนึ่งของธานินทร์คือ การบุกเข้าไปถึงตัวลูกค้า โดยการบรรทุกวิทยุใส่รถตระเวนไปขายตามงานวัดในต่างจังหวัด "คุณอนันต์เป็นเจ้าของไอเดียนี้ แกตระเวนไปกับรถ เดินสายไปทั่วประเทศ เอาวิทยุไปเปิดให้ฟังถึงที่ เป็นการแนะนำธานินทร์ไปในตัว คนไหนอยากจะซื้อแต่เงินไม่พอจะซื้อเงินผ่อนก็ยังได้" แหล่งข่าวรายเดิมเปิดเผย

ปัจจุบัน ธานินทร์ยังใช้วิธีขายแบบนี้อยู่ แต่ทำกันเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น โดยมีรถอยู่ 4 คัน เป็นโชว์รูมและหน่วยขายเคลื่อนที่ไปในตัว มีลูกค้ากลุ่มใหญ่เป็นครูบาอาจารย์ตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วกรุง แน่นอนว่า ต้องเป็นการขายในระบบเงินผ่อนเสียเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการทดสอบตลาดไปพร้อมกันด้วย

ความเติบใหญ่ของธานินทร์ดูได้จากการขยายกิจการออกไปอย่างกว้างขวาง ขอบข่ายของการผลิตจากที่ผลิตเพียงแต่วิทยุทรานซิสเตอร์ธรรมดาก็เพิ่ม ทีวีขาวดำ ทีวีสี พัดลม หม้อหุงข้าง ฯลฯ จนมี สินค้าเกือบครบวงจร มีบริษัทในเครือเพิ่มขึ้นอีกสี่แห่งคือ ธานินทร์อิเล็กโทรนิคส์ที่เชียงใหม่ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2517 ด้วยทุนจดทะเบียนห้าล้านบาท ทำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และธานินทร์อินเตอร์เนชั่นแนลที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน เพื่อทำการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการส่งออก มีทุนจดทะเบียนห้าล้านบาทเช่นเดียวกัน อีกสองบริษัทเกิดขึ้นในปี 2523 ด้วยทุนยี่สิบล้านบาทเท่ากันคือ ธานินทร์คอนเดนเซอร์และธานินทร์การไฟฟ้า

ธานินทร์อุตสาหกรรมซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทแม่เองก็ได้มีการเพิ่มทุน เพื่อขยายกิจการ จากทุนสามล้านบาทในตอนแรกเพิ่มเป็นยี่สิบล้านบาทในปี 2517 และเป็นสี่สิบล้านบาทในปี 2527

ปี 2526 นับเป็นปีสุดท้ายแห่งความรุ่งเรืองของธานินทร์ก่อนที่จะต้องซวนเซ เพราะถูกรุมกระหน่ำทั้งจากปัญหาภายในและภายนอก ในปีนั้นยอดขายของธานินทร์สูงถึง 800 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสามของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด

ปัญหาของธานินทร์ที่เกิดเป็นข่าวคราวให้ได้รับรู้เมื่อปลายปี 2530 นั้น เป็นผลมาจากการจัดการ การบริหารภายในที่สั่งสมกันมาในช่วงหนึ่ง ในสถานการณ์ที่สภาพแวดล้อมภายนอกก็ยังไม่แปรปรวนมากเกินไป จนเกิดเป็นแรงกดดันต่อความอยู่รอดของกิจการ วิธีการหรือระบบที่เคยใช้กันมาแต่แรกเริ่มอาจจะยังไม่แสดงผล ที่ส่อให้เห็นถึงข้ออ่อนในตัวของมันเองได้ชัดเจนนัก

ถ้ากิจการยังมีกำไร ของยังขายได้ภายในบริษัทจะทำงานกันอย่างไรก็คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครไปให้ความสนใจนัก

มาตรการจำกัดสินเชื่อไม่ให้ขยายตัวเกิน 18% ของแบงก์ชาติและการประกาศลดค่าเงินบาทของรัฐบาลในปี 2517 ผนวกกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 2527-2528 สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กในบ้านเราอย่างรุนแรง ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการทดสอบ ประสิทธิภาพ ความแข็งแกร่งของการบริหารในแต่ละกิจการว่าจะสามารถปรับตัว ประคับประคองกิจการให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้หรือไม่

ธานินทร์ ผ่านพ้นช่วงนี้มาด้วยอาการอ่อนระโหยโรยราแทบจะทรงตัวยืนอยู่ไม่ได้ จนกระทั่งต้องส่งเสียงขอความช่วยเหลือจากภายนอก

