ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
สนั่น อังอุบลกุล นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากปัญหาเงินบาทที่แข็งขึ้นจากต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้หายไปประมาณ 300 ล้านบาท จากการส่งออก จากเป้าหมายทั้งปีที่คาดว่าจะมีรายได้ 1.03 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 17% ที่มีรายได้ 8.7 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเติบโตจากปีก่อน 20% ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์จากเมลามีนจะเติบโตเพียง 5%
ทั้งนี้มองว่าหลังจากนี้ไปภาคธุรกิจจะต้องลดค่าใช้จ่ายต่างๆลง เพื่อให้สอดรับกับรายรับรายจ่าย ขณะที่การรับออร์เดอร์การผลิตคงต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการผันผวนของค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะส่งผลให้ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การส่งออกอาจจะชะลอตัว ซึ่งอยากให้รัฐบาลดูแลในเรื่องของค่าเงินบาทอย่าให้มีการผันผวน และต้องมองคู่แข่งประเทศในอาเซียนให้ค่าเงินควรอยู่ในระดับเดียวกัน และที่สำคัญคือภาครัฐควรสามัคคีกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจในการแก้ปัญหาและกล้าที่จะลงทุน รับงานและผลิตสินค้าส่งออกไปยังตลาดต่างๆ เพราะหากนโยบายรัฐบาลยังไม่ชัดเจน การปรับตัวลำบาก
"ช่วงต้นปีที่ผ่านมาโดนทั้งการปรับค่าแรง 300 บาท และค่าเงินบาทจึงทำให้รายได้ไตรมาสแรก หายไปส่วนหนึ่ง ซึ่งมองว่านโยบายลดดอกเบี้ย ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อน แต่ความขัดแย้งจะทำให้นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่น และภาคเอกชนเห็นว่ารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยต่างฝ่ายต่างใช้กลไกที่มีในการเข้ามาจัดการเงินที่เข้ามาเก็งกำไร เชื่อว่าจะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพได้"
ขณะเดียวกันมองว่าค่าเงินบาทควรอยู่ที่ระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าดีที่สุด แต่ก็ยอมรับว่าคงเป็นเรื่องที่ลำบาก จึงมองว่าไม่ควรต่ำกว่า 29 บาท ผู้ประกอบการยังพอปรับตัวได้
สำหรับการปรับตัวในช่วงที่เงินบาทยังแข็งค่าอยู่นี้ บริษัทได้เร่งสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ และซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันบริษัทได้เร่งออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยจะเร่งก่อสร้างโรงงานผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์พลาสติกอาหารและเครื่องดื่มที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท
ส่วนโรงงานผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์พลาสติกอาหารและเครื่องดื่มที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาทนั้นถือว่าใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะเป็นการร่วมทุนกับผู้ประกอบการรายอื่น และโรงงานเมลามีน ที่ประเทศอินเดีย ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท โดยโรงงานใหม่ทั้ง 3 แห่ง จะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ช้าสุดต้นปี 2557 เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศที่มีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น
"หากใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก จะต้องแบกรับต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานในประเทศไทย 4 แห่ง มีกำลังการผลิตพาสติกอยู่ที่ 6.6 หมื่นตันต่อปี ในขณะที่ เมลามีน มีกำลังการผลิตที่ 1.2 หมื่นตันต่อปี"
สำหรับการจะขยายการลงทุนในต่างประเทศต่อไปนั้น มองว่าประเทศที่มีศักยภาพและสามารถขยายโรงงานเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคตจะเป็นประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และสิงคโปร์ ในขณะที่ประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ ยังติดปัญหาด้านกฎหมาย การเมือง และระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น หากจะเข้าไปลงทุนใน 3 ประเทศนี้ จะต้องพิจารณาหลังจากที่มีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีเรียบร้อยแล้ว ถึงจะตัดสินใจได้
"ในฐานะผมเป็นประธานคณะกรรมการพลังงานหอการค้าไทย ขอเรียนว่า ในวันที่ 5-8 มิถุนายนนี้ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) เตรียมจัดงานแสดงเทคโนโลยีพลังงานทดแทนระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อ "Renewable Energy Asia 2013" เพื่อเป็นแนวทางการอนุรักษ์พลังงานด้วยเทคโนโลยีและการจัดการด้วยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ต้องการให้เห็นความสำคัญในการลงทุนประหยัดพลังงาน โดยในปีนี้ตั้งเป้าลดการใช้พลังงาน 10% "
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,842 วันที่ 9-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
Read : 270 times
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น