วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แบรนด์รองปาดเหงื่อติดบ่วงอิชิตัน-โออิชิ


วันพุธที่ 01 พฤษภาคม 2013
เวลา 09:34 น.
กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
ที่มา http://www.thanonline.com/index.php?option
 "อิชิตัน"  ขย่มตลาดชาเขียว 1.3 หมื่นล้านบาท ไล่บี้ "โออิชิ" ชิงเบอร์ 1 ชูลุ้นรหัสรวยเปรี้ยง อิชิตัน  60 วัน 60 ล้าน รีเทิร์นพระเอกกวาดยอดขายพุ่ง พร้อมเข็น "เย็น เย็น" แจ้งเกิด  ด้าน "โออิชิ" มั่นใจยังรักษาบัลลังก์แชมป์ โอ่ยอดขายทะยาน 30% เต็มกำลังผลิต 60 ล้านขวด เซียนตลาดชาเขียวชี้ 2 ยักษ์ฟาดฟันทำแบรนด์รองยอดร่วงกราวรูด ขณะที่สคบ.โบ้ยกรณีชิงโชคยังไม่มีการร้องเรียนเข้ามา

    นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวย การ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชาเขียวพร้อมดื่ม "อิชิตัน" กล่าวยอมรับกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า  ณ วันนี้อิชิตันขึ้้นเป็นเบอร์ 1 ชั่วคราวก็จริงแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้มากนัก ถ้าเป็นเบอร์ 1 แล้วบริษัทไม่สามารถอยู่ได้ ก็ขอเป็นเบอร์ 2 แต่มีกำไรและเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งดีกว่า ดังนั้นในสิ้นปีนี้ ไม่ได้มองแค่การขึ้นเป็นเจ้าตลาดหรือมีมาร์เก็ตแชร์เป็นที่ 1 แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องของผลประกอบการด้วย
    โดยแคมเปญ "ลุ้นรหัสรวยเปรี้ยง อิชิตัน 60 วัน 60 ล้าน รีเทิร์น" ซึ่งเริ่มแคมเปญไปได้ราว  2 เดือนพบว่า กระแสแรงมากเป็นประวัติศาสตร์ และยอมรับว่า มียอดขายสูงกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย บวกกับสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ จึงทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจดื่มชาเขียวมากขึ้นโดยมั่นใจว่าในช่วงอีก 1 เดือนที่เหลือยอดขายจะเป็นไปตามเป้าที่กำหนดคือ 1.5  พันล้านบาทในช่วงซัมเมอร์นี้ และจะมียอดขายสิ้นปีที่ 4.5 พันล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 3.9 พันล้านบาท พร้อมด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 35% เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 27%
    สำหรับแนวทางการทำตลาดของอิชิตัน นับจากนี้คือการมุ่งสร้างความแข็งแกร่งในเรื่องของแบรนด์หลังจากที่สามารถขยายฐานครอบคลุม 40-50% ทั่วประเทศ และครอบคลุม 100% ในช่องทางโมเดิร์นเทรด ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของแบรนด์ โดยสิ่งสำคัญที่อิชิตันคำนึงถึงมากที่สุดคือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ท้องตลาด
    "กลไกทางธุรกิจสิ่งสำคัญที่สุดคือความแข็งแกร่งของแบรนด์ เพื่อใช้ในการต่อสู้ให้อยู่ในตลาดได้ แน่นอนว่าการทำแคมเปญคือสิ่งสำคัญในช่วงแรกเพื่อใช้ในการขยายฐานลูกค้าให้มากที่สุด ผ่านรูปการทำแคมเปญ แต่การนำแคมเปญมาใช้ต่อสู้ตลอดไม่ใช่สิ่งที่เรามอง  เนื่องจากไม่มีความยั่งยืน โดยจะลดอีเวนต์ใหญ่ๆให้เหลือไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี และจะเน้นการสร้างแบรนด์เพื่อการเติบโตแบบยั่งยืนแทน"