"ผู้จัดการ" เคยพูดถึงเนื้อแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้นกับธานินทร์อย่างละเอียดมาครั้งหนึ่ง แล้วในฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2530 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทางกลุ่มเจ้าหนี้และทางธานินทร์กำลังหาทางที่จะ จัดการกับปัญหาอยู่

หนี้สินทั้งหมดที่ธานินทร์มีอยู่คือ 630 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ประกอบไปด้วย ธนาคารแหลมทอง กสิกรไทย ศรีนคร ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา และธนาคารเชสแมนฮัตตัน

ที่เหลือเป็นเจ้าหนี้รายเล็กที่มียอดหนี้ต่ำกว่า 10 ล้านบาท คือ ธนาคารกรุงเทพ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ คาเธ่ย์ทรัสต์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนกิจ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยาและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จีเอฟ

ความที่เป็นบริษัทของคนไทยที่ยืนหยัดในสโลแกนนิยมไทยมาโดยตลอด ทำให้ธานินทร์ และกลุ่มเจ้าหนี้คิดว่าทางการน่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือไม่ให้กิจการของคน ไทยเพียงรายเดียวในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องล้มหายตายจากไป ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้ก็เลยทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากธนาคารแห่ง ประเทศไทย ให้ปล่อยเงินกู้แก่ธานินทร์ โดยแบ่งเป็นเงินกู้ระยะยาวเงื่อนไขผ่อนปรน (SOFT LOAN) 472 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% เพื่อลดภาระหนี้ และอีก 50 ล้านบาทในอัตรา ดอกเบี้ย 7% เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน

"คิดว่าแบงก์ชาติคงให้ความช่วยเหลือเพราะเป็นบริษัทคนไทย และมีคนงานเกือบสองพันคน" ประกิต ประทีปะเสน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์เคยแสดงความคาดหวังที่จะเห็นทางการ ยื่นมือเข้ามาช่วย ซึ่งจะทำให้ทางเจ้าหนี้ได้เงินคืนไปเร็ว ๆ โดยไม่ต้องเหนื่อยแรงมาก

แต่ถึงแม้จะถูกดักคอไว้ล่วงหน้าว่ากับโรงสี โรงน้ำตาลยังช่วยเหลือได้ ทำไมกับอุตสาหกรรมของคนไทยที่สร้างงานให้กับคนเป็นจำนวนมาก จะปล่อยให้ล้มลงไปได้เชียวหรือ แบงก์ชาติก็ยังปฏิเสธที่จะให้ SOFT LOAN 420 ล้านบาทตามคำขอ โดยอ้างว่าไม่มีระเบียบอนุญาตให้ทำได้

ธานินทร์ก็เลยได้ไปแค่ 100 ล้าน สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนผ่านทางธนาคารเจ้าหนี้ ทิ้งปัญหาหนี้ก้อนโตให้จัดการกันเอง

เดือนมีนาคม 2530 การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ในระดับหนึ่ง เมื่อกลุ่มเจ้าหนี้จับมือทำสัญญากันว่าจะให้เวลากับธานินทร์อีกหกเดือนเพื่อ ดูผลการดำเนินงานของบริษัทว่าจะเป็นอย่างไร ในช่วงเวลาหกเดือนนี้จะไม่มีการฟ้องร้องเรียกหนี้คืนจากธานินทร์เป็นอันขาด แถมยังจะให้เงินช่วยเหลืออีกประมาณ ห้าสิบล้านบาท

"ทางแบงก์คงกลัวว่าจะมีใครแอบไปฟ้องเรียกหนี้เข้ากระเป๋าตัวเองเพียงคน เดียว เลยต้องทำสัญญากันท่ากันเอาไว้ก่อน" แหล่งข่าวในบริษัทธานินทร์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

ช่วงเวลาแห่งการดูใจกันผ่านพ้นไปด้วยดี ธานินทร์ยอมตามคำเรียกร้องของกลุ่มเจ้าหนี้ทุกอย่าง มีการนำทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการออกขาย เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ คือที่ดินสองผืนที่สมุทรปราการ การแปลงสภาพหนี้บางส่วนเป็นทุน รวมทั้งยินยอมให้เจ้าหนี้ส่งคนเข้ามาควบคุมดูแลทางด้านการเงิน

