วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

BANPU เล็งขยายลงทุนธุรกิจไฟฟ้าลดความผันผวนธุรกิจถ่านหิน

BANPU เล็งขยายลงทุนธุรกิจไฟฟ้าลดความผันผวนธุรกิจถ่านหิน ศึกษาพลังลม-โซลาร์เซลล์
ที่มาhttp://www.ryt9.com/s/iq05/1610509
ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- ศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2556 17:43:49 น.
บมจ.บ้านปู(BANPU)เล็งขยายการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อนบ้านรอบด้าน และอินโดนีเซีย ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังคงเติบโต ทั้งนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจและลดความผันผวนจากธุรกิจถ่านหิน โดยมองเชื้อเพลิงทั้งจากถ่านหิน รวมไปถึงพลังงานทดแทนทั้งลมและพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากเริ่มทดลองทดสอบกระแสลมมากว่า 1 ปีซึ่งมีโอกาสจะได้เห็นใน 2 ข้างหน้า ยืนยันความพร้อมการลงทุนจากกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง


นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า บริษัทจะพิจารณาโอกาสที่จะลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้ามากขึ้นในหลายประเทศ นอกเหนือจากปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่และล่าสุดที่กำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าหงสาในลาว เชื่อว่าจะช่วยความผันผวนของผลประกอบการที่ปัจจุบันพึ่งพารายได้หลักจากธุรกิจถ่านหิน ขณะที่เรามีกระแสเงินสดที่สามารถใช้ลงทุนได้อีกราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าแข็งแกร่งมาก และยังคงมีเป้าหมายที่จะรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 1.1 ต่อ 1

"shale gas เป็นประเด็นที่อาจกระทบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นไม่เฉพาะถ่านหิน แต่ทั้งน้ำมันและก๊าซ ถ้าขยับออกไปลงทุนบางส่วนที่ทำให้มีกระแสเงินสดดีขึ้น ก็คงช่วยลดความเสี่ยงจากราคาถ่านหินได้"นายชนินท์ กล่าว

ในปี 55 บริษัทมีสัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจไฟฟ้าประมาณ 20% ซึ่งอาจจะเพิ่มเป็น 30-40% ได้ในอนาคต ขณะที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการกระแสไฟฟ้าสูง แต่ก็ยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องการใช้พลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยหากจะใช้ก๊าซธรรมชาติก็อาจมีต้นทุนที่สูงเกินไป และต้องทำสัญญาซื้อในระยะยาว ขณะที่ถ่านหินก็ยังต้องความเข้าใจในแง่สิ่งแวดล้อมแม้ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด หากจะลงทุนก็อาจต้องวางแผนในระยะยาว บริษัทจึงศึกษาการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนด้วย เพราะน่าจะเริ่มลงทุนได้ก่อน

"จะสร้างโรงไฟฟ้าเดี๋ยวนี้เขาว่าต้องใช้เวลาเกิน 30 ปี แต่ลมกับโซลาร์เซลล์ราคาต้นทุนน่าสนใจ เราทดสอบพลังงานลมมาปีกว่าๆ แล้วแถวอีสานและภาคกลาง ก็คงทำไปเรื่อยๆ ก่อน...เราคงไม่ทำไซส์เล็ก ๆ ขนาดใหญ่ก็คงประมาณ 20 เมกะวัตต์ อาจจะได้เห็นใน 2 ปีข้างหน้า พลังงานลมอาจจะเกิดก่อน โซลาร์เซลล์ก็น่าสนใจ เราคงเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะเข้าไปซื้อไลเซ่นส์เดิม หรือร่วมทุนก็ได้"นายชนินท์ กล่าว

สำหรับโรงไฟฟ้าหงสา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 40% แล้ว ถือว่าเร็วกว่าแผนที่คาดไว้ ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 58-59 ส่วนโรงไฟฟ้าในจีน ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่ต้องการพัฒนาธุรกิจในจีนและมองโกเลียทั้งเหมืองถ่านหินและธุรกิจไฟฟ้าให้เป็น cluster ที่สามารถทำกำไรได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาธุรกิจถ่านหินไว้ตามที่กำหนดไว้ในแผนงาน และยังมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศที่ได้มีการลงทุนไว้แล้ว โดยงบลงทุนตามแผนงานในปี 55-58 ที่ได้ลดวงเงินลงมาที่ 1,248 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซียและออสเตรเลีย ขณะที่การลงทุนในมองโกเลียชะลอไว้และเน้นการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ อีกทั้งได้ขยายพื้นที่สำรวจเข้าไปในด้านตะวันตกของมองโกเลียด้วย

ทั้งนี้ ในปี 57 คาดว่าจะเริ่มผลิตถ่านหินจากเหมืองในมองโกเลียได้ ปริมาณเริ่มต้นราว 2 ล้านตัน และเพิ่มเป็น 4 ล้านตันในปี 58 ขณะที่ปริมาณผลผลิตรวมในปี 57 อยู่ที่ 54.20 ล้านตัน มาจากอินโดนีเซีย 32.0 ล้านตัน ออสเตรเลีย 17.0 ล้านตัน และจีน 3.2 ล้านตัน จากนั้นในปี 58 ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มเป็น 57.30 ล้านตัน มาจากอินโดนีเซีย 32.0 ล้านตัน ออสเตรเลีย 18 ล้านตัน และจีน 3.3 ล้านตัน

นายชนินท์ ยอมรับว่า ในปีนี้ธุรกิจถ่านหินน่าจะสร้างรายได้ทรงตัวจากปีก่อนที่ 1.1 แสนล้านบาท และกำไรคงไม่สูงกว่าปีก่อน เนื่องจากราคาถ่านหินยังลดลง โดยบริษัทจะพยายามเพิ่มปริมาณผลผลิตมาชดเชย พร้อมทั้งลดต้นทุนการผลิตของเหมืองในอินโดนีเซียและออสเตรเลีย และรายจ่ายในด้านต่าง ๆ โดยในส่วนของออสเตรเลียอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาการผลิตที่ยังไม่มั่นคง คาดว่าจะแก้ไขแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/56 และไตรมาส 2/56

"การลดต้นทุนในปีนี้เพื่อรองรับราคาขายที่ต่ำลงไป ปีนี้น่าจะเป็นผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เราเตรียมตัวเพื่อพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงต่อไป"นายชนินท์ กล่าว

ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน BANPU กล่าวว่า บริษัทยังใช้โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำในการปรับปรุงประสิทธิภาพทางการเงิน โดยการจัดโครงสร้างและปรับกลยุทธด้านเงินทุนให้เหมาะสม รวมถึงมาตรการซื้อหุ้นคืนในช่วงที่ราคาหุ้นลดต่ำลง การลดปริมาณหนี้สินรวม การยืดกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ และเพิ่มสัดส่วนหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนกระจายหนี้สินไปอยู่ในกลุ่มบริษัทย่อยที่ถือสินทรัพย์อยู่โดยตรง

"ตั้งแต่ 1 ม.ค.56 งบการเงินเราเลือกใช้เป็นดอลลาร์สหรัฐ เพราะรายได้และสินทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ในหลายประเทศ รายจ่ายก็เป็นดอลลาร์ เพื่อสร้าวความสมดุลและ matching กับอัตราแลกเปลี่ยน หนี้ราว 60% เป็นดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนี้เงินบาทส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ เราก็จะให้หนี้สกุลดอลลาร์เข้ามาแทนให้สัดส่วนมากกว่า 60%"นางสมฤดี กล่าว

อินโฟเควสท์ โดย ศศิธร ซิมาภรณ์/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น