วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

ถอดรหัส "แร่ใยหิน-ไครโซไทล์" ประเด็นร้อนอุตสาหกรรม "กระเบื้องหลังคา"


ถอดรหัส "แร่ใยหิน-ไครโซไทล์" ประเด็นร้อนอุตสาหกรรม "กระเบื้องหลังคา"

07-02-2012 09:55
   ยังคงเป็นประเด็นร้อนในวงการกระเบื้องหลังคา หลังจากภาครัฐมีความคิดจะห้ามใช้ "แร่ไครโซไทล์" (Chrysotile) ซึ่งเป็นแร่ใยหินชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตกระเบื้อง มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความแข็งแรง เหนียว รับน้ำหนักและแรงกระแทกได้ดี ที่สำคัญ... ราคาไม่แพง

   "ผู้ผลิต 4 ราย" ทั้งรักทั้งชัง
     ประเด็นนี้ถูกจุดเปรี้ยงขึ้นมาเมื่อ 12 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของกลุ่ม "สมัชชาสุขภาพ" ให้สังคมไทยปลอดจากการใช้ใยหิน เนื่องจากเชื่อว่าแร่ใยหินเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งปอด หากฟุ้งกระจายในระหว่างการผลิตหรือมุงหลังคาไปแล้วและสูดดมเข้าไป

     แน่นอนว่าเป็นธรรมดาที่จะมีทั้งกลุ่มที่ "คัดค้าน vs เห็นด้วย" ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลังคาลอนคู่มีผู้ผลิตหลัก 4 ราย โดย 2 รายคือ "บจ.กระเบื้องหลังคาโอฬาร-บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร" ที่ใช้ไครโซไทล์อยู่ได้คัดค้านเต็มตัวเพราะไม่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด

     ขณะที่ผู้ผลิตอีก 2 รายที่เคยใช้แร่ใยหินคือ "บจ.กระเบื้องกระดาษไทย" ในเครือเอสซีจี เจ้าของแบรนด์ "ตราช้าง" ได้ลงทุนปรับกระบวนการผลิตเลิกใช้สารใยหินตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีก่อนตามนโยบายบริษัทที่ต้องผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

   กับ "บจ.โอลิมปิคกระเบื้องไทย" ใน กลุ่มมหพันธ์ เจ้าของแบรนด์ "ห้าห่วง" ได้ทยอยเลิกใช้แร่ใยหินในกระบวนการผลิตเมื่อปีที่ผ่านมา ตามนโยบายผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

   นักวิชาการเอแบคออกโรงหนุน
     ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของ "ศูนย์ศึกษาข้อมูลไครโซไทล์" (Chrysotile Information Center) ที่ก่อตั้งได้ 2 ปี รับเงินสนับสนุนจากสมาคมไครโซไทล์นานาชาติที่มีผู้ผลิตไครโซไทล์ในต่างประเทศเป็นสมาชิก

     รับหน้าเสื่อโดยนักวิชาการ "หวัง อิง เหวย" หัวหน้าภาคสาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ได้ออกมานำเสนองานวิจัยเรื่อง "ผลกระทบทางสังคม และเศรษฐกิจ หากยกเลิกการใช้สารไครโซไทล์" เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของภาครัฐว่า ที่สุดควรจะเลิกใช้ไครโซไทล์หรือไม่

   เป็นที่สังเกตว่าในงานนี้มี "อัศนี ชันทอง" กรรมการผู้จัดการ บมจ. ผลิตภัณฑ์ตราเพชร และ "อุฬาร เกรียวสกุล" กรรมการผู้จัดการ บจ.กระเบื้องโอฬาร มาร่วมฟังงานวิจัยด้วย

     งานวิจัยของ "อาจารย์หวัง" ระบุว่า นับจากปี 2528-2553 มีการนำเข้าแร่ ไครโซไทล์แล้วกว่า 3.2 ล้านตัน ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องหลังคา 90% ผลิตผ้าเบรกและคลัตช์ 8% และผลิตวงแหวนลูกสูบอีก 2%

     โฟกัสเฉพาะหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยอย่าง "กระเบื้องหลังคา" จากงานวิจัยพบว่าปัจจุบันมีบ้านทั่วประเทศที่มุงหลังคาลอนคู่ 17.34 ล้านหลังคาเรือน คิดเป็นพื้นที่มุงหลังคาประมาณ 1,734 ล้านตารางเมตร เฉลี่ยหลังละ 100 ตารางเมตร

     หากมีการออกกฎให้เลิกใช้และบังคับให้รื้อหลังคาที่มีไครโซไทล์ออกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา จะเกิดผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย (ค่าแรง+หลังคา) รวมประมาณ 450,970 ล้านบาท และหากนับรวมถึงการมุงหลังคาในฟาร์มเลี้ยงหมู โรงเรียน และโรงพยาบาล จะเพิ่มขึ้นเป็น 464,000 ล้านบาท

   เสนอรัฐทบทวน "ไครโซไทล์"
     งานวิจัยยังระบุด้วยว่า แร่ใยหินในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ "amphibole" (แอมฟิโบล) ในเมืองไทยห้ามไม่ให้ใช้มานานกว่า 50 ปีแล้ว เนื่องจากมีเส้นใยแข็งและมีผลศึกษาว่าทำอันตรายต่อปอดได้จริง

     ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ "serpentine" (เซอร์เพนไทน์) ซึ่ง "ไครโซไทล์" เป็นหนึ่งในแร่ใยหินกลุ่มนี้ จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่า ยังไม่มีผลการศึกษาทั้งในและต่างประเทศที่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด

     ตัวอย่างในต่างประเทศมีทั้งประเทศที่ "ห้าม vs ไม่ห้าม" ใช้แร่ใยหิน อย่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้ห้าม ใช้แร่ใยหินทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตว่าพี่เบิ้มอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยห้ามใช้แร่ใยหินมาแล้ว แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ยกเลิกการบังคับเพราะยังไม่มีผลการศึกษาชัดเจนว่าเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งปอด

   รัฐบาลจึงควรตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบจากแร่ใยหินอย่างจริงจัง เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเลิกใช้ไครโซไทล์หรือไม่

   "ตราเพชร-โอฬาร" ค้านเต็มที่
   ขณะที่ผู้ผลิต 2 รายคือ บมจ. ผลิตภัณฑ์ตราเพชร และ บจ.กระเบื้องโอฬารที่มาร่วมฟังงานวิจัย แสดงท่าทีหนักแน่นไม่เห็นด้วยที่จะเลิกใช้แร่ใยหิน เพราะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องก่อให้เกิดมะเร็งปอด

     พร้อมทั้งชี้ว่าต้องมองผลกระทบให้รอบด้านเพราะหากต้องเปลี่ยนมาใช้เซลลูโลส และ PVA เป็นวัตถุดิบทดแทนในการผลิตจริง ผู้บริโภคจะต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันแผ่นละประมาณ 30 บาท เป็น 60 บาท เนื่องจากกระเบื้องปลอดแร่ใยหินจะต้องผลิตให้หนาเพิ่มขึ้นจาก 4 มิลลิเมตร เป็น 5 มิลลิเมตร เนื่องจากเซลลูโลส และ PVA ไม่ได้มีคุณสมบัติเรื่องความแข็งแรงเทียบเท่าไครโซไทล์

   งานนี้จะเลิกหรือไม่เลิกใช้ไครโซไทล์ บรรทัดสุดท้ายไม่ใช่ "ผู้ผลิต" แต่ "ผู้บริโภค" ต้องมีส่วนตัดสินด้วย




ที่มา   :   ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น