ครบหกเดือนยอดหนี้สินจากเดิม 630 ล้านบาทก็ลดลงเหลือเพียง 360 ล้านบาทเท่านั้น หนี้ที่ลดลงไป 270 ล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่ได้มากจากการขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อนำเงินมาชำระ หนี้ "ความจริงก็ทยอยขายมาเกือบปีแล้ว ก่อนที่จะเป็นข่าวออกมาว่าธานินทร์มีปัญหา เพราะเป็นความต้องการของทางแบงก์ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินที่คนในตระกูลวิทยะสิรินันท์ ซื้อเอาไว้หลายแห่ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการขายเครื่องจักรและทรัพย์สินของบริษัทในเครือที่ปิด กิจการเช่นธานินทร์อินเตอร์เนชั่นแนล ธานินทร์อิเล็คโทรนิคส์รวมทั้งบางส่วนของกำไรจากการดำเนินงานในช่วงหกเดือน ที่ผ่านมา" แหล่งข่าวที่เป็นผู้บริษัทระดับสูง ของธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้แห่งหนึ่งเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

ที่จริงแล้วทางกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้ต้องการแปลงหนี้สิน ส่วนหนึ่งร้อยล้านบาทให้เป็นทุน เพื่อตัดยอดหนี้ให้ลดลง แต่ความรู้สึกเป็นเจ้าของในกิจการที่ยืนยาวมาเกือบสามสิบปี ทำให้อุดมและอนันต์ไม่ต้องการให้คนนอกตระกูลเข้ามามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใน ธานินทร์ ทางออกก็เลยเป็นไปในรูปของการขายทรัพย์สินข้างต้น "ตัวเลขทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีเป็น 140 ล้านบาทและ 190 ล้านบาท ตามลำดับนั้น เป็นทั้งการเพิ่มทุนจริง ๆ และการปรับตัวเลขทางบัญชี เพราะที่ผ่านมาระบบบัญชีของธานินทร์เรียกได้ว่ามั่วมาก ผู้ถือหุ้นตอนนี้คือคุณอุดม คุณอนันต์ และคุณอุษา ทางแบงก์ไม่ได้เข้าไปด้วย " แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

แม้ว่าหุ้นทั้งหมดยังเป็นของวิทยะสิรินันท์ แต่ก็ต้องนำไปจำนองกับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกัน อำนาจที่แท้จริงจึงอยู่ในมือเจ้าหนี้

แผนการฟื้นฟูฐานะของกิจการในระยะยาวถูกกำหนดขึ้นและมีการเซ็นสัญญากันไป แล้วเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2531 ตามแผนการนี้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานทั้งหมด เครือบริษัทที่อยู่ภายใต้โครงสร้างใหม่นี้คือ ธานินทร์อุตสาหกรรม ธานินทร์การไฟฟ้าและอุดมชัยวิทยุ ซึ่งทำหน้าที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของธานินทร์ พร้อมทั้งปรับโครงสร้างใหม่เป็นห้าฝ่ายคือ ฝ่ายการเงิน การตลาด การผลิต การส่งออก และฝ่ายวิจัยและพัฒนา

ส่วนกรรมการของบริษัทนั้น นอกจากตัวแทนของกลุ่มเจ้าหนี้หกคนแล้ว คงเหลือคนของ "วิทยะสิรินันท์" เพียงสามคนเท่านั้นคือ อุดมที่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอยู่ และอนันต์ กับอุษา ส่วนอเนกและคุณหญิงวรรณีนั้นได้ขายหุ้นของตนให้กับอุดมและอนันต์ แลกกับหุ้นใน ธานินทร์ คอนเดนเซอร์

เป็นการก้าวออกไปเป็นคนนอกไม่เกี่ยวข้องกับธานินทร์อีกต่อไป เพราะเห็นว่าต่อแต่นี้ไป ธานินทร์ต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานของตนจากธนาคารที่ให้ความสำคัญกับการหา รายได้เพื่อชำระหนี้มากกว่า การปรับปรุงและขยายกิจการ

ตามแผนการฟื้นฟูนั้นมีกำหนดระยะเวลาห้าปี กลุ่มเจ้าหนี้จะไม่ฟ้องร้องเรียกหนี้คืนภายในห้าปีนี้ และจะให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 100 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ เงิน 100 ล้านบาทนี้เป็นการลงขันของเจ้าหนี้รายใหญ่ที่มูลค่าเกิน 10 ล้านบาท คือธนาคารแหลมทอง 27 ล้านบาท เชสแมนฮัตตัน 19 ล้านบาท ศรีนคร 13 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 18 ล้านบาท กสิกรไทย 17 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีก 6 ล้านบาท

