วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

'การ์ตูนคลับ'จับมือฟรีทีวีรุกอาเซียนเดินหน้าปั้น'รีจินัลแบรนด์'


Post by Chatsayam Momkaew

โดย รัตติยา อังกุลานนท์
ในจังหวะที่อุตสาหกรรมบรอดแคสติ้งไทยกำลังก้าวมาถึง "จุดเปลี่ยน" สำคัญกับการก้าวสู่ "โทรทัศน์ระบบดิจิทัล" ภายใต้การออกใบอนุญาตช่อง "ฟรีทีวีดิจิทัล" ใหม่ทั้งประเภทสาธารณะ, ธุรกิจและชุมชนรวม 48 ช่อง นับเป็น โอกาสที่ดีของกลุ่มคอนเทนท์ โปรวายเดอร์ ในการ ขยับฐานะจากผู้เช่าเวลามาสู่ความเป็นเจ้าของ  โดยเฉพาะคอนเทนท์รายการประเภทเด็ก, ข่าว และ วาไรตี้ ที่ กสทช.จะมีการเปิดประมูลช่องรายการ ประเภทธุรกิจรวม 24 ช่อง
หากโฟกัสเฉพาะคอนเทนท์สำหรับเด็กในกลุ่มการ์ตูน บริษัท เอฟฟ์ จำกัด ที่เริ่มก่อตั้งในปี 2528  พร้อมกว้านซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนดังทั้งฝั่งญี่ปุ่นและอเมริกาไว้ในมือจำนวนมาก ภายใต้การบริหารลิขสิทธิ์การ์ตูนดัง ทางช่อง "ฟรีทีวี" โดยมีลิขสิทธิ์ไฮไลต์ เช่น ดราก้อนบอล, มาร์คไรเดอร์ เดนโอ, อุลตร้าแมน เมบิอุส, เซนต์เซย์ย่า เป็นต้น เมื่อเห็นโอกาสการเติบโตในธุรกิจ "ทีวีดาวเทียม"ราวปี 2552 จึงได้เปิดตัวช่อง "การ์ตูนคลับ แชนแนล" ภายใต้การบริหารของบริษัท ในเครือ "การ์ตูนมีเดีย"
ธนัท ตันอนุชิตติกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท การ์ตูนมีเดีย จำกัด  ผู้บริหารลิขสิทธิ์การ์ตูนจากญี่ปุ่นและ ผู้บริหารสถานีช่องทีวีดาวเทียม "การ์ตูน คลับ" กล่าวว่า หากราคาตั้งต้นประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลประเภทช่องเด็กไม่เกิน 100 ล้านบาท ทางการ์ตูนคลับสนใจเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล โดยอยู่ระหว่างการตัดสินใจ แต่หากไม่ประมูลก็จะไปร่วมผลิตกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในการนำลิขสิทธิ์การ์ตูนและลิขสิทธิ์เนื้อหาสารคดีออกอากาศด้วยเช่นกัน
"ราคาเริ่มต้นประมูลถือว่าถูกกว่าที่เราคิดไว้ ซึ่งตอนนี้ผมทราบว่า จะมีใครเข้าร่วมประมูลช่องทีวีดิจิทัลสำหรับเด็กบ้าง แต่สำหรับเราได้เตรียมเงินสำหรับการลงทุนทีวีดิจิทัลนี้ 500 ล้านบาท และตอนนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง บมจ.อสมท. (MCOT) หรือ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (INTUCH) ได้เข้ามาคุยกับเราที่จะเป็นพันธมิตรแล้ว ซึ่งจะทำให้การ์ตูน คลับ มีช่องทางการออกอากาศเพิ่มขึ้น
นอกจากทีวีดาวเทียม และการไปออกอากาศในต่างประเทศทั้งลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งทำให้เราเป็นโกลบอลแบรนด์อีกด้วย แต่ขณะนี้ต้องการความชัดเจนค่าโครงข่าย ว่าจะมีราคาเท่าใด เพราะมีผลต่อต้นทุนการประกอบการของเรา เช่นกัน" ส่วนทิศทางการบริหารลิขสิทธิ์การ์ตูนใน ปีนี้ จะมุ่งขยายตลาดต่างประเทศ ด้วยการร่วมมือกับ "ฟรีทีวี" ในกลุ่มประเทศอาเซียนทุกประเทศ เพื่อเข้าไป "เช่าเวลา" ออกอากาศรายการการ์ตูนที่ถือลิขสิทธิ์พร้อมสร้างแบรนด์ "การ์ตูนคลับ" ให้เป็นที่รู้จักระดับ "รีจินัลแบรนด์"
