วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สตาร์บัคส์กลับมาใช้กลยุทธ์ Happy Hour

ที่มา นิตยสารผู้จัดการ 360°
หลังจากที่สตาร์บัคส์ตัดสินใจปรับสายการดำเนินงานมาให้บริการลูกค้าด้วยเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในการให้บริการช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตกในพื้นที่ทดลอง 6 ร้านทางชายฝั่งทะเลตะวันตกในสหรัฐไปแล้ว และประกาศว่าจะขายไวน์และเบียร์ในร้านกาแฟสตาร์บัคส์ไม่น้อยกว่า 25 แห่งภายในสิ้นปีนี้ พร้อมกับเสิร์ฟอาหารประเภทกับแกล้มเพิ่มขึ้นด้วย

ตอนนี้สตาร์บัคส์ออกแผนงานการตลาดใหม่ที่เรียกว่าแคมเปญ Happy Hour อีกแล้ว เพื่อหวังจะเรียกลูกค้ามาใช้บริการทางการตลาดมากขึ้น ซึ่งนักการตลาดเห็นว่าแคมเปญนี้เขียนเป็นแผนงานอาจจะง่าย แต่ทำจริงให้เกิดประสิทธิผลจริงๆ ไม่ง่ายอย่างที่พูดแน่นอน

กลยุทธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาช่องทางใหม่ๆ เพิ่มเติม จากเดิมที่สตาร์บัคส์หวังว่าจะเพิ่มจำนวนลูกค้าของตน ทั้งคนที่ชอบดื่มกาแฟและเครื่องดื่มอื่นที่ไม่ใช่กาแฟ ในช่วงเวลาที่เป็นช่วงยอดขายต่ำที่สุดของวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาบ่ายและเย็น ขณะที่ไม่ทำให้ฐานลูกค้าประจำเดิมๆ ของสตาร์บัคส์หดหายไป

แนวความคิดในการพัฒนากลยุทธ์นี้มาจากการศึกษาตำนานความสำเร็จของแมคโดนัลด์ที่สามารถสร้างการเติบโตให้กับกิจการได้จากการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการอาหารเช้าแบบเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของบริษัทอินเตอร์แบรนด์ที่เป็นที่ปรึกษาของสตาร์บัคส์ก็ยอมรับว่า อาจจะเป็นไปได้ว่าการออกแคมเปญ Happy Hour นี้ พร้อมกับการเพิ่มเมนูเครื่องดื่มประเภทที่มีแอลกอฮอล์ อาจจะทำให้สตาร์บัคส์เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเดิมที่อาจจะสูญเสียลูกค้ากลุ่มที่เป็นครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ ที่หลีกเลี่ยงไปร้านอาหารอื่นแทน เพราะที่สตาร์บัคส์กลายเป็นแหล่งที่มีคนขี้เหล้ามานั่งดื่มเต็มไปหมด และหลายคนก็ไม่ได้ดื่มแบบจิบๆ แต่ดื่มแบบหัวราน้ำ

เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารของสตาร์บัคส์ต้องเลือกเอาว่าจะตัดสินใจเพิ่มยอดการจำหน่ายและรายได้จากกลุ่มขี้เหล้ามากกว่ากลุ่มลูกค้าที่เป็นครอบครัวหรือไม่ ซึ่งหากช่วงบ่ายและเย็นเป็นช่วงที่เงียบเชียบที่สุดของการหมุนเวียนเข้า-ออกของลูกค้าในร้านกาแฟของสตาร์บัคส์อยู่แล้ว การเปิดบริการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ ก็ไม่น่าจะกระทบต่อลูกค้าหลักของสตาร์บัคส์

แนวคิดของการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของสตาร์บัคส์มาจากซีอีโอของสตาร์บัคส์ ที่เข้ามาบริหารกิจการสตาร์บัคส์ตั้งแต่ปี 2008 เพราะก่อนหน้านั้นการประกอบการของสตาร์บัคส์ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางธุรกิจตามที่ควรจะเป็นและไม่ได้ตามเป้าหมายของกิจการ

ดูได้จากการที่สตาร์บัคส์ตัดสินใจปิดกิจการร้านกาแฟของสตาร์บัคส์ไปกว่า 100 แห่ง หลังจากที่การเร่งเปิดร้านใหม่ๆ อาจจะมากเกินกว่าความต้องการของตลาด และการประกอบการของร้านกาแฟจำนวนหนึ่งไม่อาจจะหารายได้เพียงพอจะเลี้ยงตัวเองและคุ้มกับค่าใช้จ่ายประจำที่เกิดขึ้นทุกวันได้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐและตลาดต่างประเทศหลายตลาดถดถอยลงไป

พฤติกรรมการดื่มกาแฟนอกบ้านในราคาต่อแก้วแพงอย่างที่สตาร์บัคส์จำหน่าย จึงกลายเป็นของฟุ่มเฟือยในช่วงที่ผู้คนพากันรัดเข็มขัดมากขึ้น ส่งผลให้กำไรโดยรวมของสตาร์บัคส์ลดลงตามไปด้วย

