วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

KTC ปลื้มกลยุทธ์ทวงหนี้เร็ว


วันพุธที่ 02 ตุลาคม 2013 เวลา 10:22 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การเงิน FINANCIAL - คอลัมน์ : การเงิน-ตลาดทุน พิมพ์
http://www.walkwaywhy.com/
http://www.thanonline.com
 เคทีซี ฟุ้งผลงาน 8 เดือนลูกค้ายังจ่ายเงินปกติ-เอ็นพีแอลบัตรเครดิตสูงกว่าระบบอยู่ที่ 3.3% อ้างยกเลิกเอาต์ซอร์ซ-2 ปีก่อนลูกค้าเจอน้ำท่วม ชูกลยุทธ์ติดตามหนี้เร็ว ออกมาตรการช่วยเหลือลดปัญหาหนี้ค้างชำระ ส่วนหนี้ไหลย้อนกลับแค่ 1%  "พรเลิศ" ชี้ปีหน้ากลุ่มผู้สูงอายุเสี่ยงผิดนำชำระสูง

    นายพรเลิศ เบญจกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายติดตามหนี้ บริษัท บัตรกรุงไทยฯ (KTC) เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา สัญญาณการชำระหนี้ของลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล (Personal Loan) ยังคงเป็นปกติ แม้ว่าหลายฝ่ายกังวลในเรื่องของหนี้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายภาครัฐ โดยตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงอัตราการขยายตัวของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 มีการขยายตัวที่ระดับ 1.1% ถือว่าไม่ได้สูงมากจนเกินไป ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) บัตรเครดิตทั้งระบบอยู่ที่ 2.3% สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 3%

    ทั้งนี้ ในส่วนของเคทีซี แม้ว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลในช่วงต้นปีที่ผ่านมาไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล แต่จะเห็นว่าระดับเอ็นพีแอลบัตรเครดิตที่ปัจจุบัน 3.3% ซึ่งสูงกว่าทั้งระบบ เนื่องจากภายหลังการดำเนินนโยบายลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยการยกเลิกการจ้างบริษัทภายนอก (เอาต์ซอร์ซ) และหันมาดำเนินธุรกิจเองบางส่วน ประกอบกับในช่วงก่อนหน้านี้ลูกค้าประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้เอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เชื่อว่าหลังจากระบบเข้าที่แล้ว แนวโน้มเอ็นพีแอลจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

    "ปัจจุบันแม้ทุกคนจะให้ความเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาสัญญาณการชำระหนี้ของเคทีซียังเป็นปกติ โดยที่ตัวเลขการค้างชำระเกิน 30 วัน ก็อยู่ใกล้เคียงกับตลาด ไม่ได้สูงกว่า แต่ที่เห็นตัวเลขเอ็นพีแอลของเราสูงกว่าระบบนั้น เป็นผลมาจากลูกค้าประสบปัญหาน้ำท่วม และเรายังมีการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจ ยกเลิกการใช้เอาต์ซอร์ซมาเป็นอินเฮาส์ ทำให้ระบบยังไม่ค่อยเข้าที่ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้แนวโน้มจะดีขึ้น" นายพรเลิศ กล่าวและว่า

    สำหรับกลยุทธ์สำคัญของฝ่ายติดตามหนี้ เพื่อป้องกันการค้างชำระหนี้ของลูกค้า จนส่งผลให้เกิดเป็นเอ็นพีแอลตามมา จะเป็นเรื่องของความรวดเร็วในการติดตามหนี้ หากลูกค้าเข้าข่ายค้างชำระตั้งแต่วันแรก บริษัทจะสื่อสารให้ลูกค้ารับรู้ ทั้งการส่งข้อความ จดหมาย หรือการโทรศัพท์เตือน กระบวนการเหล่านี้ ทำให้บริษัททำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าชำระหนี้ก่อนคู่แข่ง โดยที่ผ่านมาสัดส่วนลูกค้าที่ค้างชำระ และสามารถกลับมาชำระใหม่ได้เติบโตถึง 40% ขณะที่สัดส่วนลูกค้าที่ค้างชำระและไหลกลับมาเป็นหนี้ใหม่มีสัดส่วนที่น้อยมาก หรือไม่มีเลย

    นอกจากกระบวนการติดตามที่รวดเร็วแล้ว บริษัทยังมีการประเมินปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบการชำระของลูกค้าได้ เช่น น้ำท่วม หรือกรณีประท้วงเรื่องยางพาราที่มีการปิดถนน เป็นต้น ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้การสื่อสารของบริษัทกับลูกค้าขาดหายไปได้ เนื่องจากไม่สามารถส่งจดหมายถึงลูกค้า บริษัทจะส่งเป็น SMS แต่หากลูกค้าไม่สะดวกในการชำระหนี้ บริษัทจะนำปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้มาพิจารณาในการวิเคราะห์และออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของภาครัฐ

    ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น การลดอัตราค่าชำระค่างวดขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 1% หรือการตัดหนี้สูญ (แฮร์คัต) รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมในการติดตามหนี้ โดยปกติลูกค้าจะต้องเสีย 250 บาทต่อรายการต่อบัญชี อย่างไรก็ดี ภายในปีนี้บริษัทจะมีการลดอัตราค่าธรรมเนียมการติดตามหนี้ลงประมาณ 10% ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสมาคมธนาคารไทย และจากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน เคทีซีพร้อมช่วยเหลือลูกค้าเต็มที่ โดยจะดำเนินตามมาตรการเช่นเดียวที่เคยทำมา รวมถึงจะมีการพิจารณาช่วยเหลือเป็นรายบุคคลต่อไป

    ต่อข้อถามถึงแนวโน้มเอ็นพีแอลนั้นนายพรเลิศกล่าวว่า  ปีหน้ามองว่า กลุ่มที่จะมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระค่อนข้างสูง จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 40-50 ปี มีแนวโน้มมีภาระหนี้มากขึ้น แต่มีรายได้เท่าเดิม ทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระลดลงน้อย ซึ่งปัจจุบันลูกค้ากลุ่มนี้บริษัทมีฐานไม่สูง ซึ่งส่วนใหญ่ฐานลูกค้าเคทีซีจะอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ประจำ หรือกลุ่มเพิ่งเริ่มต้นทำงาน

    "การติดตามหนี้ที่เร็ว จะทำให้การชำระหนี้เร็วกว่าคนอื่นด้วย ส่วนลูกค้าที่มีปัญหาทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน เราก็มีมาตรการช่วยเหลือคอยรองรับอยู่แล้ว และจะเห็นว่าหลังมาตรการช่วยเหลือสัดส่วนลูกหนี้ที่ไหลกลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีกครั้งมีไม่ถึง 1% แสดงว่ากลยุทธ์ที่มีกับแผนงานที่เราทำ จะสามารถควบคุมดูแลหนี้เอ็นพีแอลไม่ให้เพิ่มขึ้นได้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,884 วันที่  3-5 ตุลาคม  พ.ศ. 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น