วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

"ร้านอาหารมัลติแบรนด์" ฮิต "ล็อกซเล่ย์" ทุ่ม 100 ล.เปิด 10 สาขา

ที่มา http://www.prachachat.net
updated: 15 ก.พ. 2556 เวลา 09:00:08 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ด้วยพฤติกรรมการทานอาหารนอกบ้านที่ฮอตฮิตมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองทั้งวัยรุ่น และหนุ่มสาวออฟฟิศ ซึ่งพฤติกรรมการทานอาหารมักมากันเป็นกลุ่มแก๊ง ทำให้ "วาไรตี้" ของอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้น ส่งผลให้บรรดาค่ายร้านอาหารต่าง ๆ เริ่มปรับตัวและหันมาตอบโจทย์ในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะกับค่ายร้านอาหารที่มีแบรนด์หลากหลายอยู่ในมือ ด้วยการผนึกกำลังแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือมาอยู่ในที่เดียวกัน หรือที่เรียกว่า "มัลติแบรนด์" ซึ่งหลายปีก่อนเคยเป็นที่ฮอตฮิต อาทิ ค่าย "ยัม แบรนด์ส" ที่รวม "เคเอฟซี" และ "พิซซ่า ฮัท" มาอยู่ในที่เดียวกัน ที่เห็นชัดคือกลุ่ม "ล็อกซเล่ย์" ที่หันมาบุกธุรกิจร้านอาหารในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ด้วยคอนเซ็ปต์ "มัลติแบรนด์" ร้านอาหารญี่ปุ่น


"วิทวัส มีสมมนต์" ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบริการอาหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า หลังจากเปิดร้านในรูปแบบมัลติแบรนด์ด้วยการเปิดสาขาร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ AI (อัย) 

ภายใต้คอนเซ็ปต์ "เจแปนนิส วิลเลจ" โดยมีร้านอาหารญี่ปุ่น 5 ประเภทรวมอยู่ในที่เดียวกัน ตั้งแต่กลางปี 2554 ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 สาขา ได้แก่ เมกาบางนา, พรอมานาด, เดอะไนน์ และเทอร์มินอล 21 ซึ่ง

ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า ทำให้ปีนี้บริษัทจะเดินหน้าเปิดสาขาโดยเตรียมทุ่มงบฯอีก 100 ล้านบาท เปิดอีก 10 สาขาในปีนี้ โดยจะเป็นทั้งร้านที่เป็นมัลติแบรนด์ และร้านเดี่ยวที่แยกออกไป ปัจจุบัน 5 แบรนด์ที่รวมอยู่ใน "อัย" ประกอบด้วย พิซซ่าญี่ปุ่น โดบิโทริ, ราเมน เท็ตสึเมน ซึ่งเป็น 2 แบรนด์ที่ซื้อลิขสิทธิ์มา อีก 3 แบรนด์บริษัทพัฒนาขึ้นเอง ประกอบด้วย "เมชิยะ" ข้าวหน้าญี่ปุ่น, วากิว ชาบู สุกียากี้ และอัย ซูชิ

"ปีนี้สาขาใหญ่ที่เป็นมัลติแบรนด์จะมีประมาณ 3-4 สาขา ส่วนอีก 5-6 สาขาจะเลือกแต่ละแบรนด์แยกไปเปิดต่างหาก ขึ้นอยู่กับทำเลและกลุ่มผู้บริโภคในละแวกนั้น" 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องเริ่มแยกแบรนด์ออกไปในปีนี้ไปเปิดต่างหาก นอกจากเป็นศักยภาพของแต่ละแบรนด์ที่จะแยกได้แล้ว ยังเป็นเรื่องของพื้นที่ใหญ่ที่หายากขึ้น แต่บริษัทก็ยังเดินหน้าเปิดสาขาใหญ่เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลาย 

นอกจากนี้ ร้านมัลติแบรนด์ยังทำให้เกิดอิมแพ็กต์และสามารถรองรับลูกค้าจำนวนมาก เขาชี้ว่า ปัจจุบันเทรนด์ของคนไทยเลือกทานอาหารที่เป็นออริจินอลมากขึ้น คือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง สิ่งนี้ชัดเจนมากในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น บริษัทจึงใช้คอนเซ็ปต์ของ "มัลติแบรนด์" ของบริษัทว่า "ออริจินัล วาไรตี้" โดยนำอาหาร 5 ประเภทมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน 

