วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทำไมฟูจิอยู่ได้ ขณะที่โกดักล้มละลาย !!

ทำไมฟูจิอยู่ได้ ขณะที่โกดักล้มละลาย !! 

โดย ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย
   
       ในขณะที่แบรนด์ยักษ์ระดับตำนานของโลก อย่างโกดักกำลังจะถึงกาลอวสาน คู่ปรับ คู่ชก คู่แข่งตัวฉกาจ
       จากอีกซีกหนึ่งของโลก อย่าง ฟูจิ กลับรุ่ง พุ่งทะยาน ตรงข้ามอย่างน่าฉงน?!?! ไฉนเลยจึงลงเอยเช่นนี้หนอออ …
   
       ทั้งคู่ อยู่ในธุรกิจฟิล์มถ่ายรูป เผชิญคลื่นยักษ์ ของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปสู่ดิจิตอล สัปดาห์ก่อน ผมเขียนถึงหายนะของโกดักไปแล้ว คราวนี้ อยากเอ่ยถึงกลายพลิกตัวกลับ และกระจายตัวออกของฟูจิ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาในมุมกลับ ขององค์กรซึ่งเผชิญสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันมากๆ ครับ
   
       ฟูจิ (หรือชื่อบริษัทเต็มคือ Fuji Photo Film Co., Ltd.) ก่อตั้งขึ้นในปี 1934 โดยหมายจะเป็นผู้ผลิตฟิล์มถ่ายรูปรายแรก ภายใน 10 ปีแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ ฟูจิได้กลายมาเป็นเป็นผู้ผลิตฟิล์มถ่ายภาพ, ฟิล์มภาพยนตร์ และฟิล์มเอ็กซเรย์ ในประเทศญี่ปุ่น
   
       ในทศวรรษ 1940 ฟูจิได้เข้าสู่ธุรกิจกระจกส่องขยาย เลนส์ และอุปกรณ์หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ฟูจิได้ขยายอาณาจักร กระจายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เอ็กซเรย์), การพิมพ์, ระบบภาพอิเลคทรอนิค และอุปกรณ์แม่เหล็กไฟฟ้า
   
       ปี 1962 ฟูจิ ได้ร่วมลงทุน กับบริษัท RankXerox (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับซีรอกซ์อีกที) เกิดเป็น FujiXerox ดูแลธุรกิจของซีรอกซ์ ในเอเชีย-แปซิฟิค
   
       ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ฟูจิเริ่มเดินหน้าขยายตลาดออกสู่โลกอย่างแข็งขัน และธุรกิจก็เติบโตตามลำดับ กระทั่งในทศวรรษ 1980 ฟูจิเริ่มชื่อว่า การเป็นบริษัทชั้นระดับโลกไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน ฟูจิได้วางเป้าที่จะมี World Class FUJIFILM status
   
       ในอีกด้านหนึ่ง ฟูจิก็ได้เป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล ที่นำไปประยุกต์ใช้กับภาพถ่าย การแพทย์ และการพิมพ์ กระแสดิจิตอลที่คืบคลานมาเรื่อย ๆ ทำให้ฟูจิรู้ดีว่า หากนิ่งเฉยเสีย เห็นทีอนาคตจะร่วง
   
       ในปี 2006 ฟูจิตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการใหม่ ด้วยการก่อตั้งบริษัท FUJIFILM Holdings Corporation ขึ้นมา เพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไป
   
       แม้ปัจจุบัน ฟูจิจะเน้นการผลิตไปที่กล้องดิจิตัล เครื่องปรินท์เตอร์ และเครื่องถ่ายเอกสาร แต่ฟูจิยังก็ยืนยันที่จะผลิตฟิล์มต่อไป แม้ว่ายอดจำหน่ายจะมีเพียงแค่ร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทเท่านั้น
   
       แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่า คือการขยายไปยังปริมณฑลใหม่ ๆ ทางธุรกิจโดยฟูจิพยายามถามตัวเอง ว่าอะไรคือความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ตนมี หนึ่งในนั้น คือการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางเคมีชั้นยอด ที่แต่เดิมใช้กับภาพถ่าย ไปใช้กับ ผิวพรรณ ก่อเกิดเป็นธุรกิจความงาม ขึ้นมา
   
       ฟูจิร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพอย่าง Astalift ที่เป็นแบรนด์ชั้นนำด้านความงามชื่อดังของญี่ปุ่น เมื่อ 5 ปีก่อน ล่าสุด ฟูจิยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัท Mitsubishi Corporation เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านชีวเวชภัณฑ์ เพื่อขยายธุรกิจจากการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีภาพถ่ายและเครื่องถ่ายเอกสาร ไปสู่วงการเวชภัณฑ์อีกด้วย
   
       อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ชะตากรรมของฟูจิ แตกต่างจากโกดัก? และบทเรียนจากฟูจิ ให้แรงบันดาลใจอะไร กับบริษัทในธุรกิจที่ล่อแหลมต่อการล่มสลายบ้าง?
   