ส่วนหนี้สินเดิม 360 ล้านบาทนั้น ตามสัญญาจะต้องมีการชำระคืนทุก ๆ งวดหกเดือน งวดละ ไม่ต่ำกว่ายี่สิบล้านบาทจะสูงกว่านี้ได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับผลการประกอบการในแต่ละงวด

ถ้าจะว่าไปแล้วกรณีของธานินทร์นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามร่วม มือร่วมใจกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเพื่อความอยู่ รอดของกิจการ เพียงชั่วระยะเวลาปีเศษ ปัญหาทุกอย่างก็ได้รับการสะสางจนลงตัว ดูเหมือนว่าธานินทร์ในวันนี้ภายใต้การบริหารของมืออาชีพพร้อมที่จะเข้าสู่ สนามประลองยุทธ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อปกป้องเกียรติภูมิของผู้บุกเบิกแห่งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นคนไทยเจ้าถิ่น มีหลาย ๆ คนที่เชื่อกันอย่างนี้

ถึงแม้ว่าอาจจะเร็วเกินไปที่จะพูดถึงอนาคตของธานินทร์ แต่ก็มีแง่มุมบางประการที่พอจะทำให้มองเห็นภาพกว้าง ๆ ของวันเวลาที่จะมาถึงได้

การลงเอยด้วยดีของปัญหาธานินทร์ถือได้ว่าเป็นชัยชนะของธนาคารเจ้าหนี้ ที่สามารถทำให้ธานินทร์ยอมรับเงื่อนไขของตนโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมาย เข้ามาบังคับ เป็นการสร้างหลักประกันการชำระหนี้คืนที่ช่างง่ายดายเหลือเกิน

ในช่วงสองปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการสู้รบปรบมือ กับบรรดาลูกหนี้ ของตนจนถึงขั้นต้องเป็นคดีความกันถึงศาล แม้กระนั้นปัญหาก็ยังยืดเยื้ออย่างไม่รู้ว่าจะได้หนี้คืนมา เมื่อไร กรณีของมาบุญครอง เสถียรภาพและไทยเสรีห้องเย็นเป็นตัวอย่างที่รับรู้กันอยู่ จนบัดนี้ก็ยังไม่ รู้ว่าเรื่องจะจบกันอย่างไร?

ธานินทร์เองคงจะรู้ตัวว่าตัวเองไม่อยู่ในฐานะที่จะไปต่อรองกับทางธนาคาร เจ้าหนี้ได้มากนัก เพราะต้องการเงินมาซื้อวัตถุดิบ เพื่อทำการผลิตหารายได้เลี้ยงตัวเองในเฉพาะหน้าก่อน จึงต้องโอนอ่อนผ่อนตามเจ้าหนี้ ทำให้ธนาคารเห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหา ยอมให้เงินช่วยเหลือ

ปัญหาอยู่ที่ว่า ทางธนาคารมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือทางธานินทร์แค่ไหน เพียงแค่ขอให้ได้เงินในส่วนของตนคืนก็พอแล้ว หรือว่าจะให้ความช่วยเหลือจนธานินทร์สามารถพัฒนาตัวเองให้แข่งขันกับคู่แข่ง ในตลาดได้???

เพราะแผนการฟื้นฟูกิจการธานินทร์ของกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้นั้น แม้จะทำให้ธานินทร์สามารถดำเนินงานต่อไปได้ แก่ก็เป็นไปเพื่อให้มีรายได้มาชำระหนี้คืนให้กับทางธนาคารเป็นสำคัญ กำไรจากการดำเนินงานในแต่ละงวดการประกอบการก็ตกเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ว่าจะ แบ่งไปชำระหนี้หรือกันไว้ขยายงานของบริษัทมากน้อยแต่ไหนโดยผ่านทางตัวแทนที่ เข้าไปนั่งเป็นกรรมการในธานินทร์

ท่าทีของธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้มีส่วนกำหนดอนาคตของธานินทร์อย่างปฏิเสธไม่ได้

ตามสัญญาที่เซ็นกันเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ถ้าธานินทร์ชำระหนี้ได้ตามที่กำหนดคืองวดละไม่ต่ำกว่ายี่สิบล้านบาท เมื่อครบห้าปี หนี้สินทั้งหมดจะเหลือไม่ถึงสองร้อยล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย จัดอยู่ในประเภทลูกหนี้ที่ไม่มีปัญหา