 ++ แจ้งเกิด"เย็น เย็น" ต่อยอดรายได้
    นอกจากนี้บริษัทยังมีแบรนด์เย็น เย็น ชาเขียวสมุนไพร เข้ามาช่วยเสริมทัพในการสร้างรายได้เพิ่ม ซึ่งหลังจากเปิดตัวในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเป้าหมาย โดยมีแผนที่จะเปิดตัวแพ็กไซซ์ใหม่ แบบยูเอชที ในเดือนกรกฎาคมนี้  พร้อมกับการเดินหน้าลุยทำตลาดในรูปแบบบีโลว์ เดอะไลน์ ผ่านอีเวนต์ต่างๆทั่วประเทศมากขึ้น
    "เย็น เย็น ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่มีอนาคตของเรา เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ขายดีปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตอยู่ที่ 15 ล้านขวดต่อเดือนหรือ 180 ล้านขวดต่อปี ซึ่งสามารถจำหน่ายได้หมดในช่วงที่วางขาย ซึ่งหลังจากที่มีการเปิดตัวขวดแบบยูเอชทีออกมา กำลังการผลิตก็จะเพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านกล่องต่อเดือน"
    อย่างไรก็ตาม อิชิตันก็ยังถือว่ายังเสียเปรียบเมื่อเทียบกับโออิชิ เพราะยังเป็นแบรนด์เล็กกว่า หากเปรียบเทียบกับเครือข่ายเครื่องดื่มของโออิชิจากแบรนด์ต่างๆ ของไทยเบฟ แต่อิชิตันก็ยังสามารถตีตลาดได้บางช่วง เช่นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา  อิชิตันครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 40.9% โออิชิ 38.1% เพียวริคุ 10.6% ลิปตัน 4.6% และอื่นๆ 5.8%
 ++ โออิชิ โอ่ยอดขายโต 30% รั้งผู้นำ
    ด้านนายอนิรุทธิ์ มหธร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชาเขียวพร้อมดื่ม "โออิชิ" กล่าวว่า  แคมเปญ "รหัสโออิชิ ลุ้นรวยทุกชั่วโมง" ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้กำลังการผลิต 60 ล้านขวดต่อเดือนไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย  โดยคาดว่าแคมเปญนี้จะช่วยสร้างยอดขายในช่วงซัมเมอร์ให้เติบโต 30%
     "เราเดินหน้าผลิตโออิชิเต็มกำลังการผลิตที่มีอยู่ และผลิตได้เท่าไหร่ก็สามารถจำหน่ายได้หมด ประกอบกับที่บริษัทวางจำหน่ายโออิชิ ฟรุตโตะออกมาทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจกับแบรนด์เรามากขึ้น ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ในครึ่งปีหลังทางโออิชิมุ่งมั่นในการนำเสนอความเป็นแบรนด์ลอยัลตี ผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ แพ็กไซซ์ใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด"
    ขณะที่ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในช่วงซัมเมอร์ที่มีการแข่งขันกันรุนแรงจากผู้เล่นรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของทั้งแคมเปญและโปรโมชัน มองว่า การแข่งขันที่รุนแรงนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคที่นิยมดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่ไม่เคยสนใจดื่มชาเขียวให้สนใจเข้ามาดื่มมากขึ้น
