วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ราชบุรีโฮลดิ้งถอนตัวประมูลไอพีพีรอบ3

ธุรกิจ : Marketing
วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 09:16
ราชบุรีโฮลดิ้ง,ประมูลไอพีพี,โรงไฟฟ้า
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business
กกพ.เผยมี 9 รายยื่นประมูลไอพีพีรอบ 3 กำลังผลิต 5,400 เมกะวัตต์ ขณะที่"ราชบุรีโฮลดิ้ง"ขอถอนตัวรับเสี่ยงสูงการจัดหาพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้า
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงการยื่นซองประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (ไอพีพี) รอบที่ 3 ปรากฏว่า มีผู้ยื่นซองเพียง 9 ราย จากผู้ที่ซื้อซองไปทั้งหมด 89 ราย จากรอบ 2 มีผู้ยื่นซองประมูล 27 ราย ในจำนวนนี้ ไม่มีกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้ายื่นซองประกวดราคาและด้านเทคนิค ไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะเหตุใด แต่ในส่วนของกลุ่ม ปตท. คาดว่าอาจมาจากข้อกังวลกรณีด้านความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเอ็นจีโอ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าเอกชนที่ยื่นซองประกวดราคาทั้ง 9 ซอง จาก 5 กลุ่มบริษัท ได้แก่ กลุ่มบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ,บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจนเนอร์เรชั่น จำกัด ,บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นพีเอส และบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด

นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการ กกพ.กล่าวว่า การประมูลไอพีพี รอบที่ 3 กำลังผลิต 5,400 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมด จะสร้างเสร็จและส่งขายไฟฟ้าในช่วงปี 2564-2569 การยื่นประมูลครั้งนี้แต่ละรายต้องจ่ายเงิน 3 ล้านบาท และค่าประกันสัญญาอีก 5 แสนบาทต่อกิโลวัตต์ คาดว่าเงินการลงทุนจะอยู่ที่ 1.6 -1.9 แสนล้านบาท หากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ต้นทุนจะถูกกว่า ส่วนขั้นตอนนับจากนี้ จะใช้เวลา 3-4 เดือน ในการพิจารณาด้านเทคนิคและราคา รวมทั้งการเจรจาสัญญาทั้งหมด ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทไม่ได้เข้ายื่นประกวดราคาไอพีพีรอบที่ 3 เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะพื้นที่ ตามหลักเกณฑ์ที่ระบุว่าเป็นการรับซื้อเฉพาะเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งผู้ผลิตต้องหาพื้นที่ใกล้แนวท่อก๊าซฯ และสายส่งไฟฟ้า และต้องไปเจรจากับปตท. เอง จากการสอบถามไปยัง ปตท. พบว่าปริมาณก๊าซฯที่จะจัดหามาให้จะเป็นก๊าซท่อเส้นที่ 5 ในภาคตะวันออก เกิดจากการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาผสมกับก๊าซอ่าวไทย โดยบริษัทได้จัดหาที่ดิน 2-3 แห่งในภาคตะวันออก แต่พบว่าพื้นที่ที่ได้แปลงใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียว โดยไม่ทราบว่าในอนาคต จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมได้หรือไม่ จึงมองว่าเป็นความเสี่ยงมากกว่า

ที่ผ่านมาบริษัทก็สนใจเข้าร่วมประมูลไอพีพี เมื่อพบว่ามีความเสี่ยง หากจะวางหลักประกัน 1.25 พันล้านบาท สำหรับกำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ อาจไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น ที่นำเงินไปกองไว้กับความเสี่ยง ขณะเดียวกันบริษัทยังมีความกังวลด้านพื้นที่สีเขียว ว่าจะสามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมในอนาคตได้หรือไม่ ดังนั้นจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลไอพีพีรอบนี้

ผู้สื่อข่าวรายงาน ในส่วนของเอ็กโก ได้เสนอประมูล 1,800 เมกะวัตต์ ที่พื้นที่โรงไฟฟ้าระยองที่กำลังจะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนบริษัทโกลว์ พลังงาน ได้ยื่นข้อเสนอ 2 สัญญา ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง สัญญาแรก 2,200 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สัญญาที่ 2 กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ เงินลงทุนครึ่งหนึ่งของสัญญาแรก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น