วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การลดต้นทุนเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ

การลดต้นทุนเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ


บทความโดย อ.ปิยาภรณ์ อาสาทรงธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาบัญชีการเงิน คณะบัญชี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
วารสาร นักบริหาร ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม 2552 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1
          ปัจจุบันผู้บริหารกำลังประสบปัญหามากมายในการดำเนินธุรกิจ อาทิ ด้านเศรษฐกิจของโลกที่มีการชะลอตัว ด้านพลังงานที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านวัตถุดิบที่ขาดแคลนและราคาสูงขึ้น ด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง อีกทั้งด้านตลาดแรงงานที่ขาดทักษะแต่ค่าแรงงานกลับสูงขึ้น เป็นต้น  จึงทำให้มีความพยายามแสวงหาวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ ซึ่งผู้บริหารจะคิดถึงเป็นอันดับแรกในการบริหารนั่นคือ การลดต้นทุนแต่อย่างไรก็ตามบางธุรกิจก็ไม่สามารถลดต้นทุนได้ เนื่องจากผู้บริหารไม่ทราบหรือขาดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดต้นทุนที่แท้จริงได้ และเมื่อต้องการลดต้นทุนของธุรกิจมักพบคำตอบว่า ไม่สามารถลดต้นทุนได้ หรืออาจทำให้ต้นทุนกลับสูงขึ้นกว่าเดิมขึ้นไปอีก
ผู้บริหารควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า ต้นทุน (Cost) เสียก่อน โดยความหมาย ต้นทุน คือ มูลค่าของทรัพยากรที่กิจการต้องสูญเสียไปเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการกลับมา โดยมูลค่าของทรัพยากรนั้นจะต้องสามารถวัดได้เป็นหน่วยเงินตรา ซึ่งเป็นลักษณะของการลดลงในสินทรัพย์หรือเพิ่มขึ้นในหนี้สิน ต้นทุนที่เกิดขึ้นอาจจะให้ประโยชน์ในปัจจุบันหรือในอนาคตก็ได้ เมื่อต้นทุนใดที่เกิดขึ้นแล้วและกิจการได้ใช้ประโยชน์ไปทั้งสิ้นแล้วต้นทุนนั้นจะถือเป็น ค่าใช้จ่าย (Expenses)” จากความหมายของต้นทุน ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจแยกต้นทุนกับค่าใช้จ่ายให้ดี เนื่องจากต้นทุนกับค่าใช้จ่ายมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันในแง่ของการก่อให้เกิดประโยชน์และการบันทึกบัญชี เช่น กรณีของต้นทุนสินค้า ถ้ากิจการยังไม่ได้จำหน่ายหรือขายออกไปก็ยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ของกิจการ ซึ่งเรียกว่า สินค้าคงเหลือ แต่เมื่อจำหน่ายหรือขายออกไปได้แล้วถือเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งเรียกว่า ต้นทุนขาย ดังนั้นผู้บริหารจึงควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ของการลดต้นทุนในองค์กร

การแบ่งประเภทต้นทุนของธุรกิจ
ต้นทุนของธุรกิจสามารถแบ่งตามลักษณะต่างๆ ได้ดังนี้  
1.  แบ่งตามส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เป็นการจำแนกต้นทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้า อันประกอบด้วย วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง และค่าใช้จ่ายการผลิต  
2.  แบ่งตามความสัมพันธ์กับการผลิต เป็นการจำแนกต้นทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการวางแผนและควบคุมมากกว่าที่จะจำแนกเพื่อคำนวณต้นทุนของสินค้าหรือบริการ สามารถแบ่งออกเป็น ต้นทุนขั้นต้น และต้นทุนแปรสภาพ
 3.  แบ่งตามหน้าที่งานในกิจการ เป็นการจำแนกต้นทุนโดยพิจารณาจากการดำเนินงานหรือปฏิบัติงานของหน้าที่งานต่างๆ โดยปกติจะแบ่งหน้าที่งานในกิจการออกเป็น 4 หน้าที่งาน คือ การผลิต การตลาด การบริหาร และการเงิน ดังนั้น ต้นทุนตามหน้าที่งานในกิจการสามารถ จำแนกออกเป็น
3.1    ต้นทุนเกี่ยวกับการผลิต (Manufacturing Cost) หมายถึง วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรง และค่าใช้จ่ายการผลิต
