หากแต่ท่ามกลางตารางเวลานัดหมายที่ยาวเหยียด เขาให้เวลาส่วนหนึ่งในการมาร่วมพบปะพูดคุยและมอบประกาศนียบัตร ให้กับผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉินของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ที่เข้าร่วมอบรมในโครงการ "ผู้หญิงรอบรู้เรื่องเงิน" โครงการเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นการให้ความรู้ พื้นฐานทางการเงินกับผู้หญิงด้อยโอกาส ซึ่ง "จีอี มันนี่" ประเทศไทยจัดขึ้น และถือเป็นหนึ่งในนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ของจีอี แคปปิตอล โกลบอล แบงกิ้ง ทั่วโลก ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงด้อยโอกาสที่มีอยู่มากกว่า 700 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินไม่ถึงวันละ 1 ดอลลาร์ ภายใต้โครงการ "Banking on Woman" (อ่านรายละเอียดใน Banking on Woman ผู้หญิง-การเงิน-ความยั่งยืน)
ความที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ "จีอี" ยักษ์ใหญ่ในโลกที่มีผลิตภัณฑ์และบริการครอบคลุมทั้งระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค พื้นฐาน การเงิน การสื่อสาร ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และถือเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความพยายามในการเปลี่ยนทฤษฎีที่ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ ผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อย่าง GE Ecomagination ในการสร้างนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยมลพิษ รวมไปถึงล่าสุดในธุรกิจ Healthymagination ซึ่งเป็นการลงทุนแบบใหม่ที่ช่วยให้คนได้มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพได้ในราคาที่ถูกลงผ่านนวัตกรรมด้าน สุขภาพ
การที่ "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "ดมิทรี สต๊อคตัน" แม้จะเป็นเพียงเวลาสั้นๆ แต่ก็เพียงพอที่จะสะท้อน ให้เห็นวิธีคิดและทิศทางของ "จีอี" ในการทำธุรกิจด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไปตลอด จนมุมมองต่อความจำเป็น ทางเลือก และทางรอดของธุรกิจทั่วโลก
ความรับผิดชอบที่มากขึ้นในวิกฤต
"สต๊อคตัน" กล่าวว่า "แม้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นเวลานี้มีหลายปัจจัย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจต่างๆ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ต้องมีพันธสัญญากับสังคมเพื่อให้กิจการนั้นสามารถดำรงอยู่ได้มากขึ้น เพราะเราไม่สามารถกีดกันภาคธุรกิจออกไปจากสังคมได้ ในวิกฤตที่เกิดการว่างงานจำนวนมาก เราก็พยายามอย่างมากที่จะไม่ผลักดันคนของเราให้กลายเป็นคนตกงาน เพราะนั่นถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่ง"
และเชื่อว่าการทำ CSR ของจีอีนั้นส่งผลให้จีอีสามารถดำเนินกิจการมาอย่างยาว นานได้ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เพราะความรับผิดชอบของบริษัทนอกจากทำให้สังคมดีขึ้น และยังทำให้การประกอบกิจการของบริษัทดีขึ้นด้วย อย่างโครงการหนึ่งที่จีอีทำมานานคือ การเป็นผู้ให้กู้อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งก่อนหน้าวิกฤตทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นหลายบริษัทอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ แต่สำหรับเราทำเรื่องนี้มาก่อนแล้ว และเมื่อวิกฤตทางการเงินเกิดขึ้น ยิ่งทำให้เห็นว่า โครงการที่ทำไปแล้วในการเป็นผู้ให้กู้อย่างมีความรับผิดชอบเป็นประโยชน์มาก และในฐานะผู้ให้กู้เรามีความพยายามอย่างมากที่จะให้ลูกค้าทำความเข้าใจและเลือกผู้ให้กู้ที่มีความรับผิดชอบในการทำธุรกรรม
บริษัทต้องมียุทธศาสตร์สนับสนุนชุมชน
"ในปีนี้เฉพาะ "จีอี แคปปิตอล โกลบอล แบงกิ้ง" ใช้เงินกว่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการดำเนินโครงการเพื่อสังคมทั่วโลก โดยมีเป้าหมายในการสร้างความรับผิดชอบกับสังคมโลก โดยเฉพาะในประเทศที่เข้าไปดำเนินกิจการ และมีนโยบายในการสนับสนุนการทำโครงการเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่นที่ทำอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ และยังได้คิดสร้างโครงการที่จะเป็นการให้การศึกษาด้านการเงินให้กับผู้คนในหลายพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะขยายโครงการไปทั่วโลก โดยเฉพาะใน 25 ประเทศที่ได้เข้าไปดำเนินกิจการ โดยมีความตั้งใจให้ทีมงานของจีอีในแต่ละประเทศได้มีบทบาทในฐานะผู้นำโครงการและเป็นผู้คิดสร้างสรรค์โครงการด้วยตัวเอง"
"การทำโครงการแบบนี้ยังส่งผลดีต่อพนักงานของจีอีเอง ที่โครงการเหล่านี้ก็จะช่วยเขาได้ในการได้มีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในสังคมที่เขาอยู่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งตัวพนักงานและองค์กร ที่เราคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ควรทำ ซึ่งเวลาจะทำโครงการเพื่อสังคมควรเริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ ทำให้แน่ใจก่อน ว่าสิ่งที่ทำนั้นมาถูกทาง ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาเอง อย่างในโครงการผู้หญิงรอบรู้เรื่องการเงิน การที่ผู้หญิงเหล่านี้จะลุกขึ้นมารู้วิธีปรับตัวให้อยู่กับโลกปัจจุบัน หาเลี้ยงชีพ เปิดธุรกิจของตัวเองในอนาคต เมื่อพวกเขามีรายได้ก็ทำให้สามารถมีกำลังพอสำหรับการศึกษาของบุตรหลาน หากสิ่งนี้เกิดขึ้นก็ต้องถือว่าเราประสบความสำเร็จ ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับมาที่เมืองไทยอีกในอนาคตเพื่อดูสิ่งที่เราทำในวันนี้"
อย่างไรก็ตามเขามองว่า บริษัทที่คิดเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจังในโลกนี้ย่อมมีแผนหรือยุทธศาสตร์ในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนการทำงานร่วมกับชุมชนที่กิจการนั้นตั้งอยู่ ซึ่งอาจจะเรียกว่า CSR หรือไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร แต่เป็นเรื่องถูกต้องที่ควรจะทำ โดยจีอีเองต้องการเป็นผู้นำและมีบทบาทในเรื่องนี้ โดยต้องการประเมินผลที่เกิดขึ้น และสิ่งที่จะตามมาหลังจากการทำงานในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น