       บทวิเคราะห์
   
       ในที่สุดโกดักก็ถึงกาลล้มละลาย ปิดตำนาน 131 ปีของบริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยมีสถานะเท่า เทียมกับ Google และ Apple ในปัจจุบัน
   
       แต่ทว่าไม่ได้บริษัทที่ได้รับผลกระทบ จากการการเติบโตของกล้องดิจิตอลและสมาร์ทโฟน จนกระทั่งทำลายธุรกิจฟิล์มซึ่งเป็นธุรกิจหลักนั้นไม่ได้มีเพียงโกดักเท่า นั้น ฟูจิซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญก็ ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ด้วยเช่นกัน
   
       แล้วทำไมฟูจิถึงยังรุ่งเรืองอยู่ได้ ขณะที่โกดักต้องล้มละลาย... นี่เป็นคำถามที่หลายคนยังสงสัยอยู่
   
       ผู้บริหารฟูจิมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่าง จากผู้บริหารโกดัก ที่คิดว่าฟิล์มจะคงอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง นั่นคือไม่ตกลงเป็นรูปตัววีอย่างแน่นอน ดังนั้นโกดักคงคิดว่าจะเก็บเกี่ยวไปได้นานพอดู แต่ฟูจิคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว ดิจิตอลต้องมากินเนื้อฟิล์มอย่างแน่นอนและรวดเร็วด้วย
   
       ผู้นำฟูจิจึงมี Sense of Urgency มากกว่าโกดัก เพราะเห็นเทรนด์ดิจิตอลพร้อมๆ กัน แต่เชื่อว่าตลาดฟิล์มจะสูญพันธุ์อย่างเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เพราะฟิล์มเป็นธุรกิจหลัก ถ้าไม่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและสร้างธุรกิจใหม่ทันท่วงที ชะตากรรมก็คงไม่พ้นล้มละลาย
   
       เมื่อมีสำนึกแห่งความเร่งรีบแล้ว ฟูจิรู้ว่าอะไรที่ควรต้องทำและต้องทำทันทีไม่อาจรอช้าได้ แม้แต่วินาทีเดียว นั่นคือการเก็บเกี่ยวจากธุรกิจฟิล์มให้เร็วที่สุดและมากที่สุด จากนั้น Diversify ออกนอกธุรกิจฟิล์มเพราะเชื่อว่าในที่สุดฟิล์มจะหมดอนาคตอย่างแน่นอน
   
       นั่นคือการตั้งคำถามว่าความเชี่ยวชาญที่ฟูจิมีนั้นจะขยายไปสู่ธุรกิจใดได้บ้างที่มีศักยภาพและ ด้วยวิธีใด
   
       ความเชี่ยวชาญของฟูจิเกี่ยวกับเคมี สามารถนำไปประยุกต์กับธุรกิจเครื่องสำอางค์ ฟูจิจึงขยายไปสู่ธุรกิจเครื่องสำอางค์ และยังขยายไปสู่ธุรกิจฟิล์มที่เคลือบหน้าจอแอลซีดี ซึ่งทำให้สามารถมองภาพจากด้านข้างได้ จากนั้นก็ขยายเข้าไปสู่ Medical Imaging equipment business โดยเข้าไปซื้อบริษัทหลายบริษัทที่อยู่ในเซ็กเตอร์นี้
   
       การอยู่รอดของฟูจิคือการมองการณ์ไกล และสำนึกแห่งความเร่งรีบของผู้นำองค์กร ที่เมื่อเห็นภัยอันตรายจาก Disruptive Technology แล้ว ก็ไม่อยู่นิ่งเฉย เปลี่ยนวิสัยทัศน์และ กลยุทธ์องค์กรอย่างรีบด่วน
   
       ขณะที่โกดักปรับตัวช้าเกินไป และอ่านสถานการณ์ไม่ขาด ยังคิดว่่าฟิล์มยังคงอยู่ได้อีกระ ยะหนึ่ง การขยายตัวไปสู่ธุรกิจช้าและไม่ประสบความสำเร็จ
   
       และทั้งๆ ที่โกดักเป็นผู้ประดิษฐ์กล้องดิจิตอลเป็นรายแรก กลับไม่เอาจริงเอาจังกับ มันเท่าที่ควร เพราะกลัวว่าดิจิตอลจะมากินเนื้อฟิล์มซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้ดี
   
       แต่สุดท้ายมันก็เข้ามากินจริงๆ ผลก็คือต้องล้มละลาย

ที่มา http://www.manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น