updated: 07 พ.ค. 2556 เวลา 10:45:15 น.
นายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานไทยในธุรกิจก่อสร้างไม่เพียงพอ ทำให้ผู้รับเหมาแทบทุกรายต้องใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งพบว่าแต่ละไซต์งานมีแรงงานที่เป็นชาวต่างด้าวมากกว่าครึ่งของแรงงานที่มีอยู่ ทำให้ประสบปัญหาด้านการสื่อสารในการสั่งงาน ต้องมีการจ้างคนเพิ่มเพื่อให้เป็นล่าม เพื่อทำให้การสื่อสารและทำงานที่ลื่นไหล
แต่ใช่ว่าแม้ว่ามีแรงงานต่างด้าวใช้แล้วปัญหาจะหมดไป เพราะยังมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาด้วย โดยเฉพาะในเรื่องระบบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ที่มีขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้แรงงานในระบบที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวนั้นพบว่ากว่า 30-40% เป็นแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า และการจดทะเบียนแล้วแรงงานต่างด้าวมีค่าใช้จ่าย และบางรายเมื่อได้จดทะเบียนเป็นแรงงานถูกต้องแล้วก็มักจะหนีไปหางานในที่ที่ได้รับค่าตอบแทนมากกว่า
อย่างไรก็ตามในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานนั้น ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือรับเหมาก่อสร้างจะได้รับผลกระทบมากสุด เพราะต้องมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังพื้นที่ก่อสร้าง แต่การเคลื่อนย้ายก็ไม่คล่องตัว เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการจำกัดพื้นที่ของแรงงาน ที่หากขึ้นทะเบียนไว้เขตไหน ก็จะต้องอยู่เขตนั้นไม่สามารถข้ามเขตได้ และหากต้องทำให้ได้ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อครั้ง
ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวแล้วยังพบปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่นการผลัดกันเข้ามาของหน่วยงานภาครัฐ ที่จะวนเวียนเข้ามาตรวจสอบในไซต์งาน ซึ่งบางครั้งมาอย่างถูกกฎหมายแต่บางครั้งก็ไม่ ทำให้เสียเวลาในการทำงาน ส่งผลให้งานล่าช้า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการแย่งตัวแรงงานโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจากไซต์งานหนึ่งไปยังอีกไซต์งานหนึ่งเพราะมีการเสนอค่าจ้างที่สูงกว่าหากไม่มีหัวหน้างานคุมอยู่
ไม่เฉพาะแต่แรงงานไร้ฝีมือเท่านั้นที่ขาดแคลน โฟร์แมน หัวหน้าช่าง ก็ขาดแคลนด้วยต้องจ้างวิศวกรมาทำงานด้านโฟร์แมน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น รวมถึงแรงงานที่มีฝีมือ อย่างช่างตอกเสาเข็ม ช่างปูกระเบื้อง ทาสี ฉาบปูน ก็ประสบปัญหาขาดแคลนเช่นกัน
จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานทำให้ผู้รับเหมาหายากขึ้น โดยปัจจุบันในการเปิดประมูลงานเพื่อคัดเลือกผู้รับเหมาในการก่อสร้างนั้นพบว่ามีผู้รับเหมามาเสนองานเพียง 1-2 รายเท่านั้น จากเดิมที่มีผู้เสนองานมากกว่า 5 ราย และต้องเสนอราคาค่าจ้างงานที่สูงขึ้น 10-20% อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนาโครงการพยายามปรับตัวด้วยการนำระบบก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูปมาใช้ แต่ก็มีปัญหาเรื่องการยอมรับของตลาด เนื่องจากคุณภาพงานมีปัญหา จากรอยต่อชิ้นส่วนต่างๆ ที่มีกรณีน้ำรั่วซึมได้ เนื่องจากไทยเป็นเมืองร้อนชื้นฝนตกมากกว่าแถบยุโรปเจ้าของเทคโนโลยีต้นแบบ
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ทาง นายแพทย์สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวมาจาก การที่แรงงานไทยไม่เพียงพอ เนื่องจากโครงสร้างที่เปลี่ยนไป คนเกิดน้อยและอายุยืนขึ้น เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาจึงไม่มีแรงงานรองรับ ความนิยมประกอบอาชีพอิสระที่มีมากขึ้น เพราะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แผงลอย ทำให้แรงงานส่วนนี้หายไป รวมถึงมีการเคลื่อนย้ายแรงงานออกไปทำงานยังต่างประเทศเนื่องจากได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว1.3 ล้านคน จากการสำรวจความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างไม่เป็นทางการพบว่า ผู้ประกอบการยังมีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มอีก 2.1 ล้านกว่าคน มีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้วเพียง 5 แสนคน ยังเหลือความต้องการแรงงานอีกกว่า 1.5-1.6 ล้านคน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องแย่งแรงงานของผู้ประกอบการรายอื่น และหันไปใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย แรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศ ซึ่งทำให้มีผู้ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นและผลักดันกลับไปได้ยากอีกกว่า 7 แสนคน
และเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว กระทรวงแรงงานได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับ 3 ประเทศ ได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา เพื่อนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย แต่ก็มีข้อจำกัด เนื่องจากรัฐบาลลาวและกัมพูชา ไม่สนับสนุนให้แรงงานออกนอกประเทศ ดังนั้น แรงงานที่นำเข้าหลักๆ จึงมาจากพม่า แต่การที่มีแรงงานจากประเทศใดประเทศหนึ่งเข้ามามากก็จะส่งผลลบต่อประเทศ ซึ่งจะต้องสร้างสมดุลด้านแรงงานให้เกิดขึ้นไม่ใช้แรงงานจากประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป
อย่างไรก็ตามล่าสุดทางสมาคมประมง ได้เรียกร้องว่าต้องการแรงงานเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันแรงงานพม่า และกัมพูชา ไม่ยอมลงเรือ โดยเฉพาะประมงน้ำลึก ทำให้มีปัญหาหลอกคนไปทำงาน ปัญหาค้ามนุษย์ตามมา ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ทำเอ็มโอยูกับประเทศบังกลาเทศ โดยนำเข้าล็อตแรก 50,000 คน เพื่อใช้ในภาคประมงไทย รวมถึงสมาคมด้านก่อสร้างที่มีความต้องการแรงงานอยู่มาก โดยการนำเข้าตามเอ็มโอยูแรงงานจะทราบก่อนว่าจะต้องทำงานอะไร อยู่กับนายจ้างรายใด ค่าจ้างเท่าไร เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานไปที่อื่น
สำหรับปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังพื้นที่อื่นๆ นั้น ปัจจุบันนายจ้างสามารถแจ้งได้ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังพื้นที่ใดบ้างในครั้งเดียว ส่วนหากจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังพื้นที่อื่นต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาทต่อคน/ครั้ง นั้น ทางกระทรวงมีแผนที่จะแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อทำให้เกิดความสะดวกในภาคการก่อสร้างมากขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
ส่วนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้น ทางกระทรวงฯได้ติดต่อไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อขอดูโครงการ เนื่องจากต้องการรู้ว่าแรงงานจะต้องทำงานประเภทอะไร มีความต้องการใช้คนประเภทไหน เรามีฐานข้อมูลของแรงงานที่มีฝีมือของไทยที่ไปทำงานด้านการก่อสร้างยังต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะดึงแรงงานเหล่านี้กลับมาใช้ได้
ส่วนความกังวลว่าประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีการลงทุน อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่อาจทำให้ดึงแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่กลับประเทศ และวิศวกร แรงงานฝีมือ จะถูกดึงไปทำโครงการนั้น ภาพการเคลื่อนย้ายแรงงานยังไม่ชัด อาจจะระยะ 3-5 ปีที่จะมีการดึงแรงงานกลับไป เพราะโครงการจะต้องมีการวางแผน ออกแบบ ซึ่งคนที่จะกลับไปต้องทำงานครบสัญญาแล้ว และจะต้องติดตามในระยะต่อไปว่า อินโดนีเซีย เวียดนาม ศรีลังกา มีความสนใจที่จะร่วมเอ็มโอยูแรงงานกับไทยหรือไม่ ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวเรื่องการใช้แรงงานและมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพราะต้นทุนด้านแรงงานมีแต่จะเพิ่มขึ้น
ขณะที่ พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี ผู้กับกับการฝ่ายอำนวยการ 3 กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กล่าวว่า ความเข้มงวดในการตรวจคนเข้าเมืองนั้นเนื่องจากปัญหาเรื่องความปลอดภัย อาชญากรรม เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าคนที่เข้ามานั้นจะมีพื้นเพอย่างไร สร้างความเสี่ยงให้กับประเทศและประชาชนคนไทย ซึ่งปัจจุบันเรามีความต้องการแรงงาน เนื่องจากมีการพัฒนาโครงการต่างๆ โดยตั้งแต่ปี 2553 ที่ผ่านมาได้มีการจัดระบบแรงงาน คือ มีการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายระยะยาวโดยอาศัยเอ็มโอยู ส่วนแรงงานที่เคลื่อนย้ายเข้ามาแล้ว นายจ้างก็ควรจะมีการจดทะเบียนให้ถูกต้อง โดยมีการขยายเวลาขึ้นทะเบียนถึงเดือนกรกฎาคมนี้
ในความเป็นจริงแล้วระหว่างที่มีการเปิดจดทะเบียนอยู่ก็มีการเร่งนำแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาโดยผ่านเอเยนต์ต่างๆ รีบมาสวมนายจ้างแล้วจดทะเบียน คาดว่ายังมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเหลือในระบบกว่าล้านคน ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจจะเป็นความเสี่ยงต่อเรา เป็นสิ่งที่จะต้องติดตามต่อไป และการจดทะเบียนมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงประมาณ 40,000-50,000 บาท โดยแรงงานจะต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายแต่นายจ้างต้องสำรองจ่ายไปก่อนและมีขั้นตอนยุ่งยาก ดังนั้น การจดทะเบียนจะต้องมีความสะดวกและราคาถูกเพื่อให้เป็นแรงจูงใจให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาจดทะเบียน
ที่มา มติชนรายวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น