วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

กรุงศรีฯรับลดดอกเบี้ยบัตรคาดรายได้หดร้อยละ10



กรุงศรีฯรับลดดอกเบี้ยบัตรคาดรายได้หดร้อยละ10

     ที่มา: www.manager.co.th
  กรุงศรี คอนซูมเมอร์ขานรับมาตรการคุมบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล ชี้เป็นผลดีในระยะยาว แต่ก็ส่งผลต่อรายได้ดอกเบี้ยของธุรกิจบัตรเครดิต เบื้องต้นคาดว่าลด 10% พร้อมทบทวนเป้าหมายบัตรใหม่ปีนี้ ขณะที่สินเชื่อบุคคลรับผลกระทบชัดเจนไตรมาส 4 

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรม กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในฐานะประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต กล่าวว่า ผลกระทบจากการออกมาตรการควบคุมบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลนั้น ในส่วนของบัตรเครดิตหลักๆจะเป็นเรื่องกรณีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 20% เป็น 18% ก็จะทำให้รายได้จากดอกเบี้ยลดลง โดยภาพรวมของระบบแล้วสัดส่วบัตรเครดิตที่ชำระขั้นต่ำมีประมาณ 60% และชำระเต็มจำนวน 40% ขณะที่สัดส่วนชำระขั้นต่ำของบริษัทอยู่ที่ 65% ส่วนเกณฑ์การลดวงเงินสินเชื่อของลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือนนั้น ลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของนอนแบงก์

"เกณฑ์ใหม่ที่ออกมานั้น ก็ต้องยอมรับว่าเป็นส่งผลกระทบต่อทั้งในส่วนของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ก็เป็นความหวังดีของแบงก์ชาติที่ต้องการดูแลในเรื่องของวินัยทางการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มของ Gen y ที่มีปริมาณหนี้และเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว ซึ่งมาตรการต่างๆเหล่านี้ในที่สุดแล้วก็จะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อเอ็นพีแอลของระบบที่จะลดลงเอง แต่อันนี้เป็นเรื่องระยะยาว แต่โดยภาพรวมของทั้งระบบแล้วเราก็ได้ชี้แจงข้อมูลต่างๆไปแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าในส่วนของบัตรเครดิตนั้น จำนวนเฉลี่ยผู้ถือบัตร 1 คนต่อบัตรเครดิต 2.6 ใบ การใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุด 5 อันดับเป็น เรื่องของประกัน ท่องเที่ยว บ้าน-เครื่องตกแต่ง แก๊ส และโรงพยาบาล ถือเป็นการใช้ในหมวดที่ไม่ใช่ของใช้ฟุ่มเฟื่อย ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาระให้ผู้ถือไป พร้อมกันนั้น ทางสมาชิกก็จะมีการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องของวินัยทางการเงินเพื่อช่วยอีกทางหนึ่งด้วย"

อย่างไรก็ตาม หากประเมินคร่าวๆแล้วคาดว่าเกณฑ์ดังกล่าวจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยทั้งระบบ 10% จากปัจจุบันลูกค้าบัตรเครดิตในระบบอยู่ที่ 20.1 ล้านบัญชี มียอดสินเชื่อคงค้าง 360,000 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อบุคคล 12.2 ล้านบัญชี และ มียอดสินเชื่อคงค้าง 333,000 ล้านบาท โดยรวมคิดเป็น 6% ของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับ 78.6% ของจีดีพี เทียบหนี้ในส่วนของที่อยู่อาศัยและลีสซิ่งที่มีสัดส่วนกว่า 50%ของหนี้ครัวเรือน

สำหรับกรุงศรี คอนซูมเมอร์นั้น ในช่วง 7 เดือนแรกของปี ถือว่ายังไม่เป็นไปตามเป้าหมายนัก มีจำนวนลูกค้าใหม่ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล 450,000 บัญชี เป็นบัตรเครดิต 260,000 บัญชี สินเชื่อบุคคล 190,000 บัญชี จากเป้าหมายทั้งปีที่ 890,000 บัญชี ซึ่งคาดว่าจะต่ำกว่าเดิม 20% เหลือประมาณ 700,000 บัญชี จากฐานบัตรรวมที่ 3,650,000 บัญชี โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัยทั้งเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย เกณฑ์ใหม่ของธปท.ที่ออกมา ขณะเดียวกันก็เป็นแนวนโยบายของเราเองที่อยากจะชะลอการเติบโตในบางกลุ่ม ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLของบัตรเครดิตปัจจุบันอยู่ที่ 1.35% จากระบบที่อยู่ 2.9% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 3.13% ในขณะที่ระบบอยู่ที่ 3.5%

นายฐากรกล่าวอีกว่า การดำเนินธุรกิจต่อไป เราก็จะต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่ก็จะยังมีการทำกิจกรรมทางการตลาดต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดใช้จ่าย โดยจะเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อาทิ กลุ่มที่ยังมีการใช้จ่ายสูง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ต้องชะลอในบางกลุ่มลง เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ใหม่ของธปท.ด้วย

เดินหน้าทำนาโนไฟแนนซ์ต่อ
       ด้านนางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ในฐานะประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า ปัจจุบันจากบัญชีสินเชื่อบุคคลรวมของบริษัทเป็นส่วนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือนอยู่ถึง 80% ซึ่งในส่วนของลูกค้าเก่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการลดวงเงิน แต่จะเป็นส่วนของลูกค้าที่เข้ามาใหม่แต่กว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนก็คงจะเป็นช่วงไตรมาส 4 และบริษัทก็ยังคงเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเดิมอยู่

ส่วนธุรกิจนาโนไฟแนนซ์หรือผลิตภัณฑ์ "เถ้าแก่ทันใจ" ที่บริษัทเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2559 ถึงปัจจุบันมีสินเชื่อปล่อยใหม่แล้ว 28 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนราย 750 ราย เฉลี่ยรายละ 38,000 บาท ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะทำได้ 40 ล้านบาท หรือ 1,000 บัญชี ขณะที่ NPL อยู่ที่ 7% และบริษัทก็มีแนวทางที่จะดำเนินต่อเนื่องไปในเฟส 2 ที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถซื้ออุปกรณ์สำหรับประกอบอาชีพได้ในรูปแบบของเงินผ่อน ซึ่งถือว่ายังเป็นช่วงทดลองของธุรกิจนาโนไฟแนนซ์อยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น