3.2    ต้นทุนที่เกี่ยวกับการตลาด (Marketing Cost) หมายถึง ต้นทุนต่างๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ค่าโฆษณา ค่านายหน้าพนักงานขาย เป็นต้น
3.3    ต้นทุนที่เกี่ยวกับการบริหาร (Administrative Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นในลักษณะที่เกี่ยวกับการสั่งการ การควบคุม และการดำเนินงานของกิจการ นอกจากนี้ยังรวมถึงเงินเดือนของผู้บริหารและพนักงานในแผนกต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับแผนกผลิต และแผนกขาย เป็นต้น
3.4    ต้นทุนทางการเงิน (Financial Cost) หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นเนื่องจากการจัดหาเงินทุน หรือการบริหารเงินทุนของกิจการ ประกอบด้วย ดอกเบี้ยจ่าย ค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น

เมื่อผู้บริหารได้ทำความเข้าใจความหมายและประเภทของต้นทุนแล้ว ลำดับต่อไปที่ควรคำนึงถึงคือ การจัดทำบัญชีต้นทุน ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างมาก วัตถุประสงค์หลักคือการทำให้รู้ถึงต้นทุนของการบริหารกิจกรรมหรือการทำงานในฝ่ายต่างๆ  เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายผลิต ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น การจัดทำบัญชีต้นทุนที่ดีสามารถทำให้ผู้บริหารวางแผน คาดการณ์ ตัดสินใจ และควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง อันจะนำไปสู่การวางแผน การลดต้นทุน (Cost Reduction)” ของธุรกิจที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
 การลดต้นทุนถือเป็นสิ่งสำคัญของผู้บริหาร เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึง กำไรลดลง แต่ถ้ากิจการสามารถลดต้นทุนลงได้โดยเฉพาะต้นทุนการผลิต นั่นถือเป็นช่องทางหนึ่งของการเพิ่มกำไร โดยจำเป็นต้องพิจารณาและแก้ไขที่ธุรกิจของผู้ประกอบการเองเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นทางรอดหนึ่งของธุรกิจในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงและผันผวนอย่างมากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร
การลดต้นทุน (Cost Reduction) คือ การทำให้ต้นทุนทุกชนิดที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงานลดต่ำลง โดยการปรับปรุงแก้ไขกิจกรรมที่เคยทำมาก่อนหน้า ซึ่งมีการตั้งเป้าหมาย วิธีการวัดและการเปรียบเทียบที่ชัดเจน  เช่น ต้นทุนในการจัดซื้อ จัดจ้าง ต้นทุนค่าแปรรูป เป็นต้น ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้คุณภาพสินค้า คุณภาพความปลอดภัย รวมทั้งคุณภาพสิ่งแวดล้อมลดลงดังปรัชญาของ ดร.เอ็ดเวริ์ด เดมมิ่ง (Dr.Edward Deming) ชาวอเมริกัน ผู้คิดวงจรพัฒนาคุณภาพงาน ซึ่งเรียกว่า วงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) หรือที่รู้จักกันแพร่หลายว่า วงจร P-D-C-A กล่าวว่า หลักการชนะทั้งคู่ คือ การลดต้นทุนได้พร้อมคุณภาพที่ดีขึ้น หรือ การที่เราจะเติบโตพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งชนะ อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ เช่น ลดต้นทุนโดยการลดคุณภาพ ลดความปลอดภัย ลดคุณภาพเรื่องสิ่งแวดล้อมดังนั้น ผู้บริหารควรให้ความสำคัญของการลดต้นทุน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพด้านอื่น ๆ เช่น สินค้า/บริการ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมในองค์กร เป็นต้น ไม่ควรที่จะเน้นแต่การลดต้นทุนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  