เมื่อซีอีโอคนใหม่เข้าไปปรับโครงสร้างธุรกิจตั้งแต่ปี 2008 ปรากฏว่ารายได้จากการดำเนินงานของสตาร์บัคส์เริ่มเพิ่มขึ้น 20% เป็น 11,700 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ผลกำไรก็เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว และทำให้สตาร์บัคส์สามารถครองตลาดในสัดส่วนกว่า 33% ของมูลค่าการตลาดกว่า 26,500 ล้านดอลลาร์ของกาแฟและขนมขบเคี้ยวทั้งหมดในสหรัฐ ขณะที่ดังกิ้น โดนัทมีสัดส่วนครองตลาดรองลงมาคือประมาณ 16%

ที่จริงการปรับตัวของสตาร์บัคส์ก็เป็นไปตามกระแสและสภาวะของตลาดและอุตสาหกรรมนี้ เพราะแมคโดนัลด์เองก็หันเหธุรกิจจากการจำหน่ายอาหารฟาสต์ฟูดมาเป็นการเน้นเครื่องดื่มประเภทกาแฟมากขึ้น ด้วยการเปิด McCafe ที่มีการตกแต่งภายในด้วยสีเอิร์ธโทน และมีไวไฟให้ใช้ฟรี และขยายเมนูเพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่จะสั่งมากินได้มากขึ้นในระหว่างที่ใช้เวลาอยู่ในร้านของแมคโดนัลด์นานมากขึ้น

ส่วนทางดังกิ้น โดนัทก็ริเริ่มเมนูอาหารใหม่ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนสินค้าให้หนีออกจากความจำเจ ซ้ำซาก และพยายามเพิ่มปริมาณยอดจำหน่ายและรายได้หลังจากผ่านเวลาอาหารเช้าไปแล้วเหมือนกัน

ที่ผ่านมา สตาร์บัคส์มีปริมาณธุรกิจค่อนข้างหนาแน่นในช่วงเวลาเช้าเหมือนกัน แต่หลังจากนั้น พนักงานส่วนใหญ่แทบจะตบยุงเพราะไม่มีลูกค้าแวะเวียนเข้าไปในร้าน ทำให้ต้นทุนการจ้างพนักงานทั้งวันทั้งคืนและต้นทุนค่าการก่อสร้างหรือเช่าอาคารสถานที่ไม่คุ้มค่าในช่วงบ่ายถึงเย็น

ในการที่จะเพิ่มจำนวนลูกค้าในร้านกาแฟสตาร์บัคส์ได้ ทางทีมงานการตลาดของสตาร์บัคส์ก็ต้องพยายามที่จะทำให้ลูกค้ามีเหตุผลอันสมควรที่จะเข้าไปในร้านของสตาร์บัคส์ และใช้เวลาให้นานขึ้นเพื่อทำอะไรที่ตนพอใจ

สิ่งที่เป็นความเปลี่ยนแปลงของสตาร์บัคส์ ภายใต้การบริหารงานของซีอีโอคนใหม่ไม่ใช่เพียงเรื่องของการจำหน่ายไวน์และเบียร์ หากแต่มีส่วนผสมหลายอย่างได้แก่

ประการแรก ขนาดของร้านกาแฟของสตาร์บัคส์ในหลายพื้นที่ใหญ่ขึ้น กว้างขวางขึ้น เช่นที่ชิคาโก แอตแลนตา เซาท์แคลิฟอร์เนีย

ประการที่สอง การตกแต่งภายในร้านมีการแบ่งสัดส่วนออกไปมากขึ้น แทนที่จะเป็นร้านกาแฟโล่งๆ เพื่อให้มีมุมสงบและหลบๆ ให้บรรดานักดื่มสามารถดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้อย่างสบายใจและสะดวกมากขึ้น

ประการที่สาม สตาร์บัคส์บางแห่งยังมีบาร์เมนู เพื่อให้เป็นกับแกล้มสำหรับประกอบการดื่มด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะติดใจทั้งรสชาติของเครื่องดื่มและของอาหารการกิน

ประการที่สี่ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สตาร์บัคส์ได้เข้าไปซื้อกิจการบริษัทผลิตน้ำผลไม้ ชื่อ Evolution Fresh เป็นเงินกว่า 30 ล้านดอลลาร์ ทำให้สตาร์บัคส์พร้อมที่จะเริ่มทำการจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ เพื่อขยายฐานการตลาดเครื่องดื่มของสตาร์บัคส์ที่ฉีกแนวออกไปจากการจำหน่ายกาแฟ โดยจะใช้การจำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้าปลีกในสหรัฐด้วย

ประการที่ห้า ในส่วนของเครื่องดื่มประเภทกาแฟ สตาร์บัคส์เพิ่มกาแฟที่เป็นรสชาติอ่อนลงที่เรียกกันว่า บรอนซ์ คอฟฟี่ เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็นกลุ่มที่ไม่ชอบกาแฟดำที่รสชาติเข้มข้นและแรงมากเกินไป ทำให้ผลิตภัณฑ์ของสตาร์บัคส์มีทั้งรสชาติอ่อนละมุน ปานกลาง และแบบเข้มข้น รวม 3 ระดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น