เงื่อนไขที่จะทำให้ธานินทร์มีเงินเหลืออย่างน้อยยี่สิบล้านบาททุก ๆ หกเดือน เพื่อใช้คืนเจ้าหนี้ก็คือ ต้องมียอดขายตกเดือนละประมาณ 50 ล้านบาท สินค้าของธานินทร์มี MARGIN ประมาณ 8% ถ้าเป้าการขายที่ตั้งเอาไว้เป็นจริง ในรอบหกเดือนธานินทร์จะมีกำไรราว 24 ล้านบาท ส่งคืนให้แบงก์ 20 ล้านบาทไปแล้ว ในปีหนึ่ง ๆ ธานินทร์จะมีกำไรเหลืออยู่เพียง 8 ล้านบาทเท่านั้น

เงินแค่นี้คงจะเพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงกิจการให้คงอยู่ไปชั่วระยะหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอแน่นอนสำหรับการขยายกิจการหรือลงทุนใหม่ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพให้ทัดเทียมกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่ล้วนแต่มีสายป่านยาวกว่าได้อย่างแน่นอน

"ช่วงห้าปีต่อจากนี้ เราคงทำอะไรไม่ได้มากกว่าการประคับประคองตัวหาเงินมาใช้หนี้แบงก์ให้หมดไป เสียก่อน เขาคงจะดูว่าการขยายงานใหม่ ๆ อาจจะกระทบกระเทือนถึงแผนชำระหนี้ ตอนนี้โทรทัศน์สีและขาวดำเราขายดีมาก เพราะเศรษฐกิจกำลังดี เราทำไม่ทันขาย แต่จะเพิ่มกำลังการผลิตก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเงินไปซื้อวัตถุดิบ เงินหนึ่งร้อยล้านบาทที่ทางแบงก์ให้มาไม่พอหรอกครับ ถ้าเป็นอย่างนี้อีกไม่นานเราก็คงต้องเสียตลาดให้กับสินค้าญี่ปุ่นแน่" แหล่งข่าวในธานินทร์เปิดเผยถึงสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาของธานินทร์ในขณะนี้

แน่นอนว่าเป็นสิทธิและความจำเป็นของธนาคารพาณิชย์ในการเรียกหนี้คืน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นของตนด้วย แต่ถ้าจะคำนึงถึงเรื่องนี้แต่เพียงอย่างเดียว โดยละเลยต่อความแข็งแกร่งใน วันข้างหน้าของธานินทร์แล้วก็ดูจะเป็นการไร้น้ำใจไปสักหน่อย และเป็นการสวนทางกับสำนึกของความเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมความเติบใหญ่ของ อุตสาหกรรมไทยอย่างที่มักจะกล่าวอ้างกันอยู่เสมอมา

สำหรับ "วิทยะสิรินันท์" แล้ว ในวันนี้จำต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงที่บทบาทของตระกูลในธานินทร์ยุคใหม่ ต้องสะดุดหยุดลงเป็นการชั่วคราว แม้จะยังคงเป็นหุ้นส่วนใหญ่และมีอุดม อนันต์ และอุษา เป็นกรรมการอยู่ แต่อำนาจในการบริหารนั้น ตกอยู่ในมือของคนที่เจ้าหนี้เป็นผู้เลือกสรรเข้ามา การตัดสินใจใด ๆ ในระดับนโยบายก็จำต้องโอนอ่อนตามความต้องการของกรรมการที่เป็นตัวแทนเจ้า หนี้ แต่นั่นก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อความคงอยู่ของกิจการที่ปั้นมากับมือ

ก็แค่ห้าปีเท่านั้น หลังจากนั้นแล้ว ธานินทร์ก็จะกลับมาเป็นสมบัติของตระกูลอีกครั้งหนึ่ง ถึงตอนนั้นแล้ว บรรดาพี่ ๆ น้อง ๆ ใน "วิทยะสิรินันท์" จะรับช่วงต่อไปได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าจะยอมรับข้อสรุปของบทเรียนแห่งความ ผิดพลาดและปรับเปลี่ยนได้มากน้อยเพียงใด และจะซึมซับ ถ่ายทอดเอาประสบการณ์ของการบริหารแบบมืออาชีพ ในช่วงที่ธานินทร์ยังอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหนี้ได้มากที่สุดหรือไม่

