วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

"เอไซ"เล็งซื้อกิจการเสริมทัพ เพิ่มโฟกัสช่องทางร้านขายยา

updated: 01 พ.ค. 2556 เวลา 11:12:47 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ที่มา http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid
เอไซเพิ่มดีกรีช่องทางร้านขายยา หลังพบโตต่อเนื่อง ทดแทนตลาดช่องทางโรงพยาบาลทรงตัว ซุ่มซื้อกิจการยาโลคอล-อินเตอร์แบรนด์เสริมทัพ ขยายไลน์กลุ่มยามะเร็ง หวังต่อยอดเข้าไปในอินโดจีน

ภก.ทวีศักดิ์ สีทองสุรภณา ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับตลาดร้านยามากขึ้น จากตัวเลขตลาดยาในประเทศมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท เติบโตแค่ 1-2% โดยช่องทางจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลมีสัดส่วนมากที่สุด 80% ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลของรัฐมีการเติบโตชะลอตัว ทำให้ยอดขายของบริษัทจากช่องทางนี้ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ แต่ช่องทางโรงพยาบาลเอกชนขยายตัวดี 6-7% เป็นทิศทางเดียวกับร้านขายยาเติบโตเกือบ 10%

จากแนวโน้มดังกล่าว บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางร้านยาเป็น 20% จาก 18% ด้วยการเพิ่มรายการยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นอีก 6-7 รายการ อยู่ระหว่างยื่นขออนุญาต อย. หลังจากปีที่ผ่านมาได้รับสิทธิ์ขายและทำตลาดยาแก้หวัดอาปราคัวร์จากเยอรมนี นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มพันธมิตรธุรกิจยาเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อยู่ระหว่างเจรจาทั้งผู้ผลิตโลคอลและต่างประเทศ

"ตลาดร้านขายยาโตอย่างมากในปีที่แล้ว จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อยากินเอง นโยบายคุมค่ารักษาพยาบาลและการจ่ายยา บวกกับเรามีเครือข่ายร้านขายยาที่ทำตลาดร่วมกันมากขึ้น ทำให้ยอดขายผ่านร้านยาโตเกินคาดกว่า 35% มีส่วนแบ่งการขายจากร้านขายยาเพิ่มขึ้น"

สำหรับช่องทางโรงพยาบาลมุ่งขยายตลาดใหม่ ๆ คือ ตลาดยามะเร็ง จากเดิมที่มีการผลิตยารักษาสมองเสื่อม กระเพาะอาหาร และกระดูก เพราะมองเห็นว่าตลาดยามะเร็งมีการเติบโต 10% โดยตัวแรกที่เริ่มนำเข้ามาทำตลาดก็คือ ยาที่ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทั้งไทยและทั่วโลก

คาดกระตุ้นการเติบโตของช่องทางโรงพยาบาล จากที่มียอดขายผ่านโรงพยาบาลรัฐ 70% โรงพยาบาลเอกชน 12% นอกจากนี้ยังมองโอกาสที่จะนำเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศอินโดจีน

สำหรับแผนการลงทุนอื่น ๆ ภก.ทวีศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทแม่ให้ความสนใจใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกเวชภัณฑ์ไปยังกลุ่มประเทศเออีซี เพราะมีความได้เปรียบด้านระบบโลจิสติกส์ โดยได้ย้ายฐานการผลิตยาบางส่วนเข้ามาในไทย แต่เป็นลักษณะจ้างผลิต อาทิ ยาระบบประสาท อัลไซเมอร์ ลมชัก โดยมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 80% ส่งออก 20% อนาคตจะเปลี่ยนเป็น 35 : 65

"นโยบายบริษัทแม่ต้องการให้ต้นทุนถูกลง เพราะต้นทุนการผลิตที่ญี่ปุ่นค่อนข้างสูง จึงต้องย้ายฐานผลิตยาบางส่วนมาที่ไทย เรายังไม่มีโรงงานในไทย แต่จะใช้วิธีจ้างผลิต ก็จะเพิ่มรายการยาใหม่ ๆ อีกอย่างไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ กระจายได้ครอบคลุมอาเซียน ปีนี้ก็น่าจะมีรายได้ 1,600-1,700 ล้านบาท จากปีก่อนปิดที่ 1,470 ล้านบาท" ภก.
ทวีศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น