"ตรงนี้ตอบโจทย์การมาเป็นกลุ่มเพื่อนได้หลากหลาย เพราะแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน มีทั้งที่นั่งตรงกลาง หรือจะนั่งแยกไปแต่ละแบรนด์ซึ่งจะมีที่นั่งต่างหาก มีเมนูของแต่ละร้านซึ่งสั่งร่วมกันได้" 

ล่าสุดค่าย "นารายณ์พิซเซอเรีย" ในเครือเจ.เพรส ก็เตรียมเปิดตัวคอนเซ็ปต์ "อินเตอร์บุฟเฟ่ท์" ในไตรมาสแรกของปีนี้ที่คอมมิวนิตี้มอลล์ย่านราชพฤกษ์ ซึ่งบริหารโดยนารายณ์พิซเซอเรียเช่นกัน

"สรัญญา เปรมสุมณี" กรรมการผู้จัดการ บริษัท นารายณ์พิซเซอเรีย จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คิดชื่อร้านแต่จะเปิดในพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 400-500 ตารางเมตร เป็นการทดลองคอนเซ็ปต์เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคในย่านดังกล่าวที่มีกำลังซื้อสูง โดยรวบรวมอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น อิตาลี เนื่องจากทางกลุ่มมีร้านนารายณ์พิซเซอเรียที่เป็นคอนเซ็ปต์อาหารอิตาลี และ "คันไซ" ที่เป็นอาหารญี่ปุ่น 

"ผู้บริโภคต้องการความหลากหลายต่อหัวอยู่ที่ 300-400 บาทยังไม่ได้สรุป ปัจจุบันยังไม่มีใครทำคอนเซ็ปต์นี้ในศูนย์การค้า ของเราตรงนี้จะเป็นกึ่งเอาต์ดอร์ ย่านนั้นส่วนใหญ่เป็นสวนอาหาร และร้านอาหารทั่ว ๆ ไป เราจึงต้องการทำอะไรที่พิเศษ"

นอกจากมัลติแบรนด์ที่เริ่มเห็นมากขึ้น อีกเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจร้านอาหารเมืองไทยก็คือ "ฟู้ดคอร์ต" ที่มีการยกระดับให้พรีเมี่ยมขึ้น โดยนำร้านอาหารดัง ๆ จากภายนอกเข้ามาเปิดให้บริการล้างภาพฟู้ดคอร์ตหน้าตาเดิม ๆ ตามศูนย์การค้าที่เราเห็นกันมาในอดีตไปอย่างสิ้นเชิง 

ที่เห็นชัดคือ "ฟู้ด รีพับลิก" และ "ซีพี ฟู้ดเวิลด์" ที่เริ่มเข้ามาบุกตลาดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ในส่วนของซีพี ฟู้ดเวิลด์ แน่นอนว่าโจทย์หลักคือการผนึกร้านอาหารในเครือซีพีมาอยู่ร่วมกัน โดยระยะแรกยังต้องอาศัยพันธมิตรที่เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมาช่วยดึงลูกค้า 

ขณะที่ฟู้ด รีพับลิก เชนดังจากสิงคโปร์ แตกต่างกันที่ไม่เน้นพัฒนาแบรนด์ของตัวเอง แต่เน้นดึงพันธมิตรที่เป็นร้านอาหารต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงมาอยู่ร่วมกัน โดยโจทย์คือแต่ละร้านต้องพัฒนาโมเดลใหม่ที่

แตกต่างจากร้านที่มีอยู่ เพื่อสร้างความพิเศษและแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ตอบโจทย์มากขึ้น ไซซ์ที่เล็กลง หรืออาจถึงขั้นเปิดแบรนด์ใหม่เพื่อฟู้ด รีพับลิกโดยเฉพาะ 

วันนี้ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ศักยภาพของผู้ประกอบการที่เป็น "กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร" ถือเป็นความได้เปรียบที่สำคัญ ท่ามกลาง "ตัวเลือก" ร้านอาหารที่มากมายในยุคนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น