การลดต้นทุน เป็นการเตรียมการล่วงหน้าของผู้บริหารไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่มิคาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตัวอย่างเช่น รัฐบาลได้มีการวางแผนที่จะทำให้ประเทศไทยมีการลดต้นทุนการนำเข้าน้ำมัน อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก โดยพยายามรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้พลังงาน เช่น การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นต้น หรือการพยายามหาพลังงานทดแทนมาให้ประชาชนใช้ เช่น ก๊าซเอ็นีวี แอลพีจี น้ำมัน อี20 อี85 เป็นต้น เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันและเพื่อลดภาระการใช้จ่ายด้านพลังงานให้น้อยลง นั่นคือวิธีการบริหาร การลดต้นทุนซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งของภาครัฐ ซึ่งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันของคนในประเทศ
ตัวอย่างต่อไปของ การลดต้นทุน ก็คือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติที่ก่อตั้งมา 48 ปีแล้ว แต่วันนี้ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้บริษัทมีต้นทุนที่สูงขึ้นกว่า 30% ซึ่งทำให้ต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงทำให้ผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ออกมาขาดทุนถึง 9 พันล้านบาท ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย ได้ตัดสินใจทำ การลดต้นทุนด้วยการลดพนักงาน 400-500 คน ด้วยการทำโครงการให้พนักงานออกก่อนกำหนด หรือ Early Retired โดยมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 700 ล้านบาท จะพบว่าผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะทำให้ธุรกิจของบริษัทอยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งผู้บริหารได้เลือกที่จะจัดทำโครงการให้ออกก่อนกำหนด ซึ่งสามารถลดต้นทุนในระยะยาวได้ แต่ข้อเสียของการลดต้นทุนในลักษณะนี้ก็คือ ขวัญและกำลังใจของพนักงานจะลดลง และอาจมีผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานได้ ดังนั้น ผู้บริหารต้องมีการสร้างขวัญและกำลังใจกับพนักงานที่ยังเหลืออยู่ เพื่อให้ทำงานกับองค์กรอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และผ่านพ้นวิกฤตปัญหาที่กิจการกำลังประสบอยู่นี้ให้ได้ 
            ไม่เพียงแต่ภาครัฐและภาคเอกชนที่จะสามารถวางแผนในการลดต้นทุนได้เท่านั้น ในระดับนักเรียนก็สามารถที่จะทำได้ด้วยเช่นกัน ด้วยการนำกิจกรรม/โครงงานมาประยุกต์ เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน อันจะทำให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของ การลดต้นทุน ในการประกอบธุรกิจในอนาคตได้  
ดังตัวอย่างโครงการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง ของนักเรียนโรงเรียนหาดใหญ่เจริญราษฎร์พิทยา จังหวัดสงขลา  เริ่ม จากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปลาโดยละเอียดก่อน เช่น การเจริญเติบโต การให้อาหาร ตลอดจนศึกษาถึงตลาดและการจำหน่าย เป็นต้น นักเรียนจะต้องเรียนรู้ถึงการเลี้ยงปลาให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่ตลาดต้อง การ นั่นคือน้ำหนักต่อตัวต้องไม่ต่ำกว่าครึ่งกิโลกรัม โดยระยะเวลาการเลี้ยงจะอยู่ที่ 100-120 วัน ดังนั้น จะต้องมีการสุ่มตรวจเป็นระยะเพื่อดูว่าปลาที่เลี้ยงได้มาตรฐานหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่กำหนด ต้องเอาปัญหามาวิเคราะห์และหาทางปรับปรุง ซึ่งก็คือการทำงานโดยใช้วงจรคุณภาพ P-D-C-A หรือวงจรเดมมิ่ง (Deming Cycle) นั่นเอง นอกจากเรื่องคุณภาพ นักเรียนยังได้เรียนรู้ถึงต้นทุนที่ใช้และวิธีการลดต้นทุน การส่งมอบเมื่อปลาโตเต็มที่แล้วต้องนำไปส่งที่ตลาด การทำงานอย่างไรให้มีความปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะการเลี้ยงปลาในกระชังจะมีน้ำเสียไปสู่ลำคลองสาธารณะได้ การสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานภายในกลุ่ม และการเป็นผู้ผลิตที่มีจริยธรรม และนั่นคือแนวทางให้นักเรียน สามารถนำไปใช้ประกอบธุรกิจ และทำให้ตระหนักถึง การลดต้นทุน อันจะทำให้ธุรกิจของนักเรียน ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์การลดต้นทุน