    ทั้งนี้มองว่าแนวโน้มการแข่งขันของตลาดชาเขียวในอนาคต จะมีเรื่องของการแบ่งเซ็กเมนต์ การเพิ่มอินโนเวชันใหม่ๆเข้ามามากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับแบรนด์ของตัวเอง โดยโออิชิเองยังคงมุ่งมั่นในการนำเสนอนวัตกรรม แพ็กไซซ์ใหม่ๆออกสู่ท้องตลาดอยู่เสมอ ขณะที่การเติบโตตลอดทั้งปีของโออิชิคาดว่าจะสามารถเติบโตจากที่ผ่านมา 25-30% และครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 44%
    "จากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดชาเขียว ผลออกมาจะเป็นแบบไหนคือสิ่งที่เราไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่โออิชิมั่นใจว่าสิ่งที่บริษัททำอยู่ในปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ดังนั้นในเรื่องของยอดขายสิ้นปีจึงไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด" นายอนิรุทธิ์กล่าวทิ้งท้าย
 ++ชี้"อิชิตัน" จ่อขึ้นเบอร์ 1
    แหล่งข่าวระดับสูงในวงการชาเขียว กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดชาเขียวตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ถือว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงมากจนเข้าสู่ภาวะสงครามอย่างชัดเจน โดยเฉพาะจาก 2 รายใหญ่อย่างโออิชิและอิชิตัน ซึ่งเป็นเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของตลาดที่ต่างห้ำหั่นงัดกลยุทธ์การตลาดแบบครบวงจร เพื่อช่วงชิงยอดขายและส่วนแบ่งตลาด ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อแบรนด์เล็กในตลาด ที่นอกจากยอดขายจะลดลงแล้ว ยังพบว่าบางรายอยู่ในช่วงวิกฤติและอาจจะต้องถอนตัวออกจากตลาดเลยทีเดียว
    "ส่วนแบ่งตลาดของอิชิตัน ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากการแย่งแชร์มาจากโออิชิ ซึ่งเป็นผู้นำ รวมทั้งเพียวริคุ เบอร์ 3 รวมไปถึงแบรนด์อื่นๆ ที่มีแชร์อยู่เล็กน้อย แม้แบรนด์เหล่านี้จะพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไว้ แต่ด้วยเม็ดเงินที่ทุ่มอัดทั้งโฆษณา  โปรโมชัน แคมเปญชิงโชค แจกรางวัล ถือเป็นสิ่งที่ดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อ จึงเป็นการยากที่จะทานหรือแข่งขันได้ เพราะแม้แต่โออิชิที่ทุ่มงบโฆษณาสวนกลับอย่างหนัก โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่ เชื่อว่าก็ยังไม่สามารถแข่งขันได้ โอกาสที่อิชิตันจะขึ้นเป็นผู้นำตลาดจึงมีความเป็นไปได้สูง  แต่ในระยะยาวจะเป็นงานหนักที่อิชิตันจะรักษาความเป็นเบอร์ 1 ไว้ได้ เพราะที่ผ่านมาการเติบโตอย่างรวดเร็วของอิชิตัน ล้วนมาจากแคมเปญโปรโมชันที่เกิดขึ้นทั้งนั้น"
 ++ แบรนด์ดังในอดีตเตรียมโบกมือลา
    อย่างไรก็ดี "ฐานเศรษฐกิจ"  ได้ทำการสำรวจร้านเซเว่น อีเลฟเว่น พบว่า ปัจจุบันชาเขียวที่ได้รับความนิยมมีลูกค้าเข้ามาซื้อต่อเนื่อง จะมีเพียง 3 แบรนด์ ได้แก่  อิชิตัน  , โออิชิ และเพียวริคุ  โดยอิชิตัน มียอดขายมากสุดซึ่งคาดว่าจะมาจากแคมเปญ ลุ้นรหัสรวยเปรี้ยง 60 วัน 60 ล้าน รีเทิร์น ที่มีกระแสแรงมาก ขณะที่แบรนด์อื่นๆซึ่งมียอดขายลดลงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ร้านค้ากำหนดติดต่อกันนานเกิน 2 เดือนจะถูกถอดออกจากตู้แช่
