updated: 06 พ.ค. 2556 เวลา 12:34:59 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ที่มา http://www.prachachat.net/marketing.php?grpid=&catid=11&subcatid=
หลังจาก "ฟู้ดรีพับลิก" ฟู้ดคอร์ตชื่อดังจากสิงคโปร์ เข้ามาเปิดตลาดในไทยตั้งแต่ปลายปี 2554 ด้วยการนำเสนอฟู้ดคอร์ตสไตล์โมเดิร์น เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ตามศูนย์การค้า จุดประกายให้ตลาดนี้มีความคึกคักมากขึ้น และจากโอกาสของตลาดที่ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก จึงทำให้ผู้ประกอบการหลาย ๆ รายทยอยเปิดตัวเข้ามาในธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง
มาบุญครอง บุกธุรกิจฟู้ดคอร์ต
นายสมเกียรติ มรรคยาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวถุง "มาบุญครอง" เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทได้ปรับนโยบายการดำเนินธุรกิจใหม่ โดยได้ขยายไลน์ธุรกิจออกไปยังการบริหารพื้นที่ศูนย์อาหารหรือฟู้ดคอร์ต เพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ หลังจากตลาดข้าวที่เป็นธุรกิจหลักมีการแข่งขันที่รุนแรง ศูนย์อาหารเป็นธุรกิจที่มีโอกาสจะเติบโตได้อีกมาก เพราะสามารถรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตนอกบ้านได้ดี และในตลาดยังมีผู้เล่นไม่กี่ราย จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเริ่มมีผู้เล่นท้องถิ่นและต่างประเทศต่างกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น
ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปบริหารพื้นที่ศูนย์อาหารของศูนย์การค้ามาบุญครอง โดยใช้งบฯลงทุนเกือบ 400 ล้านบาท สำหรับสัญญาเช่า 20 ปี การปรับปรุงสถานที่ อุปกรณ์การชำระเงิน เปลี่ยนเป็นระบบแคชการ์ด จากเดิมเป็นคูปอง เป็นต้น ประกอบด้วย ศูนย์อาหารชั้น 5 "เดอะ ฟิฟท์ ฟู้ด อเวนิว" ซึ่งเริ่มเข้ามาบริหารเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นการเข้าไปซื้อกิจการต่อจากบริษัท เอ็ม บี เค ฟู้ด เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด และใช้งบฯอีก 275 ล้านบาท สำหรับบริหารศูนย์อาหาร ชั้น 6 ภายใต้บริษัท เอ็ม บี เค ฟู้ด ไอร์แลนด์ จำกัด
"เราจะเน้นการปรับบรรยากาศ ทำการตลาด การเพิ่มร้านค้าให้มีความน่าสนใจ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า และต้องการจะทำให้ศูนย์อาหารเป็นหนึ่งในแม็กเนตของเอ็ม บี เค ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้นรายได้เฉลี่ย 20 ล้านบาทต่อชั้นต่อเดือน ทั้งปีน่าจะทำได้ 200 ล้านบาทต่อสาขา"
นายสมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังต้องการขยายออกไปในทำเลต่าง ๆ ซึ่งมีการศึกษาทำเลไว้หลายแห่ง โดยต้องการเช่าเป็นระยะยาว 5-10 ปี งบฯลงทุนราว 100-200 ล้านบาท ส่วนร้านอาหารหลัก ๆ จะเลือกจากร้านค้าในศูนย์อาหารมาบุญครองที่มีอยู่เกือบ 60 ร้านออกไปด้วยกัน คาดว่าภายในปลายปีนี้จะเปิดได้อีก 1 สาขา นอกจากนี้ ยังสนใจที่จะพัฒนาร้านอาหารด้วยการจับมือกับร้านอาหารที่เป็นพันธมิตร เพื่อพัฒนาร้านสแตนด์อะโลน หรืออาจจะเป็นการนำเข้าแบรนด์ร้านอาหารจากต่างประเทศเข้ามาเปิด
ซีพี ฟู้ดเวิลด์ลั่น 50 สาขาใน 3 ปี
