วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โอกาส&ขวากหนาม ลอรีอัล ในศึกชิงบัลลังก์ความงาม

วันที่ 26 เมษายน 2556 14:00
โดย : ชนิตา ภระมรทัต

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/

ตลาดความงามไทยนั้นขึ้นชื่อว่ามีขนาดใหญ่ เติบโตดี การแข่งขันจึงร้อนฉ่า เพราะใคร ๆ ก็หมายปอง รวมถึงลอรีอัล ประเทศไทย ซึ่งยังรั้งเป็นเบอร์สอง


แม้ว่าทั่วโลก ลอรีอีลนั้นจะครองแชมป์ก็ตามที ทว่าตลาดประเทศไทยกลับมีความท้าทายและการบรรลุเป้าหมายอาจไม่ใช่เรื่องง่าย


ที่สุดบริษัทแม่ของลอรีอัลที่ประเทศฝรั่งเศส ได้ตัดสินใจเลือก "อูเมช ฟัดเค" ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประ เทศไทย) จำกัด เพื่อมาขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้ประสบความ สำเร็จ


และไม่น่าเชื่อ อูเมซ กลับต้องพบเจอกับความท้าทายแรกทันทีเมื่อตอนที่เขาเพิ่งมารับตำแหน่งนี้ใหม่ๆ หมาดๆ นั่นก็คือ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย (ปี2554)


ความเร่งด่วนที่เขาต้องทำในเวลานั้นมีอยู่ด้วยกันสองเรื่อง นั่นคือ หนึ่ง ต้องดูแลพนักงานผู้ประสบภัย ให้รู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิต "ก่อนจะช่วยเหลือคนนอกบ้านต้องช่วยพนักงานที่เปรียบเหมือนคนในครอบครัวให้ดีเสียก่อน" สอง ดูแลพันธมิตรทางการค้า เพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไม่สะดุด โดยลอรีอัลจัดการส่งสินค้าไปให้อย่างสม่ำเสมอ


เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นและคลี่คลาย ในปี 2555 อูเมซก็ได้กลับมาสวมบทบาทผู้นำทัพ ลอรีอัล ประเทศไทย ในการพิชิตเป้าหมายเป็นเบอร์หนึ่งอย่างจริงจัง


อูเมช ฟัดเค ได้สร้างอัตราการเติบโตให้ลอรีอัลเป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นผลดำเนินงานที่ดีมาก และทำให้เป้าหมายที่ตั้งใจใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น


เขายอมรับว่าตลาดประเทศไทยนั้นแตกต่าง และเป็นแบบไทยๆ ที่ไม่เหมือนใครในโลก โดยสร้างความท้าทายให้กับเขาอยู่สองประเด็น เรื่องแรก การเป็นเบอร์หนึ่งก็ต้องอาศัยคนเก่ง ขณะที่ตลาดมีการแย่งชิงคนเก่ง ( The War for Talent) กันแบบดุเดือดเลือดพล่าน เรื่องที่สอง ผู้บริโภคไทยไม่ว่าจะอยู่ในตลาดล่าง-กลาง-บน มีความคาดหวังว่าจะได้ใช้สินค้าที่ดีที่สุด และต้องดียิ่งกว่าเดิม


คำถามก็คือ แล้วเขามีวิธีก้าวข้ามความยากลำบากมาได้อย่างไร


อูเมซกล่าวว่า แม้ว่าในเวลานี้ลอรีอัลได้รับการยอมรับ พนักงานมีความภาคภูมิใจ เรียกได้ว่าเป็น "องค์กรในฝัน" หรือ Employer of Choice ก็คงไม่ผิดนัก "แต่ใครจะรู้ว่าในวันข้างหน้าพนักงานจะยังคงทำงานร่วมกับเรา"


ในเรื่องนี้เขากลับไปตั้งต้นที่ "การสรรหา" ซึ่งถือว่าประตูบานแรกที่เปิดรับคนเข้ามาเป็นพนักงาน


เพื่อหาคนที่เก่ง คนที่ใช่ ลอรีอัลเปิดรับเด็กจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยมาอบรมด้วยโปรแกรม Management Trainee ซึ่งเป็นการมอบโอกาสให้เด็กได้ทดลองทำงานในแผนกต่างๆ ของบริษัท เหตุผลก็เพื่อให้เด็กได้รู้ว่า "ฉันรู้แล้วว่าฉันต้องการทำงานอะไรกันแน่" ในทางกลับกันลอรีอัลเองก็มีโอกาสมองเห็นจุดอ่อน จุดแข็ง ศักยภาพที่แท้จริงของตัวเด็กและนำไปพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในลำดับต่อไป


การพัฒนาคนของลอรีอัลมีอยู่ 3 รูปแบบ เริ่มด้วยแบบแรก สำหรับเด็กใหม่นอกจากทักษะในการทำงานแล้ว พวกเขายังจะได้รับการอบรมในเรื่องของความงามด้วย (ทำงานกับบริษัทความงามเสื้อผ้า หน้า ผมก็ควรต้องเป๊ะ) แบบที่สอง ดีไซน์ให้ตรงตามความต้องการเป็นรายบุคคล