ที่สำคัญที่สุด ธานินทร์ในอีกห้าปีข้างหน้าที่ปราศจากการประคบประหงมจากกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ แล้ว จะอยู่ในสภาพเช่นไรในท่ามกลางวงล้อมของคู่แข่งระดับยักษ์จากค่ายญี่ปุ่น

ตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรานั้นมิพักต้องพูดถึงในอนาคต แม้ทุกวันนี้การแข่งขันก็อยู่ ในขั้นที่เรียกว่าดุเดือดเข้มข้นด้วยกลยุทธ์ที่แต่ละค่ายงัดกันออกมาใช้ เพื่อครอบครองส่วนแบ่งการตลาดกันให้ได้มากที่สุด นอกจากกลุ่มห้าเสือจากค่ายญี่ปุ่นคือเนชั่นแนล มิตซูบิชิ โตชิบา ซันโยและฮิตาชิ ที่ยึดครองตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองไทยอยู่โดยตรงแล้ว ยังมีสามยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ คือโกลด์สตาร์, ซัมซุง และแดวู ที่ขอเข้ามามีส่วนด้วย แต่ละค่ายพรั่งพร้อมด้วยสินค้าที่ทันสมัยทั้งประสิทธิภาพและรูปแบบ กลยุทธ์การตลาดและเงินทุน นอกเหนือจากการสนับสนุนจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ ในสายตาของเอเยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายแล้ว ธานินทร์ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปแข่งขันกับคู่แข่งเหล่านี้ได้เลย

"อย่าไปพูดถึงว่าจะขยายตลาดไปได้มากแค่ไหนเลย ธานินทร์จะรักษาตลาดของตัวเองเอาไว้ได้หรือไม่ก็ยังเป็นปัญหาอยู่" เอเยนต์รายหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ"

เปรียบเทียบกันในด้านคุณภาพแล้ว สินค้าของธานินทร์ไม่เป็นรองใคร โดยเฉพาะวิทยุและโทรทัศน์ทั้งขาวดำและสี แต่สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว การแข่งขันกันทางด้านเทคโนโลยีว่าใครจะล้ำหน้ากว่าใครเป็นจุดที่เชือดเฉือน กันอยู่ไม่เบา

ธานินทร์ตั้งฝ่ายวิจัยและพัฒนาสินค้าขึ้นมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงโครง สร้างใหม่ ฝ่ายนี้จะทำหน้าที่ในการปรับปรุงคุณภาพและรูปแบบของสินค้าให้ทันสมัยอยู่ เสมอ แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังหาผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบไม่ได้ "เราอยากได้คนที่จบปริญญาโททางด้านอิเล็กทรอนิกส์และสามารถทำวิจัยได้ด้วย แต่มีปัญหาว่าไม่สามารถจ้างคนเก่า ๆ ได้เพราะเงินเดือนแพงกว่าที่เราจะสู้ไหว" แหล่งข่าวในธานินทร์เปิดเผยเพียงแค่เงินที่จะจ้างคนมาทำงานด้านนี้ก็ยังเป็น เรื่องใหญ่สำหรับธานินทร์ แล้วการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ธานินทร์จะทำได้ในขอบเขตแค่ไหนกัน??

งานวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเป็นที่มาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นงานลงทุนในระยะยาวที่ต้องใช้ทั้งเวลา เงินทุนและบุคลากรที่มีความสามารถเปรียบเทียบกับสินค้าจากญี่ปุ่นแล้ว เห็นกันชัด ๆ ว่าธานินทร์แทบไม่มีอะไรจะไปสู้เขาได้ เพราะญี่ปุ่นมีตลาดอยู่ทั่วโลก ปริมาณทางการค้ามีจำนวนมากมายมหาศาลเพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายทางด้านนี้ ได้อย่างสบาย สินค้าภายใต้ยี่ห้อของญี่ปุ่น หรือเกาหลีได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่ ในขณะที่ธานินทร์ต้องพึ่งตัวเองมาตลอด