            ผู้เขียนขอแนะนำกลยุทธ์ต่างๆ ในการลดต้นทุนของธุรกิจที่นิยมใช้กันแพร่หลายและประสบความสำเร็จ  ดังต่อไปนี้
1. การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ (Logistics) เป็นการลดต้นทุนของกระบวนการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน  การ ดำเนินการ การควบคุมการทำงานขององค์กร รวมทั้งการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารและธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ รวบรวม กระจายสินค้า วัตถุดิบ ชิ้นส่วนประกอบและบริการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนการให้บริการหลังการขาย ตัวอย่างเช่น คุณตัน ภาสกรนที ประธานบริหารโออิชิกรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายธุรกิจเครื่องดื่ม โออิชิ สามารถแก้ปัญหาการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เกี่ยวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าขนส่งโดยการปรับเปลี่ยนการเรียงสินค้า เข้ารถตู้คอนเทนเนอร์แต่ละคันใหม่ ทำให้มีเนื้อที่สำหรับการบรรทุกสินค้าสำหรับการขนส่งไปถึงลูกค้าเพิ่มจำนวน ขึ้น จากเดิมที่สามารถบรรจุได้ 1,280 กล่องต่อเที่ยว สามารถเพิ่มเป็น 1,620 กล่องต่อเที่ยว ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเฉลี่ยต่อหน่วยลดต่ำกว่าเมื่อก่อนที่น้ำมันไม่แพงเสียอีก และส่งผลทำให้ โออิชิกรุ๊ป มีกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในไตรมาสเดียวกัน
            2.  การลดต้นทุนโดยใช้ 4 มุมมองของการประเมินผลดุลยภาพ (The Balanced Scorecard: BSC) เป็นการลดต้นทุน โดยอาศัยควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการบริหารองค์กร ประกอบด้วย
1. มุมมองด้านลูกค้า (Customer perspective)
2. มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal business process perspective)
3. มุมมองด้านนวัตกรรมและการเรียนรู้ (Learning & Innovation perspective)
4. มุมมองด้านการเงิน (Financial perspective)
โดยทั้ง 4 มุมมอง จะต้องพัฒนาไปในทิศทางวิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กรที่กำหนดไว้ สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งทั้ง 4 มุมมองจะส่งผลหรือเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน เช่น กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพและคุณภาพ (Internal business process perspective) จะส่งผลให้ใช้เวลาในการส่งมอบสินค้าหรือบริการสั้นลงหรือส่งมอบได้ทันเวลา (On time delivery) ทำให้ลูกค้าเกิดความพอใจ (Customer satisfaction) กระบวนการภายในที่ดียังส่งผลให้ต้นทุนต่ำจนทำให้กำไรเพิ่มขึ้น  ตัวอย่างธุรกิจชั้นนำที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ระบบ BSC ได้แก่ บริษัท ABB จำกัด บริษัท British Telecom จำกัด บริษัท British Airways จำกัด บริษัท Ericsson จำกัด และ บริษัท Xerox จำกัด เป็นต้น
3.  การลดต้นทุนด้วยการเรียนรู้วิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดจากหน่วยธุรกิจอื่น (Benchmarking) เป็นการลดต้นทุน โดยการศึกษากระบวนการวัดและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยการกำหนด จำแนก วิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จ เรียนรู้จากธุรกิจอื่นๆ ที่มีหลักหรือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจตน เพื่อให้ผลการทำงานประสบความสำเร็จเหมือนดังกิจการที่ไปเรียนรู้มา ตัวอย่างธุรกิจระดับโลกที่นำแนวคิดของ Benchmarking มาใช้แล้วประสบความสำเร็จ ได้แก่ บริษัท 3M จำกัด บริษัท Fed Ex จำกัด และบริษัท Toyota จำกัด เป็นต้น