อูเมซยกตัวอย่างว่าตัวเขาเองได้รับการพัฒนาในรูปแบบนี้ โดยถูกส่งตัวไปพบปะกับผู้บริหารของลอรีอัลหลายคน หลายแผนก และหลายประเทศ ทำให้เขาได้รับการแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ รวมถึงข้อมูลที่มีคุณค่าซึ่งสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดลอรีอัล ประเทศไทยได้ไม่ยาก และแบบที่สาม เป็นการโยกย้ายพนักงานให้ไปเรียนรู้ใหม่ๆ ทั้งการโยกย้ายข้ามแผนก ข้ามประเทศ รวมถึงไปทำงานยังสำนักงานใหญ่ ที่ประเทศฝรั่งเศส


สำหรับความท้าทายเกี่ยวกับความคาดหวัง (สูง)ของลูกค้านั้น อูเมซบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะทุกคนมีสิทธิ์จะคาดหวัง สิ่งที่ลอรีอัลทำก็คือ ต้องพยายามก้าวไปข้างหน้าให้เร็วกว่าความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ


"แม้ทุกวันนี้เราพยายามรับฟังเสียงของลูกค้าอยู่เสมอ แต่ที่สุดแล้วเราไม่ควรเป็นฝ่ายให้ลูกค้าบอกเรา จำเป็นที่เราควรจะคิดว่าต้องทำอะไรอีกบ้าง ควรต้องทำอะไรให้ดีกว่านี้ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของพวกเขา "


บนเส้นทางล้วนเต็มไปด้วยบททดสอบ คำถามก็คือ เพื่อก้าวเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย ลอรีอัลกำหนดกลยุทธ์ไว้อย่างไร อูเมซบอกว่า มีอยู่ด้วยกัน 3 หมัดเด็ด นั่นคือ


หนึ่ง สร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ โดยมี "นวัตกรรม" เป็นอาวุธสำคัญ แม้ลอรีอัลอยู่ในธุรกิจความงาม แต่ความแตกต่างก็คือลอรีอัลก่อตั้งโดยนักวิทยาศาตร์ และตลอดมาองค์กรแห่งนี้มีการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ด้วยเม็ดเงินที่สูงมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสินค้าของลอรีอัลจึงไม่ได้เป็นเพียงความฝันหากแต่จะเกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจน


อย่างไรก็ดีคนส่วนใหญ่มักคิดว่า นวัตกรรม ก็คือเนื้อครีม หรือตัวสินค้าเท่านั้น ซึ่ง อูเมซ กล่าวว่าในความเป็นจริงสำหรับลอรีอัล มันคือทุกสิ่งทุกอย่างทั้งตัวสินค้า กล่องบรรจุ ช่องทางจำหน่าย การจัดส่ง การตลาด ฯลฯ


สอง สร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร เรื่องนี้หมายถึงสรรหาและพัฒนาคนให้เก่ง ให้มีฝีมือ (มีการกล่าวถึงแล้วในเรื่องการจัดการคนเก่ง)


อูเมซกล่าวว่า นวัตกรรมและคน มีความสำคัญมากต่อเป้าหมายก้าวเป็นที่หนึ่ง "ไม่มีนวัตกรรมเราก็เป็นผู้นำไม่ได้ แต่หากมีนวัตกรรมดีๆ มากมายแต่คนของเราไม่เก่ง ไม่สามารถถ่ายทอดให้ลูกค้ายอมรับ เชื่อมั่นได้ นวัตกรรมก็คงไม่มีความหมาย"


สาม การเป็นพลเมืองดีของธุรกิจ (Good Corporate Citizenship) เป็นการร่วมสร้างสังคมไทยให้แข็งแกร่ง ซึ่งในประเทศไทยคำที่คุ้นหูกว่าก็คือ CSR


โดยลอรีอัลทำเรื่องนี้ทั้ง "หน้าม่าน" หมายถึงเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป และ"หลังม่าน" เป็นการทำเงียบๆ ภายในองค์กร เป็นการดูแลกระบวนการทำงานไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม


ขณะที่การทำเพื่อสังคมหน้าม่านนั้น ที่ผ่านมาลอรีอัลมีโครงการดีๆ มากมาย ในหมายเหตุที่ว่า "ไม่ใช่การบริจาคเงิน" แต่นำความงามไปสร้างอาชีพ ด้วยการจัดอบรมฝึกทักษะอาชีพ เสริมสวยให้กับผู้หญิงที่ด้อยโอกาสทางสังคม และในช่วงน้ำท่วมก็มีอบรมเรื่องนี้ให้กับผู้หญิงที่เป็นผู้ประสบภัยจำนวน 107 ชีวิต เป็นต้น


เพราะลอรีอัลมีแนวคิดที่ว่า ความงามไม่ใช่เรื่องผิวเผิน แต่มันมีพลังที่จะเปลี่ยนชีวิตคนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น