นี่คือข้อเสียเปรียบประการที่หนึ่ง

ในด้านต้นทุนการผลิตแล้ว ถึงแม้จะเป็นสินค้า "เมดอินไทยแลนด์" แต่ธานินทร์ก็ไม่ได้มีราคาถูกกว่ายี่ห้ออื่น ส่วนประกอบส่วนใหญ่ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ชิ้นส่วนสำหรับประกอบวิทยุธานินทร์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึง 35% ชิ้นส่วนสำหรับโทรทัศน์ขาวดำนำเข้า 50% และ 80% สำหรับโทรทัศน์สี ถ้ามองในแง่วิธีการผลิตแล้ว ธานินทร์ยังล้าหลังอยู่มากเพราะยังคงใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ และขนาดการผลิตยังเล็กมากทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ข้อนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธานินทร์ต้องพ่ายแพ้ในตลาดต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่โทรทัศน์ขาวดำของธานินทร์เคยขายดีมากในประเทศอังกฤษและยุโรป ในช่วงปี 2520-2524 แต่พอเกาหลีใต้และไต้หวันส่งสินค้าของตนเข้าแข่งขันด้วย ธานินทร์ก็ต้องถอยกลับมา เพราะไม่สามารถสู้ในเรื่องราคาได้ เนื่องจากทั้งสองประเทศใช้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติที่เน้นการใช้เครื่องจักร มากกว่าแรงงาน สามารถผลิตได้ในขนาดใหญ่ครั้งละเป็นแสน ๆ เครื่องในขณะที่ธานินทร์ยังผลิตได้เพียงระดับแค่พันเครื่องเท่านั้น ต้นทุนในการผลิตจึงต่างกันอย่างลิบลับ

ความเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิต สำหรับการแข่งขันภายในประเทศจะเป็นปัญหาใหม่ของธานินทร์ในอีกไม่กี่ปีข้าง หน้า เพราะขณะนี้สินค้าที่ญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นเนชั่นแนล ฮิตาชิ ซันโย มิตซูบิชิและอีกหลาย ๆ ยี่ห้อกำลังขยายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยในด้านการผลิตชิ้นส่วนและประกอบ สินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกเมื่อโครงการเหล่านี้เสร็จเรียบ ร้อยขนาดของการผลิตที่ใหญ่โตและวิธีการผลิตที่ทันสมัย จะทำให้สินค้าพวกนี้มีต้นทุนที่ถูกกว่าสินค้าของธานินทร์อย่างแน่นอน

เรื่องราคาจึงเป็นข้อเสียเปรียบประการที่สองเมื่อบวกกับปัญหาด้าน เทคโนโลยีแล้วเป็นเรื่องน่าคิดว่าธานินทร์จะแหวกวงล้อมอันแน่นหนาของคู่ ต่อสู้ออกไปได้อย่างไร??

"เราเชื่อว่า ระหว่างสองขาที่ยืนจังก้าอยู่ของยักษ์ใหญ่ ยังมีที่ว่างที่บริษัทเล็ก ๆ จะยืนอยู่ได้" เป็นความเชื่อที่ธานินทร์คิดว่าจะทำให้ตัวเองยืนอยู่ได้ในท่ามกลางสงครามการ ตลาดที่รุนแรง โดยการแทรกตัวหาช่องว่างทางตลาดที่คิดว่าจะพอมีอยู่

จุดเด่นอันหนึ่งที่ทำให้ธานินทร์เติบใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาคือ ความเป็นนักฉกฉวยโอกาสที่ดี ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ หันไปผลิตสเตอริโอหรือโทรทัศน์สีกันแล้ว ธานินทร์ยังคงเล่นอยู่กับวิทยุทรานซิสเตอร์และโทรทัศน์ขาวดำโดยมีตลาดหลัก อยู่ในต่างจังหวัดที่คู่แข่งยังบุกไปไม่ถึง ธานินทร์เชื่อว่าวิธีนี้ยังคงได้ผลอยู่

"โทรทัศน์ขาวดำของเราขายดีมากในตอนนี้ ขายดีมาก พอออกจากโรงงานก็ขนขึ้นรถส่งไปให้ลูกค้าเลย" แหล่งข่าวกล่าว ธานินทร์มองว่า โทรทัศน์ขาวดำยังคงขายได้อยู่ด้วยเหตุผลว่า "ไฟฟ้าเมืองไทยเวลาจ่ายออกไปตามบ้านนอกมีกำลังไฟฟ้าจำกัด ในครัวเรือนที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายอย่าง ถ้าใช้ทีวีสี กำลังไฟจะไม่พอ ความจำเป็นที่จะต้องใช้ทีวีขาวดำจึงยังคงมีอยู่ อีกอย่างหนึ่งทีวีขาวดำเวลาเสีย ซ่อมง่ายและถูกกว่า ทีวีสี" และสำหรับวิทยุทรานซิสเตอร์ของธานินทร์จุดขายอยู่ที่ประสิทธิภาพในการรับฟัง "ธานินทร์เป็นสินค้าที่เหมาะกับเมืองไทยมากกว่าสินค้าญี่ปุ่นที่ทำขายไปทั่ว โลก เราส่งคนไปตามจุดอับต่าง ๆ เพื่อทดสอบและปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องรับอยู่ตลอดเวลา ตอนเกิดเหตุการณ์หนึ่งเมษายน วิทยุในกรุงเทพฯ ไม่สามารถรับฟังการกระจายเสียของฝ่ายรัฐบาลจากโคราชได้ มีเพียงวิทยุธานินทร์เท่านั้นที่รับได้" จุดนี้ทำให้ธานินทร์เชื่อว่าตัวเองจะสู้กับสินค้าญี่ปุ่นได้