            4.  การลดต้นทุนด้วยการควบรวมกิจการ (Merging) ของธุรกิจประเภทเดียวกัน  ผู้เขียนขอยกตัวอย่างธุรกิจสายการบิน เช่น บริษัท Delta จำกัด กับ บริษัท North West จำกัด ได้มีการเจรจาควบรวมกิจการกัน ซึ่งข้อดีก็คือ สามารถใช้เครื่องบินและเครื่องยนต์ที่คล้ายกันอยู่แล้วด้วยกันได้ ทำให้เกิดประหยัดการซื้อเครื่องบินใหม่ รวมทั้งการสำรองอะไหล่ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสายการบินอื่น ๆ ที่ใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนนี้ก็คือ บริษัท Air France จำกัด กับ บริษัท KLM จำกัด สามารถลดต้นทุนได้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และบริษัท United จำกัด กับ บริษัทContinental จำกัด กำลังเจรจากันในการควบรวมกิจการกัน เพื่อต่อสู้กับปัญหาวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ในการลดต้นทุนของธุรกิจเช่นเดียวกัน
5. การลดต้นทุนด้วยวิธี Six Sigma เป็นวิธีการลดต้นทุนควบคู่กับการรักษาคุณภาพของกระบวนการผลิต/บริการให้มีของเสียได้เพียง 3.4 ชิ้นต่อการผลิตสินค้าหนึ่งล้านชิ้น นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือช่วยธุรกิจให้สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพของระบบการปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย บริษัทที่ค้นพบและใช้วิธี Six Sigma เพื่อลดต้นทุนได้และประสบความสำเร็จจนกระทั่งปัจจุบันคือ บริษัท Motorola จำกัด  และต่อมาได้มีบริษัทชั้นนำอื่นๆ ต่างได้นำไปประยุกต์ใช้อีกหลายแห่ง ได้แก่ บริษัท General Electric (GE) จำกัด บริษัท Walmart จำกัด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฝ่ายซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน เป็นต้น ต่างใช้วิธีนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิตและบริการเพื่อการปรับปรุงคุณภาพให้ เหนือกว่าคู่แข่งอีกด้วย
            6.  การลดต้นทุนการตลาดแบบกองโจร (Guerrilla Marketing)   เป็นการลดต้นทุน โดยการใช้กลยุทธ์และช่องทางในการทำประชาสัมพันธ์ การวางยุทธศาสตร์ภาพลักษณ์องค์กร การสื่อสารถึงข้อดี การสร้างเครือข่าย โดยวิธีการต่อไปนี้ เช่น การใช้เผยแพร่ในบล็อก (Blogs)  การทำโฆษณาออนไลน์ เช่น Yahoo! หรือ GoogleAdWords  การส่ง SMS หรือ e-Newsletter เป็นต้น วิธีการตลาดที่กล่าวมานี้ถือว่าเป็นแนวโน้มของการทำการตลาดแบบต้นทุนต่ำ แต่สามารถทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความคุ้นเคยและความสนใจในสินค้าและบริการนั้นๆ และช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อขึ้นได้
                7. การลดต้นทุนด้วยการสร้างอำนาจในการต่อรอง (Power of Bargaining) เป็นการลดต้นทุนด้วยการสร้างอำนาจการสั่งซื้อจำนวนที่มากต่อผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย ตัวอย่างเช่น บริษัท เทสโก้ โลตัส จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจร้านค้าปลีกโมเดริ์นเทรดที่มีจำนวนสาขาจำนวนมาก สามารถที่จะต่อรองในการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายได้ในราคาที่ใกล้เคียงกับต้นทุนได้ เนื่องจากมีอำนาจการต่อรองด้านปริมาณกับผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อในแต่ละล็อตมีจำนวนมากกว่าร้านค้าปลีกอื่น ๆ
            8.  การลดต้นทุนด้วยการใช้วิธีการจัดจ้างบุคคลภายนอก (Outsourcing) เป็นการลดต้นทุนด้วยการหาผู้รับเหมาช่วงมาดำเนินการจัดการในกิจกรรมการปฏิบัติงานบางอย่างให้ เนื่องจากกิจการอาจไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันเป็นวิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก การทำ Outsourcing สามารถพบได้ในธุรกิจประเภท การขนส่ง การดูแลรักษาความปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น บริษัท เดอะพิซซา คอมปานี จำกัด ใช้บริการ Outsourcing ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัท IBM จำกัด เนื่องจากกิจการไม่มีความชำนาญด้านระบบ IT จึงมอบงานนี้ให้กับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า  ทำหน้าที่ดูแลระบบด้าน IT ทั้งหมด  ทำให้ผู้บริหารบริษัท เดอะพิซซา คอมปานี จำกัด ทุ่มเทความสามารถในการทำตลาดพิซซาเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องวิตกกังวลในการพัฒนาระบบ IT ขึ้นมาเอง นับได้ว่าเป็นกลยุทธ์การลดต้นทุนที่ใช้ Outsourcing และประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
