วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อาลีบาบาทุ่มสู้แอนดรอยด์ ดัน "โมบาย โอเอส" ในจีน

updated: 23 เม.ย 2556 เวลา 10:41:07 น.

คอลัมน์ IT. Talentz
โดย siripong@kidtalentz.com
สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าสหรัฐอเมริกามาได้ระยะหนึ่งแล้ว ประชากรกว่า 1,000 ล้านคนก็ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ปัญหาก็คือ จากรายงานการสำรวจของบริษัท Analysys International ช่วงก.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา ระบบปฏิบัติการ สมาร์ทโฟนซึ่งครองตลาด ถึงร้อยละ 90.1 คือแอนดรอยด์ของกูเกิล

iOS ของแอปเปิลส่วนแบ่งลดลงเหลือร้อยละ 4.2 ขณะที่ซิมเบียนมีส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 2.4

นั่นเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน ออกมาแสดงความวิตกกังวลผ่านรายงานชิ้นหนึ่งในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า จีนพึ่งพิงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลมากเกินไป แม้ว่าแอนดรอยด์จะเป็นโอเพ่นซอร์ซ แต่เทคโนโลยีที่เป็นแกนและโรดแมปของเทคโนโลยีก็อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัดของกูเกิล

ในขณะที่จีนมีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองขึ้นมา

และหนึ่งในนั้นก็คือ อาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาระบบปฏิบัติการโมบายของตัวเองขึ้นมาในจีน เมื่อไม่กี่วันมานี้ประกาศโครงการโดยใช้เงิน 1,000 ล้านหยวน หรือราว 162 ล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนนัก
พัฒนาแอปพลิเคชั่น และอุดหนุนผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ขาย

สมาร์ทโฟนด้วยแพลตฟอร์มของบริษัท

ก่อนหน้านี้ "อาลีบาบา" เคยกล่อมเอเซอร์แห่งไต้หวันให้ตกลงผลิตโทรศัพท์โดยใช้ระบบปฏิบัติการของอาลีบาบา ทว่า การแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเดือนก.ย.ปีที่แล้ว ยกเลิกไปอย่างกะทันหัน 

โดยอาลีบาบาอ้างว่า กูเกิลใช้อิทธิพลขัดขวางเอเซอร์ ขณะที่กูเกิลตอบโต้ว่าเป็นเพราะเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์และหลายอย่างในซอฟต์แวร์สโตร์ของ

อาลีบาบาละเมิดลิขสิทธิ์ของกูเกิล ทำให้เอเซอร์และสมาชิกในกลุ่ม Open Handset Alliance ถอนตัว

นั่นทำให้อาลีบาบาประสบกับปัญหาต้องควานหาผู้ผลิตใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นที่น่าสนใจก็คือ ยักษ์ใหญ่ไฮเออร์ ซึ่งเป็นแบรนด์ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในจีน ตกลงจะผลิตสมาร์ทโฟนด้วยระบบของอาลีบาบา รวมทั้งอีก 5 บริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิก Open Handset Alliance และเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์แอนดรอยด์อยู่ก่อนหน้านี้

การทุ่มทุนสนับสนุนนักพัฒนาแอป และจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้ผลิตเป็นรายเดือนจำนวน 16 เซนต์/เครื่องที่ขายได้ของสมาร์ทโฟน ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการของอาลีบาบาน่าจะส่งผลในเชิงกระตุ้นได้ไม่มากก็น้อย 

ความหวังของอาลีบาบา คือ การต่อยอดจากระบบปฏิบัติการไปเชื่อมโยงกับอีคอมเมิร์ซที่ตัวเองถนัดอยู่

ในระยะยาวก็ต้องมาดูกันว่าระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนสัญชาติจีนตัวหนึ่งจะฝ่ากำแพงอันแน่นหนาของแอนดรอยด์ได้สำเร็จหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นบริษัทใหญ่และเป็นแบรนด์ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ทว่า สำหรับระบบปฏิบัติการสมาร์ท โฟนแล้วถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับอาลีบาบา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น