    ในระหว่างปี 2547- 2550 ถือเป็นยุคทองของ "ชาเขียวพร้อมดื่ม"  เห็นได้จากการที่มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาดจำนวนมาก แต่ด้วยการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้หลายแบรนด์ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งเป้าไว้  และมียอดขายลดลงต่อเนื่อง จนที่สุดต้องลดการทำกิจกรรมทางการตลาดและมีบางรายที่ถอนตัวออกจากตลาดไปในที่สุด โดยแบรนด์ีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดี อาทิ ยูนิฟ โดยบริษัท ยูนิ- เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บุกเบิกตลาดชาเขียวเมืองไทย เจ้าของคอนเซ็ปต์ "หนอนชาเขียว" ซึ่งเคยเป็นเบอร์ 1 ในตลาดมีส่วนแบ่งเกือบ 50% ในปี 2547  , โมชิ โดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด , เซนย่า โดยบริษัท ที.เอ.ซี. เบเวอร์เรจ จำกัด , มิเรอิ โดยบริษัท ซันโตรี่ เบฟเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ลิมิเต็ด จำกัด , เซนชะ โดยบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ จำกัด  , นะมาชะ โดยบริษัท สยามคิริน เบฟเวอร์เรจ จำกัด เป็นต้น
++ สคบ.โบ้ยเข้าข่ายมอมเมา
    ส่วนกรณีที่มีผู้มองว่า แคมเปญ "ลุ้นรหัสรวยเปรี้ยง อิชิตัน 60 วัน 60 ล้าน รีเทิร์น" ซึ่งมีการแจกรางวัลพิเศษเหมือนเป็นการเสี่ยงโชคแบบล็อตโต้ ซึ่งเป็นการมอมเมาผู้บริโภค ในทุกๆงวดการออกรางวัลที่ลงท้ายด้วยเลขศูนย์ ตั้งแต่งวดที่ 10-60 ด้วยการเพิ่มรางวัลเป็นไอโฟน5 จำนวน 100 เครื่องนั้น
    ต่อเรื่องดังกล่าว นายจิรชัย  มูลทองโร่ย  เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  กล่าวว่า  เครื่องดื่มชาเขียวที่มีการจัดรายการส่งเสริมการขายด้วยแคมเปญชิงโชคต่างๆนั้น  ผู้ประกอบการได้ทำการขออนุญาตการดำเนินการ  กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478  ซึ่งความรับผิดชอบในส่วนของสคบ.  จะดูแลในด้านการโฆษณาว่าผู้ประกอบการดำเนินการถูกต้องและเป็นไปตามที่ได้ขออนุญาตไว้หรือไม่  รวมถึงของรางวัลต่างๆ ที่ได้ประกาศว่าจะให้นั้น  ผู้ได้รับรางวัลได้รับของรางวัลถูกต้องหรือไม่   แต่ที่ผ่านมาทางสคบ.ยังไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวเลย
    อย่างไรก็ตาม  ทางสคบ.เองก็มีความเป็นห่วงว่า  การส่งเสริมการขายด้วยการจัดโปรโมชันจำนวนมากนั้น  จะส่งผลให้ผู้บริโภคซื้อสินค้ามากเกินความจำเป็นหรือไม่  ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาและรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว  ขณะเดียวกันทางสคบ. อาจจะเชิญผู้ประกอบการมาชี้แจง  หากมีการร้องเรียนเข้ามาว่าการส่งเสริมการขายนั้นเป็นการมอมเมาประชาชนให้ซื้อสินค้ามากเกินไป โดยไม่ได้คำนึงถึงการบริโภคที่แท้จริง  นอกจากนี้ ล่าสุดทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคยังได้เพิ่มมาตรการลงโทษ  สำหรับผู้ประกอบการที่ผิดในเรื่องของการโฆษณา  นอกจากต้องเสียค่าปรับครั้งละ 5 หมื่นบาทแล้ว  ยังจะต้องลงประกาศทางหนังสือพิมพ์ยอมรับว่าได้ทำผิดในเรื่องของการโฆษณา  และให้แก้ไขความผิดนั้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น