ข้อควรระวังก่อนลดต้นทุน
1. ผู้ประกอบธุรกิจต้องพยายามคิดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจในการทำกิจกรรม การลดต้นทุน เพราะผลลัพธ์ที่ตามมาในระยะยาว อาจส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนสูงขึ้นกว่าเดิมก็ได้ โดยเฉพาะการใช้วิธีการลดต้นทุนอย่างรุนแรง เช่น การปรับลดเงินเดือนหรืออัตราค่าจ้างลง นอกจากจะทำลายขวัญและกำลังใจของพนักงานแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจในภายหน้าได้อีกด้วย ดังตัวอย่างของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
2. การลดต้นทุนบางอย่างอาจทำให้เกิดต้นทุนอื่นตามมา เช่น การปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลองโดยไม่มีการบำบัด   เพราะต้องการลดต้นทุนในส่วนนี้  น้ำที่ปล่อยทิ้งอาจทำให้แม่น้ำลำคลองเสียหายเกิดมลพิษ ผู้ประกอบธุรกิจอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายซึ่งมีจำนวนมากกว่าการลงทุนบำบัดน้ำเสีย เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นต้นทุนทางสังคมที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระมัดระวังอย่างมาก
3. การสร้างค่านิยมให้ธุรกิจเกิดการประหยัด ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้บุคลากรเกิดจิตสำนึก ไม่พลั้งเผลอกลับไปทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นอีกในระยะยาว ธุรกิจอาจส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรมกลุ่ม เช่น กลุ่ม 5. กลุ่ม Total Quality Management (TQM) กลุ่ม Knowledge Management (KM)  เป็นต้น

สรุป วิธีการลดต้นทุนต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้บริหารจำเป็นต้องพิจารณาและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ และจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สภาพความเป็นอยู่ของบุคลากร ขวัญและกำลังใจในการทำงาน เป็นต้น ในโลกของธุรกิจ ผู้บริหารต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ตลาดไม่ได้เป็นของผู้ผลิตแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป สิ่งที่ลูกค้าต้องการและตอบสนองให้ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจจึงจะอยู่รอดได้ และสุดท้ายอย่าลืมว่า ในการบริหารธุรกิจของผู้ประกอบการ จะต้องเน้นที่กระบวนการมากกว่าที่ผลลัพธ์ ซึ่งจะมีผลทำให้ธุรกิจสามารถสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน (Competitive Advantage) และมีกลยุทธ์ต่าง ๆ ด้าน การลดต้นทุนที่หลากหลายได้มากกว่าคู่แข่งขัน อันจะทำให้ธุรกิจสามารถสร้างความยั่งยืนในระยะยาวได้

บรรณานุกรม
เบญจมาศ อภิสิทธิ์ภิญโญ. (2537). กลยุทธ์การบริหารต้นทุนเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ. กรุงเทพฯ: ธรรมนิติเพรส.
น.29-40.
สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์. (2532). บัญชีเพื่อการจัดการและการบริหารต้นทุน. กรุงเทพฯ: ธรรมนิติเพรส. น.30-38.
กระทรวงอุตสาหกรรม. วารสารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม. มีนาคม-เมษายน 2545. 
Cost Planning : การวางแผนต้นทุน. (2549). กรุงเทพ: APPA Printing Group. น.32-35.

สืบค้นจากอินเตอร์เน็ต
http://www.bangkokbizweek.com
http://www.manager.co.th/
http://www.siaminfobiz.com/
http://www.onesqa.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น