คำถามก็คือ เหตุผลนี้จะยังคงเป็นจริงอยู่ต่อไปหรือไม่ในอนาคตข้างหน้า เมื่อความก้าวหน้าของการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีเพิ่มขึ้นมากทุกวัน จะทำให้ปัญหาเรื่องกำลังไฟฟ้าตกไป และประสิทธิภาพในการส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุ จะทำให้ความสามารถในการรับฟังของวิทยุแต่ละยี่ห้อไม่แตกต่างกันเลย

นอกจากนี้แล้ว บรรดาสินค้าญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนทำการผลิตในไทยคงจะไม่นิ่งเฉย ปล่อยให้ธานินทร์เพียงผู้เดียวออกไปหากินในตลาดต่างจังหวัด เพราะเมื่อลงทุนกันขนาดใหญ่แล้ว ก็ต้องขายให้ได้มากที่สุด ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดทุกรูปแบบที่จะทำให้เหตุผลทางด้านเทคนิคไม่มีน้ำหนัก ต่อการ ตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอีกต่อไป

นโยบายนิยมไทยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ธานินทร์คิดว่าจะนำมาใช้ในการแข่งขัน กับสินค้าจากญี่ปุ่น โดยใช้การเป็นสินค้าที่ผลิตโดยคนไทยมาเป็นจุดขาย แต่ความเป็นจริงที่ผ่านมาก็คงจะเห็นกันอยู่แล้วว่า วิธีการนี้ไม่ได้ผล เพราะนับวันความเป็นชาตินิยมในโลกธุรกิจมีแต่จะหมดความหมายลงไปเรื่อย ๆ การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคขึ้นอยู่กับความพอใจในรูปแบบ คุณภาพและราคาของสินค้ามากกว่าจะคำนึงว่าสินค้านั้นทำโดยคนไทยหรือญี่ปุ่น ถ้าธานินทร์ยังยึดติดอยู่ในเรื่องนี้ก็ไม่พ้นที่จะต้องพบกับความผิดหวังเป็น ซ้ำสอง

ทางออกที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด สำหรับอนาคตของธานินทร์คือ การร่วมทุนกับต่างชาติ เพื่ออาศัยเทคโนโลยีเงินทุนและเครือข่ายทางการตลาดที่กว้างขวางซึ่งมีอยู่มา เป็นประโยชน์กับตน แต่ทางออกที่ดูจะเป็นไปได้มากนี้กลับไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะแม้ขณะนี้จะมีนักลงทุนทั้งจากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี หลายรายแสดงความสนใจที่จะลงทุนร่วม แต่ธานินทร์ก็ไม่อาจจะตัดสินใจในเรื่องนี้ได้ด้วยตัวเอง ต้องฟังเจ้าหนี้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดกันได้เลยว่า เจ้าหนี้จะไม่เอาด้วย เพราะจะต้องหาเงินมาเพิ่มและทำให้แผนการชำระหนี้ของธานินทร์ต้องยืดยาวออกไป อีก

ก็คงจะต้องรอไปจนกว่าธานินทร์จะเป็นไทแก่ตัวเอง แต่ถึงเวลานั้นอาจจะสายเกินไปเพราะอีกห้าปีข้างหน้า การแข่งขันกันในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องดุเดือดแหลมคมขึ้นกว่าตอนนี้อย่าง มากมาย กระทั่งก็คงส่งผลให้ผู้ที่จะมาลงทุนร่วมต้องลังเลใจ

อนาคตของธานินทร์ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องคิดกันให้ยาวไกลไปกว่าความพออกพอใจกับความสำเร็จใน การแก้ไขปัญหาหนี้สินซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะมาถึงใน วันข้างหน้า  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น