โดยปัจจุบันมีรายการทางฟรีทีวีในอาเซียนแล้ว 3 ประเทศประกอบด้วย สปป.ลาว ร่วม กับสถานีโทรทัศน์ MVL5 , เวียดนาม สถานีโทรทัศน์ VTV9 และกัมพูชา สถานีโทรทัศน์ TV5  โดยทั้ง  3 ประเทศกำหนดเวลาออกอากาศให้เป็นสากล  (universal time) เหมือนกัน คือเวลา 8.00-8.30 น. ซึ่งตรงกับเวลาการออกอากาศทางฟรีทีวีในประเทศไทย  หลังจากเริ่มออกอากาศรายการการ์ตูนคลับในทั้ง 3 ประเทศพบว่าได้รับความสนใจทั้งจากสินค้าไทย, อินเตอร์เนชั่นแนล แบรนด์ และโลคัลแบรนด์ ในพื้นที่โฆษณา "เต็ม" ปัจจุบันลูกค้าที่มาลงโฆษณาเป็นสินค้าจากไทย 60% อีก 40% เป็นกลุ่มอินเตอร์แบรนด์และโลคัลแบรนด์  ในปีนี้วางเป้าหมายขยายรายการการ์ตูนคลับทาง ฟรีทีวีครอบคลุมทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน โดยกำลัง
อยู่ระหว่างเจรจากับฟรีทีวีในพม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กำหนดเวลาการออกอากาศเป็น  universal time เช่นเดียวกันในทุกประเทศ คือระหว่าง 8.00-9.00 น.
"รูปแบบการออกอากาศรายการแบบ universal time เหมือนกันทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน สามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้าง และได้รับความสนใจจากสินค้าและแบรนด์ที่ต้องการทำตลาดในอาเซียน"ธนัท กล่าว  แนวทางการทำรายการทางฟรีทีวีในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบโจทย์การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งบริษัทจะต้องเข้าไปเปิดตลาดล่วงหน้าเพื่อสร้างเรทติ้งผู้ชม และพร้อมรับบรรดาสินค้าที่จะมาใช้พื้นที่โฆษณา
การเปิดเออีซี กลุ่มธุรกิจสื่อเป็นอีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์ เพราะมีรายได้โฆษณามากขึ้นจากการขยายตลาดของสินค้าและแบรนด์ในอาเซียน ขณะที่คอนเทนท์การ์ตูนมีผู้ประกอบการ "ไม่มาก" เพราะอยู่ในมือผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไว้ล่วงหน้าเพียงไม่กี่ราย อีกทั้งเป็นรายการที่ ได้รับความสนใจจากผู้ชมเพราะมีความเป็นสากล
ธนัท กล่าวอีกว่า หลังจากขยายรายการการ์ตูนคลับครบทุกประเทศในอาเซียนปีนี้ ในปี 2557 จะเริ่มเข้าดำเนินธุรกิจออกอากาศรายการทางฟรีทีวี ในอินเดียและตะวันออกกลางเพิ่มเติม ภายใต้เป้าหมายพัฒนาธุรกิจมีเดีย "การ์ตูนคลับ" ให้เป็นที่รู้จักในระดับ "โกลบอลแบรนด์"
จากแผนการรุกตลาดต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้รวม 600 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ในประเทศ 75% จากธุรกิจรายการทางฟรีทีวีและช่องทีวีดาวเทียม "การ์ตูนคลับ แชนแนล" และอีก 25% จากธุรกิจในต่างประเทศ ภายในปี 2558 หลังจากขยายธุรกิจสื่อไปยังอินเดียและตะวันออกกลางแล้ว คาดว่าสัดส่วนรายได้จากในประเทศและต่างประเทศจะ "เท่ากัน"
ภายใต้แผนรุกตลาดต่างประเทศดังกล่าว เพื่อหวังสร้าง "การ์ตูนคลับ" ให้เป็นธุรกิจสื่อระดับ "รีจินัลแบรนด์" และ "โกลบอลแบรนด์" รายแรกในไทย
"การออกอากาศแบบ  universal time เหมือนกัน ทุกประเทศในอาเซียน  ช่วยสร้างการรับรู้ในวงกว้าง"

ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th) Friday, March 08, 2013 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น