นายวิรัตน์ เตชะนิรัติศัย รองกรรมการผู้จัดการสายธุรกิจค้าปลีก บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้บริหารธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ซีพี ฟู้ดเวิลด์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตลาดฟู้ดคอร์ตยังมีช่องว่างทางการตลาดและโอกาสอีกมหาศาล มีคู่แข่งน้อย ยังไม่มีใครลงมาทำอย่างจริง ๆ จัง ๆ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเจ้าของพื้นที่บริหารเอง หรือเจ้าของพื้นที่ลงทุนเปิดแล้วให้คนนอกเข้ามาบริหารพื้นที่ เมื่อเออีซีเปิดในปี 2558 เชื่อว่าจะมีฟู้ดเชนจากต่างประเทศทยอยเข้ามาเปิดตัวเพิ่ม อาทิ กลุ่มควิกเซอร์วิส เรสเตอรองต์ และฟู้ดเซ็นเตอร์ ขณะเดียวกัน ก็จะเห็นแบรนด์ของคนไทยขยายตลาดออกไปในต่างประเทศ
ล่าสุดเตรียมจะเปิดซีพี ฟู้ดเวิลด์ สาขา 2 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในเดือนมิถุนายนนี้ หลังเปิดสาขาแรกที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยสาขา 2 นี้จะมีพื้นที่ 2,570 ตร.ม. ใหญ่กว่าสาขาศิริราชถึง 5 เท่า ปัจจุบันขายพื้นที่เต็มแล้ว มีร้านค้า 24 ร้าน แบ่งเป็นแบรนด์เครือซีพี 30% อีก 70% เป็นร้านอาหารชื่อดังและเชนร้านอาหาร อาทิ วิสต้า คอฟฟี่ของวีรสุ ดังกิ้น โดนัท และพื้นที่เช่าก็มีร้านนายอินทร์
ปีนี้เป็นปีที่เราจะเร่งขยายสาขา และมีผู้สนใจติดต่อเข้ามามาก เช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ รามาธิบดี มหิดล รวมถึงห้างที่มีพื้นที่ใหญ่ขนาดกว่า 1-2 พัน ตร.ม.ขึ้นไปก็มี ซึ่งเราได้ตั้งทีมงานขึ้นมาดูแลธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะ แผนการลงทุนทั้งปีคาดว่าจะเปิดซีพี ฟู้ดเวิลด์ได้ 7-8 จุด พื้นที่ตั้งแต่ 450 ตร.ม.ขึ้นไป ตามอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียน สถานีบริการน้ำมัน และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีพนักงาน 3,000-4,000 คน
"เป้าใน 3 ปีต้องการจะขยายซีพี ฟู้ดเวิลด์ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50 สาขา และในอนาคตต้องการจะขยายไปยังประเทศที่ซีพีเข้าไปทำตลาดอยู่แล้ว อาทิ จีน เวียดนาม พม่า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมองโอกาสในการขยายธุรกิจร้านอาหาร โดยใช้ซีพี ฟู้ดเวิลด์เป็นสถานที่ทดลองคอนเซ็ปต์ร้านอาหารต่าง ๆ ภายใต้เครือ หากได้รับการตอบรับที่ดีก็มีแผนขยายออกไปนอกศูนย์อาหาร เป็นสแตนด์อะโลน หรือเปิดตามศูนย์การค้าต่าง ๆ"
ฟู้ดรีพับลิก เปิดกว้างทุกทำเล
นายวรชัย จรูญประสิทธิ์พร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบรดทอล์ค (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้บริหาร "ฟู้ดรีพับลิก" (Food Republic) จากสิงคโปร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากเปิดให้บริการ "ฟู้ดรีพับลิก" ในไทยมากว่า 1 ปี ปัจจุบันมี 3 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัล พระราม 9, เมกาบางนา และล่าสุดคือสยามเซ็นเตอร์ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ถือเป็นการขยายตัวที่เร็วกว่าแผนที่วางไว้ และมองว่าตลาดฟู้ดคอร์ตยังมีโอกาสการเติบโตค่อนข้างสูง คู่แข่งมีน้อย และยังมีช่องว่างอีกมาก โดยบริษัทเปิดกว้างในทุกทำเล ขึ้นกับจังหวะและโอกาส ไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์การค้าเท่านั้น อาทิ ออฟฟิศบิลดิ้ง, สวนสนุก รวมถึงโลเกชั่นอื่น ๆ
"มีคนติดต่อเราเข้ามาตลอดเวลา หากเป็นโมเดลใหม่ ๆ เราก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่เราไม่รีบร้อน เพราะแต่ละสาขาใช้พื้นที่ใหญ่ มีรายละเอียดเยอะ ต้องใช้เวลาวางแผน 9 เดือนถึง 1 ปีก่อนเปิดสาขา"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น